เจษฎาภรณ์ ผลดี - "แดง ไบเล่ย์" ผู้เปลี่ยนภาพวงการหนังไทย

เปิดประวัติ เจษฎาภรณ์ ผลดี พระเอกหนุ่มแห่งทศวรรษ “พี่ติ๊ก” ของแฟน ๆ ทั่วประเทศ กับบทบาทความสามารถในการแสดงที่โดดเด่นวงการภาพยนตร์ไทย ก่อน “พี่ติ๊ก” จะมาประทับรอยมือรอยเท้าเป็นดาวดวงที่ 189 บนลานดารา หอภาพยนตร์ ในวันเสารที่ 28 พฤศจิกายนนี้
-----------

โดย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

* ปรับปรุงจากฉบับพิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 56 มีนาคม-เมษายน 2563 


ติ๊ก - เจษฎาภรณ์ ผลดี เกิดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2520  ที่กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนโยธินบูรณะ และปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ด้วยรูปร่างหน้าตาและหน่วยก้านที่โดดเด่น เจษฎาภรณ์เริ่มงานถ่ายแบบและเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาสินค้าตั้งแต่อยู่มหาวิทยาลัย จุดเปลี่ยนสำคัญมาถึงเมื่อนนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับโฆษณาที่มีชื่อเสียงในขณะนั้น ได้เลือกเจษฎาภรณ์มารับบทนักเลงดังในตำนาน แดง ไบเล่ย์ ในผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก 2499 อันธพาลครองเมือง 




เมื่อออกฉายใน พ.ศ. 2540  2499 อันธพาลครองเมือง ได้ชื่อว่าเป็นหนังคุณภาพที่พลิกฟื้นวงการภาพยนตร์จากความเงียบเหงาซ้ำซากในช่วงหลายปีก่อนหน้าให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ทั้งยังทำเงินไปกว่า 70 ล้านบาท ซึ่งมหาศาลมากในช่วงเวลานั้น ความโด่งดังของหนังได้กลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญของสังคมที่ปลุกให้ผู้คนเริ่มมีศรัทธากับหนังไทยมากขึ้น โดยมีบทบาท แดง ไบเล่ย์ ของเจษฎาภรณ์ เป็นภาพจำอันโดดเด่น เส้นทางสายภาพยนตร์ของเขาจึงเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยสมัยใหม่อย่างแท้จริง




หลังจากแจ้งเกิดอย่างรวดเร็วจากผลงานเรื่องแรก ปลายปีนั้น เจษฎาภรณ์มีผลงานเรื่องที่ 2 คือ คนป่วนสายฟ้า ตามด้วยบทรับเชิญในหนังผีวัยรุ่น 303 กลัว/กล้า/อาฆาต ซึ่งออกฉายในปีถัดมา ก่อนที่เขาจะได้รับบทนำในภาพยนตร์เรื่องสำคัญคือ สตรีเหล็ก ซึ่งอ้างอิงจากเหตุการณ์จริงเกี่ยวกับทีมวอลเลย์บอลจากเมืองลำปางที่สมาชิกส่วนใหญ่ในทีมเป็นกะเทย เมื่อออกฉายในปี พ.ศ. 2543 ภาพยนตร์ทำรายได้ไปเกือบ 100 ล้านบาท เป็นหนังดังที่คนชื่นชอบและได้รับเชิญไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์มากมาย รวมถึงเข้าฉายในโรงภาพยนตร์อีกหลายประเทศ 



หลังจากนั้น เจษฎาภรณ์ได้กลายเป็นพระเอกหนุ่มแห่งทศวรรษ ผู้ไม่เพียงแต่จะได้รับความนิยมในฐานะ “พี่ติ๊ก” ของแฟน ๆ ทั่วประเทศ หากแต่ยังพิสูจน์ตัวเองด้วยฝีมือการแสดงในผลงานภาพยนตร์ที่โดดเด่นมากมาย เช่น สตางค์ (2543) หนังดรามารวมดาราชั้นนำของไทย ผลงานการกำกับของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล, คู่แท้ปาฏิหาริย์ (2546) ในบทหนุ่มรูปหล่อแสนดีที่ทั้งสะกดหัวใจและเรียกน้ำตาจากผู้ชม, คนเห็นผี 2 (2547) หนังผีที่ร่วมทุนสร้างระหว่างไทยกับฮ่องกง กำกับโดยสองพี่น้อง แดนนี-ออกไซด์ แปง, ปืนใหญ่จอมสลัด (2551) หนังแฟนตาซีฟอร์มยักษ์อ้างอิงประวัติศาตร์ท้องถิ่นภาคใต้ ซึ่งได้กลับมาร่วมงานกับนนทรีย์ นิมิบุตรอีกครั้ง, รักฉันอย่าคิดถึงฉัน (2555) หนังโรแมนติกสยองขวัญ ที่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีทั้งในไทยและต่างชาติ และล่าสุดคือบทเจ้านายจอมเฮี้ยบใน ยอดมนุษย์เงินเดือน (2555) หนังตลก-ดรามา ว่าด้วยความอัดอั้นของพนักงานออฟฟิศในเมืองกรุงควบคู่ไปกับงานแสดงทั้งภาพยนตร์และละครโทรทัศน์  เจษฎาภรณ์ยังเป็นที่จดจำในบทบาทพิธีกรรายการผจญภัยและท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติที่เขาทำด้วยหัวใจและความมุ่งมั่นมายาวนาน จากการซึมซับความรักและห่วงใยในทรัพยากรป่าเขา ตั้งแต่วัยเด็กที่คอยติดตามคุณพ่อผู้ทำงานกรมชลประทานไปยังแหล่งน้ำและสถานที่ธรรมชาติ ส่งผลให้เขาได้รับการชื่นชมและรับรางวัลด้านนี้มากมาย รวมถึงได้รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร




ผลงานการแสดงภาพยนตร์

2540 2499 อันธพาลครองเมือง, คนป่วนสายฟ้า

2541 303 กลัว / กล้า / อาฆาต

2543 สตรีเหล็ก, สตางค์

2546 สตรีเหล็ก 2, คู่แท้ปาฏิหาริย์

2547 คนเห็นผี 2

2549 พระ เด็ก เสือ ไก่ วอก

2551 ปืนใหญ่จอมสลัด, ปาฏิหาริย์รักต่างพันธุ์

2555 รักฉันอย่าคิดถึงฉัน, ยอดมนุษย์เงินเดือน


ในวันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2563 พี่ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี จะเดินทางมาประทับรอยมือรอบเท้า ณ​ ลานดารา หอภาพยนตร์ขอเชิญแฟนๆมาร่วมเป็นสักขึพยานในวันดังกล่า เริ่มกิจกรรมด้วยการจัดฉาย 2499 อันธพาลครองเมือง ภาพยนตร์เรื่องแรกภาพยนตร์เรื่องแรกที่แจ้งเกิด ติ๊ก เจษฎาภรณ์  ในบทบาทของแดง ไบเล่ย์  สำหรับท่านสนใจเข้าร่วมสามารถสำรองที่นั่งล่วงหน้าได้ที่ https://www.fapot.or.th/main/news/345



หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด