เชิด ทรงศรี ที่ลืมไม่ลง

ความทรงจำอันงดงามจาก สิทธิรักษ์ ตุลาพิทักษ์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ ที่มีต่อ เชิด ทรงศรี ผู้กำกับหนังไทยผู้เป็นที่รักของผู้คนทุกรุ่นและทุกวงการ
----------


โดย สิทธิรักษ์ ตุลาพิทักษ์
*ตีพิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 35 กันยายน-ตุลาคม พ.ศ. 2559

ผมคงจะเหมือนคนดูหนังไทยอีกมากมายก่ายกอง ที่รู้จักชื่อเสียงความโด่งดังของผู้กำกับ เชิด ทรงศรี จาก แผลเก่า (2520) ผลงานหนังที่สร้างชื่อมากที่สุดและยืนยงคงกระพันในใจนักดูหนังไทยตลอดมา หากพิจารณาจากไทม์ไลน์ ต้องยอมรับว่าชีวิตผมกับคุณเชิด แทบจะไม่น่าต้องมาเกี่ยวข้องรู้จักมักจี่คุ้นเคยกันได้เลย ปีที่คุณเชิดระบือลือลั่นสนั่นบางกับ แผลเก่า ผมยังเป็นแค่เด็กนักเรียนประถม 6 ในโรงเรียนบ้านนอกกันดาร จังหวัดชัยภูมิ ถึงแม้ว่าผมอาจจะเคยดูหนังคุณเชิดมาก่อนหน้านั้น ไม่ว่าจะเป็น พ่อปลาไหล (2514) ความรัก (2516) หรือ พ่อไก่แจ้ (2520) แต่คงเพราะน่าจะเด็กเกินกว่าจะจำจดอะไรได้ หรือความโด่งดังของหนังเหล่านั้นเทียบไม่ได้เลยกับ แผลเก่า ผมก็ไม่ต่างจากเด็กบ้านนอกทั่วไป แตกตื่นฮือฮากับชะตากรรมความรักของไอ้ขวัญ-อีเรียม แห่งท้องทุ่งบางกะปิ

กระทั่งผมกลายเป็นเด็กหนุ่มต่างจังหวัดเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ ผมรู้จักคุณเชิดกับหนังเรื่อง พลอยทะเล (2530) โดยก่อนหน้านั้นทั้ง เลือดสุพรรณ (2523) และ เพื่อนแพง (2526) ผมยังเรียนมัธยมปลายอยู่ที่ขอนแก่น แล้วผมก็มาเห็นตัวเป็น ๆ ของคุณเชิดจริงจังครั้งแรก ตอนคุณเชิดไปโปรโมต ทวิภพ (2533) ที่โรงหนังสยาม สยามสแควร์ แต่ก็เป็นระยะห่างที่ไม่ได้คุ้นเคยจริงจัง รู้จักตัวตนของคุณเชิดก็ตอนชมรมวิจารณ์บันเทิงจัดงานสัปดาห์หนังไทยยอดเยี่ยม ประจำปี 2533 และ ทวิภพ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงหลายรางวัล คุณเชิดก็ไปร่วมงานด้วย ภาพถ่ายคุณเชิดครั้งแรกนั้น ผมบันทึกได้ตรงบันไดทางขึ้นหอประชุมชั้นสองของเอยูเอ ผมเรียก คุณเชิดครับ คุณเชิดหันกลับมามอง ผมเลยได้ภาพนี้ไว้ คุณเชิดยิ้มแล้วบอกว่า เล่นกันตรงนี้เลยเหรอ นั่นคือครั้งแรกที่ได้พูดคุยกับผู้กำกับใหญ่เชิด ทรงศรี ของผม แต่ก็เป็นการพูดคุยสนทนาแบบไม่ได้รู้จักอย่างที่จะอาจหาญเรียก พี่เชิด เหมือนในเวลาต่อมา

ภาพ : เชิด ทรงศรี กับ สิทธิรักษ์ ตุลาพิทักษ์

ผมอาจหาญเรียกคุณเชิดว่าพี่เชิด เมื่อ สุภาพ หริมเทพาธิป กองบรรณาธิการหนังและวิดีโอ ชวนผมไปเยือน เชิดไชยภาพยนตร์ สำนักงานของพี่เชิด ประมาณสิงหาคมหรือกันยายน 2535 ผมไปในฐานะผู้ติดสอยห้อยตาม คือพอรู้ว่าสุภาพนัดหมายพูดคุยถามไถ่ถึงความคืบหน้าหนังใหม่ อำแดงเหมือนกับนายริด (2537) ผมเลยขอติดไปเที่ยวด้วย เพราะนั่นหมายถึงโอกาสไปเยือนถ้ำเสือของพี่เชิด

เชิดไชยภาพยนตร์ ตั้งอยู่ชั้นบนของอาคารพาณิชย์สามชั้น ตรงสี่แยกสุทธิสาร สิ่งที่เห็นเมื่อแรกก้าวขึ้นไป คือห้องหนังสือขนาดใหญ่ นวนิยายเรียงรายเต็มชั้นหนังสือขนาดสองชั้นเท่ากรอบหน้าต่าง มันบอกชัดเจนว่าที่นี่เป็นแหล่งทำงานของนักอ่าน และอย่าแปลกใจว่าทำไมคุณเชิดมีหนังสือนิยายมากมายก่ายกองเต็มตู้หนังสือไปหมด เพราะ ธม ธาตรี เป็นนามปากกาของคุณเชิดในยุทธจักรนักเขียนมายาวนาน

เมื่อสุภาพแนะนำว่าผมทำงานเป็นกองบรรณาธิการที่หนังและวิดีโอด้วยกัน พี่เชิดจำผมได้ (อันนี้ความจริงต้องยอมรับว่า พี่เชิดอาจจำไม่ได้แต่พี่เชิดจำไม่ผิด) ผมไม่ได้ไปสัมภาษณ์พี่เชิด จึงปล่อยให้สุภาพทำงานไป ส่วนผมก็เดินดูข้าวของในห้องทำงานพี่เชิดแทน ผมตื่นตาตื่นใจกับภาพเก่าของสามผู้กำกับระดับตำนาน คือภาพจากหนังสือพิมพ์ที่ถูกขยายให้ใหญ่ติดเต็มฝาผนังห้อง เป็นวันเปิดล้องหนังเรื่องแรกของพี่เชิด โนห์รา (2509) สามผู้กำกับ วิจิตร คุณาวุฒิ ส. อาสนจินดา และ สุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ ให้เกียรติประเดิมกล้อง นี่คือภาพที่พี่เชิดภาคภูมิใจมากและภาพนี้เห็นเด่นชัดเสมอ แถมเก้าอี้นั่งประจำตัวพี่เชิดก็จะหันมองภาพนี้ตลอดเวลาที่นั่งทำงาน (คุณเชิดเป็นนักประชาสัมพันธ์ระดับเขี้ยวลากดินมาก นอกเหนือจากการวาดรูปการ์ตูนลายเส้นของตนเอง หากยังนำเสนอข่าวคราวของหนังที่ตนเองทำได้อย่างเก๋ไก๋มีรสนิยม)



สิ่งที่ผมรู้สึกตั้งแต่แรกคือ พี่เชิดให้เกียรติผู้มาก่อนเสมอ คือเคารพนับถือครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้เรื่องหนังให้ ไม่ใช่แค่เก็บอดีตเพื่อความภาคภูมิใจของตนเอง แต่พี่เชิดเชื่อในครู อันนี้เด่นชัดตลอดเวลาและตลอดมาที่ผมมีโอกาสพูดคุยด้วยในภายหลัง แน่นอนว่าอาจเพราะพี่เชิดอยู่มายาวนานในถนนบันเทิงประเทศนี้ พี่เชิดทำหนังตั้งแต่สมัยหนัง 16 มม. อยู่ข้ามกาลเวลามาเนิ่นนานในธุรกิจหนังไทย และน่าจะเป็นคนทำหนังสิบหกคนสุดท้ายที่ก้าวข้ามมาจนถึงปี 2544 กับหนังเรื่องสุดท้ายในชีวิต ข้างหลังภาพ

แต่ในเวลาเดียวกัน พี่เชิดเลือกคบเด็กเสมอ พี่เชิดมักคบหาพูดคุยกับเด็กรุ่นลูกหลานแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนทำหนังรุ่นใหม่ เพราะพี่เชิดมักพูดเสมอว่า ถ้าผมไม่คบเด็ก ๆ รุ่นพวกคุณแล้ว ผมจะไปหาวิชาความรู้อะไรใหม่ ๆ ได้อย่างไร แน่นอนการไปดูหนังรอบสื่อมวลชนในระยะหลัง พี่เชิดเป็นกลุ่มก๊วนประจำของพวกเรา มีผม คุณประวิทย์ แต่งอักษร คุณมโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ และ คุณอุดม อุดมโรจน์ อีกคน การไปดูหนังของพี่เชิดไม่ได้ไปอย่างขาใหญ่ประกาศศักดาอวดตัวเอง ว่าผู้กำกับระดับตำนานมาดู พี่เชิดไปเงียบ ๆ และล่าถอยไปกินข้าวต้มรอบดึกกับพวกเราอย่างง่าย ๆ แล้วพี่เชิดดูหนังได้หมด ไทย จีน ฝรั่ง ญี่ปุ่น ไม่เกี่ยงเลย ความเป็นนักดูหนังนี่ต้องยอมรับจริง ๆ

เสน่ห์อย่างหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากพี่เชิด คือจงเรียนรู้จากทุกคนที่อยู่รอบตัวคุณ พี่เชิดมักเป็นนักฟังมากกว่าจะพูด แกเคยให้ความเห็นว่า เพราะพี่เชิดอาวุโส อยู่มานาน ถ้าพูดก่อนออกความเห็นคนแรก หลายคนที่เป็นเด็กอาจรู้สึกว่าไม่กล้าแสดงความเห็นต่างหรือพูดความเห็นแย้ง จึงมักฟังเป็นส่วนใหญ่ จะพูดก็ต่อเมื่อทุกคนแสดงความเห็นกันหมดแล้ว หรือมีใครเจาะจงขอให้พี่เชิดแสดงความเห็นเพิ่มเติม แกถึงจะบอกเล่าสิ่งที่ตนเองคิด



จุดเด่นอันสุดท้ายที่ลืมไม่ลงของผมคือ พี่เชิดมักบอกว่าความสำเร็จที่ได้รับตลอดมาในชีวิตการทำหนัง เพราะมีครูดี เพื่อนดี และใครต่อใครล้วนช่วยเหลือเกื้อกูลการทำหนังของพี่เชิดเป็นอย่างดี แต่ผมคิดว่าเพราะพี่เชิดมีมิตรภาพงดงามและความรักที่มอบให้ใครต่อใครมากมาย คนหลายคนจึงยินดีทำงานร่วมกับพี่เชิด แน่นอนว่าเพราะพี่เชิดมาก่อนใคร ๆ เลยเป็นที่รู้จักกว้างขวาง แต่พี่เชิดก็ยึดมั่นทำเฉพาะในแนวทางที่ถนัดชัดเจนและเชื่อมั่น พี่เชิดไม่เคยหนีตัวเองไปทำในสิ่งที่ไม่รู้ หนึ่งในประโยคที่ผมได้ยินและจดจำได้คือ ผมเป็นคนบ้านนอกจากต่างจังหวัด ย่อมรู้จักความเป็นชนบทบ้านนอกท้องทุ่งนาดีกว่าในเมือง ชีวิตผมเลือกทำในสิ่งที่ผมรู้จักคุ้นเคยมันตลอดชีวิต นี่อาจเป็นความหมายที่แจ่มชัดเมื่อมองย้อนกลับไปในผลงานตลอดชีวิตของพี่เชิด

อีกส่วนหนึ่งที่ผมมีโอกาสได้รับรู้ เมื่อครั้งครูใหญ่ กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน จัดอบรมความรู้พื้นฐานภาพยนตร์ให้คนอ่าน ในปีที่ไปใช้ห้องเรียนชั้นล่างของตึกคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ พี่เชิดได้รับการเชื้อเชิญให้ไปเป็นวิทยากรพิเศษ แลกเปลี่ยนในวันสุดท้ายของการอบรม พี่เชิดไปคุยให้ผู้เข้าอบรมฟัง หนึ่งในประโยคที่ผมจำได้คือ พี่เชิดบอกกับคนอบรมว่าพวกคุณโชคดีมาก มีคนมาชี้แนะให้ความรู้ สมัยผมต้องดิ้นรนหาความรู้เอง ไม่มีใครมาช่วยเหลือแนะนำแบบนี้ มีอาจารย์หาข้อมูลความรู้มาให้ แต่ยังไงก็อย่าเรียกผมอย่างอื่นนะ ขอให้เรียกพี่เชิด ผมไม่ได้เป็นครูบาอาจารย์สอนใคร เรียกแค่พี่เชิดก็พอ มุกนี้เล่นเอาคนทั้งห้องหัวเราะลั่น

ทั้งหมดเป็นความทรงจำงดงามต่อพี่เชิด สำหรับผม ความจริงยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกมากมายที่ได้เรียนรู้จากพี่เชิด ซึ่งแกอาจไม่ได้ตั้งใจบอกจงใจสอนให้คำแนะนำอย่างตรงไปตรงมา แต่เมื่อพบปะสนทนาคุ้ยเคยสนิทสนมกันมากเข้า ก็จะซึมซับรับรู้ได้เอง พี่เชิดแม้จะเก่าเพราะเกิดมาก่อน อยู่มานาน เก็บอดีตไว้มากมาย ผมไม่แปลกใจเลยแม้แต่นิดถ้าข้าวของจิปาถะที่พี่เชิดเก็บรวบรวมไว้ จะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ชั้นดีให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ศึกษา และเชื่อว่าพี่เชิดคงมีความสุขที่มีคนได้สืบทอดส่งต่อในสิ่งที่พี่เชิดเก็บสะสมเอาไว้มาตลอดชีวิตการเป็นคนทำหนัง

สำหรับผมทุกครั้งที่นึกถึงพี่เชิด ทรงศรี ก็มีแต่ความงดงามในความทรงจำและหลายเรื่องราวที่ไม่อาจลืมเลือนไปได้ แม้ว่าพี่เชิดอาจไม่ได้ต้องการให้ใคร ๆ จดจำชีวิตของตนเองแบบพิเศษมากมายนัก เพียงแต่คนที่รู้จัก เชิด ทรงศรี ยากยิ่งนักที่จะลืมเลือนผู้ชายคนนี้ได้ เชิด ผู้ทรงศรีแห่งความเป็นไทย

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด