คำสั่งคำสาป: ร่างทรงฮอลลีวูดของหนังไทย ในสงครามเย็นที่เพิ่งค้นพบ

ภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ยุคแรก ๆ ของไทย ที่สร้างโดยทีมงานจากสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2494 และนำแสดงโดยนักแสดงไทยที่โด่งดังจากละครเวทีซึ่งเฟื่องฟูในระหว่างช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 แต่ภาพยนตร์ประสบปัญาเรื่องการจัดจำหน่ายทำให้ออกฉายจริงในปี 2497 ในฉบับที่ได้รับการตัดต่อใหม่ และจะกลับมาฉายขึ้นจอใหญ่อีกครั้งที่หอภาพยนตร์ในวันเสาร์ที่ 26 กันยายนนี้

--------


โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู

* ปรับปรุงจากฉบับพิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 59 กันยายน-ตุลาคม 2563


ในยุคเริ่มต้นของสงครามเย็น ช่วงทศวรรษ 2490 เมื่อสหรัฐอเมริกาได้เข้ามาจัดตั้งสำนักข่าวสารอเมริกัน หรือที่เรียกกันว่า “ยูซิส” (United States Information Service – USIS) ขึ้นในเมืองไทย เพื่อเผยแพร่ลัทธิเสรีนิยมและต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์  “ภาพยนตร์” ได้กลายเป็นหนึ่งในอาวุธที่ทรงพลังที่สุดของการโฆษณาชวนเชื่อที่ยูซิสนำมาใช้ครอบงำความคิดผู้คนทั่วประเทศ ทั้งในรูปแบบภาพยนตร์สารคดี การ์ตูน และที่สำคัญที่สุดคือภาพยนตร์ดำเนินเรื่อง 


ภาพยนตร์เหล่านี้มีทั้งที่สำนักข่าวสารอเมริกันสร้างขึ้นเอง และสนับสนุนทุนให้แก่ผู้สร้างหนังในเมืองไทย แม้จะมีการทำสำเนาขึ้นมาหลายชุด เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ นำออกไปเผยแพร่แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง แต่เมื่อสำนักข่าวสารอเมริกันหมดบทบาทลงหลังสิ้นสุดสงครามเย็น “หนังยูซิส” ได้ถูกทำลายลงไปจำนวนมาก โดยมีเพียงบางส่วนที่เหลือรอดมาให้หอภาพยนตร์ได้อนุรักษ์ไว้ แม้จะอยู่ในสภาพที่ร่อแร่ แต่ก็กลายเป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์




กระทั่ง ปี พ.ศ. 2562 หอภาพยนตร์จึงพบว่ามีหนังยูซิสที่เคยสร้างเพื่อจัดฉายในเมืองไทย ได้รับการเก็บรักษาไว้ในสภาพสมบูรณ์ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Archives and Records Administration - NARA) และบางเรื่องนั้นไม่มีอยู่ในคลังอนุรักษ์ของหอภาพยนตร์ หนึ่งในนั้นคือภาพยนตร์เรื่อง คำสั่งคำสาป ซึ่งมีทั้งหมด 2 ฉบับ คือ ฉบับที่แปลงสัญญาณมาจากฟิล์ม 16 มม. มีความยาว 138 นาที และฉบับที่มาจากฟิล์ม 35 มม. มีความยาว 102 นาที


ก่อนหน้านี้ หอภาพยนตร์ทราบข้อมูลเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้จาก วสันต์ สุนทรปักษิน ซึ่งเป็นผู้แสดงหลักของเรื่อง ว่าภาพยนตร์มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Dead Man’s Voice สร้างในปี พ.ศ. 2494 ต่อมา เมื่อจัดทำภาพยนตรานุกรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 จึงได้พบข้อมูลเรื่องย่อจากนิตยสารตุ๊กตาทอง พ.ศ. 2497 ซึ่งระบุว่า คำสั่งคำสาป ออกฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ปีดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีบทสัมภาษณ์ของ สวลี ผกาพันธุ์ ที่ให้ข้อมูลว่าภาพยนตร์ถ่ายทำที่โรงถ่ายไทยฟิล์ม โรงถ่ายสำคัญในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย



เมื่อค้นพบภาพยนตร์ซึ่งมีทั้งหมด 2 ฉบับในความยาวที่แตกต่างกัน หอภาพยนตร์จึงได้หาข้อมูลเพิ่มเติมและพบข้อเขียนของ ประหยัด ศ. นาคะนาท ที่กล่าวถึงการถ่ายภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้ในหนังสืองานศพของ อุโฆษ จันทร์เรือง เมื่อนำมาประกอบกับข้อมูลเดิม ทำให้สันนิษฐานได้ว่า คำสั่งคำสาป หรือ Dead Man’s Voice สร้างในปี พ.ศ. 2494 และตัดต่อออกมาในความยาวตามฉบับของฟิล์ม 16 มม. ซึ่งขึ้นชื่อผู้สร้างว่า “บริษัทเซานด์ม๊าสเตอร์” ตรงกับที่ประหยัดระบุไว้ แต่เกิดปัญหาเรื่องการจัดจำหน่าย จึงไม่ได้จัดฉาย ต่อมาปี พ.ศ. 2497 จึงมีผู้นำมาจัดฉายในโรงภาพยนตร์ของไทย โดยตัดต่อใหม่ให้สั้นลงกว่าเดิมเป็นความยาวตามฉบับของฟิล์ม 35 มม. ซึ่งขึ้นชื่อผู้สร้างว่า “บริษัทภาพยนตร์อิสรภาพ” อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐฯ ได้ระบุชัดเจนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างโดย U.S. Information Agency (USIA) สำนักงานใหญ่ที่สหรัฐอเมริกา ของสำนักข่าวสารอเมริกันที่จัดตั้งไว้ตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมีชื่อภาษาอังกฤษของภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า The Command That Dooms 


คำสั่งคำสาป จึงนับได้ว่าเป็นหนังโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์เรื่องแรกสุดในเมืองไทยเท่าที่มีการค้นพบ และเนื้อหาของภาพยนตร์ยังแตกต่างจากหนังยูซิสในยุคหลังปี พ.ศ. 2500 ที่มักแสดงภาพความเลวร้ายของกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีต่อชาวบ้านในชนบทห่างไกลเป็นหลัก แต่ใน คำสั่งคำสาป ภาพยนตร์มีฉากหลังอยู่ในกรุงเทพฯ โดยดำเนินเรื่องผ่านกลุ่มคนหนุ่มที่มีทั้งนักสืบและนักวิชาการ ซึ่งร่วมกันสืบหาเบื้องหลังของเหตุการณ์ลึกลับ เมื่อรูปปั้นของ ดร.ทองคำ นักวิทยาศาสตร์ผู้มีใจรักในประชาธิปไตยและมีผู้คนศรัทธาเป็นจำนวนมาก กลับเปล่งเสียงเชิญชวนให้ผู้คนเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ ซ้ำยังเกิดเหตุฆาตกรรมปริศนาภายในบ้าน




จุดเด่นที่สำคัญของ คำสั่งคำสาป  คือการที่ทีมงานสร้างภาพยนตร์มาจากสหรัฐอเมริกา ภาพยนตร์จึงถ่ายทำและดำเนินเรื่องแบบเดียวกับหนังฮอลลีวูดคลาสสิกในยุคนั้น ทั้งบรรยากาศ การจัดแสง มุมกล้อง เทคนิคการบันทึกเสียง รวมไปถึงการแสดง ซึ่งดูแตกต่างอย่างชัดเจนจากหนังไทยเรื่องอื่น ๆ จนน่าทึ่ง โดยในปี พ.ศ. 2494 ที่มีการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ วงการภาพยนตร์ไทยเพิ่งตั้งต้นขึ้นใหม่จากพิษภัยของสงครามโลกครั้งที่ 2 และนักแสดงหลักหลายคนของเรื่อง ล้วนโด่งดังมาก่อนจากละครเวทีที่เฟื่องฟูในระหว่างช่วงสงคราม ทั้ง วสันต์ สุนทรปักษิน, สวลี ผกาพันธุ์, มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา, อารี โทณะวณิก, อุโฆษ จันทร์เรือง, สุคนธ์ คิ้วเหลี่ยม, เฉลิม เศวตนันท์ โดยผู้ประพันธ์เรื่องคือ กุมุท จันทร์เรือง ก็เป็นหนึ่งในนักเขียนบทละครเวทีที่มีชื่อเสียงที่สุดในเวลานั้น นอกจากนี้ยังมี ประหยัด ศ. นาคะนาท นักเขียน นักหนังสือพิมพ์นามปากกา “นายรำคาญ” ผู้มีบทบาทสำคัญด้านสังคมและการเมืองไทย มารับบทบาทร่วมกับนักแสดงคนอื่น ๆ ที่มีรายชื่อปรากฏในเครดิต คือ อมร เศวตนันท์, อมฤต ตันกุลรัตน์ และ พจนา สาคริก ซึ่งยังคงต้องสืบหาข้อมูลต่อไป 


การค้นพบ คำสั่งคำสาป จึงมีความสำคัญในหลายมิติ ทั้งในแง่หลักฐานชิ้นแรก ๆ ของการโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ผ่านสื่อภาพยนตร์ในเมืองไทย ที่สร้างออกมาในรูปแบบหนังฮอลลีวูดคลาสสิก และในแง่บทบันทึกทางประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยในช่วงที่เพิ่งเปลี่ยนผ่านมาจากละครเวที รวมถึงเป็นประจักษ์พยานให้แก่ฝีมือการแสดงของดาราชื่อดังในอดีตที่มีผลงานหลงเหลือมาในปัจจุบันเพียงน้อยนิด


วันเสาร์ที่ 26 กันยายนนี้ หอภาพยนตร์จะนำ คำสั่งคำสาป ทั้ง 2 ฉบับ ออกฉายเผยแพร่สู่สาธารณชน ในกิจกรรมภาพยนตร์สนทนา “คำสั่งคำสาป: ร่างทรงฮอลลีวูดของหนังไทยในสงครามเย็นที่เพิ่งค้นพบ” พร้อมสนทนากับ ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ในเมืองไทยโดยเฉพาะในยุคสงครามเย็น และ ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผู้เขียนหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ว่าด้วยการเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2491 – 2500  

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด