แนะนำหนังสือ : ที่ใด ๆ ในโลกนี้ก็มีภาพยนตร์

ความรุดหน้าของเทคโนโลยีทำให้โลกนี้มีการชมภาพยนตร์ออนไลน์ หรือ Video Streaming ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เรารู้จักและเลือกดูภาพยนตร์จากนานาชาติได้ง่ายขึ้น แต่การอ่านหนังสือที่ศึกษาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ และวิเคราะห์วงการภาพยนตร์ของประเทศต่าง ๆ ก็เป็นวิธีหาความรู้แบบเรียบง่ายและช่วยให้เราเข้าใจภาพยนตร์ในหลากหลายมิติ คอลัมน์ห้องสมุดฯ ชวนอ่านหนังสือภาพยนตร์ส่งท้ายปี พ.ศ. 2562 เรื่องราวของภาพยนตร์จากห้าประเทศ ได้แก่ กรีซ คิวบา ไนจีเรีย เลบานอน และนิวซีแลนด์

Realism in Greek Cinema

From the Post-War Period to the Present 

โดย Vrasidas Karalis 


หนังสือเล่มนี้ได้มุ่งเน้นนำเสนอผลงานภาพยนตร์ของประเทศกรีซในยุคหลังปี ค.ศ. 1945 ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยการสร้างภาพยนตร์ในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่เราสามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์กรีกได้เป็นอย่างดี ซึ่ง Karalis ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ใช้วิธีศึกษางานและชีวิตของผู้กำกับภาพยนตร์ 6 คน คือ Michael Cacoyannis, Nikos Koundouros, Yannis Dalianidis, Theo Angelopoulos, Antoinetta Angelidi, Yorgos Lanthimos ซึ่งเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่ทรงคุณวุฒิและทรงอิทธิพลในวงการภาพยนตร์กรีกและได้รับการยกย่องระดับนานาชาติ โดย Karalis ศึกษาวิเคราะห์ประเด็นต่าง ๆ ผ่านภาพยนตร์ เช่น พัฒนาการของภาพยนตร์ในฐานะศิลปะแขนงหนึ่งในบริบทด้านการเมืองและสังคมของประเทศกรีซ บทบาททางเพศที่ปรากฏในภาพยนตร์ ภาพยนตร์ของคนกลุ่มน้อยในสังคม สำนวนและรูปแบบการใช้ภาษา ซึ่งตลอดทั้งเล่ม Karalis ได้อธิบายถึงวิธีการที่ผู้กำกับภาพยนตร์ได้ถ่ายทอดสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมให้กลายเป็นงานภาพยนตร์ที่สะท้อนภาพความสั่นคลอนของสังคมและเอกลักษณ์ของชาติเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว


The Cinema of Cuba

Contemporary Film and the Legacy of Revolution 


บรรณาธิการโดย Guy Baron, Ann Marie Stock, 

Antonio Álvarez Pitaluga 


การปฏิวัติประเทศคิวบาไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ในยุคอาณานิคมได้ฝังรากลึกลงในสังคมคิวบา จนเมื่อเข้าสู่ยุคร่วมสมัย คิวบาได้เปิดประตูสู่โลกภายนอกมากขึ้น ส่งผลให้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสังคมและมีอิทธิพลมาสู่วงการภาพยนตร์ของประเทศคิวบาเป็นอย่างมาก เช่น การปฏิรูปด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ทั่วโลกเข้าถึงผลงานของผู้สร้างภาพยนตร์คิวบาได้มากขึ้น และพวกเขามีความกระตือรือร้น ความพยายามใช้ช่องทางสื่อสารต่าง ๆ เพื่อนำเสนอผลงานที่สร้างสรรค์ด้วยมันสมองและสองมือของตนเองจากความมุ่งมั่นของผู้สร้างภาพยนตร์คิวบาเป็นแรงบันดาลใจให้ทีมบรรณาธิการต้องการนำเสนอความเป็นเอกลักษณ์ของภาพยนตร์คิวบาผ่านบทความและรวบรวมเป็นหนังสือเล่มนี้ โดยการวิเคราะห์ประเด็นต่าง ๆ ผ่านสื่อภาพยนตร์ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ การประเมินบทบาทความสัมพันธ์หญิงชาย การใช้เทคโนโลยี โดยแต่ละบทได้หยิบยกผลงานที่ได้รับการยอมรับจากสถาบันภาพยนตร์คิวบา เช่น Nada, Barrio Cuba, Larga Distancia และผลงานอื่น ๆ ที่จัดอยู่ในพื้นที่ชายขอบของอุตสาหกรรมภาพยนตร์คิวบาอีกด้วย 


Nollywood

The Creation of Nigerian Film Genres 

โดย Jonathan Haynes 


อุตสาหกรรมของภาพยนตร์ไนจีเรียหรือมีชื่อเรียกว่า Nollywood เป็นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และมีอิทธิพลในการนำเสนอวัฒนธรรมแอฟริกันร่วมสมัย โดย Haynes ศึกษาเกี่ยวกับแก่นหลักและประเภทเนื้อหาของภาพยนตร์ไนจีเรีย รวมถึงนำเสนอประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไนจีเรียโดยสังเขป Haynes รวบรวมบทสัมภาษณ์และศึกษาค้นคว้ากว่า 20 ปี โดยพบว่า ภาพยนตร์ไนจีเรียเกิดขึ้นในยุควิกฤตการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และจริยธรรม ส่งผลให้ภาพยนตร์เรื่องใดที่มีแก่นหลักเกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้มักได้รับความนิยม ส่วนประเภทเนื้อหาที่เป็นเอกลักษณ์ของภาพยนตร์ Nollywood จะมีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของสื่อโทรทัศน์ ค่านิยมของคน ความตึงเครียดของสังคม และประวัติศาสตร์ของไนจีเรียอยู่ด้วยเสมอ อีกทั้งภาพยนตร์ไนจีเรียมีความเชื่องโยงอย่างเหนียวแน่นกับวัฒนธรรมของชนเผ่า Igbo และ Yoruba นอกจากนี้รากฐานของ Nollywood ยังคงต้องพึ่งพิงปัจจัยด้านเทคโนโลยีและการตลาดภายในประเทศ ส่งผลให้อัตราการเติบโตของ Nollywood ไม่มีความมั่นคงและสั่นคลอน กระบวนการผลิตภาพยนตร์เป็นไปอย่างรีบเร่งและใช้ต้นทุนการผลิตต่ำ อีกทั้งการสื่อความหมายด้านวัฒนธรรมที่ปรากฏในภาพยนตร์ไนจีเรียจะมีลักษณะเหมารวมคล้ายคลึงกันไปหมด


Lebanese Cinema

Imagining the Civil War and Beyond 

โดย Lina Khatib 


ภาพยนตร์ของประเทศเลบานอนในยุคสมัยใหม่ส่วนใหญ่สร้างขึ้นหลังจากการเกิดสงครามกลางเมืองปี ค.ศ. 1975 ซึ่งหนังสือเล่มนี้แบ่งการนำเสนอออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ในส่วนแรกของเล่ม Khatib เริ่มต้นเนื้อหาด้วยการพาเราย้อนไปที่กรุงเบรุต เมืองหลวงของเลบานอน ในช่วงปี ค.ศ. 1975 จนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวภาพรวมของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เลบานอน โดย Khatib อธิบายว่าการศึกษาครั้งนี้ ใช้วิธีการสัมภาษณ์ผู้สร้างภาพยนตร์ นักวิจารณ์ นักแสดงที่เป็นกลุ่มคนยุคปัจจุบันของเลบานอน และศึกษาเบื้องหลังบริบทภาพยนตร์เลบานอนที่ได้รับการประกอบสร้างและสื่อสารความเป็นอัตลักษณ์ของคนในชาติ ส่วนที่สอง Khatib ได้วิเคราะห์การนำเสนอภาพที่ปรากฏในสื่อภาพยนตร์ใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ ภาพสงครามกลางเมือง การแบ่งแยกศาสนา บทบาทความเหลื่อมล้ำของหญิงและชาย โดยการวิเคราะห์ประเด็นเหล่านี้ผ่านสื่อภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง เช่น Terra Incognita, West Beirut และ Once Upon a Time, Beirut ในส่วนปิดท้ายหนังสือเล่มนี้นำเสนอจุดเชื่อมโยงของภาพยนตร์เลบานอนกับเรื่องการเมืองและอัตลักษณ์ประจำชาติความสำคัญของภาพยนตร์ที่มีต่อการนำเสนอภาพลักษณ์ของประเทศ 


Contemporary New Zealand Cinema

From New Wave to Blockbuster 

บรรณาธิการโดย Ian Conrich และ Stuart Murray 


นับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 วงการภาพยนตร์นิวซีแลนด์สามารถกระตุ้นความสนใจให้แก่ผู้ชมทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนกระทั่งก้าวสู่ระดับโลกจากผลงานภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง เช่น Vigil, Whale Rider และภาพยนตร์ไตรภาค The Lord of the Rings หนังสือเล่มนี้

นำเสนอบทความต่าง ๆ เกี่ยวกับการวิเคราะห์จุดเด่นของอุตสาหกรรมภาพยนตร์นิวซีแลนด์ ประเด็นเชิงธุรกิจ บริบทด้านวัฒนธรรมและความเป็นเอกลักษณ์ของชาติ วิเคราะห์วัฒนธรรมการสร้างภาพยนตร์ของนิวซีแลนด์ได้อย่างสมบูรณ์ พร้อมกับยกกรณีตัวอย่างที่เด่นชัด เช่น การสร้างภาพยนตร์สั้นและภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับชาวเมารี ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของนิวซีแลนด์ การดัดแปลงวรรณกรรมเป็นภาพยนตร์ การตลาดและการเซ็นเซอร์ รวมทั้งการศึกษาความสัมพันธ์แบบผสมผสานวัฒนธรรม จิตวิญญาณ ความเป็นชาย ความพิการ ความทุพพลภาพ โดยผ่านการวิเคราะห์ภาพยนตร์ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เช่น The Piano และ Once Were Warriors รวมทั้งการนำเสนอเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศนิวซีแลนด์ ที่มีส่วนสำคัญให้งานสร้างภาพยนตร์ของนิวซีแลนด์เป็นจริงได้ และส่วนท้ายของหนังสือเล่มนี้นำเสนอภาพยนตรานุกรมของภาพยนตร์นิวซีแลนด์ได้อย่างครบถ้วน 

----------

นับตั้งแต่วันกำเนิดภาพยนตร์โลก ซึ่งผ่านมาแล้ว 124 ปี ภาพยนตร์ก็ยังเป็นศิลปะที่ยังอยู่กับโลกนี้ตลอดไป เพราะที่ใด ๆ ในโลกนี้ก็มีภาพยนตร์ โดยหอภาพยนตร์ยังมีหนังสือด้านภาพยนตร์ดี ๆ อีกมากมาย รอให้ทุกท่านมาอ่านได้ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี  

เขียนโดย วิมลิน มีศิริ

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด