สรรพสิริ วิรยศิริ คนข่าวที่เราไม่ลืม

เส้นทางชีวิตที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณความเป็น “คนข่าว” ของ สรรพสิริ วิรยศิริ ผู้ประกาศข่าวคนแรกของไทย ผู้เป็นกำลังสำคัญในการบุกเบิกวงการข่าวโทรทัศน์และวงการภาพยนตร์โฆษณาไทย ทั้งยังเป็นผู้กล้ายืนหยัดนำเสนอข่าวความรุนแรงของเหตุการณ์ 6 ตุลา แม้จะส่งผลให้ต้องถูกไล่ออกจากหน้าที่การงาน

----------


โดย ทิพย์วัลย์ ประยูรสุข

* พิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 12 พฤศจิกายน - ธันวาคม 2555


เที่ยงครึ่งของวันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม 2555 ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังรับประทานอาหารกลางวัน พลันเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น เสียงปลายสายแจ้งข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์สรรพสิริ วิรยศิริ ข้าพเจ้านิ่งงันไปสักพัก คำว่า “ความเสียใจ” คงน้อยเกินกว่าจะนิยามความสูญเสียนี้ได้ สำนักข่าวเกือบทุกสำนักร่วมใจกันพาดหัวข่าว “สรรพสิริ วิรยศิริ ผู้บุกเบิกวงการข่าวโทรทัศน์และผู้ประกาศข่าวคนแรกของไทยเสียชีวิตแล้ว” ทำไมข้าพเจ้าถึงรู้สึกเช่นนี้ล่ะหรือ? ...


เมื่อเอ่ยชื่อ สรรพสิริ วิรยศิริ เด็กสมัยนี้อาจจะทำหน้างงไม่รู้ว่าท่านคือใคร ใช่ ข้าพเจ้าเองก็เคยเป็นหนึ่งในนั้น บางคนอาจจะพูดถึงท่านในฐานะเป็นผู้บุกเบิกวงการข่าวโทรทัศน์ เป็นหนึ่งในผู้ประกาศข่าวชายคนแรกของไทย เป็นผู้บุกเบิกวงการภาพยนตร์โฆษณาไทย ทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในอาชีพการงานของผู้ที่เรียกตนเองว่า “คนข่าว” แต่จนแล้วจนรอดข้าพเจ้าก็ยังไม่ได้ “รู้จัก” สรรพสิริจริง ๆ จนกระทั่งได้มาทำงานที่หอภาพยนตร์ ชื่อของ “สรรพสิริ” จึงปรากฏในหูให้ได้ยินอยู่บ่อย ๆ โดยที่มักจะได้ยินทุกคนเรียกท่านว่า “อาจารย์สรรพสิริ” ความที่สงสัยว่าทำไมผู้บุกเบิกวงการข่าวโทรทัศน์ถึงมาเกี่ยวโยงกับหอภาพยนตร์ได้ นั่นคงเป็นเพราะว่า นอกจากหอภาพยนตร์จะอนุรักษ์ภาพยนตร์ที่ออกฉายตามโรงภาพยนตร์แล้ว ยังอนุรักษ์ภาพยนตร์ประเภทอื่น ๆ รวมทั้งภาพยนตร์ข่าวด้วย นี้เป็นก้าวแรกที่ทำให้ข้าพเจ้าเริ่มอยากรู้จัก “อาจารย์สรรพสิริ”


สรรพสิริ วิรยศิริ เกิดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2463 บิดาคือพระยาสฤษดิ์พจนกรณ์ ซึ่งต่อมาได้เลื่อนเป็น “พระยาศรีสหเทพ” และ “พระยามหาอำมาตยาธิบดีจุลราชสีห์มุรธาธรสถาพรพิริยะพาหะ” ในภายหลัง เป็นผู้บุกเบิกด้านการสำรวจและจัดทำแผนที่ราชอาณาเขตสยามเป็นคนแรก กับมารดาชื่อ นาฎ วิริยศิริ มีพี่น้องร่วมมารดาสี่คน หนึ่งในนั้นคือ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ นักข่าวต่างประเทศ มีน้องชายคนละมารดาที่สนิทสนมคนหนึ่งชื่อ สมบูรณ์ วิรยศิริ ซึ่งทำงานที่ช่อง 4 บางขุนพรหมเช่นกัน ในวัยเด็กด้วยว่าเกิดในย่านชุมนุมของนักเขียนชื่อก้องของไทย จึงได้คลุกคลีสนิทสนมกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ โชติ แพร่พันธุ์ อบ ไชยวสุ โดยเฉพาะมาลัย ชูพินิจ ซึ่งสรรพสิริถือเป็นดั่งครูผู้เป็นตัวอย่างในการใช้ชีวิต และทำให้สรรพสิริมีนิสัยรักการอ่านเขียนมาตั้งแต่เยาว์ 


ว่าที่นักกฎหมายกลายมาเป็น “คนข่าว”


ปี 2483 ขณะเรียนใกล้จบกฎหมาย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในห้วงของภาวะสงคราม รัฐบาลทหารของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ปลุกระดมคนเพื่อเรียกร้องดินแดนคืนจากอินโดจีนของฝรั่งเศส สรรพสิริในวัยหนุ่มจึงสมัครไปทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวสงคราม ต่อมาได้รับการชักชวนจาก ไพโรจน์ ชัยนาม ซึ่งเป็นอาจารย์สอนกฎหมายที่ธรรมศาสตร์ ให้ไปทำงานเป็น “พนักงานรับฟังข่าววิทยุต่างประเทศ” ทำหน้าที่ถอดข้อความจากข่าววิทยุโทรเลขต่างประเทศ และฟังข่าวจากสถานีวิทยุกระจายเสียงต่างประเทศ ซึ่งในภาวะสงครามเช่นนั้น “ข่าว” มีความสำคัญอย่างสูงต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบายใด ๆ หน้าที่รับฟังข่าวจึงมีความสำคัญอย่างมหันต์ เพื่อรายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรีหากเกิดเหตุการณ์คับขัน วันแล้ววันเล่าที่นั่งเฝ้ารับฟังข่าวต่างประเทศ กลายเป็นขุมทรัพย์ที่บ่มเพาะความเป็นนักข่าวให้สรรพสิริไปโดยปริยาย และแล้ววันหนึ่งสรรพสิริก็ได้ฟังข่าวว่าฝรั่งสามารถประดิษฐ์ “เทเลวิชั่น” ซึ่งสามารถส่งภาพเป็นกระแสคลื่นวิทยุไปรับภาพยังเครื่องรับที่ปลายทางได้ สรรพสิริจึงลงมือค้นคว้าเรื่อง “เทเลวิชั่น” เขียนเป็นบทความลงในหนังสือที่กรมประชาสัมพันธ์พิมพ์แจกในงานทอดกฐิน ประมาณปี พ.ศ. 2492 – 2493  ลงท้ายบทความว่า “ขณะนี้ยังเป็นเพียงความฝัน ข้าพเจ้าหวังว่าความฝันนี้อาจจะเป็นจริงขึ้นมาได้ อย่างน้อยก็ในชั่วชีวิตของข้าพเจ้า” หลังจากนั้นไม่นานสรรพสิริได้ไปศึกษางานด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์กับสถานีวิทยุกระจายเสียง วีโอเอ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาเป็นเวลาสองปี และได้เข้าทำงานตำแหน่งหัวหน้าแผนกวิทยุโทรภาพ ก่อนที่จะมาเรียกในภายหลังว่า “โทรทัศน์”ไม่ต้องรอจนชั่วชีวิต เมื่อรัฐบาลไทยโดยการนำของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จดทะเบียนจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งแรกในประเทศไทย ในนามของ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 สรรพสิริถูกยืมตัวจากกรมประชาสัมพันธ์ไปเป็นหัวหน้าฝ่ายข่าวและการประกาศสถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. เพื่อฝึกฝนเจ้าหน้าที่ ก่อนที่จะเผยแพร่ออกอากาศจริงเป็นทางการในวันที่    24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 ซึ่งเป็นวันชาติในสมัยนั้น และเมื่อเริ่มกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 ที่บางขุนพรหม จึงได้เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายข่าวและการประกาศ และหัวหน้าฝ่ายข่าวภาพและแสง จากที่เคย “ฝัน” เพียงแค่ได้เห็น “เทเลวิชั่น” ใครเลยจะคิดว่าท่านจะกลายเป็นผู้ประกาศข่าวคนแรกของวิทยุโทรทัศน์ไทย


ชีวิตการเป็นคนข่าวของสรรพสิรินั้น ได้ทำข่าวที่สำคัญมากมาย เช่น ไปทำข่าวกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 1  ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย, ร่วมกับจ้าน ตัณฑโกไศย ทำข่าวประกอบเสียงขึ้นเป็นครั้งแรก, ไปบันทึกภาพคำปราศรัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่แหลมแท่น, ไปสัมภาษณ์ วัง เปา ที่ประเทศลาว เป็นต้น ด้วยสถานการณ์การเมืองอันคุกรุ่นในสมัยนั้นทำให้อาจารย์สรรพสิริต้องโดนปลดออกจากการทำงานถึงสองครั้งสองครา โดนกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และจนต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลายก็เพราะการทำข่าวที่รักอีกเช่นกัน ครั้งแรกเมื่อถูกสั่งปลดออกจากตำแหน่งในบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด และถูกเชิญไปเป็นหัวหน้าโรงรถ เมื่อปี 2500 สรรพสิริจึงยื่นจดหมายลาออกและออกมาเปิดสำนักงานโฆษณาหาเลี้ยงชีพ 



ต่อมาเมื่อได้รับการเชิญให้กลับมาเป็นผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 ในปี 2518 เพียงปีเศษก็มีอันให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์ซึ่งไม่ว่าใครจะอยากลบกลบให้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ก็มิอาจบดบังบาดแผลของสังคมไทยได้ เช่นเดียวกับอาจารย์สรรพสิริที่มิอาจเพิกเฉยต่อเหตุการณ์นี้ได้ เมื่อทราบข่าวว่าเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำแพงที่ชื่อว่า “ความกลัว” ทำให้ผู้มีอำนาจเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ โดยใช้เสียง “เงียบ” ของความกลัวสนับสนุนการกระทำอันโหดเหี้ยม สรรพสิริจึงรีบไปทำข่าวเพียงเพราะใจหวังว่า หากข่าวที่เสนอออกไปจะช่วยชีวิตใครสักคนให้อยู่รอดได้ และเพียงที่จะให้ “ข่าว” เป็นส่วนประกอบวิจารณญาณของประชาชน จึงได้ตัดสินใจออกไปทำข่าว ตัดต่อ และลำดับภาพด้วยตนเอง แม้รู้ว่าจะเป็นการสุ่มเสี่ยงเพียงใดหากข่าวเผยแพร่ออกไป แน่นอน หลังภาพข่าวเผยแพร่ออกไปยังไม่พ้นคืน คณะปฏิรูปฯ ก็มีคำสั่งปลดสรรพสิริออกจากทุกหน้าที่ในทีวีช่อง 9 และวิทยุ ท.ท.ท. พร้อมเจ้าหน้าที่ท่านอื่น ๆ อีก 4 ท่าน ไม่เพียงเท่านั้นยังถูกสั่งอายัดทรัพย์สินของตนรวมทั้งของภรรยาด้วย ไม่เพียงเท่านั้นยังถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้สรรพสิริเกือบฆ่าตัวตาย แต่กระนั้นก็ตามท่านก็ไม่เคยย่อท้อ และไม่นึกเสียใจต่อการตัดสินใจของตน ดังคำที่ท่านได้เคยกล่าวไว้ว่า “บางเรื่องผมอาจเป็นคนพลาด แต่มิได้เป็นคนผิดแน่นอน ผมยอมเป็นคนโง่ แต่จะไม่ยอมเป็นคนเลวไปชั่วชีวิต” เมื่อความโง่ไม่ได้เท่ากับความผิด และการกระทำนั้นต้องนับว่ากล้าหาญมากที่สุดเท่าที่มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งพึงกระทำได้


“ทำหนังโฆษณาเรียกหาสรรพสิริ!”




เมื่อคราวที่โดนปลดจากทุกตำแหน่งในโทรทัศน์ช่อง 4 เป็นครั้งแรก สรรพสิริรวบรวมเอาเงินบำเหน็จมาซื้อกล้องถ่ายภาพยนตร์ “โบแล็กซ์” ตามคำแนะนำของเพื่อนสนิทที่ชื่อว่า หม่อมถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ถ่ายภาพยนตร์โฆษณากิจการโรงงานหินอ่อนที่สระบุรี เนื่องด้วยระยะเริ่มแรกของการทำงานโทรทัศน์ช่อง 4 เคยทำงานเกี่ยวกับการโฆษณาสินค้ามาบ้างแล้ว ซึ่งตอนนั้นเป็นการโฆษณาสดคั่นรายการ จึงเกิดความคิดถ่ายทำเป็นภาพยนตร์โฆษณาเพื่อที่จะได้ออกอากาศซ้ำได้ ไม่ต้องมาพูดใหม่ทุก ๆ ครั้ง ต่อมาจึงเปิด “สำนักโฆษณาสรรพสิริ” รับจ้างผลิตภาพยนตร์โฆษณาให้เอกชน ซึ่งในขณะนั้น ยังไม่มีบริษัทผลิตภาพยนตร์โฆษณาสัญชาติไทยมากนัก 


และในวันเปิดสำนักงานโฆษณานั้นเอง อาจารย์สรรพสิริได้ถ่ายภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์เป็นฟิล์ม 8 มิลลิเมตร เอาไว้ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญไปแล้ว เราจะเห็นบุคคลสำคัญที่มาร่วมงานในวันนั้นอย่างคับคั่ง รวมทั้งภาพของอาจารย์สรรพสิริเอง และในงานเลี้ยงนั้นเองได้จัดให้มีการ “เต้นทวิสต์” ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในสมัยนั้น




นอกจากนี้ สรรพสิริยังเป็นผู้แรกที่เริ่มทำภาพยนตร์โฆษณาเป็นการ์ตูนเรื่องแรก ในปี 2501 โดยให้ “ปยุต เงากระจ่าง” เขียนการ์ตูน “หนูหล่อ” โดยมีประโยคที่หลายคนจดจำกันได้ คือ “หนูหล่อพ่อเขาพาไปดูหมีที่นาตาหมอหลอ” ทำให้ชื่อของ “สำนักงานโฆษณาสรรพสิริ” เป็นที่จดจำและได้รับความไว้วางใจหากใครคิดจะทำภาพยนตร์โฆษณา โดยมีสโลแกนของบริษัทว่า “ทำหนังโฆษณาเรียกหาสรรพสิริ!” ผลงานภาพยนตร์โฆษณาของสรรพสิริมีอยู่มากมาย โดยมีทั้งภาพยนตร์โฆษณาที่ใช้คนแสดง หรือเป็นภาพเคลื่อนไหวที่ใช้คนแสดงสลับกับการ์ตูนแอนิเมชั่น หรือเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นเพียงอย่างเดียว  โดยในตอนท้ายของโฆษณามักจะมีลายเซ็นของสรรพสิริอยู่เสมอ ส่วนมากเป็นโฆษณาสั้น ๆ ความยาวไม่เกินสองนาที และนอกจากจะเปิดกิจการรับทำภาพยนตร์โฆษณาแล้ว ยังขายอุปกรณ์เกี่ยวกับการถ่ายหนัง ถ่ายรูป ล้างฟิล์ม และรับซ่อมโทรทัศน์และเครื่องไฟฟ้าทุกชนิด ส่วนชั้นบนของสำนักงานทำเป็นห้องบันทึกเสียง รับอัดเสียงโฆษณาและวิทยุ รับบันทึกเสียงลงเทป ลงแผ่นเสียง และลงฟิล์ม โดยมีอุปกรณ์ถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณาทุกชนิดอย่างครบครัน และทำทุกขบวนการเองตั้งแต่การเขียน การถ่าย การล้างฟิล์ม การบันทึกเสียง และการพิมพ์ฟิล์ม 


น่าเสียดายที่ภาพยนตร์โฆษณาของสรรพสิริหลงเหลือให้เราได้ศึกษามีอยู่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับที่ท่านเคยทำไว้ เช่น โฆษณาเครื่องใช้ไฟฟ้าชาร์ป ยาแก้ปวดหัวซาริดอน รถยนต์เปอร์โยต์ นมสดเรียลเฟรช เนยอีต้า กริ่งนูโทน เสื้อผ้า SANFORIZED ยากันยุงม๊อกซ์ ไอศครีมตราเป็ด ยากันยุงมาฟู น้ำเขียว F&N เฟรเซอร์ เฟดเดอร์ส รถยนต์โฟล์ก ที่ให้สุพรรณ บูรณพิมพ์ นำแสดง ห้างแว่นตาวอชิงตัน แป้งเย็นตรางู แคลเซียมวิตามินซี SANDOZ เนยตราดาว ที่ใช้เทคนิคสิ่งของเคลื่อนไหวเองโดยไม่ใช้คนแสดง ยาระบายตราบรูคแล็กซ์ น้ำมันตราคาลเท็กซ์ นมสดตราหมี ยาสีฟันคอลเกต หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หรือโฆษณาแป้งน้ำควินนาที่ใช้การ์ตูนสโนว์ไวท์กับแม่มดใจร้ายที่คนรู้จักกันดี ในฉาก “กระจกวิเศษจงบอกข้าเถิดใครงามเลิศในปฐพี” “อ้อ ใช่ สโนว์ไวท์น่ะสิ ทั่วพื้นธรณี ไม่มีใครงามเกิน” และที่มีความสำคัญมากก็คือภาพยนตร์โฆษณาของ “สำนักงานโฆษณาสรรพสิริ” เอง


เพียงเพราะอยากเห็น “เมืองไทยก้าวหน้า”



หลังจากโลดแล่นอยู่ในวงการโฆษณามาสักพักแล้ว สรรพสิริได้รับจ้างถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีสำหรับออกอากาศทางโทรทัศน์ให้สำนักข่าวสารอเมริกัน ในรายการ “เมืองไทยวันนี้” และต่อมาเปลี่ยนชื่อรายการเป็น “เมืองไทยก้าวหน้า” ออกอากาศเป็นประจำ เดือนละครั้ง ซึ่งได้ลูกชายคุณจุลศิริ วิรยศิริ เป็นผู้ถ่ายภาพ ซึ่งเป็นสารคดีที่สำรวจเมืองไทยในมุมมองต่าง ๆ ทั้งข่าว เหตุการณ์ วัฒนธรรม ถึงแม้จะเป็นสารคดีเกี่ยวกับเมืองไทย แต่ด้วยสัญชาตญาณนักข่าวทำให้อดไม่ได้ที่จะนำเสนอข้อเท็จจริงและความเป็นไปในสังคม อาทิ เมืองไทยก้าวหน้าครั้งที่ 215 ตอนปราบไม่สิ้น เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งไม่หมดสิ้นไปจากประเทศไทย หรือตอนทหารหาญไทยในศึกเวียดนาม หรือการสร้างเขื่อนแรก ๆ เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนยันฮี เป็นต้น ดังที่ท่านเคยพูดไว้ในคราวมาร่วมงานสัมมนาหนังสารคดี ที่จัดขึ้นโดยหอภาพยนตร์แห่งชาติว่า “ทำอย่างไรที่จะทำให้คนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรา ความเป็นไปในบ้านเมือง ความเป็นไปในโลก ตลอดจนสิ่งที่เขาดูแล้วได้เกิดความคิดอ่านที่จะทำอะไรให้เกิดประโยชน์ในสังคมขึ้นมา หรืออย่างน้อยที่สุด เพียงดูแล้วเขาเป็นคนที่ดีขึ้นมานิดหนึ่ง ก็ยังคุ้มประโยชน์ที่เราได้ทำไปแล้ว” นอกจากนี้ยังได้ไปทำข่าวผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์หลายต่อหลายครั้ง เช่น ที่ทุ่งช้าง จังหวัดน่าน โดยร่วมกับ สมบูรณ์ วิรยศิริ น้องชายต่างมารดา ผู้เคยทำงานข่าวช่อง 4 และในขณะนั้นเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดี ในชุด มรดกของไทย


นอกจากคุณูปการต่อวงการสื่อสารมวลชนแล้ว สรรพสิริ วิรยศิริ ยังเป็นผู้สนใจในเรื่องรถยนต์ขั้นลึก ถึงขนาดมีความใฝ่ฝันว่าจะสร้างรถยนต์ขึ้นใช้เองในเมืองไทยให้ได้ และลงมือเขียนหนังสือ “คู่มือนักรถยนต์” ตั้งแต่อายุ 16 ปี ด้วยหวังว่าจะนำไปขอทุนรอนตั้งโรงงานสร้างรถยนต์ขึ้นในเมืองไทยจาก “พระองค์เจ้าพีระ” และ “พระองค์จุลฯ” สองนักแข่งรถของไทย ถึงแม้ไม่ได้เป็นเจ้าของโรงงานสร้างรถยนต์ดังใจหวัง แต่สรรพสิริก็เขียนบทความเกี่ยวกับรถยนต์มาตลอดเกือบชั่วชีวิต และด้วยความชื่นชมพระองค์เจ้าพีระ จึงเพียรเขียนบทความเกี่ยวกับพระองค์เป็นจำนวนมาก เพื่อเทิดพระเกียรติ “เจ้าดาราทอง” ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องมากมายจากต่างประเทศ แต่คนในประเทศเองกลับลืม 


สิ่งสุดท้ายที่สร้างไว้ “หอเกียรติภูมิรถไฟ” โดยชมรมเรารักรถไฟ


เพียงไม่กี่วันหลังการเสียชีวิตของอาจารย์สรรพสิริ หอเกียรติภูมิรถไฟซึ่งอาจารย์สรรพสิริเป็นผู้ผลักดันให้เกิดขึ้น ก็ต้องปิดตัวลงในวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดรถไฟไทย เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทยจะขอคืนอาคารเพื่อนำไปจัดสร้างพิพิธภัณฑ์รถไฟ


แม้ชั่วชีวิตของสรรพสิริจะทำอะไรต่าง ๆ มากมาย แต่มีเพียงสิ่งเดียวที่ท่านต้องการจะเป็นนั่นคือ การเป็นคนข่าว ดังที่ท่านได้เขียนไว้ในหนังสือ “ผมเป็นคนข่าวคนหนึ่งก็แค่นั้น” ว่า แต่ในก้นบึ้งของหัวใจ ผมไม่ต้องการเป็นอะไร นอกจากเป็นคนข่าวทีวี” ขอคารวะต่อผลงานที่อาจารย์สรรพสิริได้สร้างไว้ และขอไว้อาลัยต่อการจากไปของ “คนข่าว” ที่ชื่อว่า “สรรพสิริ”


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด