เปิดห้องผู้จัดการโรงหนังอลังการ อ่านชีวิต เนย วรรณงาม

เรื่องราวชีวิตอันเข้มข้นของ เนย วรรณงาม คนภาพยนตร์ 5 แผ่นดิน ผู้ยืนหยัดต่อสู้อยู่ในธุรกิจโรงภาพยนตร์แบบเก่า ซึ่งไต่เต้าขึ้นมาจากช่างเขียนป้ายโฆษณา จนกลายมาเป็นผู้บุกเบิกโรงหนังในภาคเหนือและภาคอีสาน รวมทั้งเป็นเจ้าของสายหนังเฉลิมวัฒนาที่เคยโด่งดัง 

-----------


โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู

*ปรับปรุงข้อมูลจากฉบับที่เผยแพร่ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 19 พฤษภาคม-มิถุนายน 2556


ผู้ที่เคยมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย คงจะคุ้นเคยดีกับโรงหนังอลังการภายในอาคารพิพิธภัณฑ์  โรงหนังขนาดเล็กที่ตั้งชื่อตามโรงละครหม่อมเจ้าอลังการ สถานที่ที่มีการฉายภาพยนตร์ในฐานะมหรสพ เก็บเงินค่าเข้าชมจากสาธารณชนเป็นครั้งแรกบนแผ่นดินสยาม เมื่อ 10 มิถุนายน 2440 อันเป็นเหตุการณ์ที่กำลังจะมีอายุครบ 123  ปีในเดือนมิถุนายนนี้


นอกจากจะมีขึ้นเพื่อรำลึกถึงสถานที่ให้กำเนิดภาพยนตร์ในเมืองไทย โรงหนังอลังการแห่งนี้ยังนับเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับโรงหนังไทยในอดีตของผู้ที่มาเข้าชม  ทุกสิ่งทุกอย่างจึงเปรียบเสมือนภาพแทนขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่สำคัญ หนึ่งในนั้น คือ ห้องผู้จัดการโรงหนังของนายเนย  วรรณงาม ผู้ที่มักได้รับการแนะนำให้รู้จักเพียงสั้น ๆ ด้วยเวลาอันจำกัดว่า เป็นบุคคลสำคัญผู้บุกเบิกโรงหนังทางภาคเหนือและภาคอีสาน



ภาพ : รูปถ่ายนายเนย วรรณงาม (ในกรอบรูปทางขวามือ) และโต๊ะทำงานพร้อมด้วยเอกสารและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของเขา จัดแสดงอยู่ในห้องผู้จัดการโรงหนังอลังการ พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย


แต่ในความเป็นจริง เรื่องราวของชายผู้นี้ยังมีเกร็ดที่น่าสนใจอีกมากมายเกินกว่าคำจำกัดความที่เอ่ยไป เช่นเดียวกับบางส่วนในประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์ไทยที่ถูกละเลยเพราะขาดการบอกเล่า  เนื่องในโอกาสครบรอบวันเกิดของภาพยนตร์ในเมืองไทยที่กำลังจะมาถึงนี้  หอภาพยนตร์จึงขอนำบางช่วงแห่งชีวิตของนายเนย จากเรื่องเล่าของบุคคลในครอบครัวมาเรียบเรียงใหม่ให้ได้ลองศึกษา  แม้การส่งต่อประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าเหล่านี้อาจมีรายละเอียดที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง  แต่อย่างน้อยก็คงช่วยเปิดเผยให้เห็นถึงบรรยากาศเก่า ๆ ของวงการหนังไทย สำหรับใครหลายคนที่ไม่เคยได้รับรู้


นายเนย วรรณงาม (นามสกุลเดิม เลียบทวี) เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2441  ที่วัดท่าพูด อ.สามพราน จ.นครปฐม  บิดาเป็นชาวจีน แซ่เลี้ยบ อพยพมาประกอบกิจการร้านขายของชำ ด้วยความที่เป็นเด็กหัวดี นายเนยจึงสามารถสอบได้ทุนของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ทำให้ต้องย้ายเข้ามาใช้ชีวิตเป็นลูกศิษย์พระที่วัดสระเกศ ในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่อายุ 13 ปี


หลังจากจบระดับชั้น ม.8 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ นายเนยได้สอบเข้าไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ จากนั้นจึงออกมารับราชการเป็นเสมียนอยู่ในกรมแผนที่ แต่อยู่ได้เพียงประมาณ 2 ปี ก็ต้องลาออกเพราะความเบื่อหน่ายต่อการวางท่าใหญ่โตของพวกลูกเจ้าขุนมูลนาย เมื่อออกจากราชการ ชีวิตของเขาได้ผันเข้าสู่วงการภาพยนตร์  เริ่มต้นด้วยการไปเป็นลูกจ้างของโรงหนังพัฒนากร 


โรงหนังพัฒนากรแห่งนี้ นับเป็นโรงหนังลำดับแรก ๆ ของสยาม และเป็นโรงหนังมีชื่อเสียงมากที่สุดในช่วงเวลานั้น เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2453 ภายหลังเจ้าของกิจการได้จัดตั้งบริษัทพยนต์พัฒนากรขึ้น โดยมีนายเซียวซอง อ๊วน  สีบุญเรือง เป็นผู้จัดการ ปี พ.ศ. 2462 พยนต์พัฒนากรได้รวมตัวกับบริษัทคู่แข่งคือ รูปพยนต์กรุงเทพฯ ในนามว่า สยามภาพยนตร์บริษัท ผูกขาดกิจการค้าภาพยนตร์และโรงหนัง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด



ภาพ : ตลับเมตรสำหรับใช้วัดพื้นที่สร้างโรงหนังของนายเนย วรรณงาม


ดังนั้นหากคำนวณจากอายุ นายเนยจึงน่าจะเข้าทำงานที่โรงหนังพัฒนากรในช่วงที่อยู่ภายใต้ชื่อของสยามภาพยนตร์บริษัทแล้ว โดยนายเซียวซองอ๊วน ยังคงเป็นผู้จัดการใหญ่ และเป็นกำลังสำคัญในการขยายกิจการของบริษัท  หน้าที่แรกของนายเนยคือการเป็นช่างเขียนป้ายโฆษณา ต่อมา  จึงได้เลื่อนขึ้นมาเป็นพนักงานฉายประจำอยู่ห้องฉาย แต่เนื่องจากมีพื้นฐานการศึกษาที่ดี ทำให้เขาสามารถรับหน้าที่อื่น ๆ นอกจากการฉาย เช่น  อ่านคำบรรยายภาษาอังกฤษของหนังเงียบ ให้น้องชายนายเซียวซองอ๊วนผู้ตาบอด แปลเป็นภาษาจีนกลางให้คนดูซึ่งโดยมากเป็นคนจีนฟัง  เพื่อให้เข้าใจเรื่องราว รวมทั้งยังรับหน้าที่เขียนบทพากย์ให้แก่ทิดเขียว (สิน สีบุญเรือง) หลานชายของนายเซียวซองอ๊วน ผู้ได้ชื่อว่าเป็นนักพากย์หนังคนแรกของไทย


ครั้งหนึ่ง นายเนยเคยได้รับโอกาสไปฉายภาพยนตร์แบบกลางแปลง ถวายให้ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทอดพระเนตรถึงในวัง ขณะที่กำลังฉายอยู่นั้น ฟิล์มได้เกิดลุกไหม้ ด้วยเพราะฟิล์มในยุคนั้นยังเป็นฟิล์มไนเตรตซึ่งไวไฟ นายเนยเห็นท่าไม่ดีจึงตัดสินใจปลดฟิล์มออก แล้วรีบคว้าลงสระน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เพลิงลุกลาม  เป็นที่พอพระราชหฤทัยของในหลวงรัชกาลที่ 6 อย่างมาก และได้พระราชทานผ้าม่วงให้เป็นรางวัลแก่การตัดสินใจแก้ปัญหาได้ทันท่วงที


ภาพ : ภาพโรงภาพยนตร์พิพัฒนจันทร จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่นายเนยเคยเป็นผู้จัดการ ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. 2472

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเล่าที่สะท้อนให้เห็นความสามารถด้านอื่น ๆ และปฏิภาณไหวพริบของนายเนย  ซึ่งผู้จัดการใหญ่อย่างนายเซียวซองอ๊วนก็คงจะเห็นเช่นเดียวกัน จึงได้เลื่อนขั้นให้เขาขึ้นมาอยู่ในสายธุรกิจ เริ่มจากการมอบจักรยานให้ปั่นไปแอบนับยอดผู้ชมตามโรงหนังในเครือ เพื่อคอยจับผิดว่าสายส่งหนังหรือเช็คเกอร์นั้น โกงเงินค่าตั๋วบริษัทหรือไม่ จากนั้นเขาจึงได้เลื่อนขึ้นมาเป็นผู้จัดการสายหนัง  โดยได้รับมอบหมายจากนายเซียวซองอ๊วนให้ขึ้นไปขยายสาขาของบริษัทตามจังหวัดต่าง ๆ ในแถบภาคเหนือ


ที่แรกที่นายเนยขึ้นไปบุกเบิกคือ จ.เชียงราย แล้วค่อย ๆ ขยายไปตามจังหวัดอื่น ๆ เช่น นครสวรรค์ และอุตรดิตถ์ เขามุ่งมั่นทำงานด้วยความทุ่มเท เพื่อหวังทำกำไรให้แก่บริษัท จนเป็นที่พึงพอใจของนายเซียวซองอ๊วน ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพนักงานคนโปรดของนายห้าง ครั้งหนึ่ง เมื่อหนังที่นำไปฉายไม่สามารถทำกำไรได้ นายเนยตัดสินใจกลับมาหาเจ้านายเพื่อขอลาออก แต่กลับถูกนายเซียวซองอ๊วนทัดทาน ซ้ำยังให้เลือกหนังไปฉายเองได้เลย  ทั้ง ๆ ที่ โดยปรกติแล้ว หากรู้ว่าสายหนังคนไหนนำบัญชีที่ขาดทุนมาส่ง นายห้างใหญ่แห่งพัฒนากรผู้นี้  จะโยนบัญชีทิ้งไปอย่างไม่ไยดี


นายเนยรับหน้าที่เป็นตัวแทนขยายสาขาให้แก่สยามภาพยนตร์บริษัท จากภาคเหนือเรื่อยมาจนถึงภาคอีสาน ซึ่งได้ตั้งเป็นศูนย์ใหญ่อยู่ที่ จ.นครราชสีมา โดยมีหนังจากบริษัทอยู่ในบัญชีกว่า 30 เรื่อง ปี พ.ศ. 2471 เค้าลางแห่งความตกต่ำของสยามภาพยนตร์บริษัทก็มาถึง เนื่องจากหัวเรือใหญ่อย่าง นายเซียวซองอ๊วนได้ถึงแก่กรรมลง  และในปี พ.ศ. 2472  ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นกับโรงหนังพัฒนากร เมื่อฟิล์มไนเตรตที่อยู่ในคลังเก็บฟิล์ม เกิดลุกไหม้จนวอดวาย ทันทีที่ทราบข่าว นายเนยรีบนำฟิล์มในความรับผิดชอบกลับไปให้ที่กรุงเทพฯ  แต่ทางพัฒนากรก็ตอบแทนความดีความชอบของเขาด้วยการโอนมอบฟิล์มชุดดังกล่าวรวมทั้งอุปกรณ์เครื่องฉายต่าง ๆ ให้เป็นกรรมสิทธิ์ เป็นรางวัลแห่งการทำงานเพื่อบริษัทด้วยความวิริยะอุตสาหะตลอดมา



ภาพ : นายเนย วรรณงาม (ขี่มอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง) ในขบวนแห่โฆษณาหนังหน้าโรงหนังที่ จ.อุตรดิตถ์


ด้วยฟิล์มภาพยนตร์ที่มีอยู่ในมือ นายเนยได้กลับมาตั้งต้นกิจการภาพยนตร์ของตนเองที่โคราช  ทำทุกอย่างด้วยตนเองทั้งเขียนป้าย แห่โฆษณา และฉายหนัง เขาเริ่มต้นจากการเร่หนังฉาย ต่อมาจึงพยายามสร้างหรือเช่าโรงหนังตามเมืองใหญ่ ๆ ให้ทั่วทั้งภูมิภาค  เพื่อส่งหนังไปป้อนเข้าโรง  ซึ่งเป็นระบบแบบเดียวกับนายเซียวซองอ๊วนแห่งพัฒนากร  ใช้ชื่อสายหนังว่า เฉลิมวัฒนา อันเป็นชื่อของโรงภาพยนตร์ของเจ้าเมืองโคราช ที่เขาอาศัยเช่าประกอบกิจการ 


สายหนังเฉลิมวัฒนาของนายเนย จึงค่อยๆ ขยายสาขาออกไปทั่วทั้งภาคอีสาน จากเด็กเขียนป้ายโฆษณาของโรงหนังพัฒนากรในวันวาน เขาสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาอยู่ในฐานะเดียวกับนายห้างเซียวซองอ๊วนผู้ที่เคารพรัก มีโรงหนังอยู่ในเครือนับร้อยโรง และสร้างโรงหนังขึ้นมาเป็นของตนเอง ถึง 3 โรง คือ โรงหนังเฉลิมวัฒนา อุดรธานี  โรงหนังเฉลิมวัฒนา อุบลราชธานี และโรงหนังเฉลิมวัฒนารามา นครราชสีมา 

ภาพ : เครื่องดนตรีสำหรับโฆษณาหนังในสมัยก่อน


ส่วนสำคัญที่ทำให้นายเนยประสบความสำเร็จ ก็คือ  ความรอบรู้ในวิชาชีพของตนเองอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง  เพราะผ่านงานมาแล้วทุกบทบาทในเส้นทางสายธุรกิจภาพยนตร์  ทำให้เขาสามารถมองเห็นและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับโรงภาพยนตร์ได้ทุกจุด โดยเฉพาะด้านบัญชีรายรับรายจ่ายที่ละเอียดถี่ถ้วน ชนิดที่กำหนดให้ตนเองผู้เป็นเจ้าของยังต้องรับเงินเดือนจากโรงหนัง เพื่อให้เงินในบัญชีเป็นไปตามระบบ รวมทั้งขึ้นชื่อด้านความประหยัดมัธยัสถ์ แม้จะยกระดับขึ้นมาจนร่ำรวย  แต่เขายังคงใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและสมถะ ไม่แสดงตนให้ใครต่อใครรู้ว่าเป็นเศรษฐี ครั้งหนึ่ง นายเนยเคยเข้าไปซื้อเครื่องขยายเสียงในห้างที่โคราช แต่กลับไม่ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากพนักงาน เพราะไม่เชื่อว่าจะมีเงินพอจ่าย ครั้นเมื่อจ่ายด้วยดราฟท์เงินสด ยังถูกไล่ให้ไปขึ้นมาเป็นเงินสดจริง ๆ ด้วยความกลัวว่าจะเป็นของปลอม ซึ่งนายเนยก็ยอมทำตามแต่โดยดี ก่อนที่พนักงานคนนั้นจะมารู้ในภายหลังว่า เขาคือนายห้างใหญ่แห่งเจ้าของเฉลิมวัฒนา


ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของนายเนยคือ การเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านงานช่าง โดยเฉพาะอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์   ที่แม้จะไม่ได้เรียนมาทางนี้โดยตรง แต่อาศัยความใฝ่รู้และความจำที่ดีเยี่ยม ศึกษาเอาจากหนังสือคู่มือซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ  ชื่อเสียงของเขาด้านนี้เป็นที่รับรู้โดยทั่วกัน ในปี พ.ศ. 2476 เมื่อเกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดชที่โคราช เขาจึงถูกฝ่ายกบฏคุมตัว เพราะกลัวว่าจะเป็นแนวที่ 5 หรือไส้ศึก ทำเครื่องส่งสัญญาณให้ฝ่ายรัฐบาลในกรุงเทพฯ ความรอบรู้ของนายเนย ทำให้เมื่อเกิดมีอุปกรณ์ใด ๆ ในโรงภาพยนตร์เสียหาย เขาจึงสามารถซ่อมได้เอง รวมทั้งยังเคยเปิดเป็นร้านรับซ่อมเครื่องฉาย เครื่องขยายเสียง ให้แก่โรงหนังต่าง ๆ และรถหนังขายยาอีกด้วย  ว่ากันว่า หากนำอุปกรณ์ที่นายเนยซ่อมไม่ได้ ไปให้ร้านอื่น ๆ ซ่อม จะไม่มีใครยอมรับ เพราะเชื่อกันว่า ถ้านายเนยยังซ่อมไม่ได้ พวกเขาก็คงหมดปัญญา 



ภาพ :  เครื่องมือตรวจวัดอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์และหนังสือเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากของนายเนย วรรณงาม


เรื่องที่แสดงถึงความพิเศษของนายเนยด้านนี้ได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง ก็คือ เหตุการณ์เมื่อครั้งที่เปิดโรงหนังเฉลิมวัฒนารามา ที่โคราช นายเนยได้สั่งซื้อเครื่องฉายภาพยนตร์ รุ่นพิเศษ ที่สามารถฉายได้ทั้งฟิล์มระบบ 70 มม. 35 มม. แถบเสียงแม่เหล็ก และ 35 มม. แบบธรรมดา ยี่ห้อ Victoria 8 จากบริษัทแบล็คแอนด์ไวท์ แต่ปรากฏว่าเครื่องกลับเสียตั้งแต่การฉายวันแรก ทางบริษัทจึงต้องส่งช่างมาซ่อมถึง 2 คน รวมกับช่างของโรงหนังนายเนยอีก 1 คน ทั้งหมดใช้เวลาซ่อมกันถึงสองวันสองคืน ก็ไม่สำเร็จ  เที่ยงของวันที่สาม นายเนยจึงขึ้นไปดูด้วยตนเอง แล้วพยายามซักไซ้ไล่เรียงถึงรายละเอียดต่าง ๆ ของเครื่อง เพื่อประมวลเข้ากับประสบการณ์ของตน จนสามารถแนะวิธีให้ช่างซ่อมได้สำเร็จ ชนิดที่ไม่มีใครคาดถึง ทางบริษัทแบล็คแอนด์ไวท์ ถึงกับต้องส่งเหล้าชั้นดีและกระเช้าผลไม้มาให้เป็นการขอโทษและคารวะในฝีมือ


เรื่องแปลกอีกอย่างหนึ่งของนายห้างใหญ่แห่งเฉลิมวัฒนาผู้นี้ คือ แม้เขาจะก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาด้วยธุรกิจฉายหนัง แต่เขากลับเป็นคนที่ไม่ชอบดูหนัง  ดูแต่ให้เห็นว่าหนังที่ฉายให้คนดูนั้นเสียงชัดและภาพสว่างก็เป็นที่พอใจ เพราะทุก ๆ วัน เขาจะต้องคอยตรวจสอบดูว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นกับโรงหนังบ้างอย่างไม่เคยขาด  เมื่อต้องฝึกหัดผู้จัดการคนใหม่ นายเนยใช้วิธีการให้เริ่มต้นทำงานทุก ๆ อย่าง เริ่มจาก ลบป้ายโฆษณา ซ่อมแบตเตอรี่ เขียนป้าย ฉายหนัง ตระเวนแห่ สมุหบัญชี จึงค่อยก้าวขึ้นมาเป็นผู้จัดการ ด้วยคติที่ว่า ผู้จัดการโรงหนังต้องรอบรู้และเป็นงานทุกอย่างกว่าลูกน้องคนอื่น ๆ  แต่แม้จะปลดระวางตนเองจากการเป็นผู้จัดการโรง เมื่อย่างเข้าสู่วัยชรา  เขาก็ยังคงทำงานไม่หยุดหย่อน และคิดถึงแต่เรื่องโรงหนังอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งช่วงสุดท้ายของชีวิต  



ภาพ : ส่วนหนึ่งของฟิล์มภาพยนตร์ขาว-ดำ 300-500 ม้วน ที่พบอยู่ในห้องนอนของนายเนย วรรณงาม

นายเนย วรรณงาม ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2527 รวมอายุได้ 85 ปี  ท่ามกลางข้าวของเกี่ยวกับโรงหนังมากมายที่เขาเก็บสะสมมาตลอดทั้งชีวิต แม้จะหมดอายุการใช้งานไปแล้วก็ไม่เคยคิดทิ้ง ทั้งขาโต๊ะเครื่องฉาย สมัย ร.5 เครื่องฉายฟิล์มขนาด 35 มม. เครื่องฉายสไลด์และแผ่นกระจกสไลด์จำนวนมาก ตลับเมตรขนาดใหญ่สำหรับวัดพื้นที่สร้างโรงหนัง เครื่องมือและอุปกรณ์ไฟฟ้า โต๊ะทำงานขนาดใหญ่มีลิ้นชักอยู่สองฝั่ง หนังสือและเอกสารต่าง ๆ ไปจนถึง ฟิล์มภาพยนตร์อีกนับร้อยม้วน เช่น เลือดชาวนา ของโรงถ่ายศรีกรุง ฯลฯ  


ในตอนแรก คุณประณีต ชาญศิลป์ และ คุณสุรินทร์  ชาญศิลป์ ลูกสาวและลูกเขยผู้รับช่วงกิจการต่อ ได้คิดจะนำบางส่วนไปขายเพื่อนำเงินมาอุทิศส่วนกุศลให้ แต่ด้วยความบังเอิญที่ คุณดิเรก เรียบกวี ญาติผู้เป็นคนขับรถ ได้เห็นข่าวเกี่ยวกับหอภาพยนตร์ทางโทรทัศน์  และแนะนำให้นำของต่าง ๆ มามอบให้กับเรา สมบัติทางภาพยนตร์อันมีค่าของนายเนยจึงได้รับการนำมาเก็บรักษาอยู่ที่หอภาพยนตร์เพื่อเป็นที่เรียนรู้แก่อนุชนตลอดมา ส่วนหนึ่งได้รับการจัดแสดงไว้  ณ  ห้องผู้จัดการโรงหนังอลังการ ในพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย ดังที่กล่าวไว้ในช่วงต้น และที่สำคัญก็คือ  การขึ้นไปรับของถึงโคราชในคราวนั้น ยังทำให้เราได้รับรู้ข้อมูลของนายเนย จากคำสัมภาษณ์ของบุคคลใกล้ชิดในครอบครัวทั้งสามท่าน  ตามเรื่องราวที่ได้เรียบเรียงให้อ่านกันไปทั้งหมดนี้


หากยังมีชีวิตอยู่ เดือนมิถุนายนนี้ นายเนย วรรณงามก็จะมีอายุครบ 122 ปี  หย่อนไปจากการกำเนิดภาพยนตร์ในสยามแค่เพียงปีเดียว  ในยุคสมัยที่ระบบโรงภาพยนตร์เปลี่ยนแปลงจนแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิมอีกต่อไป หอภาพยนตร์ขออุทิศบทความนี้เพื่อรำลึกถึงชายผู้ที่เคยยืนหยัดต่อสู้อยู่ในธุรกิจโรงภาพยนตร์แบบเก่า และเติบโตขึ้นมาด้วยวงจรของโลกมายาแห่งภาพยนตร์โดยแท้


ภาพ : เจ้าหน้าที่หอภาพยนตร์ รับมอบของจากประณีต ชาญศิลป์ (ซ้ายสุด) ลูกสาวของนายเนย วรรณงาม เมื่อ พ.ศ. 2528


*หมายเหตุ: หลังจากที่ต้นฉบับของบทความนี้เผยแพร่ไปเมื่อปี 2556 ผู้เขียนยังได้พบเรื่องราวของนายเนย วรรณงาม เพิ่มเติม จากข้อเขียนของ วสันต์ อัครเดช นักพากย์ผู้ผันตัวมาเป็นนักเขียน ซึ่งเคยพบกับนายเนยตัวจริงและได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า นายเนยนอกจากจะเป็น “คนบันเทิงกระดูกเหล็ก” ที่นักสร้างหนังรายใหญ่ ๆ ต้องรู้จัก ในอดีตนั้นเขายังเคยเป็นผู้ช่วยเหลือกองถ่ายภาพยนตร์ไทยเรื่อง “เมืองสยาม” ซึ่งทางการสยามได้จัดทำขึ้นเพื่อถ่ายทอดประเพณีวัฒนธรรมไทย โดยให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ได้ดำเนินการร่วมมือกับ นายเซียวซองอ๊วน สีบุญเรือง และมีช่างกล้องจากบริษัทฟอกซ์ ร่วมถ่ายทำกับช่างกล้องชาวไทยคือ ประสาท สุขุม  ผู้ที่สนใจสามารถอ่านเรื่องราวของนายเนย วรรณงาม จากคำบอกเล่าของ วสันต์ อัครเดช เพิ่มเติม ได้ในหนังสือ “ละครฅน ๑” ซึ่งหอภาพยนตร์มีให้บริการอยุ่ในห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี หอภาพยนตร์

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด