“โรงแรมนรก” มรดกหนังไทยที่มาก่อนกาล

บทวิจารณ์จาก ประวิทย์ แต่งอักษร ถึง "โรงแรมนรก" หนังปี พ.ศ. 2500 ผลงานชิ้นเอกของ รัตน์ เปสตันยี หนังที่ได้ชื่อว่าล้ำสมัย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ และชวนให้ค้นหาความหมายอยู่จนทุกวันนี้

----------



โดย ประวิทย์ แต่งอักษร

ดัดแปลงจากบทความเดิมที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร สตาร์พิคส์ 


ปฏิกิริยาของผู้ชมร่วมสมัยที่จำนวนไม่น้อยที่ได้ชม โรงแรมนรก บอกคล้าย ๆ กันว่า พวกเขานึกไม่ถึงว่า หนังไทยจากปี พ.ศ. 2500 จะก้าวล้ำยุคถึงเพียงนี้ หลาย ๆ คนเห็นพ้องต้องกันว่า มันเป็นหนังไทยที่ ‘แปลกประหลาด’ ทีเดียว ไม่ว่าจะเทียบกับหนังไทยในช่วงเวลาไหนก็ตาม


ถึงทุกวันนี้ แม้ว่า โรงแรมนรก จะได้สถาปนาตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองบนหน้าประวัติศาสตร์หนังไทย แต่บทบาทหนึ่งที่ยังคงดำเนินต่อไป คือ การทำตัวเองให้เป็นที่รู้จักแก่นักดูหนังรุ่นต่อ ๆ มา และช่วยส่องทางให้คนเหล่านั้นได้มองเห็นรากเหง้าของหนังไทยในฟากที่ไม่ประนีประนอม และมุ่งนำเสนอความแปลกใหม่ให้กับผู้ชม มากกว่าการปรนเปรอหรือตอบสนองความความพึงพอใจทางด้านอารมณ์อย่างเดียว


โรงแรมนรก เป็นผลงานกำกับการแสดงเรื่องที่สองของรัตน์ เปสตันยี ต่อจาก ตุ๊กตาจ๋า (2494) ซึ่งเป็นหนังในระบบ 16 มิลลิเมตร และเป็นเรื่องที่ห้าของการเข้าสู่อุตสาหกรรมหนังในตำแหน่งต่าง ๆ กัน ตรวจสอบจากเครดิตงานสร้างแล้วก็จะพบว่า ความแตกต่างของรัตน์ เปสตันยี จากคนในวงการหนังรุ่นราวคราวเดียวกันก็ คือ เขาไม่ได้เติบโตมาจากแวดวงละครเวที แต่เริ่มต้นจากงานด้านกำกับภาพ ผลงานในการถ่ายภาพยนตร์ก่อนหน้านี้ ล้วนแล้วเป็นหนังเรื่องสำคัญทั้งสิ้น อันได้แก่ พันท้ายนรสิงห์ (2492), สันติ – วีณา (2497) และ ชั่วฟ้าดินสลาย (2498) ทั้งสามเรื่อง เป็นงานกำกับการแสดงของครูมารุต (ทวี ณ บางช้าง)



ภาพ : รัตน์ เปสตันยี ผู้กำกับภาพยนตร์ โรงแรมนรก


นั่นเป็นปัจจัยที่ทำให้ โรงแรมนรก เป็นหนังที่ให้น้ำหนักกับการสื่อสารด้วยภาษาทางด้านภาพยนตร์มากกว่าเทคนิคการแสดงของนักแสดง และองค์ประกอบสองส่วนที่ต้องถือว่าพิเศษจริง ๆ นอกเหนือจากการถ่ายด้วยฟิล์ม 35 มิลลิเมตรอันเป็นฟอร์แมตมาตรฐานสากลก็คือ การบันทึกเสียงในฟิล์ม หรือที่เรียกว่า sound on film แฟนหนังไทยคงตระหนักดีว่า มันไม่ได้เพียงแค่ผิดธรรมเนียมการผลิตภาพยนตร์ไทยอย่างสิ้นเชิง ยังเป็นการปฏิเสธระบบการพากย์ซึ่งในหลาย ๆ กรณี มันเป็นเสมือนหัวใจห้องหนึ่งของหนังไทย และถึงขั้นกำหนดความสำเร็จหรือล้มเหลวของหนัง 


ข้อน่าสังเกตก็คือ ถ้าหากจะละเว้นหนังของคนทำหนังรุ่นหลังบางคน อาทิ หนังของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หรือของยุทธนา มุกดาสนิท หนังไทยเราเพิ่งจะเปลี่ยนจากระบบพากย์ (หรือที่เรียกว่าการใส่เสียงในภายหลัง) มาเป็นระบบบันทึกเสียงจริงของนักแสดงในระหว่างถ่ายทำเมื่อไม่กี่สิบปีนี้เอง


อีกปัจจัยที่ทำให้ โรงแรมนรก ไม่สามารถจัดให้อยู่ในครรลองของหนังไทยโดยทั่ว ๆ ไปในช่วงเวลานั้นก็คือ มันเป็นหนังที่ไม่ได้ดัดแปลงจากบทประพันธ์เรื่องไหนโดยตรง หากเป็นการผูกเรื่องขึ้นมาเอง อันที่จริง เป็นที่เชื่อได้ว่า ต้องมีหนังไทยก่อนหน้านี้หลาย ๆ เรื่องที่เขียนบทขึ้นมาเพื่อการถ่ายทำภาพยนตร์โดยตรง แต่เทียบสัดส่วนกันแล้ว ก็ยังน้อยกว่าหนังที่สร้างจากเรื่องสั้นหรือบทประพันธ์ เพราะมันแทบจะเป็นการสร้างวิมานในอากาศขึ้นมาเลย 


การเขียนบทภาพยนตร์ดั้งเดิม หรือที่ฝรั่งเรียก original screenplay ในช่วงเวลาที่ศาสตร์ความรู้ในเรื่องดังกล่าวยังจำกัดจำเขี่ยเต็มที ต้องเป็นเรื่องยุ่งยากแน่นอน เพราะมันไม่ได้ใช้ทักษะในทางด้านภาพยนตร์เพียงลำพัง แต่คนเขียนต้องเข้าใจการผูกเรื่อง การวางปมเรื่อง ตลอดจนพัฒนาให้เรื่องดำเนินไปอย่างมีจุดหมายปลายทางและเป็นลำดับขั้นตอน นั่นยังไม่ต้องเอ่ยถึงบทสนทนาที่ต้องไม่รกรุงรัง และควรสนับสนุนในสิ่งที่ผู้สร้างต้องการจะสื่อสารไปพร้อมกัน 


บทหนังของ โรงแรมนรก มีคุณสมบัติดังกล่าวอย่างครบถ้วน และยังท้าทายขนบของการสร้างเรื่องและบทในตอนนั้น ด้วยการจำกัดสถานการณ์ให้อยู่แต่เฉพาะภายในโรงแรม ซึ่งว่าไปแล้ว ไม่ค่อยมีใครกล้าทำ(แม้ในปัจจุบัน) มองในแง่มุมหนึ่ง หนังอาจจะมีลักษณะใกล้เคียงกับละครเวทีที่ตัวแสดงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้า-ออกในฉากเดียวกัน แต่ทักษะในทางภาพยนตร์ของรัตน์ ก็ทำให้ผู้ชมไม่เกิดความรู้สึกอย่างนั้น ดังจะเห็นว่าในหลายครั้งหลายครา หนังแทบจะไม่ได้พึ่งพาบทสนทนา หรือการแสดงของนักแสดง และถ่ายทอดสิ่งที่ต้องการบอกเล่าด้วยภาษาด้านภาพล้วน ๆ




ฉากหลังของหนังได้แก่ โรงแรมเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในต่างจังหวัดที่ชื่อว่า โรงแรมสวรรค์ ห้องพักเพียงห้องเดียวของโรงแรมแห่งนี้ถูกจับจองโดยชายหนุ่มที่ชื่อว่า ชนะ (ชนะ ศรีอุบล) ซึ่งไม่ยอมเปิดเผยว่า เขาเลือกแวะพัก ณ โรงแรมแห่งนี้ด้วยจุดประสงค์อันใด


แต่อย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ เขาไม่ค่อยพอใจกับสภาพอันวุ่นวายโกลาหลภายในโรงแรม ซึ่งมีคนพลุกพล่านและส่งเสียงอึกทึกครึกโครมตลอดเวลา ส่วนหนึ่งเป็นพวกนักดนตรีที่มาขออาศัยห้องโถงของโรงแรมฝึกซ้อมเพลง (ข้อน่าสังเกตก็คือ เพลงส่วนใหญ่ที่แต่ละคนร้องเล่นกันล้วนเป็นเพลงต่างชาติ กระทั่งเพลง “ขี้ตู่กลางนา ขี้ตาตุ๊กแก” ก็ยังอาศัยทำนองเพลงจากโอเปร่า เรื่อง Carmen ของจอร์จ บิเซต์) อีกส่วนหนึ่งได้แก่พวกนักแสวงโชคที่หวังจะหาเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ เข้ากระเป๋าจากการพนันงัดข้อกับน้อย (ประจวบ ฤกษ์ยามดี) คนดูแลกิจการโรงแรมที่อ้างว่าเป็นนักเลงงัดข้อแชมเปี้ยนโลก




กล่าวได้ว่า ประมาณหนึ่งชั่วโมงเต็ม ๆ ของหนัง ไม่ได้มีเนื้อหาอะไรที่จับต้องเป็นชิ้นเป็นอันได้เลย แต่มันก็ไม่ได้ไร้แก่นสารซะทีเดียว เพราะสิ่งละอันพันละน้อยที่หนังนำมาร้อยเรียง ให้ทั้งความรู้สึกสนุกสนาน, ตลกขบขัน, เพลิดเพลิน รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนทำหนังได้ล้อเลียนเสียดสีวงการบันเทิง


อย่างในฉากที่ศาสตราจารย์สมพงษ์ (สมพงษ์ พงษ์มิตร) พูดถึงวงการศิลปินเมืองไทยในเชิงเหยียดหยาม แต่ตัวเขากลับเบี้ยวไม่ยอมจ่ายค่าเหล้าที่ติดค้างโรงแรมเป็นเวลานาน ก็ดูเหมือนจะเป็นการเหน็บแนมบรรดาคนหัวสูงที่เห็นของนอกดีกว่าของไทย หรือในช่วงถัดมา โรงแรมสวรรค์ของน้อยก็ได้ต้อนรับชายหญิงคู่หนึ่งที่ล่ามโซ่ตัวเองไว้ที่ข้อมือ ฝ่ายหญิงบอกว่าเธอชื่อยุพดี (ชูศรี โรจนประดิษฐ์) เพิ่งแต่งงานกับสามีที่ชื่อหม่องส่าง และสาเหตุที่ต้องล่ามโซ่ก็เพราะพ่อของฝ่ายชายกลัวเธอจะหนีไปมีชู้


สำหรับคนที่เคยได้อ่านนิยาย (ของเรียมเอง) หรือได้ดูหนังเรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย ก็แทบไม่จำเป็นต้องให้ใครมาอธิบายอารมณ์ขันของฉากนี้ มันเป็นมุขที่คนทำหนังหยอกล้อตัวเอง แต่ในขณะเดียวกัน มันก็บอกโดยอ้อมถึงความสำเร็จของหนังที่ผู้ชมในยุคนั้นคุ้นเคย ทำนองเดียวกันกับประโยคที่น้อยพูดแดกดันพฤติกรรมไม่เป็นสุภาพบุรุษของชนะว่า “สุภาพบุรุษเสือไทย” ซึ่งก็เป็นการอ้างถึงหนังไทยยอดนิยมชื่อเรื่องเดียวของหม่อมเจ้าศุกรวรรณดิศ ดิศกุล และแท้ ประกาศวุฒิสารที่สร้างในปี พ.ศ. 2491 และเป็นหนังที่ทำเงินถล่มทลาย


ตัวละครคนหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่อโครงหลักของเรื่องก็คือหญิงสาวที่มุ่งหน้ามาขอพักที่โรงแรมสวรรค์แห่งนี้ เธอแนะนำตัวเองว่าชื่อเรียม (ศรินทิพย์ ศิริวรรณ) อายุ 65 ปี อาชีพค้าฝิ่นเถื่อน เป็นแม่ม่ายและมีลูกแล้ว 12 คน ความโดดเด่นของตัวละครนี้ก็คือ นอกจากเธอจะไม่มีบุคลิกแบบผ้าพับไว้เหมือนนางเอกหนังไทย ท่าทางเธอจัดจ้านและเอาเรื่องน่าดู หญิงสาวยืนยันที่จะเข้าไปพักในห้องพักห้องเดียวของโรงแรม และจัดแจงโยนข้าวของของชนะออกมานอกห้องโดยไม่ใยดี ข้ออ้างของเธอก็คือ “ฉันเป็นสุภาพสตรี เพราะฉะนั้น ฉันจึงมีสิทธิ์มากกว่าสุภาพบุรุษ”


เรื่องเพิ่มระดับความเข้มข้นขึ้นมา เมื่อชนะไม่ยินยอมให้ตัวเองตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ และอาศัยความเหนือกว่าด้านพละกำลังบังคับให้ฝ่ายหลังต้องใช้เก้าอี้ยาวในห้องโถงเป็นเตียงนอน เห็นได้ว่าหนังกำหนดให้บุคลิกของตัวละครหลักสองคนนี้ขัดกันอย่างชนิดขาวกับดำ คนหนึ่งเถรตรงและแข็งกระด้าง ส่วนอีกคนเอาแต่ใจ และชอบอาศัยความเป็นผู้หญิงหว่านล้อมเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ หรือยั่วโทสะให้อีกฝ่ายโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ



แต่ความขัดแย้งของคนทั้งสองก็เป็นแค่เรื่อง “พ่อแง่แม่งอน” เพราะปมหลักของเรื่องถูกเปิดเผยภายหลังการมาถึงของแขกไม่ได้รับเชิญสามคน อันได้แก่ เสือสิทธิ์ (สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์) ซึ่งเป็นหัวโจก สมุนคนรองที่ไม่ได้ร้ายกาจหย่อนไปกว่ากันชื่อว่าไกร (ไกร ภูตโยธิน) และคนสุดท้ายที่แทบไม่มีบทบาทอะไรชื่อว่าเชียร (วิเชียร ภู่โชติ) 


วายร้ายทั้งสามล่วงรู้ว่า ชนะ ศรีทองเป็นสมุห์บัญชีของบริษัทปรีดาไทย เขาแวะพัก ณ โรงแรมแห่งนี้เพื่อรอรับเงิน 6 แสนบาทที่จะนำไปแจกจ่ายให้คนงาน แต่ไม่มีใครอาจรู้ได้ว่า เงินจำนวนมหาศาลนั้นจะมาถึงตอนไหน และใครเป็นคุมมา เงื่อนไขที่ทำให้เรื่องยิ่งยุ่งเหยิงมากขึ้นไปอีกก็คือ เสือสิทธิ์กับพวกไม่ใช่กลุ่มเดียวที่หวังจะเป็นเศรษฐีชั่วข้ามคืน แต่ยังมีเสือดิน (ทัต เอกทัต) จอมโจรที่ได้ชื่อว่าโหดเหี้ยมทารุณอีกคนที่ต้องการได้ครอบครองเงินก้อนเดียวกัน


เนื้อหาในช่วงครึ่งเรื่องหลัง พัฒนาไปอย่างมีจุดมุ่งหมายมากกว่าครึ่งแรก พร้อม ๆ กับสถานการณ์ที่ตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ ประการสำคัญ คนดูไม่อยู่ในฐานะที่จะคาดเดาว่าเรื่องจะพลิกผันไปทางใด มันส่งผลให้หนังอยู่ในตำแหน่งที่นำหน้าคนดูอย่างน้อยก้าวหนึ่งตลอดเวลา บางที นั่นอาจเป็นหนึ่งในเคล็ดลับที่ทำให้  โรงแรมนรก ยังคง ‘ดูดี’ ในแง่ของแท็คติกการเล่าเรื่อง ทั้ง ๆ ที่มันผ่านพ้นช่วงเวลาของมันมาเนิ่นนาน และหนึ่งในฉากที่น่าจดจำที่สุดของหนังก็คือช่วงเปิดตัวเสือดิน ที่หนังใช้ swish pan พร้อมกับการเล่นแสงเงาที่อึมครึม มันทำให้ผู้ชมสัมผัสภาวะอันไม่ปกติของเหตุการณ์





แม้จะได้กล่าวไปก่อนหน้าว่า หนังของรัตน์เรื่องนี้ไม่ได้ทิ้งภาระในการเดินเรื่องไว้กับตัวนักแสดง แต่บทบาทของนักแสดงหลาย ๆ คนมีส่วนช่วยทำให้เรื่องคืบหน้าไปอย่างชวนติดตาม ตัวชูโรงหนีไม่พ้นประจวบ ฤกษ์ยามดี ในบทน้อย ที่สร้างความสนุกสนานครื้นเครงให้กับเรื่องราว อีกทั้งยังเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างผู้ชมกับบรรดาตัวละครคนอื่น ๆ ในหนัง อย่างน้อยที่สุด เขาก็เป็นตัวละครที่รุ่มรวยอารมณ์ขัน ไม่มีพิษมีภัย และเราไว้วางใจมากกว่าทุกคน รวมทั้งถ้าหากไม่มีประจวบในช่วงหนึ่งชั่วโมงแรก หนังก็คงจะจืดชืดและสูญเสียรสชาติอย่างไม่ต้องสงสัย


อีกคนที่ฝีไม้ลายมือเป็นธรรมชาติ และไม่พยายาม ‘แสดง’ อารมณ์ใด ๆ จนเกินเลยก็คือ ศรินทิพย์ ศิริวรรณ มันเพิ่มทั้งความสมจริงสมจังและลดทอนบรรยากาศของความเป็นละครเวทีให้กับหนัง ฉากที่ดีหลาย ๆ ฉากมักจะมีเธอเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ด้วย คนที่แสดงได้แข็งกว่าเพื่อนก็คือ ชนะ ศรีอุบล แต่มองในอีกมุมหนึ่ง มันก็ตรงกับบุคลิกของตัวละครอยู่เหมือนกัน ตรงไปตรงมา ไม่ค่อยปิดบังอารมณ์ของตัวเอง หลาย ๆ ครั้งก็แสดงมันออกมาโดยไม่กลั่นกรอง


กล่าวในท้ายที่สุดแล้ว โรงแรมนรก ไม่ได้เป็นเพียงแค่หนึ่งในหนังไทยที่เก่าแก่ที่สุดที่นักดูหนังรุ่นหลังควรได้ดู แต่มันเปี่ยมไปด้วยความสนุกสนานบันเทิงสำหรับผู้ชม อีกทั้งยังถือเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับคนทำหนังรุ่นหลังในความกล้าหาญที่จะนำเสนอในสิ่งที่ตลาดไม่คุ้นเคย 


จนถึงทุกวันนี้ นักดูหนังหลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ดู โรงแรมนรก ไปแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น การได้ดูซ้ำหลังจากเวลาผ่านพ้นไปสักระยะหรือการเก็บหนังเรื่องนี้ไว้ก็อาจเป็นเรื่องจำเป็น มันไม่ใช่เรื่องของการตรวจสอบคุณค่าของผลงานที่เราต่างรู้ดีว่า มันผ่านพ้นการพิสูจน์ด้วยกาลเวลาไปเรียบร้อยแล้ว 


แต่มันเป็นเสมือนอนุสรณ์ที่ย้ำเตือนให้เราได้ตระหนักและภาคภูมิใจว่า หนังไทยก็มีรากของตัวเองที่หยั่งลึกและแข็งแรง

--------------------------------------------------------------------------

📌 กดติดตามช่อง YouTube หอภาพยนตร์ เพื่อรับชม “โรงแรมนรก” พร้อมกันในรอบปฐมทัศน์ วันพุธที่ 28 เมษายน 2564 เวลาสองทุ่มตรง ที่ www.youtube.com/FilmArchiveThailand


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด