Starship Troopers: นี่ไม่ใช่หนัง แต่มันคือ propaganda!

สรุปสาระสำคัญจากการบรรยายในกิจกรรม ทึ่ง! หนังโลก × Cinema Lecture โดย ผศ. เมธาวี โหละสุต ที่ชวนเรามอง Starship Troopers ด้วยมุมมองใหม่ ว่านี่ไม่ใช่หนังอเมริกัน แต่คือโฆษณาชวนเชื่อ ของ United Citizen Federation!

---------



โดย เมธากุล ชาบัญ นักศึกษาฝึกงานหอภาพยนตร์


เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2564 หอภาพยนตร์จัดกิจกรรม “ทึ่ง! หนังโลก × Cinema Lecture” ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 ที่ยังคงคัดหนังชวน “ทึ่ง!” มาฉาย ประกอบกับการบรรยายโดยผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อให้ “ภาพยนตร์ยังให้เกิดปัญญา” สมดังเจตนารมณ์ของหอภาพยนตร์เช่นเคย


ในวันดังกล่าวได้จัดฉายภาพยนตร์เรื่อง Starship Troopers (1997) หนังไซไฟเรื่องดังจากยุค 90 จากงานเขียนของ โรเบิร์ต เอ. ไฮน์ไลน์ (Robert A. Heinlein) นักเขียนนิยายแนววิทยาศาสตร์ระดับตำนาน Starship Troopers เป็นผลงานกำกับของ พอล เวอร์โฮเวน (Paul Verhoeven) ว่าด้วยโลกอนาคตที่มนุษย์ต้องส่งทหารไปทำสงครามกับกองทัพแมลงเอเลี่ยน หลังการฉายหนังมีการบรรยายจาก ผศ. เมธาวี โหละสุต นักวิชาการและอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สนใจศึกษาเรื่องมนุษยศาสตร์ สื่อดิจิทัล และลัทธิทหารนิยม ในหัวข้อการบรรยาย "Starship Troopers: Propaganda บนหน้าจอ"


หนัง จาก หนังสือ




ผศ. เมธาวี ได้เกริ่นนำถึงภาพยนตร์เรื่อง Starship Troopers ว่าเป็นภาพยนตร์ดัดแปลงจากนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อเรื่องเดียวกัน ผลงานการประพันธ์ของ โรเบิร์ต เอ. ไฮน์ไลน์ ตีพิมพ์เมื่อปี 1959 และได้รับรางวัล The Hugo Award รางวัลสำหรับนักเขียนนิยายแนววิทยาศาสตร์และแฟนตาซี


นิยายเรื่อง Starship Troopers ได้รับการชื่นชมว่าเป็นผลงานปฏิวัติการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ ที่เป็นการนำเรื่องทางวิทยาศาสตร์มาผนวกกับการทหาร เนื่องจาก ไฮน์ไลน์ เป็นทหารผ่านศึกของสหรัฐอเมริกา ซึ่งแตกต่างจากนิยายวิทยาศาสตร์ในรุ่นก่อนที่เน้นถ่ายทอดเรื่องราวการผจญภัยในอวกาศด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้ได้กระแสตอบรับจากนักอ่านที่เคยเป็นทหารมาก่อนค่อนข้างดี


แต่ในแง่หนึ่ง นิยายเรื่องนี้ก็ถูกนักวิจารณ์มองในแง่ลบเนื่องจาก ไฮน์ไลน์ มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบฝ่ายขวา ดังจะเห็นได้จากการแทนค่ากลุ่มแมลงว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ โดยเขามองคอมมิวนิสต์และทหารชนชาติอื่นที่เป็นศัตรูกับสหรัฐอเมริกาว่าเป็นทหารที่อยู่กันเป็นกลุ่มก้อน แต่ทหารเหล่านั้นขาดเจตจำนงเสรีและความเป็นปัจเจกบุคคล ในขณะที่ทหารในเรื่องซึ่งเป็นภาพแทนทหารอเมริกันนั้น เป็นทหารที่อยู่เป็นกลุ่มก้อนและสามารถพลีชีพเพื่อชาติได้เช่นกัน แต่ยังมีความคิดเจตจำนงเสรีแบบปัจเจกบุคคลอยู่ ซึ่ง พอล เวอร์โฮเวน ผู้กำกับ Starship Troopers ได้ทำการเปิดโปงกระบวนการประกอบสร้างความคิดความเชื่อเหล่านี้ผ่านงานภาพยนตร์


Starship Troopers ภาพยนตร์ที่คนเข้าใจผิด


ผศ. เมธาวีอ้างถึง บทสัมภาษณ์ของเวอร์โฮเวน How we made Starship Troopers ทางหนังสือพิมพ์ The Guardian เมื่อปี 2018 ว่าเขาได้รับอิทธิพลในการสร้างภาพยนตร์จากสภาพสังคมอเมริกาในช่วงนั้น โดยเห็นว่าสภาพสังคมมีแนวโน้มหันเหไปทางการใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งการที่สหรัฐก่อสงครามในประเทศต่าง ๆ เช่น สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกในปี 1990 หรือการที่ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งเป็นผู้ว่าการรัฐเท็กซัสในช่วงปี 1995-2000 มีนโยบายปฏิบัติต่อนักโทษและคนชายขอบด้วยความรุนแรงมากขึ้น


ผศ. เมธาวี ได้กล่าวเสริมว่า ในช่วงที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายตนใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกาและมีความเห็นต่างออกไปจากคำสัมภาษณ์ของเวอร์โฮเวน โดยตนรู้สึกว่าคนอเมริกันในช่วงนั้นมีความรู้สึกว่าสังคมอเมริกันกำลังดีขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทัศนคตินี้ตรงกับความคิดที่ปรากฏในงานเขียนเรื่องสำคัญของทศวรรษที่ 90 ชื่อ The End of History and the Last Man โดย ฟรานซิส ฟุกุยามะ (Francis Fukuyama) ที่สรุปว่าหลังการล่มสลายของโลกคอมมิวนิสต์ โลกจะไม่มีประวัติศาสตร์หรือเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นอีกแล้ว และระบบทุนนิยมจะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ อย่างทรงพลัง


“ตอนที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมไม่ได้รับสารเรื่องการวิจารณ์ลัทธิชาตินิยม หรือการตีแผ่การทำโฆษณาชวนเชื่อแต่อย่างใด มองว่าเป็นเพียงภาพยนตร์ผจญภัยธรรมดา ๆ เท่านั้น” ผศ. เมธาวีกล่าว


นอกจากนี้ ในการคัดเลือกนักแสดง เวอร์โฮเวน ได้เลือกนักแสดงวัยรุ่นที่ไม่ได้มีชื่อเสียงโดดเด่น แต่เลือกคนที่มีลักษณะทางกายภาพใกล้เคียงกับผู้ชายฝรั่งผิวขาวในภาพยนตร์ของ เลนี รีเฟนชตาล (Leni Riefenstahl) ผู้กำกับภาพยนตร์มือหนึ่งของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ดังจะเห็นได้จากการจัดองค์ประกอบภาพใน Starship Troopers ที่มีลักษณะคล้ายกับโฆษณาชวนเชื่อของนาซี จนเมื่อหนังออกฉาย ถูกหนังสือพิมพ์ The Washington Post วิจารณ์ว่า เวอร์โฮเวน เป็นพวกนีโอนาซี (Neo-Nazism) ทั้งที่ตัวเขาเองก็เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนาซีและตั้งใจจะเสียดสีลัทธินาซีด้วยซ้ำ 




“น่าสนใจว่า ในช่วงเวลาหนึ่งคนมองหนังเรื่องนี้ว่าไม่ใช่หนังที่เสียดสีนาซี แต่มองว่าผู้กำกับและคนเขียนบทกำลังชักชวนให้คนหันเหเข้าสู่ลัทธินีโอนาซี” ผศ. เมธาวี กล่าวและได้เสริมต่อว่า ในปีที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉาย ตนก็อาจจะเห็นด้วยกับบทวิจารณ์ดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตนก็ยังมองไม่เห็นสารที่ภาพยนตร์ต้องการจะสื่อจนกระทั่งสหรัฐเกิดวินาศกรรม 9/11 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544


สำหรับประเด็นที่ว่าผู้ชมอาจไม่เข้าใจสารของภาพยนตร์ Starship Troopers ในยุคนั้น ผศ. เมธาวี ได้ยกตัวอย่างที่มักนำมาอ้างอิงอยู่บ่อยครั้งคือ บทวิจารณ์โดย โรเจอร์ อีเบิร์ต (Roger Ebert) นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชาวอเมริกันผู้ล่วงลับ เขาได้ให้คะแนนภาพยนตร์เรื่องนี้เพียง 2 จาก 5 ดาว และวิจารณ์ว่าเป็นภาพยนตร์ที่ราวกับเป็นงานของเด็ก มีการนำเสนอภาพความรุนแรง ภาพสงคราม และจินตนาการแบบเด็ก ๆ  ตัวละครในเรื่องไม่มีมิติเลย โดย อีเบิร์ต ได้นำภาพยนตร์เรื่องนี้ไปเปรียบเทียบกับ Star Wars ที่เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับสงครามในอวกาศเหมือนกันว่า Star Wars มีความเป็นมนุษย์มากกว่า มีความหวังมากกว่า มีตัวละครที่มีมิติทางจิตใจมากกว่า แต่ทั้งนี้ อีเบิร์ต แสดงให้เห็นว่าเขามองเห็นแง่มุมการเสียดสีลัทธิชาตินิยมที่ Starship Troopers นำเสนอ แต่ถึงกระนั้น นั่นไม่ได้ทำให้ภาพยนตร์ดูมีคุณค่าเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังรู้สึกว่า การที่ภาพยนตร์นำเสนอภาพความรุนแรงที่ฉาบฉวย ไม่สามารถเล่าเรื่องการเดินทางผจญภัยในอวกาศได้ดีมีความเป็นมนุษย์แบบ Star Wars


“ซึ่งตรงนี้ก็ต้องบอกเลยว่า โรเจอร์ อีเบิร์ต อาจจะไม่เข้าใจว่าหนังเรื่องนี้มันไม่ใช่หนัง มันเป็น propaganda คุณจะไปตัดสินแบบเดียวกับที่มันเป็นหนัง blockbuster แบบ Star Wars ไม่ได้ ส่วนหนึ่งเพราะหนังเรื่องนี้โดยรูปแบบของมันคือ propaganda ถ้าเรามองว่าเป็น propaganda จะทำให้สารของหนังมันทรงพลังมากกว่านี้” ผศ. เมธาวี กล่าว พลางพูดติดตลกว่าตนจะเถียงงานเขียนของคนที่เสียชีวิตไปแล้วเพื่ออะไรกัน


พลเมือง vs พลเรือน และ เจตจำนงเสรี


สำหรับประเด็นที่คนมักจะพูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการนำเสนอแนวคิดทางการเมืองแบบความแตกต่างระหว่าง พลเมือง (citizen) กับ พลเรือน (civilian) โดยยกตัวอย่างฉากอาบน้ำหมู่ของตัวละครเพื่อสรุปลักษณะโครงสร้างทางสังคมของโลกในภาพยนตร์ได้อย่างชัดเจนที่สุด ในฉากดังกล่าว ตัวละครได้บอกเหตุผลในการเข้ามาเป็นทหารของตนที่แตกกต่างกันไป เช่น เพราะว่าอยากได้สิทธิในการเป็นแม่ อยากเข้าเรียนมหาวิทยาลัย แต่ในขณะที่ ริโก้ (รับบทโดย Casper Van Dien) เป็นตัวละครเพียงคนเดียวที่เข้ามาเป็นทหารเพียงเพื่อต้องการตามจีบผู้หญิง




“ฉากนี้มีความน่าสนใจตรงที่ตัวละครทุกตัวแม้จะอยู่ในโลกของทหารแต่ว่ามันเป็นโลกทหารที่มีลักษณะพิเศษและแตกต่างจากทหารที่อยู่ในสังคมเรา คือ ทหารในโลกของ Starship Troopers เป็นทหารที่อยู่ในรัฐเสรี สิ่งที่ภาพยนตร์พยายามจะกล่อมให้เราเชื่อคือ เขาจะมองว่า การที่คุณเข้ามาเป็นทหารไม่ใช่เพราะว่าคุณมีพันธสัญญาต่อชาติ หรือ มนุษยชาติ แต่เพราะว่า คุณมีความอยากเป็นทหาร ซึ่งความอยากเป็นทหารมาจากเจตจำนงเสรีของคุณ” ผศ. เมธาวี กล่าว พร้อมอธิบายต่อว่าสาระสำคัญที่โฆษณาชวนเชื่อเรื่องนี้พยายามสื่อสารคือการที่คุณจะเป็นพลเมือง อันดับแรกคือต้องมีเจตจำนงที่จะเป็นพลเมืองก่อน ผศ. เมธาวี ได้ตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วเจตจำนงเสรีนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวตนไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่นัก


การให้เลือก vs การข่มขู่




ประเด็นที่โฆษณาชวนเชื่อในเรื่องพยายามเน้นย้ำคนดูอยู่เสมอ ๆ คือเรื่องเจตจำนงเสรี ดังจะเห็นได้จากประโยคที่ว่า “Would you like to know more?” อันเป็นประโยคที่ภาพยนตร์ย้ำให้เห็นหลายครั้ง ซึ่งถ้าหากเราอยากจะให้เรื่องราวดำเนินต่อไปเราก็ต้องตัดสินใจกด “More” ผศ. เมธาวีมองว่า นี่เป็นการให้สิทธิ์กับคนดูว่าจะมีเจตจำนงในการเลือกหรือจะไม่เลือกก็ได้โดยสมัครใจ แต่เป็นการให้ทางเลือกแบบปลอม ๆ การให้เลือกเช่นนี้มีลักษณะตรงกันข้ามกับ Big Brother ในเรื่อง 1984 โดย จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ซึ่งการที่ Big Brother กำลังจ้องมองอยู่ เท่ากับว่าเป็นการข่มขู่อยู่ แต่ว่าใน Starship Troopers นั้นยังสามารถที่จะเลือกหรือไม่ก็ได้


ภาพของการถูกหลอกว่าตนสามารถเลือกได้นั้น จะเห็นได้จากตัวของ ริโก้ ที่ดูเหมือนจะเป็นผู้ที่สามารถเลือกทุกสิ่งอย่างในชีวิตของตนได้ แต่แท้จริงแล้วชีวิตเขามักจะถูกกำกับด้วยอะไรบางอย่างเสมอ เช่น การที่เขาเลือกมาเป็นทหารก็ไม่ได้เลือกจากเจตจำนงเสรี แต่เพราะมีผลการเรียนที่ต่ำ กอปรกับการอยากอยู่ใกล้ชิดคาร์แมน เขาจึงต้องมาเป็นทหาร


ฉากที่สะท้อนให้เห็นว่าริโก้ถูกโฆษณาชวนเชื่อหลอกว่าตัวเขามีเจตจำนงเสรีคือฉากที่เขามีความสัมพันธ์กับ ดิสซี่ (รับบทโดย Dina Meyer) สาวที่แอบชอบเขาตั้งแต่สมัยเรียน โดยขณะที่ริโก้กำลังนั่งจิบเบียร์อยู่ ดิสซี่ได้ชวนเขาออกไปเต้นรำ แต่ริโก้ปฏิเสธพร้อมบอกว่าตนไม่ใช่ริโก้คนเดิมอีกต่อไปแล้ว อีกทั้งจะใช้ยศข่มขู่หากเธอยังคงคะยั้นคะยอเขา แต่เมื่อผู้บังคับบัญชาซึ่งเคยเป็นครูของริโก้บอกว่า “อย่าทิ้งโอกาสในชีวิตให้มันเสียไป” เขาจึงสงสัยว่าในตอนนี้ผู้บังคับบัญชาอนุญาตให้เขามีความสัมพันธ์กับผู้หญิงได้แล้วใช่หรือไม่ ดังนั้นเขาจึงกลับไปหาดิสซี่ จนเมื่อทั้งสองเต้นรำเสร็จ ดิสซี่ถามริโก้ว่าจะทำอะไรต่อ เขาไม่มีความคิดในหัวจึงขอให้เธอนำทางเขาไป นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าโฆษณาชวนเชื่อนี้ทรงพลังถึงขั้นทำให้ริโก้รู้สึกว่า ตนมีเจตจำนงเสรีที่จะคิดหรือแสดงออกมา ซึ่งแท้จริงแล้วเขาไม่มีเลย


วิธีการเล่าในฐานะโฆษณาชวนเชื่อ




ผศ. เมธาวี อธิบายว่าเวลาศึกษางานในเชิงวรรณกรรม จะแบ่งว่าเนื้อหาเป็นอย่างไร และรูปแบบการประพันธ์ที่ใช้มีความสอดคล้องกับเนื้อหาหรือไม่ สำหรับ Starship Troopers ในฐานะโฆษณาชวนเชื่อ ตัวเนื้อหาเป็นเรื่องเล่าของรัฐที่เล่าเรื่องการต่อสู้อันกล้าหาญของเด็กวัยรุ่นกับแมลงต่างดาว ผ่านมุมมองของ ริโก้ โดยมี ริโก้ คาร์แมน (รับบทโดย Denise Richards) ดิสซี่ และ คาร์ล (รับบทโดย Neil Patrick Harris) เป็นตัวละครในโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ


การเล่าเรื่องผ่านมุมมองของริโก้ที่เป็นทหารราบ ทำให้สามารถถ่ายทอดภาพการต่อสู้ได้ถึงน้ำถึงเนื้อมากที่สุด เพราะเป็นหน่วยที่ต้องเผชิญหน้ากับศัตรูโดยตรง ได้สัมผัสกับแมลง บาดแผล และสงครามอย่างใกล้ชิด ซึ่ง ผศ. เมธาวี ให้ความเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการจัดระยะห่างระหว่างตัวละครกับสงครามได้ดีพอสมควร อย่าง ริโก้ เป็นทหารราบ คาร์เมน เป็นทหารอากาศ เธอไม่ได้เผชิญหน้ากับสงครามและแมลงโดยตรง สอดคล้องกับการที่เธอขยะแขยงแมลง ในขณะที่ คาร์ล เป็นตัวละครที่พิเศษ คืออยู่ในหน่วยข่าวกรองและมียศสูงกว่าตัวละครอื่น ๆ วิธีที่เขามีปฏิสัมพันธ์กับสงครามคือการดูทุกอย่างผ่านหน้าจอเฉย ๆ ซึ่งผู้กำกับทำให้เราเห็นว่าคาร์ลไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์กับโลกก็ได้ เพราะเขามีความสามารถในการใช้พลังจิตของตนเพื่อสื่อสารกับมนุษย์และสัตว์ประหลาดได้


ในส่วนของรูปแบบ เป็นการเล่าผ่านสายตาของผู้ชมสื่อโทรทัศน์ของ Federal Network ในโลกของภาพยนตร์ ทำให้เมื่อเราดูภาพยนตร์เรื่องนี้จึงถูกทึกทัก (interpellate) ให้เป็นผู้ชมรายการโทรทัศน์ของ Federal Network เช่นกัน เหมือนเป็นการจำลองว่าเรากำลังอยู่ในโลกเดียวกันกับภาพยนตร์ในฐานะพลเรือน


ผศ. เมธาวี มองว่ามีความน่าสนใจในแง่ที่ภาพยนตร์หรือโฆษณาชวนเชื่อเรื่องนี้พยายามจะชี้ให้เห็นว่า ทุกคนสามารถเป็นแบบริโก้ได้ เพราะทุกคนมีประสบการณ์ในการมองโลกแบบเดียวกับเขา ผ่านสายตาของเขาจากการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้มาแล้ว


ศัตรูของมนุษยชาติ ที่บางทีก็แข็งแรง บางทีก็อ่อนแอ



อีกหนึ่งสิ่งที่หน้าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการนำเสนอภาพของศัตรู ที่มีความผกผัน คือ บางทีก็แข็งแกร่ง แต่บางทีก็อ่อนแอ ดังจะเห็นได้จากฉากการจับแมลงหัวเสธ. (Brain Bug) ที่ คาร์ล บอกกับทหารคนอื่น ๆ ว่า ตอนนี้มันรู้สึกกลัว โดยวิธีการที่คนในเรื่องเอาชนะแมลงได้นั้น ท้ายที่สุดไม่ใช่การต่อสู้กันซึ่งหน้า หากแต่เป็นการจับมาเพื่อทรมานและทำความเข้าใจ ตลอดจนสร้างความหวาดกลัวให้กับพวกมัน ซึ่งการกระทำในลักษณะนี้เป็นไปในแบบเดียวกันกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่มองว่ากลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์ (Al-Qaeda) คือฝูงแมลงที่ซุกซ่อนตัวอยู่ทั่วทุกมุมโลก และมีการจับผู้ก่อการร้ายมาทรมานเพื่อรีดข้อมูลและข่มขวัญศัตรูเพื่อเอาชนะ


“ด้วยความที่เรามองหนังเรื่องนี้ว่ามันเป็นโฆษณาชวนเชื่อชุดหนึ่ง ดังนั้น สิ่งที่มันจะเป็นคำถามที่ต้องโยนกลับไปให้กับผู้ฟังการบรรยายก็คือว่า คุณรู้สึกหรือเปล่าว่าคุณกำลังเป็นผู้ชมที่อยู่ในโฆษณาเชื่อด้วย หนังเรื่องนี้มันกล่อมให้เราอยากจะสมัครเป็นทหารสำเร็จหรือเปล่า หรือว่าถ้ามันไม่สำเร็จ มันอาจจะเป็นเพราะว่าหนังมันอาจจะทำได้ไม่เนียนพอ หรือว่าเราถูกสรุป (subsume) หรือว่ามีภาพลักษณ์ของทหารในชีวิตจริงครับที่ยากจะลบเลือนไปได้” ผศ. เมธาวี กล่าวทิ้งท้าย



หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด