5 ผลงานสำคัญของ “หลวงกลการเจนจิต” ตากล้องหนังไทยเรื่องแรก

แนะนำ 5 ผลงานสำคัญและทำความรู้จัก “หลวงกลการเจนจิต” หรือ “เภา วสุวัต” ตากล้องหนังไทยเรื่องแรก และเป็นผู้บันทึกภาพประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของชาติ

---------


ในบรรดาช่างถ่ายภาพยนตร์ไทยยุคบุกเบิก ย่อมไม่มีชื่อไหนที่จะโดดเด่นยิ่งไปกว่า “หลวงกลการเจนจิต” หรือ “เภา วสุวัต” ผู้ที่เป็นทั้งตากล้องถ่ายหนังไทยเรื่องแรก และเป็นผู้บันทึกภาพประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของชาติไว้จำนวนมาก


เภา วสุวัต เกิดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2442 เขามีชื่อเสียงเลื่องลือตั้งแต่วัยหนุ่ม จากการเป็นนักประดิษฐ์นักดัดแปลง ผู้มีพรสวรรค์วิเศษทางช่างเครื่องยนต์กลไก จนได้รับราชการตั้งแต่วัย 20 ปี และมีราชทินนามว่า“หลวงกลการเจนจิต”   


ปี 2468  หลวงกลการเจนจิต ได้ตำแหน่งเป็นหัวหน้าช่างถ่ายภาพและภาพยนตร์ ของกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง หน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ผลิตภาพยนตร์แห่งแรกของไทย  โดยเขาได้ทำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญของประเทศตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 7 อย่างต่อเนื่อง เช่น พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 6, พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 7, รัชกาลที่ 7 เสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ ฯลฯ  จนชาวสยามในเวลานั้น ต่างเรียกขานหนังของกรมรถไฟจนติดปากว่า “หนังหลวงกล” 


ในขณะเดียวกัน เขาและพี่น้องร่วมตระกูลวสุวัต ยังเป็นผู้บุกเบิกการสร้างหนังเงียบไทยเรื่องแรก ชื่อ โชคสองชั้น ออกฉายเมื่อ พ.ศ. 2470 โดย เภา วสุวัต รับหน้าที่เป็นตากล้อง ความเป็นเลิศด้านเทคนิคและอุปกรณ์ทางภาพยนตร์ของเขายังได้รับการยอมรับจากคนทำหนังต่างประเทศที่มาเยือนเมืองไทยในตอนนั้น เช่น คณะถ่ายทำหนังสารคดีจากฮอลลีวูด ในปี 2468 คณะถ่ายหนังข่าวจากบริษัท ฟอกซ์ มูวีโทน นิวส์ ในปี 2472  




หลวงกลการเจนจิตแสวงหาความรู้ด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากต่างชาติ และศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเอง ผนวกกับพรสวรรค์ที่หาตัวจับยาก จนกลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาต่อยอดกิจการภาพยนตร์ของพี่น้องตระกูลวสุวัต  จากหนังเงียบเป็นหนังเสียง และเติบใหญ่กลายเป็นบริษัทสร้างหนังอันดับหนึ่งของประเทศ มีโรงถ่ายมาตรฐานสากล ชื่อว่า โรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ซึ่งได้รับฉายาว่า “ฮอลลีวูดแห่งสยาม” 


นอกจากนี้ หลวงกลการเจนจิตยังเป็นผู้ที่ได้บันทึกภาพยนตร์ในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทั้งภาพการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475  ภาพพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 รวมไปถึงเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช เมื่อเดือนตุลาคม 2476  ซึ่งเป็นช่วงที่เขาเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าช่างถ่ายภาพยนตร์ของกรมโฆษณาการ แต่น่าเสียดายว่า ภาพยนตร์อันมีค่าเหล่านี้ยังคงหายสาบสูญ


หลวงกลการเจนจิตถ่ายทั้งหนังบันทึกเหตุการณ์ของรัฐและหนังเรื่องของกิจการครอบครัวควบคู่กันไป  ตลอดจนสิ้นรัชกาลที่ 7 กระทั่งถึงช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 ที่ทำให้วงการภาพยนตร์ในเมืองไทยหยุดชะงัก ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงด้วยวัยเพียง 48 ปี เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2491 ด้วยโรคลำไส้และตับแข็ง เป็นที่รู้กันดีในแวดวงว่า หลวงกลฯ มีนิสัยคุยสนุกเป็นที่ชอบพอของคนรู้จัก มีเพื่อนฝูงมาก และเป็นนักดื่มขึ้นชื่อ เขาดื่มอยู่เสมอแต่ไม่เสียงาน แต่การดื่มนั้นก็ได้พรากชีวิตนักถ่ายภาพยนตร์ไทยผู้วิเศษที่สุดคนหนึ่งไปในเวลาอันสั้น และเป็นส่วนสำคัญให้กิจการภาพยนตร์ของพี่น้องวสุวัตต้องจบลงไปโดยปริยาย




ปัจจุบัน ผลงานการถ่ายภาพยนตร์บางส่วนของ หลวงกลการเจนจิต หรือ เภา วสุวัต ได้รับการเก็บรักษาไว้ในคลังอนุรักษ์ของหอภาพยนตร์ แม้ส่วนมากจะหลงเหลือมาเพียงเศษเสี้ยว แต่ก็สามารถทำให้ได้ประจักษ์ถึงฝีมืออันเคยเป็นที่เลื่องลือกันทั่วทั้งชาวสยามและชาวต่างประเทศ 


และนี่คือตัวอย่างผลงานสำคัญ 5 เรื่อง ที่หอภาพยนตร์คัดสรรมาให้ชมทางช่องยูทูบ เนื่องในวันครบรอบวันเกิดของอดีตนายช่างนักถ่ายหนังอันดับหนึ่งของไทยที่คนรุ่นหลังไม่อาจละเลย 


1. โชคสองชั้น (2470)




หนังไทยแท้เรื่องแรกสร้างโดย กรุงเทพภาพยนตร์บริษัท ซึ่งต่อมาคือ บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง แห่งพี่น้องตระกูลวสุวัต ผู้บุกเบิกกิจการสร้างภาพยนตร์ไทย โดยหอภาพยนตร์ค้นพบเศษฟิล์มเนกาติฟ 35 มม. ของภาพยนตร์เรื่องนี้ เมื่อปี 2538 และสามารถช่วยชีวิตไว้ได้เพียง 82 ฟุต ซึ่งกินเวลาฉายเพียงประมาณ 1 นาที  แต่ก็เป็น 1 นาทีประวัติศาสตร์ อันเป็นหลักฐานแห่งชัยชนะในการเป็นตากล้องถ่ายหนังไทยสำเร็จ เป็นเรื่องแรกของ หลวงกลการเจนจิต หรือ เภา วสุวัต ซึ่งได้อวดฝีมือให้เห็นประจักษ์ โดยเฉพาะฉากไล่ล่าทางรถยนต์ระหว่างพระเอก (มานพ ประภารักษ์) กับผู้ร้าย (หลวงภรตกรรมโกศล) ที่ฉุดเอานางเอก (ม.ล. สุดจิตร์ อิศรางกูร) หนีขึ้นรถไป 


ชมภาพยนตร์ได้ที่ <<คลิก>>


2. โขน (2472)




ภาพยนตร์บันทึกการแสดงโขนหลวงชักรอก เรื่อง รามเกียรติ ตอนศึกมังกรกรรฐ์  ในงานฉลองพระชนมายุสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระสวัสดิ์ฯ และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภาพรรณี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โปรดให้คณะโขนหลวงสวนมิสกวันจัดแสดงขึ้น เมื่อคืนวันที่ 29 มกราคม 2472 โดยพระองค์และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จฯ ทอดพระเนตร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง จัดการถ่ายทำเป็นภาพยนตร์ไว้ 


แม้จะเป็นภาพจากเศษฟิล์ม 35 มม. ที่เหลือจากการตัดต่อ มิใช่ฟิล์มที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อนำออกเผยแพร่  ซึ่งคาดว่าได้หายสาบสูญแล้ว แต่ก็ได้แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถในการถ่ายการแสดงสดบนเวทีในเวลากลางคืนของ หลวงกลการเจนจิต หรือ เภา วสุวัต ช่างถ่ายหนังมือเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 


ชมภาพยนตร์ได้ที่ <<คลิก>>

 

3. ชมสยาม (2473)




ภาพยนตร์ที่กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง สร้างขึ้นในปี 2473 สันนิษฐานว่า เพื่อส่งไปฉายยังต่างประเทศเป็นการเชิญชวนชาวต่างชาติมาเที่ยวสยาม เนื่องจากเวลานั้น เริ่มมีชาวยุโรปและอเมริกานิยมเดินทางมาท่องเที่ยวทางเอเชีย ในขณะเดียวกับที่สยามได้สร้างทางรถไฟเชื่อมไปยังประเทศเพื่อนบ้าน 


ภาพเหตุการณ์ทั้งหมด เป็นการนำภาพบ้านเมืองที่หลวงกลการเจนจิต หรือ เภา วสุวัต เคยถ่ายไว้ในคราวต่าง ๆ มาเรียบเรียงใหม่ โดยขึ้นชื่อในเครดิตผู้ถ่ายภาพเป็นภาษาอังกฤษไว้ให้เห็นเด่นชัดตั้งแต่ต้นเรื่อง นับเป็นภาพยนตร์ที่ประกาศฝีมือของหลวงกลการเจนจิตให้ชาวต่างประเทศได้รู้จัก และเป็นเครื่องยืนยันเหตุผลที่ชาวสยามในยุคนั้นต่างเรียกหนังของกรมรถไฟหลวงว่า  "หนังหลวงกล"


ชมภาพยนตร์ได้ที่ <<คลิก>>


4. ก่อสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (2473)




ภาพยนตร์บันทึกการก่อสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ หรือ สะพานพระพุทธยอดฟ้า ซึ่งเริ่มสร้างเมื่อปี 2472 โดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2475 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี


หอภาพยนตร์พบเศษฟิล์มเนกาติฟ 35 มม. ภาพยนตร์ชุดนี้ในกรุภาพยนตร์ของกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง จากการรถไฟแห่งประเทศไทย สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการถ่ายทำเพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงการก่อสร้าง มิได้นำมาตัดต่อเป็นเรื่องออกฉาย เฉพาะฟิล์มม้วนนี้ คาดว่าน่าจะถ่ายในช่วงราว พ.ศ. 2473 ที่สะพานเริ่มเป็นรูปเป็นร่างได้ประมาณครึ่งทาง 


ส่วนสำคัญของภาพยนตร์ คือ การได้เห็นทั้งภาพหลวงกลการเจนจิต หรือ เภา วสุวัต กับทีมงาน กำลังขึ้นกระเช้าเครนก่อสร้าง เพื่อถ่ายภาพจากมุมสูงด้วยกล้องถ่ายภาพยนตร์แบบมือหมุน และตัดมาให้เห็นภาพลองเทกจากมุมกล้องอันผาดโผนและน่าหวาดเสียวของหลวงกลฯ ที่ไม่เพียงแต่จะถ่ายเจาะการดำเนินงานก่อสร้าง หากยังถ่ายภาพภูมิทัศน์อันกว้างไกลของพระนคร นับเป็นผลงานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงสัญชาตญาณและสปิริตความเป็นนักถ่ายหนังอันแรงกล้าของหลวงกลการเจนจิต ที่ลงทุนลงแรงจนทำให้ได้ภาพอันวิเศษแตกต่างจากมุมกล้องทั่วไป

ชมภาพยนตร์ได้ที่ <<คลิก>>


5. การรับเรือตอร์ปิโด (2478)




ภาพยนตร์ที่ หลวงกลการเจนจิต หรือ เภา วสุวัต ได้รับมอบหมายจากกองทัพเรือให้เป็นผู้ถ่ายทำภาพยนตร์บันทึกการรับเรือตอร์ปิโดที่กองทัพเรือจ้างต่อที่ประเทศอิตาลี เมื่อ พ.ศ. 2478 


ไม่เพียงแต่จะบันทึกเหตุการณ์ตั้งแต่ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ และบันทึกความเป็นไปแทบจะทุกกิจกรรมของภารกิจทหารเรือตลอดเส้นทาง จนกระทั่งถึงอิตาลี และเดินทางกลับกรุงเทพฯ พร้อมกับเรือตอร์ปิโดสองลำที่รับมอบ ระหว่างเดินทาง หลวงกลฯ ยังได้คิดถ่ายหนังเรื่องให้ลูกเรือเป็นดาราแสดง ผูกเรื่องให้ทหารเรือไทยไปพบรักต่างแดน แล้วกลับไปถ่ายทำต่อในโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงของครอบครัว ได้เป็นภาพยนตร์เรื่อง แก่นกลาสี สำหรับออกฉายตามโรงภาพยนตร์ ส่วนภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์รับเรือตอร์ปิโด ก็ได้นำออกฉายตามโรงภาพยนตร์ให้ประชาชนชมด้วย


นอกจากจะเป็นประจักษ์พยานถึงภารกิจหนึ่งอันเป็นประวัติการณ์ของราชนาวีไทย ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นประจักษ์พยานถึงความสามารถด้านภาพยนตร์อันรอบด้านของช่างถ่ายภาพยนตร์ที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติ


ชมภาพยนตร์ได้ที่ <<คลิก>> 


---------------------------------------------

นอกจากนี้ ท่านยังสามารถรับชมผลงานเรื่องอื่น ๆ ของหลวงกลการเจนจิตได้ทางช่อง YouTube หอภาพยนตร์ playlist หลวงกลการเจนจิต <<คลิก>> หรือห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี หอภาพยนตร์ (เมื่อเปิดให้บริการปกติ)






หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด