คุณปง อัศวนิกุล กับ หนังไทยกลับบ้าน

บันทึกความทรงจำของ โดม สุขวงศ์  เมื่อครั้งเริ่มภารกิจ “หนังไทยกลับบ้าน” หนึ่งในโครงการที่สำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์การอนุรักษ์ภาพยนตร์ในเมืองไทย เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน โดยมี ปง อัศวินิกุล ช่างบันทึกเสียงภาพยนตร์คนสำคัญและศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2563 เป็นผู้สนับสนุนตั้งแต่เริ่มต้นและช่วยประสานงานจนสำเร็จลุล่วง

----------



โดย โดม สุขวงศ์ 


*ข้อเขียนนี้เป็นฉบับเต็มของบทความที่ถูกตัดทอนลงในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 63 พฤษภาคม-มิถุนายน 2564 

ภาพปก: ปง อัศวินิกุล (ขวาสุด) กับคณะกรรมาธิการวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของสภาผู้แทนราษฎร ขณะรับมอบฟิล์มที่ฮ่องกง ในโครงการหนังไทยกลับบ้าน


ปี 2531 หอภาพยนตร์แห่งชาติได้ทำโครงการหนังไทยกลับบ้าน เมื่อได้ข้อมูลจากคุณเปี๊ยก โปสเตอร์ ว่าแมนดารินแล็บ ที่ฮ่องกง ซึ่งผู้สร้างหนังไทยไปใช้บริการทำโพสต์โปรดักชั่นที่นั่นกันมาก ระหว่างปี 2515 – 2523 จึงมีเนกาติฟหนังไทยได้รับการเก็บอยู่ที่แล็บมากเกือบพันเรื่อง และบัดนั้นทางแล็บมีแผนเลิกกิจการ รับมือการที่ฮ่องกงจะต้องกลับไปอยู่ในการปกครองของจีน ในปี 2540 เขาต้องการให้เจ้าของหนังไทยรับเนกาติฟคืน  มิฉะนั้นอาจจะต้องทำลาย  


หอภาพยนตร์เริ่มทำโครงการในปี 2531 โดยเบื้องต้นมีการติดต่อกับแล็บ ได้รับบัญชีรายชื่อภาพยนตร์ทั้งหมดมา ขั้นต่อไปคือการติดต่อเจ้าของหนังเหล่านั้น เพื่อเชิญชวนให้เข้าร่วมโครงการ เพราะเจ้าของจะต้องยินยอมให้หอภาพยนตร์เป็นตัวแทนหรือตัวกลางรับฟิล์มกลับมาประเทศไทย  การตามหาเจ้าของหนังในจำนวนเกือบหนึ่งพันเรื่อง ไม่ได้ง่ายดาย กรณีที่เจ้าของเป็นบริษัทมีหลักมีฐาน เช่น บริษัทไฟว์สตาร์  บริษัทพูนทรัพย์ บริษัทกัญญามาลย์ บริษัทโคลีเซี่ยมฟิล์ม  บริษัทสหมงคลฟิล์ม ไม่สู้มีปัญหา เมื่อติดต่อได้ก็ได้รับความร่วมมือ ลงนามในเอกสารยินดีให้หอภาพยนตร์นำฟิล์มทุกเรื่องของแต่ละบริษัทกลับมา แต่ที่เป็นปัญหาใหญ่ คือยังมีฟิล์มภาพยนตร์ของบริษัทเล็ก ๆ หรือผู้สร้างอิสระรายเล็กรายน้อย ซึ่งปรากฏว่ามีนับร้อยราย ที่ต้องตามหากันให้เจอ บริษัทเล็ก ๆ และผู้สร้างอิสระเหล่านี้หลายรายมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอยู่ในวงการ แต่อาจจะเลิกราวงการไปแล้ว แต่บางรายก็ไม่เคยได้ยินชื่อเสียงกันมาก่อน เช่น สร้างเพียงเรื่องเดียว บางรายก็สร้างค้างไว้ส่งฟิล์มไปทำแล็บแล้วขาดการติดต่อก็มี รวมทั้งยังมีปัญหาผู้สร้างบางรายค้างชำระหนี้สินกับแล็บ เหนืออื่นใด ปัญหาใหญ่สุดคือในเบื้องต้นนั้น คือทางแล็บตั้งเงื่อนไขว่าถ้าเราจะรับฟิล์มกลับก็ขอให้รับกลับทั้งหมดทีเดียว หอภาพยนตร์จึงต้องตามหาเจ้าของหนังให้ครบทุกราย


 

ภาพ: ปง อัศวินิกุล (หันหลัง) ในห้องเก็บฟิล์มของแล็บในฮ่องกง เมื่อครั้งช่วยภารกิจโครงการ หนังไทยกลับบ้าน 


เมื่อหอภาพยนตร์เริ่มดำเนินการติดตามหาผู้สร้างที่เป็นบริษัทเล็ก ๆ และผู้สร้างอิสระ ก็มักได้รับคำแนะนำจากคนในวงการหนังไทยแทบทุกรายว่า ให้ติดต่อคุณปง อัศวินิกุล เพราะคุณปงคือตัวแทนของผู้สร้างหนังไทยที่นำหนังไทยไปทำแล็บที่ฮ่องกง ตั้งแต่การส่งเนกาติฟไปล้าง การทำสำเนาส่งกลับมาตัดต่อที่เรียกเวิร์กปรินท์ การพากย์และทำเสียงประกอบ ซึ่งแรก ๆ ต้องส่งนักพากย์ไปพากย์อัดเสียงที่แล็บในฮ่องกง แต่ต่อมาสามารถพากย์และทำเสียงประกอบในไทยแล้วส่งเทปไปทำต่อที่แล็บฮ่องกง ดูเหมือนว่าคุณปงจะเป็นตัวแทนนำหนังไทยไปฮ่องกงเกือบทุกเรื่องทีเดียว


ผมไม่เคยพบคุณปงมาก่อน แต่รู้จักชื่อ ปง อัศวินิกุล เป็นอย่างดี เพราะชื่อนี้ปรากฏอยู่ในเครดิตไตเติลในฐานะผู้บันทึกเสียงหนังไทยนับร้อยเรื่องที่ผ่านตา ผมจึงไปพบคุณปงเป็นครั้งแรก เพื่อปรึกษาเรื่องนี้  เวลานั้นหนังไทยเราไม่ต้องไปทำแล็บที่ฮ่องกงแล้ว  เรามีแล็บมาตรฐานสามสี่แห่งให้บริการครบวงจร โดยคุณปงเองเป็นรายหนึ่งที่ตั้งกิจการห้องบันทึกเสียงขึ้นมา คือ ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา จนเจริญก้าวหน้าเป็นห้องบันทึกเสียงที่ดีที่สุดของไทยในเวลานั้น  คุณปงยินดีให้ความร่วมมือเต็มที่ ภารกิจแรกคือการขอให้ท่านร่วมเดินทางไปฮ่องกง  ในเวลานั้น กรณีหนังไทยกลับบ้าน กลายเป็นประเด็นสาธารณะ ได้รับความสนใจจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะคณะกรรมาธิการวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีภารกิจเดินทางไปดูงานต่างประเทศ ขากลับได้แวะฮ่องกงเพื่อช่วยหอภาพยนตร์เจรจากับเจ้าของแมนดารินแล็บ ในการนำฟิล์มเนกาติฟหนังไทยกลับบ้าน คุณปงได้ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมการเจรจาอย่างดี ไม่เพียงเพราะคุณปงพูดภาษาจีนคล่อง  แต่เพราะเจ้าของแล็บและพนักงานทุกคนของแล็บล้วนรู้จักและสนิทสนมกับคุณปงเหมือนญาติ ประกอบกับการมีคณะกรรมมาธิการของสภายกกันไปเป็นคณะใหญ่ ทำให้การเจรจาเพื่อขอนำฟิล์มเนกาติฟกลับก่อนเป็นรุ่น ๆ ตามแต่เราจะตามหาเจ้าของได้  ได้รับการยินยอม การไปฮ่องกงครั้งนั้นเราจึงสามารถนำฟิล์มเนกาติฟหนังไทยกลับบ้านรุ่นแรกได้ 29 เรื่อง

 


ภาพ: ปง อัศวินิกุล (ซ้ายสุด) ในพิธีรับมอบฟิล์มโครงการ หนังไทยกลับบ้าน ที่ฮ่องกง


หลังจากนั้น เมื่อเราตามเจ้าของได้อีกจำนวนหนึ่ง  ผมกับคุณปงก็เดินทางไปฮ่องกงกันอีกครั้งสองครั้ง คราวนี้นอกจากไปที่แมนดารินแล็บแล้ว เรายังขอให้คุณปงพาไปเจรจากับแล็บอื่น ๆ ที่มีหนังไทยตกค้างอยู่ทุกแห่ง  ผมสังเกตว่าคุณปงดูสนุกกับภารกิจนี้มาก เพราะเวลานั้นท่านไม่ค่อยได้เดินทางไปฮ่องกงแล้ว  คุณปงบอกว่าฮ่องกงเปรียบเหมือนบ้านที่สองของท่าน  ท่านจึงพาผมซอกแซกเดินทางโดยขนส่งสาธารณะอย่างคล่องแคล่วไปติดต่อแล็บทุกแห่ง พาไปเจรจากับเจ้าของแล็บและบางแล็บที่เราต้องการสืบว่ายังมีหนังไทยเก็บอยู่ไหมเพราะมีการเปลี่ยนเจ้าของและเปลี่ยนสถานที่ตั้ง คุณปงสามารถใช้ความรู้จักคุ้นเคยส่วนตัวกับพนักงานเก่า ๆ ในแล็บให้ช่วยสืบให้ นอกเวลาทำงานคุณปงยังพาผมตระเวนไปสัมผัสแหล่งที่กินที่เที่ยวสำคัญของฮ่องกง แต่โดยมากจะเป็นที่กินเพราะท่านบอกว่าเคยแต่มาทำงานตลอดเวลา ไม่เคยได้มาเที่ยวเฉย ๆ ซึ่งผมได้เห็นประจักษ์ว่าคุณปงเป็นคนประเภทเมื่อรับงานแล้วจะรับผิดชอบเต็มที่จริง ๆ 


โครงการหนังไทยกลับบ้าน ค่อย ๆ ทยอยนำเนกาติฟหนังไทยกลับจากฮ่องกงเป็นลำดับเรื่อยมา กินเวลาอยู่หลายปี จนสามารถนำหนังไทยกลับมาได้เกือบหนึ่งพันเรื่อง  ความสำเร็จของงานนี้ต้องนับว่ามีคุณปงเป็นผู้ปฎิบัติงานสำคัญตั้งแต่แรกเริ่ม หอภาพยนตร์ได้อาศัยประสบการณ์ความรู้ความชำนาญ การเป็นคนทำงานจริงและความสัมพันธ์อันดีระหว่างคุณปงกับแล็บต่าง ๆ ในฮ่องกงเป็นธงนำ  แต่ที่ผมเห็นว่าสำคัญที่สุดคือความเป็นคนมีจิตใจเมตตาสูงของคุณปง  ซึ่งท่านมีต่อผมที่เป็นใครไม่รู้จักไปขอความช่วยเหลือ


 

ภาพ: โดม สุขวงศ์ ถ่ายรูปคู่กับ ปง อัศวินิกุล เมื่อคราวไปสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับ สันติ-วีณา ที่ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา เมื่อปี 2559


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด