ความหมายของอาหารกับการสื่อสารในภาพยนตร์

Reel Food: Essays on Food and Film หนังสือที่ไม่ได้ชวนคุณไปกินอาหาร แต่จะพาไปให้คุณได้เห็น “อาหาร” ในฐานะตัวแทนของกระบวนการสื่อความหมายและสัญลักษณ์ในภาพยนตร์ แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ เป็น “ภาพยนตร์อาหาร” หรือ “ไม่ใช่ภาพยนตร์อาหาร” ก็ตาม

--------


โดย วิมลิน มีศิริ

* พิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 64 กรกฎาคม-สิงหาคม 2564 


ภาพปก: ปกหนังสือ Reel Food: Essays on Food and Film ชาลี แชปลิน กำลังกินรองเท้าหนึ่งข้าง โดยภาพนี้มาจากฉากคลาสสิกในภาพยนตร์เงียบ The Gold Rush (1925)


ภาพยนตร์แต่ละเรื่องที่มีองค์ประกอบการเล่าเรื่องคล้ายคลึงกัน เช่น โครงเรื่อง ตัวละคร แก่นเรื่อง ความขัดแย้ง ฉาก จนกลายเป็นไวยากรณ์ของประเภทภาพยนตร์ (Genre) ซึ่งองค์ประกอบในประเภท “ภาพยนตร์อาหาร” น่าจะมีอะไรบ้าง สิ่งที่ขาดไม่ได้อย่างแรกเลยคือ อาหาร ตัวละครหลักจะเป็นเชฟหรือไม่ก็ตาม มุมกล้องต่าง ๆ มักเน้นไปที่อาหาร การถ่ายภาพระยะใกล้ การแพนภาพอาหารจนเต็มหน้าจอ ฉากหลักที่เป็นห้องครัวในร้านอาหาร ห้องครัวในบ้าน ห้องรับประทานอาหาร อีกทั้งแนวการเล่าเรื่องของภาพยนตร์จะแสดงให้เห็นตัวละครที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวตน อำนาจ วัฒนธรรม ชนชั้น ความสัมพันธ์ผ่านอาหาร 


โดยหนังสือ Reel Food: Essays on Food and Film บรรณาธิการโดย Anne L. Bower รวมบทความทั้งหมด 22 บทความ จะช่วยให้ผู้อ่านมีโอกาสศึกษาวิธีการที่อาหารเป็นตัวแทนของกระบวนการสื่อความหมายและสัญลักษณ์ในภาพยนตร์ และให้ข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับอาหารในทุกรูปแบบ แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ จะเป็นไปตามคำจำกัดความหรือถูกจัดหมวดหมู่เป็นประเภท “ภาพยนตร์อาหาร” หรือ “ไม่ใช่ภาพยนตร์อาหาร” ก็ตาม 


ภาพรวมของ Reel Food ไม่ได้มีความประสงค์ให้ผู้อ่านทบทวนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับภาพยนตร์และอาหาร แต่ก็มีบทความจำนวนหนึ่งที่ย้อนเวลากลับไป 50 ปีหรือมากกว่านั้น เพื่อเราจะได้เห็นว่าผู้สร้างภาพยนตร์รุ่นก่อน ๆ นำเสนออาหารอย่างไรในภาพยนตร์ ตัวอย่าง บทความของ Eric L. Reinholtz อธิบายถึงอุดมการณ์ของชนชั้นและวัฒนธรรมบริโภคนิยมในยุคหนังเงียบของ Buster Keaton นอกจากนั้น บทความของ Timothy P. Barnard ได้พาเราเข้าไปศึกษาแง่มุมที่แตกต่างของภาพยนตร์มาเลเซียในช่วงทศวรรษ 1950-1960 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงบทบาทอันทรงพลังของภาพอาหารในภาพยนตร์ที่มีบทบาทต่อการสร้างเอกลักษณ์ประจำชาติอันเป็นการรวมกันของสังคม “สมัยใหม่” และ “แบบดั้งเดิม” 


สำหรับสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากบทความต่าง ๆ ใน Reel Food คือ บทบาทของอาหารในภาพยนตร์มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการผลิตและแพร่กระจายค่านิยม ความหมาย อุดมการณ์ ทั้งในด้านสังคมและความคิด การบริโภคอาหารสามารถเป็นตัวแทนของการผสมผสานวัฒนธรรมจากชาติอื่น ๆ อีกทั้งในบางแง่มุมอาจเป็นตัวแทนของความขัดแย้งทางเพศหรือการนิยามทางเพศ ตัวอย่างการวิเคราะห์ที่บรรณาธิการหนังสือเล่มนี้กล่าวถึง Eat Drink Man Woman (1994) ผลงานของ Ang Lee ในเรื่องนี้การจัดเตรียมอาหารได้ถูกนำเสนอออกมาอย่างมากมายผ่านฉากต่าง ๆ การนำเสนอภาพของตัวละครที่ชื่อ “ชู” (Chu) เป็นเชฟแนวอนุรักษ์นิยมที่พยายามรักษาคุณค่าดั้งเดิมของชีวิตครอบครัวและศิลปะการทำอาหาร แม้ว่าชีวิตสมัยใหม่จะเป็นอุปสรรคที่ขวางกั้นก็ตาม เขาเป็นเชฟระดับปรมาจารย์ในการปรุงอาหารจีนแบบดั้งเดิม เราจะได้เห็นตั้งแต่การเริ่มต้นเตรียมวัตถุดิบ การสับ การหั่น การทอด การนึ่ง และวิธีการเตรียมอาหารอื่น ๆ เราได้เห็นอาหารนึ่งถูกวางลงบนจานอย่างประณีต ไก่ต้มทั้งตัวถูกวางลงในจานก้นลึก หมูและซอสถูกใส่ลงไปผัดในกระทะอย่างชำนาญ และมุมกล้องที่แพนไปตามที่วางของ ชั้นวางมีด สมุนไพร เครื่องเทศ และของหมักดอง ซึ่งตลอดการดำเนินเรื่องราวสะท้อนได้ว่าการเตรียมอาหารมีส่วนสำคัญอย่างมากเหนือฉากของการรับประทานอาหารจริง ๆ และเมื่อถึงจุดหนึ่งเราจะตระหนักได้ว่าสิ่งที่ถูกตระเตรียมไว้อย่างดีมากกว่าอาหารที่พร้อมรับประทานคือมรดกทางวัฒนธรรมจีนดั้งเดิมที่ถูกถ่ายทอดออกมา โดย Lee ผู้กำกับภาพยนตร์ได้ผสมผสานหลายอย่างเข้าในภาพยนตร์ของเขาเพื่อสร้างงานที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมและประเพณี เขาร้อยเรียงฉากต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ของลูกสาวแต่ละคน การห้ามลูกสาวทำอาหารเป็นอาชีพเพื่อหวังว่าจะไม่ให้เธอเข้าสู่วงการงานทำอาหารที่แสนจะเหน็ดเหนื่อย และบางที “ชู” อาจเชื่อว่ามีเพียงผู้ชายเท่านั้นที่สามารถเป็นเชฟได้ รวมถึงฉากการทำอาหารของ “ชู” ทั้งตอนอยู่บ้านและการทำงานที่ร้านอาหาร มื้ออาหารของครอบครัวอันหรูหราเต็มไปด้วยการโต้เถียงและความห่างเหิน ภาพการจราจรที่ทอดยาวผ่านถนนกว้าง ทางแยกอันพลุกพล่าน ซึ่งบ่งบอกถึงความทันสมัย การเปลี่ยนแปลงและเวลาที่ผ่านไป 

สิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งของ Reel Food คือการศึกษาที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับเพศ เชื้อชาติ การเปรียบเทียบ “วัฒนธรรมชั้นสูง” กับ “วัฒนธรรมนิยม” การสร้างชาติ การย้ายถิ่น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางเศรษฐกิจ สังคมพหุนิยม ตลอดจนศึกษาผ่านตัวละครในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ เสรีภาพ การกดขี่ ปัญหาทางจิตใจ ความผิดปกติของการกิน จิตวิญญาณของผู้หญิง ซึ่งนำเสนอผ่านผู้หญิงในชนชั้นและอาชีพที่แตกต่างกัน จาก 5 บทความ (ในตอนที่ 2 ของเล่ม) เน้นนำเสนอการสำรวจพลังเชิงสัญลักษณ์ของอาหารที่แตกต่างกันจากทั้งภาพยนตร์เรื่องยาว หนังสั้น สารคดี ผลงานของผู้กำกับภาพยนตร์จากหลายชาติหลากวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็น 301/302 (1995), After the Earthquake (1979), Babette’s Feast (1987), Chocolat (2000), Life is Sweet (1990), Like Water for Chocolate (1992), Raise the Red Lantern (1991), Salt of the Earth (1954), Superstar: The Karen Carpenter Story (1988), Years of Hunger (1980)



ภาพ: ภาพยนตร์เรื่อง Life is Sweet (1990)

ที่มา: https://www.criterion.com/films/27982-life-is-sweet


หนังสือยังมีการนำเสนอ “อาหาร” จากภาพยนตร์เกี่ยวกับการกินเนื้อคน Delicatessen (1991), The Cook, the Thief, His Wife and Her Lover (1989) โดยทั้งสองเรื่องนี้เปลี่ยนภาพจำของอาหารให้กลายเป็นเรื่องการกินเนื้อคน การกินที่น่าสยดสยอง น่าขยะแขยง แต่ฉากการจัดเตรียมอาหารและการรับประทานอาหารก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ อีกทั้งภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ในหนังสือเล่มนี้อาจจะถูกมองว่าไม่ใช่ประเภทภาพยนตร์อาหาร เช่น Dracula (1931), Notorious (1946), Pulp Fiction (1994), Soylent Green (1973) แต่ภาพยนตร์เหล่านี้ช่วยให้เราเห็นการใช้อาหารในเชิงสัญลักษณ์และนำเสนอแนวคิดที่สำคัญหลายประการผ่าน “ภาพยนตร์และอาหาร” โดยใช้อาหารเป็นองค์ประกอบเพื่อสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ หรืออาหารจะถูกนำเสนอออกมาในเชิงลบหรือเชิงบวก ไม่ว่าจะมีบทบาทสำคัญหรือมีบทบาทรอง เราจะเห็นว่าทั้งสิ่งที่กินได้และกินไม่ได้ล้วนแล้วแต่มีความหมาย ซึ่งเป็นตัวกำหนดลักษณะของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นตัวละครที่เจ้าระเบียบ ประนีประนอม ตะกละ โดยคำนึงถึงมุมมองและองค์ประกอบทางวัฒนธรรมบางอย่าง ตั้งแต่อายุ ชาติพันธุ์ ระดับการศึกษา อาหารที่ยืนหยัดในการสื่อถึงเพศเป็นสิ่งที่เราสามารถตีความได้อย่างง่ายดายในภาพยนตร์ เช่นเดียวกับอาหารมื้อใหญ่ที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมภายในครอบครัว ชุมชนทางศาสนา งานรื่นเริงหรือการเดินทาง อาหารยังสามารถกำหนดบทบาทของตัวละคร เช่น แม่ในครัว หรือบ่งบอกถึงความผิดปกติ เช่น อาหารบูด เสีย ปรุงไม่ดี เป็นพิษ หรือบอกเราเกี่ยวกับความยากจนที่น่าสังเวชของตัวละคร หรือการสรุปโดยรวมเกี่ยวกับสุขภาพ หรือการใช้จ่ายที่สุรุ่ยสุร่ายของตัวละคร 

บทความของ Reel Food คือ การศึกษา “อาหาร” ในภาพยนตร์แบบสหสาขาวิชา เช่น การละคร ปรัชญา วรรณคดีอังกฤษ ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา สตรีนิยม อาหารและโภชนาการ อเมริกันศึกษา มานุษยวิทยา ภาษาต่างประเทศ และผู้เขียนบทความแต่ละบทความเขียนในประเด็นที่แตกต่างกันไป ซึ่งพวกเขาไม่เพียงแต่จะอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับความเข้าใจในภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังนำเสนอในรูปแบบการเขียนและความเกี่ยวข้องในประเด็นด้านวิชาการที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านทำความเข้าใจได้มากขึ้นว่าอาหารมีหน้าที่อย่างไร และมีส่วนในการนำเสนอภาพยนตร์อย่างไร ฉะนั้น ผู้อ่านอาจจะได้เปิดมุมมองใหม่ให้เกิดขึ้นแก่ตนเองสำหรับการดูภาพยนตร์ทุกประเภท   



หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด