บันทึกจากผู้สร้างสารคดี “เงาประวัติศาสตร์” ว่าด้วยหนัง 14 ตุลา

ภาณุ อารี เล่าถึงความตั้งใจและความรู้สึกในการสร้างหนังสารคดีที่พาผู้ชมไปรู้จักกับคนทำหนังคนสำคัญสองคนที่ได้ถ่ายภาพเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 

----------


โดย ภาณุ อารี


ในฐานะของคนทำสารคดี  มีสารคดีประเภทหนึ่งที่ผมใฝ่ฝันอยากทำมานาน แต่ไม่มีโอกาสได้ทำเพราะวัตถุดิบในการผลิตมีไม่เพียงพอที่จะนำมาทำอะไรได้  สารคดีประเภทที่ว่าเรียกว่า archival documentary หรือ สารคดีที่เล่าเรื่องด้วยภาพฟุตเตจประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นฟุตเตจหนังข่าว หรือ ฟุตเตจฟิล์มที่ถ่ายทำกันเอง  ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่ผ่านมา (เริ่มตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา) หากไม่นับ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬเป็นต้นมาที่กล้องบันทึกภาพ (วิดีโอ) ขนาดคล่องตัวและสามารถถ่ายบันทึกเหตุการณ์ได้อย่างสะดวก  เหตุการณ์  14 ตุลาคม พ.ศ.  2516 และ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 น่าจะเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกด้วยกล้องภาพยนตร์มากที่สุด 


โดยส่วนตัวผมมีความสนใจเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ดูเหมือนจะมีคำถามตามมามากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่อย่างจำกัด หรือภาพบันทึกเหตุการณ์ที่น่าสะพรึงกลัว และเป็นภาพเหตุการณ์ที่ซ้ำๆ กัน ผมจึงได้ปรึกษากับเพื่อนที่ร่วมทำสารคดีกันมาก่อนหน้านี้อย่าง ก้อง ฤทธิ์ดี และ กวีนิพนธ์ เกตุประสิทธฺ์  พวกเราช่วยกันขบคิดกันว่า จะเล่าเรื่อง 6 ตุลา อย่างไร ภายใต้วัตถุดิบที่มีอย่างจำกัด และจะนำเสนอเนื้อเรื่องอย่างไร เพื่อให้หลุดไปจากกรอบประวัติศาสตร์ที่ทุกคนรู้จักกันดีแล้ว แต่ยิ่งคิดเราก็หาคำตอบไม่เจอ จนในที่สุดก็ตัดสินใจพับความคิดที่จะทำสารคดีเรื่องนี้ไว้ก่อน  แล้วหันมามองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้สามปีอย่างเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 แทน 

<<ชม บันทึกเหตุการณ์การเรียกร้องรัฐธรรมนูญ (อนุทินวีรชน 14 ตุลา) โดย ชิน คล้ายปาน >>


ในแง่การผลิต เหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องระหว่างวันที่ 10-14 ตุลาคม จะมีฟุตเตจภาพที่แสดงกิจกรรมอันหลากหลายกว่า แต่พวกเราก็ยังพบกับปัญหาเดิม คือ ฟุตเตจที่มีล้วนแต่ถูกนำไปใช้อยู่บ่อยแล้วจนเรียกได้ว่าช้ำ อีกทั้งเรื่องราวในเหตุการณ์ก็ถูกนำเสนอในแบบต่าง ๆ จนไม่ทำให้เหลือมุมใดให้เล่าได้อีกแล้ว จนกระทั่ง ใครสักคนในกลุ่มเราได้ตั้งคำถามหนึ่งขึ้นมา เป็นคำถามที่ผมเองก็ไม่เคยคิดถึงมุมนี้มาก่อน ว่า เหตุใดเราจึงไม่เล่าเรื่องของคนที่อยู่เบื้องหลังการบันทึกประวัติศาสตร์ชุดนี้แทน ซึ่งผมก็เห็นด้วย  จริงๆ โดยส่วนตัว ผมเคยได้รับรู้มาบ้างว่า ผู้ถ่ายหนังเหตุการณ์ 14  ตุลา นั้นมีสองคนคนหนึ่งเป็นอาจารย์สอนภาพนิ่งที่คณะวารสารศาสตร์ ชื่อ อ.ชิน คล้ายปาน และอีกท่านหนึ่งเป็นนักถ่ายหนังข่าว ชื่อ คุณทวีศักดิ์ วิรยศิริ แต่นอกเหนือจากนั้น ผมไม่รู้เลยว่า ในวันนั้นท่านทั้งสองทำงานกันอย่างไร 


เราทั้งสามคนจึงตัดสินใจทำหนังสารคดีที่ให้ความสำคัญกับช่างถ่ายหนังทั้งสองท่านขึ้นมา โดยมีจุดประสงค์เพื่อรู้จักตัวตนของทั้งสองท่านซึ่งเสียชีวิตไปแล้วมากขึ้น และนำเสนอมุมมองใหม่ต่อประวัติศาสตร์ 14 ตุลา  พวกเราตั้งชื่อโปรเจ็กต์นี้ว่า “เงาประวัติศาสตร์” อันหมายถึงบุคคลที่อยู่ในซอกหลืบของประวัติศาสตร์ แต่มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดประวัติศาสตร์ให้ผู้คนได้รับรู้ ซึ่งเพื่อให้ความเป็นธรรม บุคคลเหล่านี้อาจมีมากกกว่าแค่ อาจารย์ชินและคุณทวีศักดิ์ก็ได้ 

<<ชม วันมหาวิปโยค 2516 โดย ทวีศักดิ์ วิรยศิริ >>


ในแง่วิธีการนำเสนอ พวกเราคิดว่าหัวใจสำคัญของสารคดีเรื่องนี้ คือ การนำเสนอภาพฟุตเตจของหตุการณ์ที่ถ่ายโดย อาจารย์ชิน และคุณทวีศักดิ์ แบบเรียงลำดับ โดยแทรกเรื่องราวของบุคคลทั้งสองท่าน และ เบื้องหลังการถ่ายบันทึกเหตุการณ์ผ่านบุคคลใกล้ชิดของทั้งสองท่าน สำหรับอาจารย์ชิน เรื่องราวในส่วนของท่านถูกเล่าผ่านลูกศิษย์ที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับท่านในวันนั้นซึ่งได้แก่อาจารย์ วันชัย ธนะวังน้อย อาจารย์สอนวิชาวิทยุ โทรทัศน์ที่คณะวารสารศาสตร์ธรรมศาสตร์  ส่วนเรื่องราวของอาจารย์ทวีศักดิ์ถูกเล่าผ่าน ภรรยาของท่าน คุณพรรณี วิรยศิริที่ได้ออกตามท่านไปถ่ายบันทึกเหตุการณ์ในวันนั้นด้วย ขณะเดียวกันพวกเราได้เสริมข้อมูลเกี่ยวกับตัวทั้งสองท่าน และเหตุการณ์ในวันนั้นผ่านการสัมภาษณ์คุณโดม สุขวงศ์ อดีตผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ที่รู้จักกับอาจารย์ชินและคุณทวีศักดิ์เป็นอย่างดี และคุณโดมเองก็ได้อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นด้วย นอกจากนี้พวกเราได้สัมภาษณ์ประชาชนทั่วไปที่อยู่ร่วมเหตุการณ์จำนวนหนึ่ง ซึ่งน่าแปลกใจว่าแม้ว่าเวลาจะผ่านมากกว่า 4 ทศวรรษ แต่ความทรงจำที่มีต่อเหตุการณ์ในวันน้นยังคงชัดเจนเหมือนฟุตเตจที่บันทึกเรื่องราวทั้งหมด


เงาประวัติศาสตร์ ออกฉายครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2556  เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา แม้ว่าท้ายที่สุด สารคดีเรื่องนี้ไม่ใช่สารคดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาที่ดีที่สุด หรือนำเสนอมุมมองใหม่ที่มากไปกว่ากรอบประวัติศาสตร์ที่เคยรับรู้กันมา แต่โดยส่วนตัวแล้ว พวกเราภูมิใจที่อย่างน้อย บุคคลที่อยู่ในเงาประวัติศาสตร์มาตลอด 4 ทศวรรษ ได้มีโอกาสเผยตัวตนและความคิดออกมา   แม้ในความเป็นจริงพวกเขาอาจจะยินดีที่จะอยู่ในเงานั้น ตลอดมาและตลอดไปก็ตาม


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด