ปฏิบัติการถ่ายหนังวันปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 จากความทรงจำของขุนวิจิตรมาตรา

24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เหตุการณ์สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทยนี้ นอกจากจะได้รับการบันทึกผ่านเอกสาร จดหมายเหตุ ข้อเขียน และภาพถ่ายต่าง ๆ ซึ่งตกทอดมาสู่คนรุ่นหลังแล้ว ยังมีภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวที่ถ่ายทำโดยพี่น้องตระกูลวสุวัต แห่งบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบัน ภาพยนตร์อันมีค่าชุดนี้ได้หายสาบสูญไป 

อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังของปฏิบัติการถ่ายหนังในวัน “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” ยังปรากฏให้เห็นอยู่ในข้อเขียนของ ขุนวิจิตรมาตรา หรือ สง่า กาญนาคพันธุ์ นักเขียนและผู้กำกับภาพยนตร์ของศรีกรุง ซึ่งได้บันทึกเรื่องราวในวันนั้นไว้อย่างเห็นภาพ รวมไปถึงเหตุการณ์ถ่ายหนังในงานสำคัญที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน นั่นคือ พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 10 มิถุนายน 2475 อันมีสถานะเป็นภาพยนตร์ที่หายสาบสูญเช่นเดียวกัน หอภาพยนตร์จึงขอนำบทความดังกล่าวมาลงไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ด้วยความหวังว่า สักวันหนึ่ง อาจมีการค้นพบภาพยนตร์ 2 เรื่องสำคัญนี้ในอนาคต

--------



หนังไทยในอดีต หนังเงียบวันปฏิวัติ

โดย ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์)

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสารปาริชาต (1 ธันวาคม พ.ศ. 2492)


วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 วันที่ 10 ธันวาคม เป็นวันพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 โปรดพระราชทานรัฐธรรมนูญ อันกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นมีหลายฉบับด้วยกัน ฉบับแรกคือฉบับที่ประดิษฐานอยู่เหนือพานแว่นฟ้าและแล้วก็แก้ไขปรับปรุงกันต่อมา จนในที่สุดว่าเข้าไปอยู่ใต้ตุ่มดินตามเสียงโจษกันก็มี จะเท็จจริงอย่างไรก็ไม่รู้ อยู่กับหนังสือพิมพ์ผู้เล่า โดยเฉพาะวันที่ 10 ธันวาคม เป็นวันรัฐธรรมนูญเหนือพานแว่นฟ้า ซึ่งผู้เขียนได้เห็น คือเป็นสมุดข่อยแบบโบราณเล่มยาว ชุบตัวหมึกปกดำ มีตัวครุฑเป็นโลหะทองสุกปลั่งติดที่หน้าปกงดงามวางอยู่เหนือพานแว่นฟ้าจริง ๆ แต่เมื่อมีการแก้ไขกันใหม่หลายครั้ง เวลานี้วันที่ 10 ธันวาคม จึงไม่ใช่วันของรัฐธรรมนูญฉบับใด แต่เป็นวันแห่งความหมายว่าประชาชนชาวไทยได้รับรัฐธรรมนูญ ซึ่งพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้พลเมืองไทยได้เป็นประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก ซึ่งจะเรียกว่าวันปฐมรัฐธรรมนูญก็ไม่ผิด ถ้าจะเปรียบก็ได้กับพระปฐมเจดีย์ซึ่งเป็นพระเจดีย์องค์แรกของไทย แม้จะมีพระเจดีย์องค์หลัง ๆ เกิดขึ้นอีกเกลื่อนกลาดดาษดา ทุกคนก็ยังนับว่า พระปฐมเจดีย์เป็นพระเจดีย์องค์แรกที่เป็นมหาปูชนียสถาน จึงได้มีวันเทศกาลฉลองครึกครื้นในกลางเดือนสิบสอง เป็นนักขัตฤกษ์ประจำปีเสมอมาฉะนั้น


วันที่ 23 ตุลาคม เป็นวันของพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 วันที่ 25 พฤศจิกายน เป็นวันของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทั้งสองวันเป็นวันของพระเจ้าอยู่หัว ผู้เขียนจึงเขียนเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวตามความรู้สึกนึกคิดประสาไพร่บ้านพลเมืองตั้งเป็นเด็ก ๆ จำความได้มา เช่นอยากเห็นอยากเฝ้าว่าเป็นอย่างไร วันสำคัญสองวันที่กำลังมาถึงนี้ เป็นวันเกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวอีกดังกล่าวแล้ว และผู้เขียนก็บังเอิญได้มีโอกาสเฝ้าทั้งสองพระองค์เหมือนกัน ในรัชกาลที่ 7 ได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดที่สุด ครั้งแรกในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขณะเสด็จประทับเหนือแท่นทองภายใต้นพปฎลเศวตฉัตร พรั่งพร้อมด้วยมุขเสนามาตย์ราชบริพารทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน วันพระราชพิธีฉัตรมงคลเป็นพิเศษ เข้ารับพระราชทานรางวัลเงิน 1,000 บาท ต่อพระหัตถ์ในการประกวดหนังสือ “หลักไทย” การเฝ้าครั้งนี้มีเรื่องเล่าได้มาก แต่ไม่เกี่ยวกับวันรัฐธรรมนูญก็จะข้ามไปเสียเอาไว้เมื่อใดมีโอกาสจึงจะเล่า ในที่นี้จะเล่าแต่การได้เห็นได้เฝ้าเกี่ยวกับวันพระราชทานรัฐธรรมนูญเท่านั้น


 

ภาพ : ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์)


วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ตอนบ่ายรถยนต์ภาพยนตร์เสียงศรีกรุงมารับผู้เขียน บอกว่าให้ไปช่วยกะถ่ายหนัง ผู้เขียนถามถึงหลวงกล (หลวงกลการเจนจิต-เภา วสุวัต) เขาบอกว่าอยู่ในพระที่นั่งอนันต์แล้ว คุณกระเศียร ไปถ่ายรอบ ๆ นอก ระหว่างนั่งไปในรถยนต์คุณกระแสหยิบปลอกแขนมาสองอัน และส่งให้ผู้เขียนอันหนึ่งสำหรับเป็นใบเบิกด่าน สองฟากถนนราชดำเนินมีทหารบก ทหารเรือ พลเรือน เป็นหย่อม ๆ ประชาชนพลเมืองเป็นกลุ่ม ๆ ตลอดไป รถหยุดที่มุมสวนมิสกวันซึ่งมีทหารยืนปิดกั้นถนน เราลงจากรถยนต์แสดงปลอกแขนให้ดูแล้วก็ผ่านเข้าไปทางถนนซอยมีแถวทหารเรือตั้งอยู่ เราเดินผ่านตรงไปลานพระบรมรูปซึ่งมองเห็นรถตีนตะขาบ รถถัง รถเกราะ จอดอยู่เรียงราย เห็นรถยนต์ทหารวิ่งไปมาขวักไขว่ คันหนึ่งเป็นรถเก่า ๆ ย่อม ๆ สวนออกมาสู่ถนนราชดำเนิน ในรถมีท่านจอมพลป.พิบูลสงคราม กับนายทหารอีกสองสามคน นั่ง ๆ ยืน ๆ มาด้วยท่าทางทะมัดทะแมงและรีบร้อน พอเข้าถึงลานพระบรมรูป ก็พบบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ศรีกรุงเดินออกมา พวกเราถามถึงเหตุการณ์ เขายิ้มบอกว่าสงบไม่มีอะไร คุณมานิตกับหลวงกลอยู่ข้างใน เวลานี้ไม่ได้ถ่าย พวกเราจึงตกลงไปโรงถ่ายสะพานขาวเพื่อพบนายกระเศียร วสุวัต ซึ่งเป็นผู้ถ่ายภาพเหตุการณ์รอบ ๆ นอก


ไปถึงโรงถ่ายสะพานขาว รถยนต์สำหรับถ่ายหนังจอดนิ่งอยู่หน้าโรง กล้องใหญ่มิตเชลยังอยู่บนรถ ในสำนักงานเกลื่อนกลาดไปด้วยฟิล์มหนังและอะไรต่ออะไรยุ่งไปหมด ตัว “แคมเมอร่าแมน” นั่งคอพับอยู่บนเก้าอี้นวม มีท่าทางบอกว่าอ่อนเปลี้ยเต็มที พอผู้เขียนไปถึง แคมเมอร่าแมนก็รายงานว่า ถ่ายหนังเงียบใช้กล้องใหญ่มิตเชลบ้าง เบลโฮเวลบ้าง กล้องมืออายโมบ้าง ถ่ายอะไรต่ออะไรไว้มากมาย สิ้นฟิล์มไปร่วม 2,000 ฟุต ยังอยู่ที่กล้องอายโมที่หลวงกลอีก และว่าจะควรถ่ายอะไรต่อไปอีก ผู้เขียนเห็นว่าถ่ายเก็บเหตุการณ์ต่าง ๆ ไว้มากแล้วก็ไม่ถ่ายอะไรอีก คืนนั้นก็ลงมือล้างเนกาติฟ


รุ่งขึ้นตอนบ่าย ผู้เขียนไปตรวจเนกาติฟที่ถ่ายทั้งหมด เป็นฟิล์มรวม 3,000 ฟุต บางตอนมัวไปบ้าง และเสียบ้างเล็กน้อยเลยตกลงพิมพ์เป็นโปซิทิฟทั้งหมด


ตกเย็นได้รับโทรเลขจากบริษัทหนังในอเมริกา 2 บริษัท มีข้อความยืดยาวแต่คล้ายกัน ซึ่งรวมเป็นใจความว่า ให้ถ่ายหนังคุปเดต้าต์ในสยามไว้มีเท่าไรเอาหมด คิดราคาให้ตามอัตราพิเศษ ส่งเนกาติฟทางเรือบินด่วน พวกเราทุกคนมองหน้ากันแล้วก็ยิ้ม แล้วเราก็ดื่มไชโย


พอค่ำ พิมพ์โปซิทิฟเสร็จก็ทดลองฉายดู ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ตัดต่อ จบแล้วผู้เขียนกับนายกระเศียรก็เข้าห้องต่อหนัง ตัดเนกาติฟแล้ว คัดซีน (Scene) ที่จะทำเป็นเรื่องสำหรับของเราไว้ให้ครบชุดพวกหนึ่ง ตัดแบ่งซีนยาว ๆ และเลือกซีนคล้าย ๆ กันออกมารวมไว้อีกพวกหนึ่ง สำหรับแบ่งแยกส่งให้สองบริษัทฝรั่ง เสร็จแล้วผู้เขียนเอาโปซิทิฟ (สำหรับเนกาติฟ) ที่จะส่งฝรั่งมาตรวจด้วยเครื่องมูฟวิโอล่า ดูภาพสำหรับเขียนคำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษ แล้วรีบจัดส่งไปอเมริกาทางเรือบินให้บริษัททั้งสองทันที


เสร็จเรื่องทางฝรั่งแล้วก็มาจัดทำทางเรา คือทำไตเติ้ลนำเรื่องและไตเติ้ลอธิบายภาพเหตุการณ์ทุกตอน ที่จริงเวลานั้น ภาพยนตร์เสียงศรีกรุงทำหนังพูดได้แล้ว แต่ถ่ายเป็นหนังพูดไม่ทันก็ต้องทำเป็นหนังเงียบ ถ่ายไตเติ้ลแล้วก็ตัดต่อลำดับภาพ พิมพ์เป็นโปซิทิฟเสร็จสมบูรณ์เป็นหนังข่าวเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475


ประมาณอีก 3 วันต่อมา ภาพยนตร์เสียงศรีกรุงก็ได้รับโทรเลขจากอเมริกา เป็นของบริษัทหนึ่งที่เราส่งหนังไปให้ เขาตอบมาเป็นใจความว่า คุปเดต้าต์เมืองไทยไม่เห็นมียิงกันสักหน่อย บริษัทไม่เอา


มิหนำซ้ำข้างท้ายโทรเลขยังบอกมาอีกว่า ถ้าจะเอาหนังคืนก็ให้ส่งเงินไปสำหรับเป็นค่าส่งกลับ พวกเราทุกคนมองหน้ากันแล้วก็พยักหน้าแล้วเราก็ดื่มเงียบ ๆ


แต่การที่บริษัทนี้ยังมีแก่ใจตอบมาก็ต้องนับว่าดี เพราะทำให้เราได้รู้ถึงความเข้าใจของเขาในเรื่องดุปเดต้าต์ ส่วนอีกบริษัทหนึ่งเงียบหายไม่ตอบเลย บางทีเขาจะโกรธว่าเอาหนังคุปเดต้าต์อะไรไปให้ก็ไม่รู้


 

ภาพ : มานิต และ เภา วสุวัต ถ่ายรูปร่วมกับคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่บ้านศรีกรุง บางกะปิ

แถวหน้า (จากซ้าย) - พันเอก ทวน วิชัยขัตคะ, มานิต วสุวัต, เภา วสุวัต (หลวงกลการเจนจิต)

แถวกลาง - พลเรือตรี สงวน รุจิราภา, นาวาตรี หลวงนิเทศกลกิจ, ควง อภัยวงศ์

แถวหลัง - หลวงนฤเบศมานิต, จอมพล ป. พิบูลสงคราม, พลโท ประยูร ภมรมนตรี, พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัย


เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วถึงเดือนพฤศจิกายน รัฐบาลก็ให้ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง จัดทำเป็นหนังพูดงานพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ธันวาคม การทำหนังพูดของภาพยนตร์เสียงศรีกรุงเวลานั้นเป็นแบบซิงเกิลซิสเต็ม (Single System) คือใช้กล้องเดียวถ่ายภาพกับเสียงลงบนฟิล์มพร้อมกัน การถ่ายจึงยากที่ต้องอยู่ในวงจำกัด จะถ่ายอะไรก็ต้องวางโครงการให้ตายตัวแน่นอนลงไว้เสียก่อนทีเดียว ถ้าเป็นหนังข่าวถ่ายพลาดก็เสียเลยจะแก้ไขอะไรอีกไม่ได้ ไม่เหมือนแบบดับเบิลซิสเต็ม (Double System) ถ่ายภาพกล้องหนึ่ง เสียงกล้องหนึ่ง แยกกันกล้องละฟิล์ม ซึ่งต่อมาไม่ช้าภาพยนตร์เสียงศรีกรุงก็ทำแบบนี้ ผู้เขียนต้องรวบรวมหนังสือเอกสารเกี่ยวกับงานทุกชิ้นมาเตรียมกะโครงการละเอียดว่างานวันที่เท่านั้น ชั่วโมงนั้นถึงชั่วโมงนั้น กลางวันหรือกลางคืน จะถ่ายอะไรที่ไหนทั่วทั้งพระนคร จะใช้เสียงจริงในตัวหรือเสียงพูดประกอบ หรือใช้ทั้งสองอย่างปนกัน ถ้าใช้เสียงพูดประกอบก็ไปแต่งคำกลอนสดกรอกไมโครโฟนให้เข้ากับภาพเอาในขณะถ่ายในที่นั้น จัดเป็นโปรแกรมประจำวันทุกวันไปตลอดงานชั้นหนึ่ง แล้วทำสคริปต์ (Script) ละเอียดเฉพาะซีนอีกชั้นหนึ่ง คือซีนนั้นจะถ่ายภาพอะไรบ้าง เสียงอะไรบ้าง สลับกันอย่างไร ทุกซีนไป


ก่อนงานหลายวัน ผู้เขียน หลวงกลการเจนจิต ฝ่ายภาพ(Camera Man) นายกระเศียร วสุวัต ฝ่ายเสียง (Sound Man) ไปในพระที่นั่งอนันตสมาคม ผู้ที่ไปในวันนั้นมีฝ่ายคณะราษฎร 3 หรือ 4 คน จำไม่ได้ และเวลานี้นึกไม่ออกว่าใครบ้าง มีเจ้าพนักงานกรมวังและพระราชพิธี 4-5 คน คอยเฝ้าเสด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งจะเสด็จมาในการเตรียมซักซ้อมพิธีที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ธันวาคม มิช้าสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็เสด็จทางห้องในที่ตั้งพระแท่นเศวตฉัตร ซึ่งมีพระวิสูตรกั้น แต่พระวิสูตรเปิดผู้เขียนจำได้ว่าทรงพระภูษาม่วงเขียว ผู้เฝ้าทุกฝ่ายยืนเฝ้าที่ห้องนั้นเป็นหมู่ ๆ มีพระกระแส รับสั่งถึงพิธีที่จะทำ เจ้าพนักงานกราบทูล ผู้แทนคณะราษฎรกราบทูลบ้าง ครั้นแล้วทรงผินมาทางหลวงกลและรับสั่งถึงการถ่ายหนังมีเรื่องแสง เพราะในพระที่นั่งค่อนข้างมืด และเรื่องควรจะถ่ายอย่างไรดี หลวงกลได้กราบทูลในเรื่องเกี่ยวกับแสงว่า จะติดไฟสปอตไลท์ดวงใหญ่สามดวงที่เพดานท้องพระโรงฉายมาที่พระวิสูตร ใช้ไฟตั้งที่พื้นล่างเป็นฟลัชไลท์อีกหกดวง ตั้งกล้องถ่ายตรงกลางท้องพระโรง เครื่องเสียงตั้งที่ฝาผนังด้านพระวิสูตรทางซ้าย ทรงผินมาหาผู้เขียนรับสั่งว่าลองซ้อมดู ผู้เฝ้าต่างก็กระจายกันไปยืนยังที่ที่กะว่าจะเฝ้าในวันนั้น คือผู้แทนฝ่ายคณะราษฎรออกมายืนที่ท้องพระโรงริมพระวิสูตรทางขวา หลวงกลกับผู้เขียนออกมายืนกลางท้องพระโรง ซึ่งสมมุติว่าตั้งกล้องถ่าย เจ้าพนักงานกรมวังและพระราชพิธียืนข้างพระแท่นห้องใน

ภาพ : เภา วสุวัต (หลวงกลการเจนจิต) ตากล้องคนสำคัญในการถ่ายหนังบันทึกการปฏิวัติ และพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ



เจ้าหน้าที่ปิดพระวิสูตร สมเด็จพระปกเกล้าฯ ขึ้นประทับบนแท่นแล้วสมมุติว่าเริ่มพิธี ชาววิสูตรไขพระวิสูตรหนังเริ่มถ่าย เปิดพระวิสูตรเห็นพระองค์ มีเสียงประโคมจนพระวิสูตรเปิดเต็มที่ สมมุติว่าอาลักษณ์อ่านกระแสพระบรมราชโองการ ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ กล้องส่ายมาที่อาลักษณ์ มีเสียงอ่านจบตอนต้นประมาณ 1 นาทีกล้องหยุด ถึงตอนกลางส่วนกล้องกวาดท้องพระโรงมีเสียงอ่านแล้วหยุด ถึงตอนท้ายส่ายกล้องจากอาลักษณ์ไปที่พระองค์มีเสียงอ่านไปจนจบ ผู้แทนคณะราษฎรนำฉบับรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าถวาย ทรงลงพระบรมนามาภิไธย กล้องจะถ่ายอยู่ตลอดเวลาจนถึงปิดพระวิสูตร การซ้อมถ่ายหนังในวันนี้เป็นอย่างเดียวกับการถ่ายจริงในวันที่ 10 ธันวาคม มีแปลกออกไปก็แต่ในวันนั้นเป็นวันพระราชพิธีใหญ่ สมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเครื่องพระมหากษัตริย์สยามตามโบราณราชประเพณี ขุนนางใหญ่น้อย ข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือน แต่งเต็มยศใหญ่เฝ้าเต็มท้องพระโรงหลวงกลผู้ถ่ายแต่งเครื่องยศมหาดเล็ก ผู้เขียนแต่งเครื่องยศกระทรวงพาณิชย์


เสร็จซ้อม เสด็จลงจากพระแท่น เจ้าหน้าที่เปิดพระวิสูตรออกตามเดิม เสด็จมารับสั่งอีกเล็กน้อย แล้วก็เสด็จกลับ


เท่าที่ได้เฝ้าในวันซ้อมถ่ายหนังในวันนั้น ผู้เขียนสังเกตเห็นสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีพระอารมณ์แช่มชื่นเบิกบาน สนพระทัยในพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญมาก ซึ่งผู้เขียนคาดเอาว่าคงจะทรงพระโสมนัสมาก ทรงซักไซ้อย่างละเอียดลออที่จะให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยดีเรียบร้อยงดงามจริง ๆ ส่อให้เห็นความเต็มพระทัยในการพระราชทานรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การปกครองของประเทศเป็นไปตามแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง


 

ภาพ : พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 ด้านขวาสุด จะเห็นกล้องถ่ายภาพยนตร์ของศรีกรุงตั้งอยู่


อะไรที่เป็นความรู้สึกนึกคิดในสามแผ่นดินที่ผ่านมาเป็นวันสำคัญมาให้เขียน คือ วันที่ 23 ตุลาคม วันที่ 25 พฤศจิกายน และวันที่ 10 ธันวาคม ก็ได้เขียนเรียงลำดับมาแล้ว ยังเหลือวันสำคัญคือวันที่ 5 ธันวาคม อันเป็นวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 อันเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ 5 ของผู้เขียน


สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รับราชสมบัติมาสามปี แต่เวลาครองราชสมบัติส่วนมาก เป็นเวลาทรงศึกษาศิลปวิชาการในต่างประเทศ จึงมีเวลาพบปะกับราษฎรของพระองค์น้อย ผู้เขียนได้มีโอกาสเฝ้าในงานบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมศพพระเชษฐาธิราช ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทครั้งหนึ่ง ยืนเฝ้าที่ลานพระมหาปราสาทเป็นแถวยาวห่าง ๆ กันสองข้างทางเสด็จ พร้อมกับข้าราชการกระทรวงต่าง ๆ ขณะทรงพระราชดำเนินตั้งแต่เชิงบันไดพระมหาปราสาทมาในระหว่างแถว สังเกตเห็นทรงมองดูหน้าข้าราชการเรียงตัวเป็นลำดับมาไม่เว้น ทำให้ผู้เขียนคาดว่าคงจะสนพระทัยใคร่รู้จักข้าราชการเรียงตัวเป็นลำดับมาไม่เว้น ทำให้ผู้เขียนคาดว่าคงจะสนพระทัยใคร่รู้จักข้าราชการอันเป็นราษฎรของพระองค์อย่างจริงจัง นี้เป็นข้อคิดนึกของผู้เขียนที่มีต่อพระองค์ในการสังเกตเห็นในวันเฝ้านั้นเป็นครั้งแรก 


ต่อเมื่อเร็ว ๆ นี้ คนในครอบครัวของผู้เขียนสามคน คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการคลัง เสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ โสภา เปี่ยมพงศ์สานต์ และนางสาวสีแพร กาญจนาคพันธุ์ บุตรสาวของผู้เขียนไปอเมริกา ได้แวะลงที่สวิตเซอร์แลนด์ และไปเฝ้าพระองค์ที่พระตำหนักเมืองโลซาน เมื่อกลับมา ผู้เขียนถามถึงการไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว เขาเล่าให้ฟังทำนองเดียวกัน รวมเป็นใจความว่า พระองค์ตรัสน้อย แต่เมื่อทอดพระเนตรอะไรแล้ว ทรงสนพระทัยมาก เป็นอันว่าคำบอกเล่าของเขาตรงกับความสังเกตของผู้เขียน เรามีพระมหากษัตริย์หนุ่มที่รักงานแล้ว ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน


หมายเหตุ – ปัจจุบัน หอภาพยนตร์ได้นำบทความชิ้นนี้มารวมเล่มไว้กับข้อเขียนเรื่องภาพยนตร์อื่น ๆ ของ ขุนวิจิตรมาตรา ในหนังสือ “หลักหนังไทย” โดยได้รับอนุญาตจาก มูลนิธิขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญนาคพันธุ์)  ผู้สนใจสามารถอ่านบทความอื่น ๆ เพิ่มเติมจากหนังสือเล่มนี้ได้ในห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี หรือหาซื้อได้ที่ ร้านมายาพานิชย์ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) 


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด