191 ปี เอดวาร์ด เจมส์ ไมบริดจ์ ชายผู้หยุดเวลา

หลายคนมักจะคุ้นเคยชุดภาพม้าวิ่งเป็นลำดับหลาย ๆ ภาพ ภาพม้าเหล่านั้นถูกใช้งานเสมือนเป็นไอคอนเกี่ยวกับภาพที่เคลื่อนไหว (Motion pictures) หรือไม่ก็ ภาพที่หยุดการเคลื่อนไหว (Stop motion) ภาพเหล่านั้นเกิดจากช่างภาพชาวอังกฤษชื่อ เอดวาร์ด เจมส์ ไมบริดจ์ (Eadweard James Muybridge)

----------


โดย ทีมงานพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย


ไมบริดจ์ เกิดวันที่ 9 เมษายน 1830 (พ.ศ. 2373) ในอังกฤษ  แต่ไปแสวงโชคทำมาหากินในสหรัฐอเมริกา กลายเป็นช่างถ่ายภาพมืออาชีพอยู่ในแคลิฟอร์เนีย มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะช่างภาพที่ถ่ายภาพภูมิประเทศอันกว้างใหญ่ของอเมริกา  ในปี 1872 ด้วยชื่อเสียงนี้เองเขาได้รับการว่าจ้างจากอดีตผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ลีแลนด์ สแตนฟอร์ด (Leland Stanford) ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีและคนบ้าม้า ให้ถ่ายภาพม้า ในบรรดาพวกบ้าม้ามีความเชื่อกันว่า เวลาม้าห้อหรือควบอย่างเร็ว จะมีจังหวะหนึ่งที่ขาทั้งสี่จะลอยเหนือพื้นดิน แต่ไม่เคยมีใครพิสูจน์ความเชื่อนี้ได้ และมีคนอีกมากที่เชื่อว่าไม่มีทางที่เท้าม้าจะลอยไม่ติดพื้นพร้อมกันทั้งสี่ บ้างก็ว่ามีการท้าพนันกัน จึงมีคนแนะนำสแตนฟอร์ดว่าให้จ้างช่างภาพมือดีมาถ่ายภาพม้าควบสิ จะได้พิสูจน์กันเสียที ในเวลานั้นการถ่ายภาพถึงจะเจริญมากแล้ว แต่การถ่ายภาพสิ่งที่กำลังเคลื่อนที่เร็วๆ ให้เห็นชัดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากความเร็วชัตเตอร์ของกล้องและกระบวนการการเกิดภาพบนแผ่นฟิล์มกระจกเปียก (Wet Collodion) อาจจะยังไม่สามารถที่จะบันทึกภาพไว้ด้วยเวลาชั่วเสี้ยววินาทีได้  ไมบริดจ์รับงานที่ท้าทายนี้ เขาใช้กล้องถ่ายภาพม้าควบ ซึ่งคงจะถ่ายกันหลายหนอยู่ และพบว่ามีบางภาพที่พอจะเห็นว่าเป็นขณะที่เท้าทั้งสี่ของม้าลอยเหนือพื้นพร้อมกันจริง แต่มันน่าจะยังไม่เห็นเด่นชัด เพราะภาพคงจะยังไหวและพร่า สแตนฟอร์ดก็คงยังไม่พอใจผลการพิสูจน์นี้นัก


ต่อมาไมบริดจ์ดันไปก่อคดียิงชู้ของภรรยาตาย จึงถูกติดคุกไปหลายปี แต่สุดท้ายได้รับการตัดสินให้พ้นผิด กลับออกมาเป็นช่างถ่ายรูปต่อไป สแตนฟอร์ดซึ่งยังคงติดใจกับการพิสูจน์ ก็จ้างให้ถ่ายรูปม้าควบอีกครั้ง คราวนี้ขอให้เป๊ะ ๆ ไมบริดจ์จึงพยายามศึกษาและทดลองสร้างกลไกของกล้องเพิ่มเติม จนในที่สุดเขาก็ได้ออกแบบและสร้างชัตเตอร์ของกล้องใหม่ ให้สามารถทำความเร็วชัตเตอร์ได้เร็วกว่า 1/1000 วินาที และพัฒนาฟิล์มกระจกเปียกของเขา ให้เกิดกระบวนการสร้างภาพที่เร็วและคงรายละเอียดได้ดีกว่าเดิม เพื่อจะถ่ายภาพม้าวิ่งอีกครั้งในปี 1879 ในการถ่ายครั้งนี้เขาได้รับคำแนะนำให้ใช้กล้องจำนวน 12 ตัว ตั้งขนานไปกับเส้นทางวิ่งของม้า ปูพื้นทางวิ่ง ขึงผ้าขาวเป็นฉากหลัง เพื่อขับให้ภาพม้าวิ่งเด่นชัดพร้อมกันนั้นได้ขึงเส้นเชือกขวางทางวิ่งของม้า และปลายของเชือกจะเชื่อมต่อไปที่วงจรแม่เหล็กไฟฟ้ากับสวิทช์ชัตเตอร์ของกล้องแต่ละตัว ทำให้เมื่อม้าวิ่งไปชนเส้นเชือกขาดทีละเส้น จะเป็นเหมือนสวิทช์ทำให้กล้องลั่นชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพทีละภาพได้นั่นเอง กลไกการทำงานนี้ทำให้เขาสามารถบันทึกภาพขณะที่ม้าวิ่งมาชนเส้นเชือกนั้นได้ด้วยความเร็วเพียงเสี้ยววินาที และถ่ายต่อเนื่องเป็นลำดับขั้นไปจนครบกล้องทุกตัว ก็จะได้ชุดภาพม้าวิ่ง 12 ภาพ แบบที่เราเห็นกัน และหลายภาพในนั้น จะมีภาพม้าวิ่งลอยค้างอยู่กลางอากาศรวมอยู่ด้วย โดยม้าตัวที่วิ่งคือม้าเพศเมียชื่อ แซลลี การ์ดเนอร์ และคนขี่ชื่อ กิลเบิร์ต ดอมม์ พร้อมกันนั้นได้เชิญชวนสื่อมวลชนมาเป็นสักขีพยานในการถ่ายครั้งนี้ไว้ด้วย ภาพชุดที่เขาถ่ายมีชื่อว่า The Horse in Motion หรือ Sallie Gardner at a Gallop 



หลังจากถ่ายภาพเพื่อพิสูจน์การวิ่งของม้าได้สำเร็จ ไมบริดจ์กลายเป็นช่างภาพที่หลงใหลหรือบ้าการถ่ายภาพเคลื่อนไหว เขาถ่ายทุกอย่างที่มีอาการเคลื่อนไหว ทั้งคนทั้งสัตว์ ถ่ายเป็นบ้าเป็นหลังนับหมื่น ๆ ภาพ จนบรรลุธรรมของการถ่ายภาพเคลื่อนไหว 


ในที่สุดไมบริดจ์ได้เกิดความคิดในการนำภาพนิ่งของอาการเคลื่อนไหวที่เขาถ่ายมากมายนี้ไปประกอบกับโคมเชิดหนัง (magic lantern) ที่มีผู้ประดิษฐ์ให้ฉายภาพเคลื่อนไหวได้โดยอาศัยหลักการเห็นภาพค้างติดตา ในขณะที่การฉายภาพของคนอื่นเป็นภาพที่เกิดจากการวาด ไมบริดจ์ใช้ภาพถ่ายแทน เขาตั้งชื่อสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ว่า Zoopraxiscope โดยจะฉายภาพนิ่งที่เห็นความเคลื่อนไหวทีละภาพ ด้วยความเร็วต่อเนื่องกัน จนเหมือนเห็นเป็นภาพขยับได้ อีกทั้งมีการบรรยายถึงการเคลื่อนไหวของภาพต่างๆที่ถ่ายมาประกอบควบคู่ไปด้วย ไมบริดจ์กลายเป็นวิทยากรเดินทางไปแสดงและบรรยายภาพถ่ายที่เคลื่อนไหวได้ของเขาไปทั่วทั้งอเมริกาและยุโรป โด่งดังจนได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งภาพเคลื่อนไหว”  (Father of the Motion Picture) หรือมีอีกฉายาหนึ่งคือ “ชายผู้หยุดเวลา” (จากหนังสือ The Man Who Stopped Time โดย Brian Clegg) ผลงานและประดิษฐกรรมของ เอดวาร์ด เจมส์ ไมบริดจ์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์สมัยใหม่ และได้สร้างแรงบันดาลใจให้นักประดิษฐ์หลาย ๆคนแข่งขันกันประดิษฐ์ภาพยนตร์ 


ทุกท่านสามารถมาจับมือทักทายกับรูปปั้นของชายผู้หยุดเวลาท่านนี้ ผู้ซึ่งชอบสัมผัสมือกับคนที่เป็นแบบให้เขาถ่ายรูปเสมอ แวะเข้าซื้อของฝากหรือของที่ระลึกกับร้านที่ชื่อ ไมบริดจ์ และเข้าชมนิทรรศการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ได้ที่อาคารสรรพสาตรศุภกิจ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เปิดให้บริการทุกวันอังคารถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00 น. – 17.00 น. ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด