Uncle Boonmee: 10 Years Later

พูดคุยกับอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับหนังไทยคนสำคัญ ผ่านการสนทนาออนไลน์ ในวาระครบรอบ 10 ปี ลุงบุญมีระลึกชาติ ได้รับรางวัลปาล์มทองจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ตลอดจนหัวข้ออื่น ๆ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

----------


เรียบเรียงโดย อธิพันธ์ สิมมาคำ



เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา หอภาพยนตร์จัดกิจกรรมสนทนาสดออนไลน์กับอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ในหัวข้อ “Uncle Boonmee: 10 Years Later” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จัดขึ้นในช่วงวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 

 

การสนทนาระหว่างอภิชาติพงศ์ กับรองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ สัณห์ชัย โชติรสเศรณี มีขึ้นเพื่อทบทวนเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย เมื่อ ลุงบุญมีระลึกชาติ ได้รับรางวัลปาล์มทองจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เมื่อปี พ.ศ. 2553 นอกจากนี้ อภิชาติพงศ์ยังแลกเปลี่ยนความคิดในเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งการถ่ายทำหนังเรื่องใหม่ของเขาในประเทศโคลอมเบีย ความเห็นต่อภาพยนตร์ออนไลน์ และบทบาทของศิลปินในช่วงเวลาของโรคระบาด 


การสนทนาได้รับความสนใจจากผู้ชมจำนวนหลายพันคนในขณะถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊กของหอภาพยนตร์ ทั้งจากในประเทศไทยและต่างประเทศ เนื่องจากมีการสรุปใจความของการสนทนาเป็นภาษาอังกฤษ แบบสด ๆ และนี่คือบทสนทนาทั้งหมดในวันนั้น


เราจะรู้ว่าพี่เจ้ยเดินทางตลอดเวลา ในช่วงโควิดที่ไม่ได้เดินทางไปไหนเลย อยากทราบว่าในแต่ละวันทำอะไรอยู่ที่บ้านบ้าง

ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องงาน คุยผ่าน Zoom กับเพื่อน ๆ บ้าง แต่ว่ามันเป็นเวลาที่ได้คุยกับตัวเอง โชคดีที่ว่าบ้านตัวเอง มีพื้นที่เยอะก็สำรวจรอบ ๆ บ้าน เดินขึ้นเขาไปนู้นมานี่ แต่ที่แปลกเลย คือมันจะไม่สามารถทำงานได้อย่างปรกติ รู้สึกความเร็วของเรามันลดลง ลดลง 80% แต่ก็พยายามปรับตัวให้เข้ากับจังหวะนี้


จริงเลย คือปรกติทำงานออฟฟิศ แต่ว่าตอนนี้ต้องทำงานที่บ้านด้วย จะรู้เลยว่า ความเร็วในการทำงานของตัวเองช้าลงไปมาก จะรู้สึกว่าทำไมทำไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่อยู่บ้านเฉย ๆ น่าจะทำได้ดีกว่านี้ ปรากฎว่าไม่เลย

คุยกับเพื่อน บางคนทีเป็นนักแสดงบอกว่าไม่สามารถเขียนบทได้ ทำอะไรไม่ได้เลย


แสดงว่าเป็นเหมือนกันหมด

อาจจะดีนะ เหมือนได้สะท้อนกลับมาสำรวจตัวเอง


เดี๋ยวมาคุยตอนที่พี่เจ้ยได้รับรางวัลปาล์มทองกันนิดนึงว่า สำหรับรางวัลปาล์มทองที่ได้จาก ลุงบุญมีระลึกชาติ ถือเป็นรางวัลสูงสุดของพี่เจ้ยหรือไม่ และรางวัลนี้มีผลอย่างไรในเวลาต่อมา

สำคัญมาก เพราะว่ามันเป็นเวทีที่ผู้กำกับภาพยนตร์หลายท่านที่เราเคารพได้ผ่านเวทีนี้มาก่อน แน่นอนว่าเป็นเกียรติมาก มันเป็นรางวัลที่อยู่ในตำแหน่งที่คนให้ความสนใจ มันเหมือนกับว่าคนได้ยินเสียงเราแล้ว และเราก็ไม่ต้องตะโกนเรียกร้องความสนใจ จริง ๆ แล้วรางวัลนี้มันทำให้เราถ่อมตัวขี้น เมื่อเราอยู่ในเวทีที่คนได้ยินเสียงเราอยู่แล้ว เราจึงไม่จำเป็นต้องพูดเสียงดัง 

 


ภาพ: อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ขณะรับรางวัลปาล์มทอง จากภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ครั้งที่ 63 

ที่มา: AP


เป็นรางวัลที่ทำให้รู้สึกถ่อมตัวลง เพราะว่ามีคนได้ยินเสียงเราแล้ว จากเวทีสำคัญระดับนั้นใช่ไหม

ใช่ มันเป็นที่ ๆ คนฟังอยู่แล้วไง


อยากให้เล่าถึงประสบการณ์การทำหนังเรื่องใหม่ Memoria ที่ไปถ่ายทำที่ประเทศโคลอมเบีย ที่นั่นแตกต่างจากการถ่ายในเมืองไทยอย่างไร

เหตุผลที่ไปถ่ายที่นั่น มี 2 อย่างครับ อย่างแรกคือ เบื่อหน่ายกับประเทศนี้ที่เราไม่สามารถทำหนังที่เราอยากพูดได้ตรง ๆ โดยที่ไม่ต้องหลีกหนีไปใช้ภาษาภาพยนตร์ หรือในเชิงสัญลักษณ์หรือว่าอุปมาอุปมัย คืออยากทำอะไรที่มันตรง ๆ แล้วโดยเฉพาะช่วงที่มันไม่เป็นประชาธิปไตยในหลายปีที่ผ่านมา ก็เป็นเหตุผลที่เราอยากออกจากที่นี่บ้าง 


และก็อีกเหตุผลหนึ่ง คือต้องการจะท้าทายตัวเอง ตอนที่เราถ่าย รักที่ขอนแก่น (พ.ศ. 2558) เมื่อ 5 ปีที่แล้ว มันมีตัวละครหนึ่งที่เป็นคนพูดภาษาอังกฤษ ซึ่งเรากำกับแล้วรู้สึกไม่ลงตัว เคอะเขินมาก เลยมองว่ามันยากที่จะทำหนังภาษาอื่น การลองไปทำที่โคลอมเบียก็เพื่อพิสูจน์เพื่อดูว่ามันจริงไหม แต่ว่าพอไปจริง ๆ เรามีตัวช่วยเยอะ ที่สำคัญคือคุณโบ๊ต สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์ (ผู้ช่วยผู้กำกับ - ผู้เรียบเรียง) และพี่สอง สยมภู มุกดีพร้อม ที่เป็นตากล้องที่ทำงานด้วยกันมานาน


ประกอบกับทีมงานโคลอมเบียที่เรียกว่าประเสริฐมาก รักกันมากจนเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน มันจึงพิสูจน์ว่า การทำภาพยนตร์หรือการดูภาพยนตร์มันใช้ภาษาสากล นอกเหนือจากภาษากาย แต่ว่าที่ท้าทายมาก คือเรื่องดินฟ้าอากาศ โดยเฉพาะเมืองโบโกตาที่อยู่ในหุบเขา เพราะฉะนั้นในวันหนึ่งก็จะมีทั้งแดดออก ร้อน หนาว และก็ลมแรง และก็ฝนตกอะไรทั้งหมดภายในไม่กี่ชั่วโมง เพราะฉะนั้นมันจะท้าทายมาก ทั้งในเรื่องของเครื่องแต่งกาย ความต่อเนื่อง 


เราต้องทำให้มันยืดหยุ่นไว้ ต้องคอยกระตือรือร้น เป็นเสน่ห์ที่ทำให้เราชอบการถ่ายข้างนอก ที่ไม่ได้ถ่ายในสตูดิโอ พอได้ฟุตเตจเหล่านั้นมา แล้วมาเจอลี (ลี ชาตะเมธีกุล - ผู้เรียบเรียง) คนตัดต่อ และ ริศ (อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร - ผู้เรียบเรียง) คนทำเสียงคู่ใจอีก เหมือนทุกอย่างมันก็ค่อย ๆ ลงตัว สรุปแล้วค่อนข้างจะเป็นประสบการณ์ที่เหมือนมันจุดไฟอะไรบางอย่าง ถ้าเป็นไปได้ก็อยากออกไปทำอีกเรื่อย ๆ เพราะมันท้าทายและได้เรียนรู้ เรียกว่าได้เจอครอบครัวใหม่ ที่มีวิธีการมองภาพยนตร์ที่คล้าย ๆ กัน


 

ภาพ: ภาพถ่ายรวมนักแสดงและทีมงาน ในวันปิดกล้องการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Memoria 

ที่มา: Twitter @kickthemachine


ที่พูดถึงเรื่องดินฟ้าอากาศ ทำให้นึกถึงตอนที่ป้าเจนเป็นคนบอกว่า พี่เจ้ยมักขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์เวลาฝนจะตก ที่โคลอมเบียมีพิธีกรรมแบบนี้หรือเปล่า เช่น พอฝนจะตก กองถ่ายต้องรีบหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช่วย

จริง ๆ เราควรจะเอาพิธีกรรมของเราไปแนะนำให้เขา ของเราคืออะไรนะ สาวพรหมจรรย์ปักตะไคร้ แต่จริง ๆ ไม่มีนะครับ เพราะแม้แต่เมืองไทย ที่เบื้องหลังเราก็ไม่บวงสรวงแล้วเพราะเสียดายเงิน และก็ที่นั่นเขาไม่มีพิธีกรรมหรืออาจจะมีก็ไม่รู้ อันนี้ต้องถามสมพจน์ ผู้ช่วย มันมีหลายเรื่องที่เขาไม่ได้เอามาใส่หัวเรา มันจะมีหลายเรื่องที่เรามารู้ทีหลังถ่ายทำว่า ปัญหามันเยอะขนาดนี้เลยเหรอ


เหมือนไปแอบทำอยู่เบื้องหลังไม่บอกพี่ ไปไหว้เจ้าเบื้องหลังไม่ยอมบอกให้พี่รู้ ว่าไหว้เจ้ากันอยู่

แม้แต่ไม่กี่วันที่ผ่านมา ก็เจอปัญหาอีกอัน ช่วงทำโพสต์โปรดักชัน ซึ่งเราจะรักโปรดิวเซอร์เรามาก เพราะว่าเขาพยายามที่จะปกป้องเรา


คิดว่าคงจะมีแรงกดดันอะไรหลายอย่าง เหมือนพี่เจ้ยออกจากคอมฟอร์ต โซนด้วย เพื่อจะไปทำหนังที่ประเทศอื่นที่ไม่ใช่ในไทยหรือที่ที่คุ้นเคย เขาคงพยายามจะปกป้อง

ใช่ครับ มันคอมฟอร์ตจนรู้ว่า เราควรจะทำตั้งนานแล้ว


โปรเจกต์ต่อไปจะถ่ายที่โคลอมเบียอีกไหม

ตอนนี้ยังไม่รู้จะเป็นที่ไหน แต่ว่าช่วงโควิด มันมีเวลากับตัวเองเยอะมาก ได้อ่านหนังสือที่ยังอ่านไม่จบอีกหลาย ๆ เล่ม ส่วนใหญ่จะชอบอ่านพวกบทความวิทยาศาสตร์ และตอนนี้สนใจพวกสัตว์ทะเลใต้น้ำ สนใจเรื่องของความฉลาดและความมหัศจรรย์ของมัน ประมาณ Animal Technology โดยเฉพาะเราสนใจพวกสายพันธุ์ของปลาหมึก ซึ่งบ้านเราเรียกคำเดียวว่าหมึก แต่ภาษาอังกฤษมันมีทั้ง Squid, Cuttlefish หรือ Octopus จริงๆ หมึกก็คือ Ink คือปลาในตระกูล Inkfish น่าสนใจ เรื่องใหม่ก็คิดว่าจะไปทางนั้น


หมายถึงไปถ่ายใต้ทะเล?

ใต้ทะเลหรือศูนย์วิจัยอะไรก็ตามแต่ ที่ไปโคลอมเบีย เพราะเราสนใจวัฒนธรรม การเมือง ชีวิตมนุษย์ แต่เรื่องของสัตว์น้ำ มันเหมือนบังคับตัวเองทำในสิ่งที่เราสนใจ


คงได้เห็นตัวเอกเป็นนักดำน้ำเท่ ๆ แต่ถ่ายหนังใต้น้ำ น่าจะยากมาก ปราบเซียนมาก

ใช่ เราชอบ แต่คิดดูอีกที มันอาจจะมีสเปเชียล เอฟเฟกต์เยอะ แต่ก็ชอบอะไรที่มันท้าทาย


ตอนที่เคยมาบรรยายที่หอภาพยนตร์ พี่เจ้ยเล่าว่า ในช่วงที่ทำหนัง สัตว์ประหลาด!  (พ.ศ. 2547) รู้สึกตัวเองเป็นสัตว์ประหลาด คือเป็นคนโมโห โกรธ อาละวาด จากนั้นจึงไปทำสมาธิเพื่อที่ทำใจให้สงบลง ตอนนี้ยังนั่งสมาธิอยู่ไหม

ยังนั่งอยู่ โดยเฉพาะช่วงนี้ คือรู้สึกชินกับมันขึ้นเรื่อย ๆ คือแน่นอนว่า มันก็มีเข้าใจในเรื่องของความลำบากของคน อีกใจหนึ่งมันก็อยากที่จะมีมุมของความสุข ความสงบ เราพูดได้ เพราะเราไม่ได้ลำบากเหมือนเขา


ในฐานะศิลปินที่มีลายเซ็นของตัวเองที่ชัดเจน การนั่งสมาธิหรือการลดอารมณ์ที่ร้อนแรง ลดอัตตาตัวเองลง จะไม่มีผลกับการสร้างสรรค์ลายเซ็นตัวเองในหนังใช่ไหม

พูดยากครับ เพราะว่าอย่างตอนที่เราเป็นสัตว์ประหลาด มันมีปัญหาเยอะมาก ตั้งแต่ยังไม่เริ่มถ่าย และยังมีการถ่ายทำฉากกลางคืนเยอะ ซึ่งเราไม่ใช่คนกลางคืน เพราะฉะนั้น คือขาดสติมาก และยังมีเรื่องการเงิน ที่ขนาดบริษัทกล้องโทรมาขู่อยู่ว่าจะขึ้นบัญชีดำ ซึ่งมันทำให้เครียดมาก เมื่อนึกย้อนไปไอ้ความเครียดเหล่านั้นมันก็ส่งผลต่องาน ในแง่หนึ่ง เหมือนมันดูดซับพลังงานด้านมืดออกมา ซึ่งเรามองดูแล้วมันก็มีเสน่ห์อยู่ด้วย 


เรามองหนังเรื่อง สัตว์ประหลาด! ว่าเป็นไดอารีของความมืด ซึ่งหลังจากนั้นแล้วเราก็เลียแผล แล้วก็นั่งสมาธิ แล้วเรื่องต่อมาก็เป็นไดอารีของความสว่าง คือเรื่อง แสงศตวรรษ (พ.ศ. 2549) ก่อนที่จะหนังจะโดนเซ็นเซอร์อีก เราเชื่อว่าการทำหนังส่วนตัวมันมีเสน่ห์ อาจจะไม่เรียกว่าลายเซ็น แต่ว่ามันถ่ายทอดอารมณ์ของเราเข้าสู่ตัวหนัง การที่เรามีลายเซ็นจริง ๆ แล้วมันค่อนข้างอึดอัดระดับหนึ่งเลย ก็คือมันอาจจะไม่ใช่ผลดีด้วยซ้ำ 


พี่เจ้ยทำหนังมาตั้งแต่ฟิล์ม 8 มม. 16 มม. และ 35 มม. แต่พอมายุคดิจิทัลก็ยังยึดที่จะเป็น 35 มม. อยู่ สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญอย่างไรในการสร้างสรรค์งาน

สำคัญมาก มันคือเนื้อหนัง มันคือภาพลักษณ์แรกที่คนจะเห็น จริง ๆ เรื่องที่แล้ว รักที่ขอนแก่น ก็ถ่ายด้วยดิจิทัล หนังสั้นหลาย ๆ ชิ้นก็ถ่ายด้วยดิจิทัล พี่มองว่ามันมีความคล่องตัวของมัน แต่ว่าถ้าพูดถึงเรื่องความงามของภาพ โดยส่วนตัวแล้วก็ชอบฟิล์มภาพยนตร์ เพราะว่าเราโตมากับฟิล์ม ความทรงจำเราคือภาพยนตร์เป็นฟิล์ม ซึ่งสำหรับคนรุ่นใหม่มันก็จะเป็นอีกความทรงจำหนึ่ง คือการนำเสนอภาพของความจริงคนรุ่นหลังกับคนรุ่นเรามันคนละแบบ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องผิดถูก ดีกว่าหรือไม่ดีกว่า


หรือถ้ามองในมุมมองของคนแก้สีภาพยนตร์ ดิว (ชัยธวัช ไตรสารศรี นักเกรดสีภาพยนตร์แห่ง White Light Post - ผู้เรียบเรียง) ที่ทำงานมาหลายเรื่องแล้ว ประทับใจมาก เราก็ต้องปรับตามสภาพ อย่างเรื่องหลัง เราจะแต่งภาพในรายละเอียดเยอะระดับหนึ่ง แต่ว่าแกนหลักของภาพ คือถ่ายมาอย่างไร มันก็มาอย่างนั้น มันคงความเป็นสายตา คงความเป็นธรรมชาติมาก มันก็จะมีละติจูดของความสว่างกับความมืดที่กว้างมาก ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือเรื่องกระบวนการของการทำงาน อย่างเวลาเราดูกองถ่าย มันจะไม่เหมือนกองถ่ายดิจิทัล เพราะมันจะมีความนิ่งมากกว่า พี่รู้สึกมันมีความเป็นพิธีกรรมมากกว่า มีความลึกลับมากกว่า เพราะว่า มันเหมือนกับว่าทุกคนต้องโฟกัส อย่างเรื่องล่าสุดใช้ฟิล์ม 35 มม. แต่ละม้วนอยู่ได้ประมาณ 14 นาที 50 วิ ประมาณนี้ เพราะฉะนั้นแต่ละครั้งทีมงานโดยเฉพาะคนโหลดกล้องต้องมีสมาธิ เราต้องคิดถึงปริมาณฟิล์ม คิดถึงความต่อเนื่องเฉพาะที่ต้องถ่ายฉากยาว ๆ  ต้องมีสมาธิ และก็มีความสุขมากที่ได้เครียด ๆ แบบนี้ ได้ทำงานกับพี่สอง ตากล้องที่ทำงานพร้อมกันตั้งแต่ปี 2001 ใน สุดเสน่หา (พ.ศ. 2545) และก็ทำงานกับเขาไปเรื่อย ๆ จนเห็นการพัฒนาการของเขา จนต้องยกย่องเป็นปรมาจารย์สำหรับเรานะ มันก็เลยสนุก เพราะว่าโตมาด้วยกัน ก็ค่อนข้างจะเหมือนแก้ปัญหาไปด้วยกัน มีปรัชญาทางภาพด้วยกัน ชอบแสงธรรมชาติ อย่างเรื่องล่าสุดฉากสุดท้ายก็จะแช่ยาวจนพระอาทิตย์แบบฟ้าเกือบมืด เหมือนดีลกับฟิล์มว่าคุณจะเอาอยู่ไหม เพราะเราไม่ได้เห็น เราไม่ได้ล้าง อะไรอย่างนี้เป็นมันเสน่ห์มาก ๆ 


ปกติพี่เจ้ยจะทำงานกับทีมงานที่คุ้นเคย อย่างที่โคลอมเบียเป็นทีมงานใหม่หมดเลยอย่างนี้ มีวิธีการจูนการทำงานร่วมกันอย่างไร

อย่างที่บอกว่า ภาษาหนังมันสากล เหมือนกับเป็นทีมเวิร์คที่เราต้องพยายามทุกอย่าง มีสตอรีบอร์ด และก็มีเครื่องแต่งกายอะไรทุกอย่างที่มันต้องเริ่มใหม่หมด แต่ว่ามันไม่สามารถที่จะมาเอาจากเมืองไทยไปได้ในเรื่องของความชอบ คือแน่นอนความชอบก็คือความธรรมดาอย่างป้าเจน (เจนจิรา พงพัศ วิดเนอร์ นักแสดงหญิงผู้ร่วมงานกับอภิชาติพงศ์เกือบทุกเรื่อง - ผู้เรียบเรียง) แต่ว่าความธรรมดาของโคลอมเบียมันคืออะไร เราก็ต้องเรียนรู้ คนในทีมงานที่โคลอมเบียก็บอกว่า ฉันได้ดูงานของเธอ ตั้งแต่ฉันเป็นนักศึกษาเลยนะ เราก็รู้สึกว่าเฮ้ย เราแก่แล้ว ขณะเดียวกัน มันก็ทำให้การทำงานง่ายขึ้นเพราะยังไงสไตล์ของเรา มันก็ไม่ได้ฉีกไปเยอะ


เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องแรกที่พี่เจ้ยไม่มีป้าเจน

ใช่ แต่มีทิลดา สวินตันแทน ซึ่งจริง ๆ แล้วก็มันท้าทายมาก ๆ ที่จะทำให้ทิลดาเป็นคนธรรมดา ซึ่งมันไม่ง่ายเพราะว่าเขาไม่ธรรมดา

 



ภาพ: อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และทิลดา สวินตัน ระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Memoria

ที่มา: Sandro Kopp


อยู่บ้านช่วงโควิด ได้มีโอกาสดูหนังสตรีมมิ่งบ้างไหม 

ไม่ได้ดูเลย เพราะไม่ได้เป็นคนชอบดูหนังขนาดนั้น


ตอนนี้มีการพูดถึงหนังสตรีมมิ่งหรือหนังที่ดูออนไลน์ว่า แตกต่างจากหนังที่ฉายในโรงหนัง สิ่งนี้จะมีผลในการสร้างสรรค์งานต่อไปไหม หรือมองว่าภาพหนังในอนาคตจะเป็นอย่างไร

คือจริง ๆ สตรีมมิ่งมันเป็นสิ่งที่ต้องมาอยู่แล้ว และคิดว่ามันเพิ่มความหลากหลายให้วงการ แต่พี่มองหนังสตรีมมิ่ง จะยิ่งทำให้การชมภาพยนตร์ในโรงมันมีค่ามากขึ้น ให้เห็นความงามของโรงหนังมากขึ้น การที่เราไปนั่งด้วยกันในที่มืดที่เหมือนถ้ำ และมีแสงจากข้างหน้าที่ส่องมาหาเรา เหมือนโอบล้อมเราอย่างที่เราเห็นในความฝัน ซึ่งอันนี้มันหาไม่ได้ในจอคอมพิวเตอร์หรือว่าแม้แต่จอทีวีที่บ้าน เป็นประสบการณ์ที่มันแทนกันไม่ได้ สิ่งที่เราทำ คือการออกแบบหนังเพื่อโรงใหญ่ อย่างที่เคยบอกว่า พอไปดูในแล็ปท็อป จอทีวี มันไม่ใช่หนังเราอีกต่อไปแล้ว


พี่เจ้ยเขียนบทความลงใน De Filmkrant (นิตยสารภาพยนตร์ประเทศเนเธอร์แลนด์ - ผู้เรียบเรียง) ว่าโควิดทำพฤติกรรมการเสพหนังคนเปลี่ยนไป คนอาจจะหันมานิยมหนังนิ่ง ๆ จังหวะช้า ๆ มากขึ้น อยากทราบว่า หนังที่เรียกกันว่า Slow Cinema แบบนี้มันมีความหมายอย่างไรกับพี่เจ้ย ถึงยังยืนจะทำหนังจังหวะแบบนี้อยู่

จริง ๆ เรารู้สึกหนังของเราไม่ Slow นะ เราพูดเสมอว่า ถ้ามันช้าเราก็ไม่ทำแล้ว คือเราเรียกว่า มันจังหวะที่พอดีมากกว่า แต่ที่เขียนใน De Filmkrant เหมือนกับการสังเกตในช่วงนี้ และที่เป็นประสบการณ์ส่วนตัวอย่างที่บอกไปว่า เราจะเริ่มชินกับเวลาที่ช้าลง และก็เราเริ่มสังเกตเห็นอะไรในรายละเอียดที่มากขึ้น จึงเกิดคำถามว่า ถ้าคนชินกับเวลาอย่างนี้แล้ว เขาต้องการให้ปรับความคิดเกี่ยวกับเวลาในภาพยนตร์ด้วยหรือเปล่า แต่จริง ๆ มันเป็นแค่ความฝันเฟื่องส่วนตัว อย่างที่บอกไม่ได้สนใจดูหนัง แต่ฟังเพลง และสนใจดูความจริง หรือดูความฝัน มากกว่าที่จะดูหนัง


นอกจากเขียนบทความใน De Filmkrant แล้ว พี่เจ้ยยังคิดงานสร้างสรรค์อย่างอื่นเกี่ยวกับโควิด-19 อีกไหม

ส่วนใหญ่เป็นงานศิลปะ อาจเพราะแสดงให้เห็นว่า เวลาทำภาพยนตร์มันต้องใช้ทีมงาน ฉะนั้นเวลาเราไม่สามารถมีทีมงานคู่ใจ ก็ไม่สามารถสร้างสรรค์ได้ เหมือนกับว่างานศิลปะเป็นอะไรที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ก็มีเขียนบทละครชิ้นใหม่ที่จะแสดงกลางปีหน้า ต่อเนื่องจากเรื่อง Memoria เป็นเรื่องของการนอน การเดินทาง และเรื่องของเสียงที่ถูกกักและสะท้อนอยู่ในหัว ก็อาจจะมีเรื่องสัตว์น้ำต่าง ๆ เข้ามา


ยังติดที่โรงแรม SLEEPCINEMAHOTEL (โปรเจกต์ผสมโรงแรม-ภาพยนตร์ ที่อภิชาติพงศ์ทำขึ้นที่เทศกาลภาพยนตร์รอตเตอร์ดาม ในปี ค.ศ. 2018 - ผู้เรียบเรียง) ที่พี่เจ้ยให้ผู้ชมเข้าไปดูหนังแล้วหลับ รู้สึกเป็นไอเดียที่น่าสนใจมาก พอพี่เจ้ยพูดว่า คนดูสตรีมมิ่งหลับหน้าจอถือเป็นเรื่องปกติ งั้นคนหลับในโรงหนังนี่ถือเป็นเรื่องไม่ปกติหรือเปล่า

พี่ไงคนหลับในโรงหนัง


ย้อนกลับมาเรื่องเกี่ยวกับโควิดอีกนิดหนึ่ง คือตอนนี้คนส่วนใหญ่มักคิดให้ความสำคัญในด้านการแพทย์ เรื่องโรคระบาด พี่เจ้ยคิดว่าช่วงนี้บทบาทของภาพยนตร์หรือศิลปะ จะมีบทบาทอย่างไรบ้างในช่วงวิกฤตโลกขณะนี้

พี่ว่าศิลปะมันทำให้คนหยุดพิจารณา เหมือนกับว่ามันหยุดเวลาของคนไปอยู่อีกมิติหนึ่ง แม้จะเพียงเสี้ยววินาที หรือว่าชั่วโมงก็ตาม มันจะเป็นช่วงเวลาที่เราไม่มีอดีต อนาคต ไม่มีตัวตน การนั่งสมาธิมันทำให้เรามีสติขึ้นมา พี่รู้สึกว่าอย่างเราได้ดูศิลปะชิ้นที่มันสื่อสารกับเรา เราไม่สามารถอธิบายได้ว่านี่มันคืออะไร คือมันหยุดตัวเราไว้ หยุดความบ้าคลั่ง หยุดความกลัวแต่ละอย่าง ซึ่งในสถานการณ์โควิดตอนนี้ ความกลัว ความบ้า มันคุกรุ่นอยู่ในใจของพวกเรา


อีกหนึ่งคำถาม คือช่วงนี้เป็นสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน คือไม่รู้ว่าโควิดจะหายไปจากโลกเมื่อไร ต่อไปสถานการณ์มันจะเป็นอย่างไร ถ้ามีคนอยากได้คำแนะนำจากพี่เจ้ย สำหรับผู้ที่อยากจะเป็นศิลปินหรือผู้กำกับ พี่เจ้ยจะมีคำแนะนำอย่างไรบ้างในช่วงเวลานี้

พุ่งตัวเข้าไปทำเลย เพราะเราถือว่าการละล้าละลัง มันไม่เป็นผลดี โดยเฉพาะช่วงนี้ ถ้าเราไม่พุ่งตัว มันจะช้ามาก เพราะฉะนั้นต้องเริ่มทำได้แล้ว โดยเฉพาะการเขียนหรือการสเก็ตภาพ มันสำคัญมาก ถ้ามัวแต่เกรงว่างานจะไม่เป็นมาสเตอร์พีซ ก็จะไม่ได้ทำ แต่ในขณะเดียวกันที่เราพุ่งตัวไป ก็คือควรเดิน ไม่ควรวิ่ง อันนี้คือสิ่งที่อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน (นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ - ผู้เรียบเรียง) สอนเราว่า อย่าวิ่งนะ ให้เดิน ซึ่งคิดว่า เขาคงหมายถึงหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะกระบวนการของการสร้างสรรค์งาน 


และอีกอย่างที่สำคัญมาก ก็คือเรื่องของสถานที่ ที่เราต้องเอาตัวไปอยู่ที่นั่น ซึ่งตอนนี้อาจจะไม่สามารถทำได้ แต่อย่างน้อย เรายังสามารถรีเสิร์ชหรือค้นหาภาพอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับพื้นที่นั้น มันเหมือนกับว่าพื้นที่แต่ละที่ มีเวลาและความเร็วของมัน ซึ่งพี่เชื่อว่าตัวเราก็มีเวลาของเรา การที่เราจะเชื่อมเวลาสองเวลาเข้าด้วยกัน ผลงานที่ออกมา จะเป็นรูปเวลาของทั้งสองฝ่่าย เพราะฉะนั้นสถานที่ ถือเป็นเรื่องสำคัญ และเรื่องที่มาจากสถานที่ ก็จะมีเรื่องของการเมืองในพื้นที่ แม้ว่าเราจะทำหนังผี หนังตลก หรืออะไรต่าง ๆ โดยที่มันไม่เกี่ยวกับการเมืองเลย แต่ว่าการที่เรามีความรู้เรื่องการเมืองในพื้นที่ที่เราจะถ่ายทำ มันคือการแสดงความเคารพพื้นที่ แล้วพี่เชื่อว่าหนังมันจะมีการสะท้อนจุดนั้นมาไม่มากก็น้อย ซึ่งประเด็นนี้มันเป็นสิ่งที่ท้าทายมากสำหรับพี่เอง และสำหรับคนทำหนังไทยในบ้านเราด้วย


แล้วตอนนี้เราอยู่ในช่วงพีคทั้งการเมืองและโควิดด้วย

ใช่ ๆ ซึ่งมันรู้สึกแปลกมาก ที่อยู่ในประเทศที่เรื่องของการเมือง มันไม่เสถียรขนาดนี้ แต่หนังเราไม่มีจุดนั้นเลย ถือเป็นเรื่องที่ไม่ชอบมาพากลแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากฝากสำหรับคนทำหนังรุ่นใหม่


(คำถามจากผู้ชม) ช่วงเวลาที่ผ่านมา อ่านหนังสืออะไรบ้าง

อ่านหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน ตอนนี้ที่อ่านตอนทานข้าวทุกเช้า คืออัตชีวประวัติของหมอชื่อ โอลิเวอร์ แซคส์ ซึ่งเราหลงใหลในงานเขียนของเขามาก ตามอ่านเรื่องของมิชิม่า (ยูกิโอะ มิชิม่า กวีและนักเขียนชาวญี่ปุ่น – ผู้เรียบเรียง) ที่มันมี 4 เล่ม เป็นเรื่องราวก่อนที่เขาจะฆ่าตัวตาย และเรื่องพวกบทความวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย รวมทั้งเรื่องของปลาหมึก


(คำถามจากผู้ชม) มีหนังในดวงใจที่แนะนำให้ดูบ้างไหม

คือเราไม่ได้ดูหนังนานแล้ว เอาเป็นหนังที่อยากดูดีกว่า เราอยากดู กระเบนราหู (พ.ศ. 2561, พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง - ผู้เรียบเรียง) ถ้าหนังคลาสสิกไม่แน่ใจ คือมีไม่กี่คนที่เราดูได้ ส่วนที่อยากแนะนำเป็น ภวังค์รัก  (พ.ศ. 2556, ลี ชาตะเมธีกุล - ผู้เรียบเรียง) และ Are We There Yet? (พ.ศ. 2559, ชื่อเดิมของ หมอนรถไฟ  สารคดีโดย สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์ - ผู้เรียบเรียง) 


(คำถามจากผู้ชม) ย้อนกลับไปตอน สัตว์ประหลาด! ตัวละครทหารที่พี่เจ้ยนำเสนอ มันออกมาเป็นในแง่บวก ตอนนี้ถ้าย้อนกลับไปได้ จะกลับไปเปลี่ยนหรือเปล่า

จริง ๆ ก็ไม่ได้บวกมาก หมายความว่า เรามองในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าการเมือง เรื่องของการเป็นผู้ล่า ผู้ปกครอง และการถูกทำให้เป็นผู้ล่า รวมถึงเรื่องของเครื่องแบบทหาร มันจะเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์หนึ่ง ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดี แต่ว่าอยากให้กระตุ้นว่าอะไรคือความจริงที่เกิดขึ้นอยู่นอกเหนือจากตำราเรียน โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นทางภาคอีสาน



ภาพ: ภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด!  (พ.ศ. 2547)  

ที่มา: Kick the Machine


คิดว่าคนดูอาจจะต้องกลับไปดูหน่อยว่า นี่ไม่ใช่เป็นเรื่องแง่บวกหรือแง่ลบของทหาร แต่เป็นการนำเสนอมีอะไรให้เราดูต่อ ต้องตีความต่อ

ใช่ ซึ่งจริง ๆ แง่ลบมันน่าพูดมาก ๆ เพราะมันเยอะ เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ยังมีไฟอยู่ ซึ่งเราก็หวังว่าไฟนี้ จะยังอยู่ในคนทำหนังรุ่นใหม่ คิดว่ามากกว่าเราด้วยซ้ำ เพราะสิ่งที่ทหารทำมันหนักมาก และสิ่งที่คนทำภาพยนตร์ต้องสะท้อน คือทำให้เกิดประโยชน์อย่างไร ค้นหาความจริง ต่อสู้กับสิ่งที่ถูกครอบงำเรามาไม่รู้กี่สิบปี มันหนักมาก แต่มันก็ยิ่งท้าทายมาก


(คำถามจากผู้ชม) พี่เจ้ยเคยให้สัมภาษณ์ในเว็บไซต์ Indiewire เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า สนใจถ่ายหนังที่เม็กซิโก เลยอยากทราบว่ายังมีแพลนจะทำอยู่หรือไม่ ผู้ชมท่านนี้อยากแนะนำสถานที่ถ่ายทำหนังที่เม็กซิโก

ใช่ ชอบมาก เคยแต่ได้ยินและอ่านเรื่องของถ้ำใต้น้ำที่เกิดจากอุกกาบาตสมัยก่อน แค่ได้ยินก็รู้สึกจินตนาการบรรเจิด มันเป็นพื้นที่ที่กระตุ้นอะไรบางอย่างที่อยากจะทำ


เห็นมีคำถามหนึ่งในแชตเรื่องจังหวะของเวลา สำหรับเราแล้ว แน่นอนไม่ใช่สำหรับการทำหนังอย่างเดียว รวมถึงวิธีการมองโลก ที่มันดูเรียบง่ายมาก แต่ว่ามันไม่ได้ง่าย มันเป็นสิ่งหนึ่งที่ท้าทาย การมองเวลาปัจจุบันในพุทธศาสนาเหมือนมันค่อนข้างจะขัดแย้งกับการทำภาพยนตร์ ซึ่งมันเป็นเรื่องของการยึดติดกับความทรงจำอะไรบางอย่างที่พยายามจะสร้างมันขึ้นมา ก็คือมันไม่ได้อยู่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกันเราสนใจในเรื่องของการสร้างโครงสร้างในหนัง ที่มันสามารถให้คนอยู่กับปัจจุบันได้ไหม ในการนั่งดูหนังในโรง โดยที่รู้ว่าหนังที่ดูมันเป็นภาพลวง เป็นความทรงจำของคนอื่น และทำให้สะท้อนถึงการที่คุณนั่งดูในโรง การที่อยู่ในกิจกรรมหมู่ร่วมกัน และคุณจะมีสติถึงขนาดให้ระลึก หรือว่ารู้ถึงลมหายใจของคุณรึเปล่า ในขณะที่ดูหนังของเรา อันนี้ที่เราสนใจมาก เพราะว่าถ้าพูดถึงหนังเมนสตรีมทั่วไป จะมีลักษณะทำให้คนลืมสภาวะปัจจุบัน เพราะว่ามันจะพุ่งไปข้างหน้าเร็วมาก  โดยเฉพาะเรื่องการออกแบบการตัดต่อ และเรื่องของการดีไซน์เสียงอื่น ๆ มันทำให้เราลืมปัจจุบัน ซึ่งอันนี้เป็นจุดที่ว่า เฮ้ย มันมีหนังที่สามารถสวนกระแสนั้น สวนการทำงานอย่างนั้นได้ไหม ไม่ให้คนหลง แต่ว่าให้คนระลึก ให้คนตื่นมากกว่า


ย้อนกลับมาที่บทความที่พี่เจ้ยเขียนใน De Filmkrant น่าสนใจที่พี่เจ้ยบอกว่า ต่อไปฝูงชนจะพอใจที่หนังมันช้า เพราะยึดติดกับอะไรที่นิ่ง ๆ ไปแล้ว คือรู้สึกว่า หนังของพี่เจ้ยเล่าเร็วเกินไปแล้ว เพราะโควิดมันทำให้เขาอยู่กับตัวเอง อยู่กับภาพนิ่ง ๆ ได้ โดยไม่ต้องเคลื่อนไหวอะไร

จริง ๆ เป็นเรื่องของการเสียดสีระดับหนึ่ง เพราะตอนนี้หนังส่วนตัว มันค่อนข้างเป็นลูกเมียน้อย อยู่ชายขอบอยู่แล้ว แต่อะไรที่มันอยู่ชายขอบ บางทีมันก็น่าสนใจ แต่มันก็ยังเป็นส่วนน้อยอยู่ เหมือนกับกระแสของการกินคลีน การกินออร์แกนิค การกินมังสวิรัต ซึ่งอยู่ดี ๆ มันก็มีค่าขึ้นมา ทำให้ราคามันแพงมาก แพร่ขยายออกไปคล้ายกับไวรัส เป็นการเสียดสีขึ้นมาเฉย ๆ เพราะอย่างไรก็ตาม ไม่มีทางที่มันจะเป็นลูกตัวจริง ต้องเป็นลูกเมียน้อยต่อไป ซึ่งลูกเมียน้อย มันน่าสนใจกว่า เพราะลูกเมียน้อยจะมีปม


(คำถามจากผู้ชม) พี่เจ้ยรู้สึกอย่างไรบ้างที่วงการอินเทอร์เน็ตทำให้ความเป็นอีสานเข้าสู่การเป็นกระแสหลักของสื่อบันเทิงไทย

รู้สึกว่าอะไรก็ได้ที่ไม่ต้องอยู่ในศูนย์กลางอย่างเดียว อีสาน เหนือ ใต้ อะไรก็ตามที่มันจะลดทอนอำนาจการควบคุมของกรุงเทพฯ มันเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ นอกเหนือจากเรื่องที่เราโตในพื้นที่นั้น แต่ว่าเป็นเรื่องของการสร้างความเท่าเทียม ทำให้คนได้รู้สึกว่า นี่เป็นอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่ต้องมาเห็นใจ ไม่ต้องมาอะไรก็ตาม มันคือความเป็นปัจเจก เรื่องของการใช้ภาษาก็เหมือนกัน อย่างตอนที่เราไปโรงเรียน แล้วมันต้องใช้ภาษากลาง หรือว่าการหายไปของหลาย ๆ ภาษา น่าเสียดายและน่าใจหายระดับหนึ่ง มีเหตุการณ์ในทวิตเตอร์ในเรื่องของการใช้คำหยาบ ซึ่งสำหรับเรามันเป็นเรื่องของการพยายามสร้างสมดุลใหม่ ล้มกระดานตั้งใหม่ในเรื่องชนชั้นของภาษา


รู้สึกว่าจริง ๆ แล้ว เทคโนโลยีเหล่านี้ มันช่วยเปิดช่องให้กับวัฒนธรรมที่เป็นวัฒนธรรมรอง หรือวัฒนธรรมที่เป็นลูกเมียน้อย ได้กลับมาเป็นวัฒนธรรมหลักได้อีกครั้งหนึ่ง ได้มีเสียงมากขึ้นแบบนั้นใช่ไหม

ใช่ คืออย่างไรก็ยังเป็นลูกเมียน้อยอยู่ แต่เพียงให้ความรู้สึกว่า มันไม่ใช่เสียงที่สอง ที่สาม หรือที่สี่ แต่นี่คือเสียงที่อยู่ในระดับเดียวกัน


ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนวิเคราะห์หนังของพี่เจ้ย ที่บอกว่าเหตุที่ทำให้หนังพี่เจ้ยแตกต่าง คือพยายามที่จะพูดถึงคนที่เป็นคนชายขอบ คนที่มีเสียงที่มักไม่ถูกได้ยิน มันก็ตอบโจทย์ที่พี่เจ้ยต้องการจะบอก คือทำให้เสียงคนเหล่านี้ถูกได้ยิน ถูกนำเสนอในสื่อมากขึ้น

ใช่ครับ


Memoria  จะเป็นหนังที่ดูง่าย และตรงไปตรงมากว่าเรื่องที่ผ่านมาไหม และมีกำหนดออกฉากเมื่อไร

ตอนนี้ยังไม่เสร็จดี แต่จะเป็นหนังที่ตรงไปตรงมามาก ๆ ไม่แน่ใจว่าดูง่ายหรือเปล่า อยู่ที่เวลาของคุณ เพราะว่า อาจจะต้องปรับเวลาอีกระดับหนึ่ง ไม่รู้ดูง่ายไหม แต่ว่าเรียบง่ายแล้วกัน


ก็ยังเป็นหนังที่ยึดความเป็นธรรมดาอยู่

ใช่ครับ


(คำถามจากผู้ชม) ถ้าโรคระบาดยังเป็นแบบนี้อยู่ อนาคตของภาพยนตร์จะเป็นอย่างไร รวมทั้งการถ่ายหนังจะแตกต่างจากเดิมหรือไม่ พี่เจ้ยเคยคิดเรื่องนี้บ้างหรือเปล่า

จริง ๆ เพิ่งคุยกับนักแสดงคนหนึ่ง เป็นเพื่อนที่อยู่แคนาดา คือทุกอย่างมันต้องปรับหมดเลย ในเรื่องการเข้าซีนของแต่ละคน หรือแต่ละแผนก เพราะตอนนี้เขาถ่ายทำซีรีส์อยู่ ทุกคนต้องปรับการทำงานใหม่หมดเลยว่า คนทำฉากเข้ามาแล้ว ต้องรีบวิ่งออกไป คือไม่ให้อยู่ร่วมกัน มันเหมือนกับที่เราคุยออนไลน์กันตอนนี้ มันมีความที่ต้องพึ่งเทคโนโลยีมากในการสร้าง และภาพยนตร์มันเป็นเรื่องของการสร้างภาพอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นลักษณะของเทคโนโลยีดิจิทัล ที่จะดึงคนอีกคนมาร่วมจอกับอีกคนหนึ่ง อาจจะเป็นที่เข้ามาในอนาคต นั่นมันเป็นสิ่งที่จินตนาการเฉย ๆ แต่ความเป็นจริงมันไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่สิ่งที่อาจเกิดขึ้น คือคนได้ทำหนังส่วนตัวกันมากขึ้น คนที่อยู่บ้านสามารถทำหนังได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียกว่ามืออาชีพ 


(คำถามจากผู้ชม) เห็นพี่เจ้ยพูดถึงความฝันเยอะ เลยอยากรู้ว่า พี่เจ้ยฝันล่าสุดฝันเกี่ยวกับอะไร ช่วยเล่าให้ฟังได้ไหม

แปลกมาก เพราะช่วงนี้นอนไม่หลับ นอนได้ไม่กี่ชั่วโมง แต่ก็ฝันเยอะ เมื่อคืนฝันว่าไปร้านอาหารที่เมืองไทย เข้าไปเป็นร้านไม้เล็ก ๆ เปิดประตูไม้ออกมาข้างในปรากฎว่าเป็นพื้นที่ใหญ่มาก มีบ่อน้ำยักษ์ มีที่นั่งเต็มไปหมด แต่เป็นตอนเย็น ไม่มีลูกค้า ร้านปิดไปแล้วหรือก็ไม่สามารถเปิดได้เพราะโควิด และเราก็คุยกับเขา เจ้าของเหมือนกับทำอาหารให้ชิม ซึ่งเป็นฝันที่ธรรมดามากๆ แต่วันก่อน ๆ ก็จะฝันว่าฆ่าคนตาย และต้องคอยทำความสะอาดเลือดบนผ้าห่ม ก็มีคนจากเม็กซิโกสองคนชายหญิง แนะนำให้ทำอะไรอย่างโน้นอย่างนี้


น่าอิจฉามาก เพราะไม่ได้ฝันนานมากแล้ว

จริงเหรอ เราชอบฝันมาก แม้กระทั่งวาดภาพความฝัน


(คำถามจากผู้ชม) พี่เจ้ยได้รับอิทธิพลจากผู้กำกับท่านใด และหนังเรื่องอะไรบ้าง

น่าจะเป็นการรวมกันหลาย ๆ คน จริงๆ ที่ชอบมาก คือ แอนดี้ วอร์ฮอล มายา เดอเรน คนทำหนังทดลองคนอื่น ๆ ไฉ้หมิงเลี่ยง ส่วนใหญ่จะชอบคนที่ผสมศิลปะเข้ากับหนังส่วนตัว โดยที่มันเหมือนคำตอบที่เราตอบไปก่อนหน้านี้ ก็คือหนังของพวกเขาเหล่านี้หยุดเวลา มันปะทะเรา มันทำให้เราตั้งคำถาม และก็ลืมตัวตนไปชั่วขณะ โดยเฉพาะของของแอนดี้ วอร์ฮอล มันไม่ใช่แค่เป็นงานศิลปะที่เรามอง แต่มันเป็นเรื่องของคนดูล้วน ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวของเขา


เช่นเรื่อง Sleep และ Empire

ใช่เลย โดยที่เราคิดถึงเวลาที่งานพวกนั้น ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงเวลานั้น มันแปลกมาก ไม่มีใครคิดเลย เขาพัฒนามัน แต่เขาทำให้อยู่ในสายตาคนหมู่มากได้


(คำถามจากผู้ชม) พี่เจ้ยยังมีความทรงจำอะไรที่อยากจะเล่าเกี่ยวกับขอนแก่นอีกไหม 

จริง ๆ พี่ก็เล่าได้เรื่อย ๆ มีสถานที่ที่ชอบ คือบึงแก่นนคร เรื่องราวขอนแก่นสามารถทำได้ไม่รู้จบ ที่สนใจล่าสุดคือคนที่เราเคยทำงานด้วย ที่ชื่อแบงค์ (ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม - ผู้เรียบเรียง) ที่เป็นหมอลำ เรามองเขาเป็นอัจฉริยะ ที่ควรได้รับการสนับสนุนมากกว่านี้ ตอนนี้แบงค์อยู่ที่ขอนแก่น เรียนจบที่ ม.ขอนแก่น เป็นหมอลำที่ปราชญ์เปรื่องมาก ถ้าอยากทำ ก็คืออยากจะทำสารคดีหรือร่วมงานอะไรก็ตามในชีวิตเขา และอนุสาวรีย์ของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ด้วย ซึ่งยังงงงวยจนถึงปัจจุบันนี้ว่า ทำไมเค้าไม่รื้อมันทิ้ง แน่นอนในประวัติ เราก็รู้อยู่แล้วว่า นอกจากการพัฒนาประเทศไทยและอีสาน ซึ่งมันเป็นหน้าที่ของผู้บริหารอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็มีความโหดเหี้ยม การคอรัปชั่นเยอะมาก แต่ทำไมยังมีอนุสาวรีย์และยังต้องไปเคารพบูชาเขาอยู่ เป็นสิ่งที่เราติดและอยากให้คนมาอธิบายให้ฟัง ซึ่งในฐานะคนขอนแก่นเอง เขาจะมีคำถามนี้ไหม หรือว่ามันเป็นแค่อนุสาวรีย์ที่แค่ขับรถผ่านหรือเดินผ่านทุกวัน แต่ไม่รู้เบื้องหลังมันเลย


คือคนในท้องที่จะรู้สึกยังไงกับอนุสาวรีย์แห่งนี้

ใช่ อยากให้ข้อมูลว่ามันมีด้านมืดด้วยนะ นอกจากที่เห็นอนุสาวรีย์ และเบื้องหลังเป็นภาพนูนต่ำเชิดชูเขาแบบเขาเป็นพระเจ้าอะไรอย่างนี้ แต่จริง ๆ เขามีด้านลบที่เราต้องถามกันว่า มันเหมาะสมไหม


 

ภาพ: Song of the City ผลงานของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ใน Ten Years Thailand (พ.ศ. 2561) 

ที่มา: Ten Years Thailand


(คำถามจากผู้ชม) อีกหนึ่งคำถาม เหมือนเขาเดาคำตอบของพี่เจ้ยได้ มีโอกาสไหมที่จะสร้างงานที่ย้อนเกร็ดการรื้อทำลายอนุสาวรีย์ เปลี่ยนชื่อ หรือลบเลือนความทรงจำที่เกี่ยวกับการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 

มันเป็นอะไรที่เรารู้ว่า อนุสาวรีย์หรือเรื่องหมุดประชาธิปไตยทั้งหลาย มันเป็นกระบวนการเปลี่ยนความทรงจำ โดยเฉพาะคนรุ่นต่อไป เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำได้คือการสร้างคำถามนี่แหละ โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง พูดกันด้วยสันติ ด้วยเหตุผลและความรัก ความรักในเสรีภาพ ความรักในการเป็นเพื่อนมนุษย์ เหมือนว่ามันเกิดอะไรขึ้น เราเชื่อว่าในใจของทุกคนมันไม่ได้ว่ามีความโหดเหี้ยมแบบนั้น หรืออยากที่จะสร้างศัตรู แต่เป็นการพูดกันด้วยข้อมูล ซึ่งบางทีมันอาจจะไม่ถูกต้องก็ได้ พอมันไม่มีเวทีให้พูด มันก็เลยอยู่ในเหตุการณ์ที่เราต้องมาทะเลาะกัน 


(คำถามจากผู้ชม) มีคำถาม ถามถึงเรื่องหนังสือและนักเขียน พี่เจ้ยชื่นชอบหนังสือและนักเขียนคนไหนบ้าง

จริง ๆ ก็คือ มิชิม่า ที่เป็นนักเขียนญี่ปุ่นที่ชอบมาก และ โอลิเวอร์ แซคส์ จริง ๆ มันเยอะมากเลย ส่วนใหญ่จะเป็นนักเขียนญี่ปุ่นอย่าง ทานิซากิ จุนอิจิโร และคาวาบาตะ ยาสึนาริ จะเป็นยุคโบราณ ยุคที่ภาษามันฟุ้งอยู่


(คำถามจากผู้ชม) มีคนถามเรื่องนิทรรศการ Almost Fiction ที่จัดแสดงที่เชียงใหม่ว่า พี่เจ้ยมีแรงบันดาลใจอย่างไรบ้าง

น่าจะเป็นมุมมองของเครื่องแบบของทหาร ที่เรารู้สึกว่า จริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องส่วนตัว บ้านเราอยู่ติดค่ายทหารเลย แต่ว่ามันมีความลึกลับที่เราไม่สามารถที่จะเข้าไปรู้ได้เลยว่า มันเกิดอะไรขึ้นในนั้น ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่เรารู้สึกว่า มันต้องเกิดการปฏิรูปกองทัพไทย เรื่องของการใช้ทรัพยากร เรื่องของการใช้พื้นที่ในประเทศ ทุก ๆ อย่าง โดยเฉพาะที่ในสภาวะที่ทุกคนลำบาก โดยส่วนใหญ่ลำบากในเรื่องของเศรษฐกิจ  เพราะฉะนั้นการปฏิรูปองค์กรที่มันใช้ทรัพย์สินมาก เลยจำเป็นมาก ๆ 


การถ่ายรูปเป็นภาพถ่าย จะแบ่งสองห้องในที่แสดง ส่วนของ “Almost Fiction” จะฉายไฟสว่างมาก จนไม่เห็นหน้าของน้องทหารที่เป็นแบบ ซึ่งเราก็ไม่อยากที่จะพูดว่า มันเป็นอะไร เหมือนกับตีความได้เอง ซึ่งมันเป็นความสนุกมากกว่า


อีกส่วนเรียกว่า “Insomnia” จะเป็นภาพหนังในจินตนาการ ซึ่งเราถ่ายแต่ว่าไม่ได้ใช้ในหนัง คือเอาฉากที่ไม่ได้ใช้ในหนังมาจินตนาการเรียงเป็นฉาก ๆ ในความมืด


 

ที่มา: Gallery Seescape


(คำถามจากผู้ชม) เหมือนพี่เจ้ยเดาใจคนถามได้ มีคำถามว่า ความไม่ตรงไปตรงมาของการเล่าเรื่องที่เปิดให้คนดูตีความจนเกิดความหมายใหม่ที่ต่างจากผู้สร้าง มีประโยชน์อย่างไร

จริงๆ ก็อย่างที่บอกไป มันสร้างพื้นที่ เหมือนกับมันคืออิสรภาพอย่างหนึ่งที่มันเปิดกว้าง มันไม่มีถูกไม่มีผิด

เหมือนที่เราโตมาในระบบการศึกษาบ้านเราที่มันอึดอัดมากคือมันต้องมีถูกมีผิด มันต้องมีขาวมีดำ มันต้องมีเหลืองมีแดง มันต้องมีอะไรสักอย่าง แต่ว่าจริง ๆ แล้วซับซ้อนกว่ามากในชีวิต เพราะฉะนั้นการที่เราเปิดกว้างไว้มันเป็นเหมือนศิลปะชิ้นหนึ่ง มันก็มีชีวิตของมัน และมันก็เหมือนกับสิ่งมีชีวิตที่เหมือนกับความซับซ้อนเหมือนคน ๆ หนึ่ง เพราะฉะนั้นคนที่มีความซับซ้อน มันรู้สึกน่าหลงใหล น่าค้นหามากกว่า แล้วงานศิลปะสำหรับเรามันจะมีค่ามากกว่า


(คำถามจากผู้ชม) อยากทราบว่าพี่เจ้ย คิดเห็นอย่างไรกับการส่งมนุษย์ขึ้นไปบนอวกาศอีกครั้งของ Nasa และ SpaceX ที่กำลังจะเกิดในวันเสาร์นี้

เราก็ตื่นเต้นไปด้วย แม้ว่าจะไม่ได้ตามข่าว แต่ว่าแน่นอนมันเหมือนกับความฝัน มันเหมือนกับความท้าทายทุกอย่าง ท้าทายแรงโน้มถ่วง ท้าทายสิ่งที่เราคิดว่ามันไม่น่าจะเป็นไปได้ มันคือการผลักดันมนุษยชาติไปข้างหน้า แล้วเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาด้านอวกาศส่งผลเยอะแยะมาก แบบที่เรามีมือถืออยู่ทุกวันนี้ หรืออะไรอีกหลายอย่าง ก็เกิดจากการที่ส่งคนไปดวงจันทร์


(คำถามจากผู้ชม) พี่เจ้ยคิดจะทำหนังเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-ลาวบ้างไหม 

ไม่แน่ใจ เพราะเคยไปลาวเมื่อนานมาแล้ว  แต่มีความรู้สึกว่า ถ้าเราจะบอกว่าพื้นที่ในประเทศไทย มันถ่ายหนังยากเหลือเกิน ลาวนี่น่าจะเขี้ยวกว่าเยอะเลย แต่จริง ๆ ความสัมพันธ์ไทย-ลาวมันน่าสนใจ เพราะว่าจริง ๆ มันไม่นานเลยที่เรารู้สึกถึงความเป็นครอบครัวเดียวกัน โดยเฉพาะการได้คุยกับป้าเจนในความทรงจำของแก มันก็คือบ้านเดียวกัน แต่สุดท้ายด้วยการเมืองมันถูกแบ่ง แม้แต่พ่อของป้าเจนก็ยังอยู่ที่ลาวอยู่ตอนนี้ ซึ่งไม่รู้แกยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า การที่ครอบครัวที่ถูกแยกออกมาด้วยเหตุผลทางการเมือง ก็น่าสนใจเหมือนกันว่า เป็นไปได้ไหมที่จะเชื่อมหรือสร้างความรู้สึกว่าจริง ๆ แล้วมันไม่ควรแยกกันแบบนี้ ก็ขอให้คนถาม เริ่มทำเลยนะครับ


(คำถามจากผู้ชม) คนไทยมีความสัมพันธ์ที่แปลกประหลาดกับประวัติศาสตร์ความทรงจำและการลืม และดูเหมือนว่า เรามักจะลืมสิ่งที่ยาก ๆ อย่างเช่น การประท้วงหรือผู้ปกครองที่เป็นเผด็จการ ทำให้เกิดวงจรที่ไม่จบสิ้นของประชาธิปไตย ความรุนแรง และเผด็จการ สำหรับพี่เจ้ยคิดว่ามันจะวนเวียนอยู่อย่างนี้หรือไม่

ในลักษณะที่เกือบจะ 90 ปีที่เมืองไทย เปลี่ยนจากระบอบของกษัตริย์ลึกลงไปถึงระบอบประชาธิปไตยโดยชื่อ จริง ๆ แล้วมันไม่นานเลยนะ ประมาณ 80 กว่าปี แต่ว่าในขณะเดียวกัน มันไม่ได้เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะว่ามันมีกลุ่มของผู้ปกครองเป็นกลุ่ม ๆ ที่มันชัดเจนอยู่ และก็มีการปะทะอำนาจกันอยู่ตลอดเวลาที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนเลย หรือมีส่วนร่วมมากเท่าที่ควร 


เพราะฉะนั้นคนรุ่นเราในระบบการศึกษาที่ถูกป้อนกันมาเรื่องของอำนาจของผู้ที่ปกครอง ไม่ว่าจะเรื่องงานศิลปะ งานสถาปัตยกรรม ภาษา หรือแม้แต่เรื่องการแต่งตัวหรือขนบต่าง ๆ มันกดเราไว้ เพราะฉะนั้นเราเลยรู้สึกว่าสังคมมันถูกหล่อหลอมมาในทางนั้น

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับเรา คือเรื่องของศาสนา ซึ่งศาสนาพุทธของเรา มันจะผสมระหว่างฮินดู เรื่องของภูติผีต่าง ๆ ซึ่งถูกหล่อหลอมรวมกันขึ้นมา แน่นอนมันเป็นเรื่องของการสร้างชั้น ชั้นของจิตวิญญาณด้วย ไม่ใช่ชั้นของอำนาจแต่ละกลุ่มอย่างเดียว แต่ละกลุ่มก็จะมีชั้นที่มองไม่เห็นปกป้องอีก เรื่องไอเดียของกฎแห่งกรรมด้วยที่หล่อหลอมเข้ามา ทำให้คนกลัวในอำนาจ กลัวในสิ่งที่มองไม่เห็น พอมันเข้ามาในแบบเรียนบวกกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เราต้องทำในฐานะที่เป็นนักเรียนและโตขึ้นในยุคนั้น มันหล่อหลอมให้ประชาชนไทยเป็นคนที่หัวอ่อน ซึ่งจุดนี้มันถูกให้เอาเปรียบได้ง่ายในด้านของการเมือง ไม่ถามคำถาม สมยอม และคิดว่าการที่มีเส้นแบ่งแต่ละชั้นมันเกิดขึ้นอยู่แล้ว แล้วเราไม่ควรที่จะกระเหี้ยนกระหือรือที่จะข้ามชั้น และมันก็กดเราเอาไว้ แถมยังพยายามที่จะบอกด้วยว่าชั้นที่เราอยู่ มันสวยงามอยู่แล้ว


เราต้องเข้าใจว่า เราถูกหล่อหลอมมาเป็นมนุษย์หรือเป็นสัตว์แบบไหน มันไม่ใช่ความจำสั้นนะครับ ความที่ไม่ถาม ไม่ถูกสอนให้กระตือรือร้นในสิทธิของตัวเอง แต่ว่ามันเปลี่ยนไปแล้วในคนรุ่นนี้ ซึ่งเราว่า เอาไม่อยู่แล้วอำนาจที่จะสะกดเขาไว้ ซึ่งเรารู้สึกว่า มันเป็นสิ่งที่เราต้องดู เป็นสิ่งที่เราต้องให้กำลังใจ และต้องพยายามที่จะไปด้วยกัน ไม่ว่าคุณจะยืนอยู่ฝ่ายไหน เพราะทุกคนต้องการอิสรภาพเหมือนกันหมด


แม้ว่าอายุจะห่างกัน แต่โตมาตำราเดียวกันกับพี่เจ้ย ตำราที่ไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันอาจจะตำราเดิม เพียงแต่ว่ามีเทคโนโลยีที่สามารถทำให้เด็กเปิดโลกทัศน์ที่เหนือกว่าในตำรา เพราะสมัยเรามันไม่มีอินเทอร์เน็ต

ซึ่งอำนาจนี้มันแรงมาก คือเหมือนเราดูสารคดีเกาหลีเหนือ แล้วมันมีแพทย์ที่ไปช่วยผ่าตัดต้อกระจกของคนเกาหลีเหนือ สิ่งแรกที่คุณป้าทำครั้งแรกหลังผ่าตัดเสร็จ คือวิ่งไปที่รูปของผู้นำที่ติดอยู่ที่บ้าน และกราบไหว้ขอบคุณที่ให้ดวงตาคู่นี้ กลับคืนมาเหมือนเดิม ตอนที่เราดูก็เฮ้ย เป็นไปได้ขนาดนี้เชียวเหรอ แต่พอย้อนกลับมาดูตัวเราเอง ก็รู้สึกว่า เออ มันเป็นไปได้ มันแรงมาก การที่ใส่ข้อมูลตั้งแต่เด็ก เพราะฉะนั้น เราก็ยังแปลกใจจนถึงทุกวันนี้ ก็พยายามบอกว่า มันไม่แปลก หรือแม้แต่คนที่เรียกว่า มีการศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอก หรือเพื่อนเราหลายคนที่ยังไม่เปิดรับข้อมูลหรือพิจารณาเรื่องของความเป็นอยู่ หรือที่การเมืองไปแทรกอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา คือต้องพยายามคิดถึงความแรงของอำนาจโฆษณาเอาไว้เยอะ ๆ บางทีมันต้านยาก เราต้องเข้าใจเขา



หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด