อ่านจดหมายนำฉาย “พระเจ้าช้างเผือก” และบันทึกข้อบกพร่องของภาพยนตร์โดย ปรีดี พนมยงค์ ขณะลี้ภัยในจีน

เปิดเอกสารจดหมายเหตุสำคัญทางประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ที่เขียนโดย ปรีดี พนมยงค์ ว่าด้วยการฉายภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ระหว่างกำลังลี้ภัยการเมืองอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ และบันทึกข้อบกพร่องต่าง ๆ ของภาพยนตร์ที่เขาในฐานะผู้อำนวยการสร้างพบในตอนนั้น

----------


 

โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู


ในช่วงระหว่างเตรียมจัดกิจกรรม “80 ปี พระเจ้าช้างเผือก” เมื่อวันเสาร์ที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา ทีมงานหอภาพยนตร์ อันประกอบด้วย โดม สุขวงศ์ ชลิดา เอื้อบำรุงจิต และผู้เขียน ได้มีโอกาสไปค้นคว้าเอกสารเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ที่ทายาทของ ปรีดี พนมยงค์ ผู้สร้างภาพยนตร์ มอบให้แก่หอจดหมายเหตุ  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทำให้ได้พบหลักฐานที่นำไปสู่ข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับ พระเจ้าช้างเผือก จำนวนหนึ่ง 


หนึ่งในหลักฐานชิ้นสำคัญนั้นคือ สำเนาจดหมายที่ ปรีดี พนมยงค์ เขียนขึ้น ขณะลี้ภัยทางการเมืองอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี พ.ศ. 2499 เนื้อความในจดหมายกล่าวถึงการส่งฟิล์มภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ไปให้คณะกรรมการสันติภาพจีนพิจารณาจัดฉายให้ประชาชนจีนได้ชม โดยปรีดีได้เล่าถึงเหตุผลในการสร้าง ซึ่งขณะนั้นผ่านไปแล้วราว 16 ปี และกล่าวเชื่อมโยงถึงสถานการณ์ทางการเมืองของโลกในยุคต้นของสงครามเย็น รวมถึงได้แนบบันทึกข้อบกพร่องของภาพยนตร์ที่เขาได้ค้นพบด้วยตนเองในขณะนั้น


ก่อนหน้านี้ เราทราบแต่เพียงว่า พระเจ้าช้างเผือก เคยจัดฉายในประเทศไทย สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ ในรอบปฐมทัศน์ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2484 และที่ฟิลิปปินส์ ในปีเดียวกัน จากบันทึกของ ดำริห์ โปรเทียรณ์ รวมทั้งฉายที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2515 จากข้อเขียนของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ซึ่งทำให้คนไทยรุ่นหลังได้รู้จัก พระเจ้าช้างเผือก และเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการจัดฉายอีกหลายครั้งในกาลต่อมา แต่การมีอยู่ของเอกสารจดหมายเหตุฉบับนี้ ทำให้ทราบเพิ่มเติมว่า มีความพยายามจัดฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ประเทศจีนด้วย และอาจรวมไปถึงฮ่องกง ที่เป็นสถานที่เริ่มต้นในการลักลอบนำฟิล์มเข้ามาในจีน รวมทั้งยังพบว่า นอกจากภาพยนตร์ฉบับเต็มซึ่งยาว 100 นาที และฉบับสั้นยาว 53 นาที ที่อยู่ในคลังอนุรักษ์ของหอภาพยนตร์ ยังมีอีกฉบับหนึ่งตามที่ระบุในจดหมาย ซึ่งถูกตัดทอนบางฉากออกไปเล็กน้อยจากภาพยนตร์ฉบับเต็ม และที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ท่ามกลางข้อเขียนตำหนิและชื่นชม พระเจ้าช้างเผือก ที่มีอยู่จำนวนมาก บันทึกข้อบกพร่องที่แนบท้ายมาพร้อมกับจดหมายฉบับนี้ ได้ถือเป็นการค้นพบข้อวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องนี้โดยตัวผู้สร้างคือ ปรีดี พนมยงค์ เองเป็นครั้งแรก 


เนื่องในวันปรีดี พนมยงค์  11 พฤษภาคม หอภาพยนตร์จึงขอนำข้อความในจดหมายและบันทึกดังกล่าวมาลงให้ผู้ที่สนใจได้อ่าน ซึ่งไม่เพียงแต่จะหวังให้เป็นต้นธารในการศึกษาและช่วยต่อเติมเรื่องราวของ “ช้างเผือก” แห่งวงการหนังไทยให้สมบูรณ์เท่านั้น  หากแต่ยังต้องการให้เห็นถึงความคิดและการวิจารณ์เพื่อทบทวนตนเองของผู้สร้าง อันเป็นลักษณะสำคัญที่มักจะได้พบอยู่เสมอจากข้อเขียนต่าง ๆ ของ ปรีดี พนมยงค์ 


 



นครกวางตุ้ง

วันที่ ๑๘ กันยายน ๑๙๕๖

ท่านเลี่ยวซันซื่อ ที่นับถือ


        ด้วยในปี ค.ศ. ๑๙๔๐ อันเปนสมัยที่สงครามได้เกิดขึ้นแล้วในยุโรปและมีท่าทีที่จะขยายลุกลามเปนสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ข้าพเจ้าโดยความช่วยเหลือของเพื่อนในประเทศไทยได้จัดทําภาพยนตร์มีเสียงคําพูดเปนภาษาอังกฤษให้ชื่อเรื่องว่า “พระเจ้าช้างเผือก” ตามใจความในหนังสือที่ข้าพเจ้าเปนผู้แต่งโดยอาศัยเค้าความตอนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของไทย เมื่อ ๔๐๐ ปีกว่ามาแล้ว. สาระสําคัญของเรื่องนั้นคือการคัดค้านสงครามและส่งเสริมสันติภาพดังปรากฏในคํานําที่เปนตัวอักษรในต้นเรื่องของภาพยนตร์ดังนี้


       “เรื่องนี้เปนนิยายของกษัตริย์องค์หนึ่งซึ่งครองอาณาจักร์ “อโยธยา” เมื่อ ๔๐๐ ปีมาแล้ว. เขาป้องกันอาณาจักร์ของเขาด้วยดาบของเขาเองและเสี่ยงชีวิตเพื่อเพื่อนร่วมชาติของเขา ในดินแดนนี้มีช้างมากมาย  ช้างเผือกได้รับความยกย่องมีเกียรติกว่าสัตว์ทั้งหลายและราษฎรได้ยกย่องกษัตริย์ผู้เปนวีรชนของเขาว่า“พระเจ้าช้างเผือก” เขามีชื่อว่า “จักรา”.  เขาไม่ชอบความฟุ้งเฟ้อแห่งราชสํานักของเขา เขาได้อุทิศตนทั้งหมดเพื่อความผาสุขแห่งชาติของเขา.  เขารบอย่างกล้าหาญแต่เขารักสันติภาพและนิยายเรื่องนี้อุทิศให้แด่สันติภาพ”. 


        ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้แสดงถึงธรรมชนะอธรรมและฝ่ายที่ถูกรุกรานชนะผู้รุกราน. ความรับผิดชอบของสงครามรุกรานตกอยู่แก่ผู้ปกครองประเทศคนเดียวมิใช่ตกอยู่แก่ราษฎรซึ่งถูกผู้นําบังคับมารบ. ฝ่ายชนะได้เตือนให้ราษฎรทั้งสองประเทศมีความเข้าใจดีต่อกันและอวยพรให้สันติภาพพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรทั้งสองประเทศรวมทั้งชาติทั้งหลายในโลกด้วย.


        นอกจากสาระสําคัญที่เกี่ยวแก่สันติภาพดังกล่าวแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้ได้แสดงถึงวัฒนธรรมบางประการของไทยและแสดงถึงบทบาทของช้างจำนวนมาก.


        ข้าพเจ้าเห็นว่าปัจจุบันนี้ราษฎรไทยคัดค้านกลุ่มรุกรานอันมีจักรวรรดิ์นิยมอเมริกันเปนหัวหน้าที่จะก่อสงครามครั้งใหม่ และราษฎรไทยมีความปราถนาอย่างแรงกล้าที่จะส่งเสริมมิตรภาพและความเข้าใจดีกับราษฎรจีนรวมทั้งการไปมาหาสู่และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน. แต่ขณะนี้ราษฎรไทยยังมีอุปสรรคขัดขวาง เนื่องจากถูกจักรวรรดิ์นิยมอเมริกันและลูกสมุนยึดครองประเทศไทยอยู่ จึงมิอาจเดินทางมาประเทศจีนได้สดวก. ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าแม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะได้ทำไว้หลายปีมาแล้วก็ตาม แต่สาระสําคัญของเรื่องเปนการส่งเสริมสันติภาพซึ่งเปนอุดมการณ์ที่ไม่มีวันเสื่อมสูญและการแสดงถึงวัฒนธรรมบางอย่างของไทยซึ่งยังคงมีอยู่จึงอาจรับใช้อุดมการณ์สันติภาพและความปราถนาของราษฎรดังกล่าวแล้วได้บ้างตามสมควร แก่สภาพการณ์ของราษฎรไทยในขณะนี้ 


        ด้วยเหตุดังกล่าวแล้วข้าพเจ้าจึงขอส่งภาพยนตร์เรื่องนี้มายังท่าน เพื่อความกรุณาท่านมอบให้แก่คณะกรรมการสันติภาพจีน. ภาพยนตร์นี้มีข้อบกพร่องหลายอย่าง แต่ถ้าท่านและคณะกรรมการนั้น พิจารณาเห็นว่าสมควรที่จะฉายให้ราษฎรจีนชมแล้ว ข้าพเจ้าขอยกลิขสิทธิ์ให้แก่คณะกรรมการนั้นอย่างเต็มที่ ซึ่งคณะกรรมการนั้นจะจัดทําเปนภาษาจีนและปรับปรุงแก้ไขตามที่เห็นสมควรทุกประการ.


        พร้อมกับจดหมายฉบับนี้ ข้าพเจ้าขอมอบ (๑) บันทึกใจความย่อของภาพยนตร์เรื่องนั้น ๑ ฉบับ.  (๒) บันทึกข้อบกพร่องเท่าที่ปรากฏแก่ข้าพเจ้าในขณะนี้ ๑ ฉบับ. (๓) หนังสือที่ข้าพเจ้าแต่ง ๑ เล่ม. (๔) ภาพพิมพ์จากรูปเขียนแสดงการรบบนหลังช้างในสมัยโบราณ ๑ แผ่น. (๕) ภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ๑๑ ม้วน.


ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง


(นายปรีดี พนมยงค์)   


 


บันทึกข้อบกพร่อง


        (๑) ความบกพร่องทั่วไปมีอยู่มาก ซึ่งเนื่องจากความคิดล้าหลังหลายอย่างของข้าพเจ้า ที่เปนผู้แต่งเรื่องและเปนผู้จัดทําภาพยนตร์เรื่องนี้. อย่างไรก็ตามสาระสําคัญแห่งความปราถนาของข้าพเจ้าก็คือ การคัดค้านสงครามและส่งเสริมสันติภาพ.


        (๒) ผู้แสดงภาพยนตร์ เปนเพื่อนที่มิได้เคยมีอาชีพในทางแสดงภาพยนตร์มาก่อน เหตุฉนั้นการแสดงจึงบกพร่องหลายอย่าง. ส่วนเทฆนิคในการถ่ายภาพและในการอัดเสียงนั้น แม้ผู้ปฏิบัติงานจะเปนเจ้าหน้าที่เทฆนิคโดยฉะเพาะก็ตาม แต่ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ นั้น เทฆนิคยังล้าหลังกว่าปัจจุบันนี้มาก.


        (๓) โดยฉะเพาะฟิลม์ภาพยนตร์ชุดที่ส่งมานี้ มีข้อบกพร่องหลายอย่างมากกว่าต้นฉบับเดิม. ทั้งนี้ขอชี้แจงว่าต้นฉบับเดิมนั้นเก็บไว้ในประเทศไทยซึ่งมีความยากลําบากที่จะนําออกจากประเทศไทยเพื่อส่งเข้ามาในประเทศจีน. ชุดที่ส่งมานี้เปนชุดที่ข้าพเจ้าขอให้เพื่อนที่ฮ่องกงจัดการ เอาคืนมาจากผู้ที่ลักลอบเอามายังฮ่องกง. ผู้ลักลอบได้โอนกันต่อไปหลายมือ และได้ทําการตัดทอนฟิลม์บางตอนออกจากต้นฉบับเดิมเช่น (ก) ตัดตอนหนึ่งในฉากระบำ (ข) ตัดตอนหนึ่งในฉากร้องเพลง (ค) ตัดตอนหนึ่งของฉากสุดท้ายที่จักราจะเลือกราชินี. แม้ทางศิลปจะขาดไปบ้างจากต้นฉบับเดิมแต่ส่วนที่ยังเหลืออยู่ก็ยังคงแสดงถึงศิลปเหล่านั้นได้. สิ่งสําคัญที่สุดก็คือการคัดค้านสงครามและส่งเสริมสันติภาพกับการแสดงถึงวัฒนธรรมของไทยกับบทบาทของช้างยังคงมีอยู่ตามเดิม.


        (๔) ข้าพเจ้าหวังว่าคณะกรรมการสันติภาพจีนและเจ้าหน้าที่ภาพยนตร์จีนคงจะพบข้อบกพร่องอีกหลายอย่าง และคงจะพิจารณาช่วยแก้บกพร่องทั้งหลายตามที่เห็นสมควรด้วย.

ปรีดี พนมยงค์ 


หมายเหตุ: ข้อความในจดหมายและบันทึกคงรูปแบบการสะกดตามต้นฉบับที่หอภาพยนตร์ค้นพบในหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 



หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด