ภาพรวมและรางวัล: บทสรุปในปีที่ 24 ของเทศกาลภาพยนตร์สั้นที่ยาวนานที่สุดในประเทศไทย

บทส่งท้ายการเดินทางของเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 24 กับการรีวิวผลงานที่ได้รับรางวัลในสาขาต่าง ๆ ประจำปีนี้

----------


โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู และ ก้อง ฤทธิ์ดี 


แม้จะต้องประสบปัญหาที่มาจากการระบาดของโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับทุกภาคส่วนทั่วโลก จนทำให้ต้องเลื่อนวันปิดรับสมัคร และช่วงเวลาจัดงานยังตรงกับการระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย แต่สุดท้าย เทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 24 ก็ยังคงรักษาเนื้อรักษาตัวให้ผ่านพ้นมาจนปิดฉากได้อย่างสมบูรณ์ ก่อนจบปี 2563 อันหนักหนาสาหัสไปเพียงไม่กี่วัน 


นอกจากสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ ความลุ้นระทึกของทั้งผู้จัดและผู้ชมยังอยู่ที่ผลรางวัลสาขาต่าง ๆ ซึ่งเป็นไฮไลต์สำคัญของเทศกาล แม้ผลกระทบจากไวรัสโคโรนาจะทำให้มีผู้ส่งผลงานมาน้อยกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา แต่การแข่งขันของทุกสายอย่างคงเข้มข้น จริงจัง จนทุกวงพิจารณาตัดสินของกรรมการจะต้องใช้เวลาถกกันอย่างคร่ำเคร่งยาวนานว่าจะยกรางวัลให้แก่ผลงานเรื่องใด 




รางวัลที่อาจจะดูดุเดือดน้อยที่สุด คือ ดิจิทัล ฟอรัม สายการประกวดหนังสั้นที่มีความยาวเกินกว่า 30 นาที ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าในปีที่การออกกองถ่ายหนังเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ภาพยนตร์ระดับ “กึ่งสั้นกึ่งยาว” จึงยิ่งผลิตออกมาน้อยกว่าหนังสั้นทั่วไป  โดยในปีนี้ ผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายทั้ง 2 เรื่อง คือ Junk Food Fable ของ ธีรภาส ว่องไพศาลกิจ หรือ  BEAM WONG ศิลปินเพลง experimental ว่าด้วยคืนประหลาดของรายการเรียลลิตี้ไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปออกอากาศเป็นตอนสุดท้าย กับ Once In Ours หนังธีสิสว่าด้วยความสัมพันธ์ของเด็กสาว 2 คนของ ดนยลักษณ์ นุ้ยเอียด นักศึกษาภาพยนตร์ จากมหาวิทยาลัยรังสิต ต่างได้รับประกาศนียบัตรชมเชยจากทีมงานมูลนิธิหนังไทยไปครองคู่กัน 


ถัดมา เป็นรางวัล ปยุต เงากระจ่าง รางวัลสำหรับการประกวดแอนิเมชันขนาดสั้น ปีนี้ได้  ไกรสิทธิ์ โภคสวัสดิ์ แอนิเมเตอร์ผู้ชนะเลิศรางวัลนี้เมื่อปีก่อน  ยุรี เกนสาคู ศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญของไทย  และ สุมิตร สีมากุล เจ้าของคาแรคเตอร์ แกะเหลือง คุณชูชีพ มาเป็นกรรมการตัดสิน ซึ่งผลงานชนะเลิศคือ Play with Me หนังธีสิสของ กัญญาวีร์สุไลมาน, จันทิมา แสงศรี, พรสวรรค์ ฤทธิรุฒม์ และ รมิตา ดาวมณี นักศึกษาเอกแอนิเมชั่น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นงานแอนิเมชั่นที่มี “ลุค” น่ารักสดใส ถึงพร้อมด้วยเทคนิคและลายเส้นระดับมาตรฐาน และพูดถึงประเด็นที่เป็นปัญหาของโลกยุคดิจิทัล เมื่อสมาร์ตโฟนและโลกออนไลน์เข้ามาทำลายความสัมพันธ์ของครอบครัว 


Play with Me  โดย กัญญาวีร์สุไลมาน, จันทิมา แสงศรี, พรสวรรค์ ฤทธิรุฒม์ และ รมิตา ดาวมณี ผลงานชนะเลิศรางวัล ปยุต เงากระจ่าง 



ในขณะที่รางวัลรองชนะเลิศมี 2 รางวัล คือ Box งานแนวสตอปโมชั่นของ ธัชพร ตั้งตระกูล ที่ตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของชีวิต และ ทะเลในความคิด แอนิเมชันของ ธวัชพงศ์ ตั้งสัจจะพจน์ ที่เป็นมิวสิกวิดีโอประกอบเพลงในชื่อเดียวของศิลปิน แสตมป์ – อภิวัชร์ นอกจากนี้ยังมี Fly Worm ของ นฤพนธ์ พันธุ์ไพโรจน์ และ Things to Fear ของ ณัฏฐนิชา สาระ ที่ได้รับประกาศนียบัตรชมเชย


จากแอนิเมชั่นมาเป็นสารคดี รางวัลดุ๊กปีนี้มาจากการตัดสินของกรรมการ 3 คนคือ ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับสารคดีที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในตอนนี้ และสองนักวิชาการหญิงผู้มีบทบาทในเวทีสาธารณะอย่างต่อเนื่อง ทั้ง ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ และ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์ด้านนิติศาสตร์ โดยผลงานชนะเลิศ คือ เดินทางโดยสวัสดิภาพ หนังธีสิสของนักศึกษาภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ อริสรา ธีรจิตต์ เป็นสารคดีส่วนตัวที่ผู้กำกับบอกเล่าบรรยากาศของครอบครัวที่มีพ่อและแม่ต่างศาสนา โดยผสมผสานภาพจริงกับภาพจำลองเหตุการณ์ซึ่งถ่ายทอดความรู้สึกของคนทำหนังที่ค่อย ๆ พรั่งพรูออกมา จนสามารถพาผู้ชมเข้าไปในส่วนที่ลึกที่สุดของความอึดอัดอันไม่อาจอธิบายได้เพียงคำพูด  

เดินทางโดยสวัสดิภาพ โดย อริสรา ธีรจิตต์ ผลงานชนะเลิศรางวัลดุ๊ก 


รางวัลรองชนะเลิศ คือ Pattani Landlord สารคดีของ อนีส นาคเสวี ที่เปิดประเด็นด้วยปัญหาขยะในจังหวัดปัตตานี ก่อนจะค่อย ๆ คลี่คลายไปสู่ปัญหาความมั่นคง และเชื่อมโยงทั้ง 2 ประเด็นเข้าหากันได้อย่างกลมกลืน อีกเรื่องคือ ละอองอากาศ สารคดีสัมภาษณ์คนไร้บ้าน 3 คน ผ่านสายตาอันอ่อนโยนและลึกซึ้งของผู้กำกับ พัทธนัช ปิยะเลิศมงคล นิสิตจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นอกจากนี้ยังมีผลงานที่ได้รับประกาศนียบัตรชมเชยอีก 3 เรื่องคือ  อยู่ได้ที่ไหน สารคดีบันทึกการต่อสู้ของชาวชุมชนป้อมมหากาฬ โดย พิสุทธิ์ ศรีหมอก Mountain of Trash  โดย พริมริน พัวรัตน์ ซึ่งว่าด้วยปัญหาภูเขาขยะที่ชลบุรี และ Mom Yong Benjawan บทบันทึกการสัมภาษณ์ผู้คนที่มีต่อแม่ผู้เคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลา โดย พัดชา  อิทธิจารุกุล 


ในส่วนของหนังเล่าเรื่อง เริ่มต้นจากรางวัลช้างเผือกพิเศษ ที่แม้จะเป็นรางวัลสำหรับคนทำหนังระดับนักเรียน ซึ่งเป็นรุ่นเล็กสุดของเทศกาล แต่กรรมการนั้นได้ผู้กำกับรุ่นใหญ่ เป็นเอก รัตนเรือง และ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง มาเป็นคนตัดสิน ผลปรากฏว่า คำเป็น คำตาย ของ ภูบดินทร์ เสือคำราม จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศไปครองได้ หนังเล่าเรื่องหนัก ๆ และเป็นประเด็นร่วมสมัยอย่างมาก โดยเอาการเรียกร้องให้ดาราออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง มาผนวกกับผลพวงจากการทำร้ายกันด้วยความเห็นในโลกออนไลน์ ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ เป็นผลงานของนักเรียนทำหนังจากภาคอีสานทั้ง 2 เรื่อง คือ Apology Dayดีต ความสัมพันธ์ คำขอโทษ ของ ศิรัส อุราแก้ว โรงเรียนหนองบัวพิทยาคาร ที่แสดงให้เห็นถึงการเยียวยาความรู้สึกผิดที่มีต่อเพื่อนเก่าด้วยการกลับไปเอ่ยคำขอโทษ และ The Lost Summer โดย  กัลปพฤกษ์ ติยะจามร โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย หนังบรรยากาศ ว่าด้วยความทรงจำ ความสัมพันธ์ และความรู้สึกลับ ๆ ระหว่างเพื่อนสนิท ซึ่งเป็นเสมือนประสบการณ์ร่วมของเด็กมัธยมหลายคน 



คำเป็น คำตาย  โดย ภูบดินทร์ เสือคำราม ผลงานชนะเลิศรางวัลช้างเผือกพิเศษ


ในสายประกวดหนังนักศึกษารางวัลช้างเผือก ซึ่งเป็นสายที่เข้มข้นและมีผู้ติดตามดูและรอฟังผลอย่างกระตือรือล้นที่สุด กรรมการ 3 คน คือ รัศมี เผ่าเหลืองทอง อาจารย์ด้านละครเวทีและวรรณกรรม สิทธิศิริ มงคลศิริ  ผู้กำกับภาพยนตร์ และ วิทวัส เมฆสวรรค์ โปรดิวเซอร์หนังอิสระ ได้มอบรางวัลชนะเลิศให้  Hia/Tus หนังชีวิตชาวแฟลตและเด็กแว้น ของผู้กำกับ พีรพัฒน์ รักงาม จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เล่าเรื่องของเด็กชายที่พ่อหายตัวไปหลังจากไปพัวพันกับอันธพาล และหน้าที่ในการดูแลเด็กตกอยู่กับเพื่อนของพ่อ ที่จู่ ๆ ต้องกระเตงเด็กชายไปไหนมาไหนด้วย  Hia/Tus เป็นหนังเล่าเรื่องที่ถ่ายทำได้โดดเด่น ประกอบกับการแสดงอันมีน้ำหนักของ สิรภพ เดชสุวรรณ ในบทเพื่อนและพ่อจำเป็น ที่ทำให้เขาได้รางวัลนักแสดงนำยอดเยี่ยมของเทศกาลไปด้วย 



Hia/Tus ของผู้กำกับ พีรพัฒน์ รักงาม ผลงานชนะเลิศรางวัลช้างเผือก



ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ 3 รางวัล น่าสนใจว่าทั้ง 3 เรื่องเป็นหนังที่มีประเด็นการเมือง หรือผลกระทบของการเมืองและระบบอำนาจนิยมต่อผู้คน เรื่องแรก Fatherland ของปัญญา ชู นักศึกษาภาพยนตร์ จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ พูดถึงครอบครัวที่เผชิญหน้ากับความสูญเสียและบาดแผลทางใจอันเกิดจากการประท้วงทางการเมืองและการหายตัวไปอย่างไม่มีคำตอบของผู้นำครอบครัว  After a Long Walk, He Stands Still โดย กันตาภัทร พุทธสุวรรณ  เป็นเรื่องของทหารเกณฑ์หนุ่มในค่ายที่ต้องเผชิญกับบรรยากาศการฝึกและระบบความจงรักภักดีอันบั่นทอนจิตใจ เรื่องสุดท้าย สุสานใต้ดิน ของ วิศรุต ศรีพุธสมบูรณ์ ใช้ลีลาผสมเรื่องเหนือธรรมชาติเข้ากับประเด็นเรื่องความอยุติธรรมและผู้ถูกทำให้สูญหาย โดยผู้กำกับ 2 เรื่องหลังนี้มาจากคณะ ICT มหาวิทยาลัยศิลปากรทั้งคู่ นอกจากนี้ยังมีอีก 2 เรื่อง คือ ดาววิกาล ของ เหมือนดาว กมลธรรม และ กำแพงล่องหน ของ รสิตา อุดมศิลป์ ที่มาจากคณะเดียวกันและได้ประกาศนียบัตรชมเชย เรียกได้ว่าเป็นปีทองของ ICT ศิลปากรอย่างแท้จริง ในขณะที่ประกาศนียบัตรชมเชยอีก 2 เรื่องเป็นของ กระสุนพิมเสน โดย ปฏิคม ลาภาพันธุ์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ ปฏิกุน โดย ภูวดล เนาว์โสภา จากมหาวิทยาลัยรังสิต โดยรวมแล้วหนังทั้งหมด (ทั้งที่เข้ารอบสุดท้ายและไม่ได้เข้ารอบ) แสดงให้เห็นสำนึกทางสังคมผ่านการเล่าเรื่องของนักศึกษาไทยอย่างชัดเจน


ถัดมาที่สายประกวดสำหรับบุคคลทั่วไป รางวัลรัตน์ เปสตันยี เนื้อหาของหนังที่ส่งเข้าร่วมประกวดในปีนี้หลากหลาย ทั้งหนังส่วนตัว หนังที่มีประเด็นการเมือง และหนังทดลองในความเข้มข้นต่าง ๆ กัน โดยกรรมการ 3 คน ก็มีรสนิยมที่แตกต่าง ทั้งผู้กำกับภาพยนตร์ต่างสไตล์  ภวัต พนังคสิริ และ พวงสร้อย อักษรสว่าง รวมถึง นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ อาจารย์ด้านศิลปะและศิลปินไทยที่มีงานจัดแสดงอย่างต่อเนื่อง 


รางวัลชนะเลิศสาขารัตน์ เปสตันยี ตกเป็นของ อนินทรีย์แดง หนังสั้นไทยโดย รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค ที่โดดเด่นในเวทีการประกวดนานาชาติมาก่อนหน้านี้แล้ว ด้วยสไตล์ที่จัดจ้าน ผสมผสานแนวคิดอันซับซ้อนหลายชั้นและรวมเอาตระกูลหนังหลายแบบไว้ด้วยกัน ทั้งหนังสปาย หนัง LGBT และหนัง 16 มม. ของไทย เกิดเป็นหนังสั้นที่ทั้งอุทิศ ล้อเล่น และตั้งคำถามกับความเป็นหนังในหลายมิติ 



อนินทรีย์แดง  โดย รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค ผลงานรางวัลชนะเลิศสาขารัตน์ เปสตันยี


รางวัลรองชนะเลิศ 2 รางวัลในสายรัตน์ เป็นหนังกึ่งทดลองเรื่องหนึ่ง และหนังเล่าเรื่องตามขนบอีกเรื่องหนึ่ง เริ่มจาก Shadow and Act  ของ ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ เป็นหนังที่อบอวลด้วยบรรยากาศ เมื่อกล้องพาเราไปย้อนดูประวัติศาสตร์ของร้านถ่ายรูป ฉายาจิตรกร ร้านถ่ายรูปที่ตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2482 ที่ตอนนี้เก่าแก่ทรุดโทรม ส่วนอีกเรื่องได้แก่ Happy Bithday Great Grandma กำกับโดย ปภาวี จิณสิทธิ์ ที่เล่าเรื่องหญิงสาวสองพี่น้องที่ไปร่วมงานรวมญาติในวันเกิดของคุณชวดของเธอ หนังสร้างบรรยากาศครอบครัวคนจีนในบ้านตึกแถว และแสดงความแตกต่างและความคาดหวังของคนแต่ละรุ่นได้อย่างเป็นธรรมชาติ  ในขณะที่ประกาศนียบัตรชมเชยมี 2 เรื่อง คือ People on Sunday งานแนวทดลองของ ตุลพบ แสนเจริญ ผู้เคยคว้ารางวัลชนะเลิศเมื่อ 2 ปีก่อน และ  DEAD_PIXEL ผลงานของผู้กำกับ อุกฤษฎ์ มาลัย ที่อุทิศแด่เพื่อนเก่าที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย


อยู่ได้ที่ไหน โดย พิสุทธิ์ ศรีหมอก ผลงานที่ได้รับรางวัลวิจิตรมาตราและรางวัลขวัญใจมหาชน


นอกจากสายประกวดต่าง ๆ ยังมีผลงานที่ได้รับรางวัลพิเศษทั้ง รางวัลพิราบขาว ซึ่งมอบให้แก่หนังสั้นที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสันติภาพ โดยมูลนิธิ 14 ตุลา ปีนี้รางวัลตกเป็นของ อันชอบธรรม ผลงานที่ว่าด้วยสิทธิในการเลือกตั้งและความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ของ วรรณวิไล อินศรีทอง จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และปิดท้ายด้วยรางวัลวิจิตรมาตรา ที่ทีมงานของเทศกาลมอบให้แก่หนังที่มีความดีเด่นเป็นพิเศษในด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งมี่ทั้งหมด 4 เรื่องคือ  High(de) แอนิเมชั่นถ่ายทอดความรู้สึกกลัวความสูงของผ่านลายเส้นดิบ ๆ ของ พิมพ์รวี วิสุโลกานนท์  เขาไม่เคยเป็นเธอ หนังสั้นที่แสดงให้เห็นถึงความลื่นไหลของเพศสภาพในโลกยุคปัจจุบัน โดย ณัฐกิตติ์ สุรทิณฑ์ นิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย No Land  ผลงานที่ไร้บทสนทนาแต่สามารถจัดการกับเสียงและพื้นที่ให้ทำงานกับคนดูได้อย่างดี ของ  แพรวา โชคสถาพร  จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสุดท้ายคือ อยู่ได้ที่ไหน สารคดีที่ พิสุทธิ์ ศรีหมอก ตามถ่ายการต่อสู้อันยาวนานของชาวชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งจบลงด้วยความเจ็บปวด นอกจากนี้ บทบันทึกเหตุการณ์ความขัดแย้งครั้งสำคัญระหว่างชาวบ้านกับรัฐเรื่องนี้ ยังได้รับการโหวตให้เป็นรางวัลขวัญใจมหาชนอีกด้วย 


อย่างไรก็ตาม แม้เทศกาลจะจัดขึ้นเพื่อการประกวดผลงานเป็นหลัก แต่รางวัลต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ได้เป็นตราประทับอันศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อาจโต้แย้ง เทศกาลเป็นผู้เลือกกรรมการ ในขณะที่กรรมการเป็นผู้ตัดสินรางวัล เพราะฉะนั้นผลการประกวดทั้งหลาย อาจเรียกได้ว่าเป็นเพียงตัวแทนของรสนิยมจากผู้คนจำนวนหนึ่งเท่านั้น เครื่องตัดสินคนทำหนังที่แท้จริงคือการอุตสาหะทำผลงานด้วยใจรักและพัฒนาฝีมือต่อไป ตามคำกล่าวของ รัตน์ เปสตันยี ที่ว่า  “เรารักงานนี้ เราก็ทำ เราก็สู้ไป สมหวังบ้าง ไม่สมหวังบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดา” 


สุดท้ายนี้ เทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 24 ขอขอบคุณคนทำหนังทุกคนที่ส่งผลงานเข้ามาร่วมประกวด รวมทั้งผู้ชมและผู้สนับสนุนทุกท่าน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ร่วมเดินทางกันอีกครั้งในปีหน้า 




ติดตามชมผลงานที่ได้รับรางวัลชะเลิศและรองชนะเลิศ รวมทั้งรางวัลวิตรมาตรา ได้ในโปรแกรมฉายวันเสาร์ที่ 2 และอาทิตย์ที่ 3 มกราคม 2564 อ่านรายละเอียดและสำรองที่นั่งได้ที่ https://www.fapot.or.th/main/cinema/program/41

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด