มรดกแห่งสุภาพบุรุษหนังไทย: 100 ปี แท้ ประกาศวุฒิสาร

เรื่องราวของ แท้ ประกาศวุฒิสาร นักสร้างภาพยนตร์ไทยผู้มีอายุยืนยาวถึง 100 ปี (26 เมษายน 2461 - 12 สิงหาคม 2561)  ที่ไม่เพียงแต่จะประกอบสร้างผลงานและคุณูปการด้านภาพยนตร์ขึ้นมาเป็นเกียรติยศส่วนตัว หากแต่ยังสละแล้วทุกสิ่ง เพื่อให้กลายเป็นมรดกแก่สาธารณชน และเป็นเกียรติภูมิของชาติโดยแท้

------------


โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู

*ตีพิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 48 พฤศจิกายน-ธันวาคม พ.ศ. 2561



วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2561 นับเป็นวาระพิเศษที่ควรค่าต่อการเฉลิมฉลองของวงการภาพยนตร์ไทย เมื่อ แท้ ประกาศวุฒิสาร นักสร้างภาพยนตร์ไทยผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี พ.ศ. 2542 ได้ดำเนินชีวิตมาจนมีอายุครบ 100 ปีบริบูรณ์ 


แต่ช่วงเวลาอันเป็นมงคลนี้กลับดำรงอยู่ได้เพียงไม่นานก็ต้องผันเปลี่ยนไปสู่บรรยากาศแห่งความอาลัยในอีกไม่กี่เดือนต่อมา เมื่อนักทำหนังไทยผู้มีอายุยืนนานที่สุดในประวัติศาสตร์ท่านนี้ได้ถึงแก่กรรมลงอย่างสงบ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2561


แม้ดวงวิญญาณจะล่วงลับ แต่สิ่งที่ แท้ ประกาศวุฒิสาร สร้างสมไว้ให้แก่วงการหนังไทยและสังคมไทยนั้น  ย่อมไม่อาจดับสูญตามไปด้วย เพื่อเผยแพร่ให้เห็นถึงคุณูปการของสุภาพบุรุษหนังไทย ผู้ไม่ได้มีความยิ่งใหญ่แค่เฉพาะการมีชีวิตยืนยาวมาจนครบหนึ่งศตวรรษเท่านั้น จดหมายข่าวฯ ฉบับนี้จึงจะพาผู้อ่านไปพบกับ “มรดก” ที่ แท้ ประกาศวุฒิสาร ทิ้งเอาไว้ในฐานะต่าง ๆ  จากชีวิตอันโลดเต้นและหายใจเข้าออกเป็นงานภาพยนตร์


1. ผู้บันทึกประวัติศาสตร์ด้วยกล้องถ่ายภาพยนตร์


 


จิตวิญญาณการเป็นนักบันทึกภาพของ แท้ ประกาศวุฒิสาร นั้นปรากฏมาให้เห็นตั้งแต่เด็ก เมื่อเขาเริ่มซื้อกล้องถ่ายรูปเองตั้งแต่อายุเพียง 14 ปี และต่อมาขณะเรียนอยู่โรงเรียนเพาะช่าง เขายังได้ตัดสินใจย้ายจากแผนกฝึกหัดครูวาดเขียนมาเรียนวิชาถ่ายรูป รวมทั้งยึดชีวิตช่างถ่ายรูปเป็นอาชีพเริ่มต้น 


ด้วยใจที่รักในภาพยนตร์เช่นเดียวกัน จากช่างถ่ายรูป แท้จึงก้าวไปสู่การเป็นนักถ่ายหนังในเวลาต่อมา โดยนอกจากการถ่ายหนังในอุตสาหกรรมที่ทำให้เขามีชื่อเสียงนั้น  ความเป็น “นักเลงกล้อง” ทั้งโดยฝีมือและสัญชาตญาณ ทำให้เขาได้ใช้กล้องถ่ายภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์สำคัญของประเทศเอาไว้มากมาย ซึ่งบางเรื่องนั้นได้ตกทอดมาสู่คนรุ่นหลัง จนกลายเป็นมรดกความทรงจำของบ้านเมืองและจดหมายเหตุทางประวัติศาสตร์อันมิอาจประเมินค่าได้ 


- น้ำท่วมกรุงเทพ (2485)


 

ภาพ : แท้ ขณะออกไปบันทึกภาพน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี 2485


เดือนตุลาคม พ.ศ. 2485  ขณะที่ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในภาวะสงครามโลก ครั้งที่ 2  ได้เกิดเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ไปทั่วกรุงเทพมหานคร เมื่อถึงระยะที่น้ำท่วมสูงสุด แท้ ประกาศวุฒิสาร วัย 24 ปี ผู้กำลังว่างงาน ได้ลงทุนเสาะหาซื้อฟิล์มภาพยนตร์ซึ่งหาได้ยากยิ่งในช่วงสงครามเพื่อมาบันทึกภาพเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ไว้ ที่สุดแล้วเขาสามารถหาฟิล์ม 16 มม. ขาวดำมาได้ 3 ม้วน จากห้างฮัมบรูกส์-สยาม ของชาวเยอรมัน และเช่าเรือจ้างลำหนึ่งออกตระเวนถ่ายหนังไปทั่วกรุงเทพฯ พร้อมกับเพื่อน ๆ อย่างสนุกสนาน  ทั้งยังได้ถ่ายเหตุการณ์ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั่งเรือมาประชุมสภาฯ ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งปรากฏให้เห็นบุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย อาทิ พระยาพหลพลพยุหเสนา ควง อภัยวงศ์ ประยูร ภมรมนตรี ฯลฯ


จากหนังที่ตั้งใจถ่ายไว้แค่ “ดูเล่นเป็นที่ระลึก” ปัจจุบัน น้ำท่วมกรุงเทพ ของ แท้ ประกาศวุฒิสาร ได้กลายเป็นหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ถึงสภาพบ้านเมืองและผู้คนในมหาอุทกภัยครั้งนั้นที่มีชีวิตชีวาอย่างไม่อาจหาได้จากสื่อบันทึกอื่นใด 


คลิกชม <น้ำท่วมกรุงเทพ


- ประชาธิปัตย์หาเสียง 2489 (2489)


เมื่อเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 5 ของประเทศไทย ในวันที่ 5 สิงหาคม 2489 ท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายนปีเดียวกัน ได้กลายเป็นพรรคแรกในประวัติศาสตร์ที่หาเสียงด้วยวิธีการปราศรัย โดยมีนักปราศรัยคนสำคัญ คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ ม.รว.คึกฤทธิ์ ปราโมช  ในการปราศรัยครั้งหนึ่งที่ลานกว้างหน้าพระปฐมบรมราชานุสรณ์ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งพระนคร  แท้ ประกาศวุฒิสาร ได้นำกล้องถ่ายภาพยนตร์มาบันทึกไว้ โดยหนังปรากฏให้เห็นการขึ้นพูดของพี่น้องตระกูลปราโมชทั้งสองคน รวมทั้งสมาชิกพรรคคนสำคัญอื่น ๆ เช่น ใหญ่ ศวิตชาติ รวมทั้งเห็นภาพประชาชนที่มาร่วมฟังกันอย่างเนืองแน่น นับเป็นภาพยนตร์บันทึกการปราศรัยหาเสียงของไทยที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน


คลิกชม <ประชาธิปัตย์หาเสียง 2489>


- รัฐประหาร 2490 (2490)


ภาพยนตร์บันทึกการก่อรัฐประหารครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อจอมพลผิน ชุณหะวัณนำกำลังทหารยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 และแต่งตั้ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ให้เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งชาติ ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 ในอีกไม่กี่เดือนต่อมา 


เมื่อทราบว่าเกิดการรัฐประหารนี้ขึ้นเมื่อเวลา 05.00 น. แท้ได้รีบคว้ากล้องถ่ายรูปและกล้องถ่ายภาพยนตร์พร้อมด้วยฟิล์ม 16 มม. ไปยังกระทรวงกลาโหม เพื่อถ่ายเหตุการณ์โดยรอบเอาไว้ รวมถึงได้บันทึกช่วงเวลาสำคัญทั้งการแถลงข่าวของจอมพลผิน ชุณหะวัณและภาพบรรดานายทหารที่พากันแบกจอมพล ป. ขึ้นบ่าไปยังห้องประชุม 


ต่อมา เจ้าของโรงภาพยนตร์นิวโอเดียนได้ขอนำภาพยนตร์นี้ไปฉายประกอบเป็นหนังข่าวก่อนหน้าฉายภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องหนึ่ง ซึ่งแท้รับหน้าที่เป็นผู้ฉายด้วยตนเอง และได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เมื่อย่างเข้าสู่การฉายวันที่สาม ขณะที่กำลังจะเริ่มฉายได้มีกลุ่มตำรวจและทหารบุกเข้ามาเชิญตัวแท้ให้นำหนังนี้ไปฉายให้หลวงกาจสงคราม (เทียน เก่งระดมยิง) หนึ่งในหัวหน้าคณะรัฐประหารดูก่อนที่วังสวนกุหลาบ (นัยว่าเพื่อเซ็นเซอร์ แม้ตามกฎหมายหนังข่าวไม่ต้องผ่านเซ็นเซอร์) เมื่อชมเสร็จ หลวงกาจสงครามได้กล่าวว่า “ไม่เห็นมีอะไรเลย เอาไปฉายได้” พร้อมทั้งเขียนข้อความอนุญาตและเซ็นชื่อกำกับให้ แท้ ประกาศวุฒิสาร เดินทางกลับนำภาพยนตร์มาฉายให้คนดูได้ทันหลังจากที่หนังเรื่องยาวจบ


คลิกชม <รัฐประหาร 2490


- พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 8 และ พระราชพิธีบรมราชาภิเศก รัชกาลที่ 9 (2493)


 

ภาพ : แท้ กับช่างภาพในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 8



แท้ ประกาศวุฒิสาร เป็นผู้ที่ได้มีโอกาสบันทึกภาพเหตุการณ์เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9  อยู่บ่อยครั้ง โดยครั้งสำคัญครั้งหนึ่งคือ เมื่อครั้งที่ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดําเนินประพาสสําเพ็ง ในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2489 อันนำไปสู่การสมานฉันท์ระหว่างคนไทยกับคนจีนที่เกิดข้อขัดแย้งกันขึ้นภายหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2  เมื่อตัดต่อเสร็จ แท้ได้รับแจ้งว่า ในหลวงรัชกาลที่ 8 ทรงมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 แต่เมื่อถึงวันนัดหมาย เขากลับต้องพบกับข่าวร้ายที่เศร้าสะเทือนใจชาวไทยทั้งประเทศ เมื่อพระองค์เสด็จสู่สวรรคตในเช้าวันนั้น


ต่อมา ปี พ.ศ. 2493 มีพระราชพิธีสำคัญเกิดขึ้น คือ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 8  ในวันที่ 29 มีนาคม 2493 และ พระราชพิธีบรมราชาภิเศก ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493  แท้ได้ทำหน้าที่บันทึกภาพงานพระราชพิธีภายนอกทั้งสองงานโดยตลอด และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องที่เขาถ่ายด้วยฟิล์มสี Kodachrome 16 มม. นี้ มาประมวลเข้ากับภาพพระราชพิธีภายในส่วนพระองค์ ที่ถ่ายเป็นภาพยนตร์ 16 มม. ขาวดำ เพื่อนำออกฉายให้ประชาชนดูที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง นับเป็นภาพยนตร์ส่วนพระองค์ชุดแรกที่ออกฉายสู่สาธารณชน  หลังจากนั้น แท้ ประกาศวุฒิสาร ได้นำไปจัดฉายตามต่างจังหวัดทั่วประเทศ และเมื่อฉายเสร็จแล้ว จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายส่วนที่เป็นภาพยนตร์สีที่เขาถ่ายทั้งหมด รวมทั้งภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์เสด็จฯ สำเพ็ง แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ก่อนที่จะมอบเศษฟิล์มภาพยนตร์บันทึกพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 8 ที่คงเหลือจากการตัดต่อ ให้แก่หอภาพยนตร์ในเวลาต่อมา ซึ่งแม้จะไม่ครบสมบูรณ์ แต่ก็ถือเป็นหนึ่งในจดหมายเหตุเกี่ยวกับพระราชพิธีประวัติศาสตร์นี้ ที่มีคุณค่ายิ่งสำหรับผู้คนในยุคปัจจุบัน


คลิกชม <พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 8>


-รถรางวันสุดท้าย (2511)


วันที่ 30 กันยายน 2511 เป็นวันสุดท้ายที่รถรางในกรุงเทพมหานครที่เปิดใช้งานมากว่า 80 ปี ได้ออกรับส่งผู้โดยสาร แท้ ประกาศวุฒิสาร ผู้ใช้บริการรถรางมาตั้งแต่เป็นนักเรียน จึงได้ออกตระเวนทั่วกรุงเทพฯพร้อมกับ โสภณ เจนพานิช ช่างถ่ายภาพยนตร์ ในวันที่ 30 กันยายน เพื่อบันทึกภาพรถรางสายที่ออกวิ่งรอบเมือง โดยพวกเขาได้บันทึกภาพการวิ่งของรถรางสายนี้ ตั้งแต่สะพานผ่านฟ้า พระบรมมหาราชวัง สนามหลวง วัดโพธิ์ ฯลฯ จนไปสุดที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า นับเป็นบันทึกความทรงจำครั้งสำคัญของสังคมไทยและประวัติศาสตร์การขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานคร


คลิกชม <รถรางวันสุดท้าย>


 2. ผู้สร้างปรากฏการณ์สำคัญแก่วงการหนังไทย



ภาพ : สุภาพบุรุษเสือไทย กับการปฏิวัติอุตสาหกรรมหนังไทย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 

 

การเข้ามาของสงครามโลก ครั้งที่ 2 เมื่อปลายปี พ.ศ. 2484 ส่งผลให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยที่กำลังเฟื่องฟูต้องซบเซาลงไป และแม้สงครามจะสิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2488 จนล่วงเลยมาถึง พ.ศ. 2491 แล้วก็ตาม วงการภาพยนตร์ก็ยังคงตกต่ำอย่างสุดขีดเมื่อมีภาพยนตร์ไทยออกฉายราว 4-5 เรื่องเท่านั้น ตลอดระยะเวลา 3 ปี


วันหนึ่ง ในปี 2491 แท้ ประกาศวุฒิสาร ได้มีความคิดจะสร้างหนัง โดยร่วมมือกับ ม.จ.ศุกรวรรณดิศ ดิศกุล หรือ “ท่านศุกร์” นักสร้างภาพยนตร์ที่รู้จักกันมายาวนาน  โดยตกลงกันนำเรื่องของ “เสือไทย” มาสร้างเป็นภาพยนตร์สี 16 มม. พากย์สด ในนามปรเมรุภาพยนตร์ของท่านศุกร์  ซึ่งแท้ได้เสนอให้ไปถ่ายทำที่จังหวัดราชบุรีบ้านเกิดของตน และด้วยความเป็นคนกว้างขวางและรู้จักภูมิประเทศในบ้านเกิดอย่างดี รวมทั้งเต็มไปความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ของแท้ ส่งผลให้การถ่ายทำตลอด 3 เดือนเป็นไปอย่างราบรื่น โดยมีเขาเป็นกำลังสำคัญนอกเหนือไปจากการทำหน้าที่ช่างภาพ และเป็นผู้ตั้งชื่อเรื่องว่า  สุภาพบุรุษเสือไทย


อย่างไรก็ตาม ก่อนนำออกฉายรอบพิเศษที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง พวกเขากลับประสบปัญหาใหญ่เรื่องนักพากย์ จนสุดท้าย แท้ได้ตัดสินใจกับท่านศุกร์ว่าพวกเขาและทีมงานจะพากย์และทำเสียงประกอบกันเอง แม้จะเป็นการเสี่ยงอย่างยิ่ง แต่ปรากฏว่า สุภาพบุรุษเสือไทย ซึ่งพากย์โดยนักพากย์สมัครเล่น และนำแสดงโดยนักแสดงที่ยังไม่มีชื่อเสียงในวงการภาพยนตร์นัก คือ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ และ สอางค์ ทิพยทัศน์ กลับประสบความสำเร็จอย่างเกินคาด ทำรายได้ถึง 315,998 บาท จากการฉาย 96 รอบ ใน 21 วัน ซึ่งนับว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ลบสถิติของหนังทุกเรื่องและทุกชาติที่เข้าฉายก่อนหน้านั้น 

 

หลังจากความสำเร็จในเมืองหลวง แท้และทีมพากย์ก็พา สุภาพบุรุษเสือไทย ออกอาละวาดตามโรงหนังในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ จนครบทุกภูมิภาคในเวลา 6-7 เดือน ซึ่งต่างก็ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามเนืองแน่นทุกที่ แม้หนัง 16 มม. พากย์สด นี้จะเริ่มมีผู้สร้างมาบ้างแล้วตั้งแต่ก่อนสงครามโลก ครั้งที่ 2 แต่ก็ยังไม่ได้เป็นที่นิยมและประสบความสำเร็จมากนัก  จนกระทั่งเมื่อแท้ได้  “ปล่อยเสือเข้าโรง” จนเป็นที่โจษจันไปทั่ว  หนังรูปแบบนี้ก็ได้กลายเป็นแม่บทให้ผู้สร้างหนังไทยเอาเป็นแบบอย่างต่อเนื่องมาอีกกว่ายี่สิบปี แทนที่หนังมาตรฐาน 35 มม. ที่เคยสร้างกันมาก่อนหน้า เพราะประหยัดกว่า สะดวกกว่า และยังทำเงินได้มาก ในขณะเดียวกันตำนานปรากฏการณ์ สุภาพบุรุษเสือไทย ก็กลายเป็นที่เลื่องลือเล่าขานกันในสังคมไทยมาอีกนานหลายปี และมีผู้สร้างหนัง “เสือ” ตามมาอีกมากมาย ส่วนแท้นั้น หลังจากความสำเร็จใน สุภาพบุรุษเสือไทย ต่อมา เขาก็ได้ก้าวขึ้นมาตั้งบริษัทสร้างภาพยนตร์ของตนเองนามว่า “ภาพยนตร์ไทยไตรมิตร” ประเดิมด้วย สาวเครือฟ้า ออกฉายต้นปี พ.ศ. 2496 ซึ่งใช้ทีมพากย์ชุดเดียวกับ สุภาพบุรุษเสือไทย และได้รับความนิยมไม่แพ้กัน


สุภาพบุรุษเสือไทย อันเกิดจากความคิดของ แท้ ประกาศวุฒิสาร นี้ จึงนับเป็นภาพยนตร์ที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการเข้ามาปลุกวงการหนังไทยให้ตื่นขึ้นจากพิษสงครามโลก ครั้งที่ 2  อย่างแท้จริง


คลิกชมภาพยนตร์ <เบื้องหลังสุภาพบุรุษเสือไทย> และ <เบื้องหลังสาวเครือฟ้า>


-ผู้นำด้านนวัตกรรมในการโฆษณาหนังไทย


ความโดดเด่นอย่างหนึ่งของ แท้ ประกาศวุฒิสาร คือการเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมในวงการภาพยนตร์ไทยอยู่เสมอ โดยเฉพาะการโฆษณาหนัง เริ่มตั้งแต่เมื่อครั้งโฆษณา สุภาพบุรุษเสือไทย ที่เขาได้เกิดความคิดจัดพิมพ์รูป สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ ในบทบาทเสือไทย พร้อมข้อความพาดหัวว่า “นําจับ ค่าหัว 5,000 บาท” แบบใบประกาศนําจับโจรในหนังคาวบอยฝรั่ง ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหม่ในสมัยนั้น แล้วจ้างเด็กออกปิดตามที่ต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ สร้างความฮือฮาให้แก่ชาวกรุงใน พ.ศ. นั้น 

 

ต่อมา ปี พ.ศ. 2501 เมื่อครั้งที่จะนำภาพยนตร์เรื่อง เห่าดง ที่เขาสร้างออกฉาย เขาได้คิดสโลแกนของหนังว่า “บอกตรงตรง เห่าดงดีจริงจริง” ได้โดยบังเอิญ และนำไปจัดทำเป็นสติกเกอร์สะท้อนแสง ไปขออนุญาตติดตามกันชนรถยนต์ จากนั้นจึงได้คิดคืบ โดยมอบหมายให้ สุรพล โทณะวณิก ครูเพลงคนสำคัญแต่งเพลงโฆษณาจากสโลแกนนี้ พร้อมทั้งใส่ชื่อผู้แสดงนำของหนังเอาไว้  สุรพลได้ทำนองเพลง Wear My Ring Around Your Neck ของเอลวิส เพรสลีย์ มาดัดแปลงแต่งเนื้อร้องใหม่ และให้ มีศักดิ์ นาครัตน์ เป็นผู้ขับร้อง 


เพลงโฆษณา เห่าดง นี้ได้กลายเป็นของใหม่ในวงการหนังไทย โดยแท้ได้จัดทำแผ่นเสียงแจกไปออกอากาศตามสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ ส่งผลให้เพลงได้รับความนิยมติดหู ติดใจ ไปจนกระทั่งติดปากผู้คน ถึงขั้นมีการมาขอซื้อแผ่นเสียงไปเก็บเอาไว้ รวมทั้งยังสามารถดึงดูดให้ประชาชนมาดูหนังเรื่องนี้กันที่โรงภาพยนตร์เอ็มไพร์อย่างล้นหลาม จนทำรายได้เกินกว่า 1 ล้านบาท 

 


ภาพ : แท้ และนักแสดงจากสี่คิงส์



การเกิดขึ้นของเพลง “เห่าดง” จึงเป็นเสมือนการปฏิวัติการโฆษณาหนังในเวลานั้น จนผู้สร้างหนังไทยรายอื่นๆ ได้ดำเนินรอยตามขนบนี้ไปอีกนานนับสิบปี  ในขณะที่แท้เองนั้น ก็นำเทคนิคโฆษณาด้วยเพลงนี้ไปใช้ต่อในภาพยนตร์เรื่องถัดมาของเขา คือ สี่คิงส์ (2502) โดยได้เพิ่มเติมด้วยการทำหนังโฆษณาที่แพรวพราวฉายประกอบ มีทั้งการนำภาพผู้ชมแน่นขนัดหน้าโรง มาใส่เข้ากับบรรยากาศภายในโรงรอบปฐมทัศน์ และภาพตัวอย่างหนังที่ตัดต่อสลับระหว่างฉากในเรื่องและฉากที่ให้ตัวแสดงพูดเชิญชวนกับผู้ชม


คลิกชมภาพยนตร์ <บรรยากาศผู้มาชมเห่าดง> และ <ภาพยนตร์โฆษณาสี่คิงส์>


-การร่วมงานกับต่างประเทศ 


 

ภาพ : แท้ กับ Mr. Hartwic ผู้อำนวยการสร้างจากเยอรมนี ในการเซ็นสัญญาร่วมอำนวยการสร้างเรื่อง มือเสือ


นอกจากการสร้างหนังไทย ในช่วงหนึ่งแท้ยังมีบทบาทในฐานะเป็นผู้ร่วมงานกับบริษัทภาพยนตร์ต่างประเทศ เริ่มจาก พ.ศ.2504 เขาได้รับการติดต่อให้รู้จักกับ ฮันส์ เบอร์เทล ผู้กํากับอิสระชาวเยอรมัน ซึ่งมาเมืองไทยเพื่อจะถ่ายภาพยนตร์สารคดี 16 มม. ขาวดํา ไปออกฉายทางโทรทัศน์ที่เยอรมนี โดยแท้ได้เริ่มต้นช่วยเหลือประสานงานให้แก่ฮันส์ในการถ่ายภาพยนตร์กึ่งสารคดี 2 เรื่อง หนึ่งในนั้นคือ ยุทธนา-ศิริพร ซึ่งได้บันทึกภาพสถานที่สำคัญและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยสมัยนั้นผ่านตัวละครคู่รักหนุ่มสาวชาวไทย นับเป็นภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับประเทศไทยผ่านสายตาผู้กำกับต่างชาติที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง  โดยที่แท้ได้รับสำเนาจากฮันส์มา 1 ฉบับ และส่งมอบต่อให้หอภาพยนตร์เก็บอนุรักษ์ไว้ และได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ เมื่อ พ.ศ. 2558 


คลิกชม <ยุทธนา-ศิริพร>


นอกจากนั้น จากการรู้จักกับฮันส์ ทำให้แท้ได้เป็นผู้ร่วมสร้างภาพยนตร์เยอรมันต่อมาอีกหลายปี เช่น มือเสือ (The Black Panther of Ratana) ชุมทางพยัคฆ์ร้าย (The Secret Agent FX 15), จอมมหากาฬทับทิมดํา (The Secret of the Black Ruby)  โดยเขาได้ทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อประสานงานการถ่ายทำในเมืองไทยทั้งหมด รวมทั้งได้สิทธิ์นำหนังเข้าฉายโรงภาพยนตร์ในเมืองไทย นับเป็นประสบการณ์ใหม่ของผู้สร้างหนังไทยในยุคนั้น


คลิกชม <ฉากเพลงเสริมใน มือเสือ>

ภาพ : แท้ ขึ้นไปถ่ายสนามกีฬาที่หัวหมากขณะกำลังก่อสร้าง เพื่อรับงานเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5


ไม่เพียงแต่บริษัทจากเยอรมัน ในช่วงเวลาดังกล่าว แท้ยังได้ร่วมมือกับบริษัทสร้างภาพยนตร์ฮ่องกง ถ่ายทำภาพยนตร์ เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2509 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ  โดยบริษัทภาพยนตร์ไทยไตรมิตรของเขาได้สิทธิ์ในการถ่ายทำแต่เพียงผู้เดียว แต่ในทางปฏิบัตินั้นร่วมมือกับทีมงานฮ่องกง และญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นการถ่ายด้วยฟิล์ม 35 มม. และต้องเช่ากล้องมาจากญี่ปุ่น  แม้จะประสบปัญหาในขั้นตอนโพสต์โปรดักชัน จนภาพยนตร์ต้องออกฉายล่าช้าไปหลายเดือน  ส่งผลให้ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ในการออกฉายที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย แต่กลับได้รับความนิยมพอสมควรในต่างจังหวัด เนื่องจากสื่อโทรทัศน์ยัง ไปไม่ถึง


 - เปิดศักราชใหม่ของหนังไทย 35 มม.


 


แม้จะเป็นผู้บุกเบิกความสำเร็จในการสร้างหนัง 16 มม. พากย์สด แต่แท้ยังมีความคิดที่จะสร้างหนัง 35 มม. มาตรฐานสากลอยู่เสมอ เนื่องจากหนัง 16 มม. นั้น แม้จะทำได้ดีและเป็นที่นิยมเพียงใด ก็ไม่สามารถส่งออกไปฉายต่างประเทศได้  ต่อมา เมื่อได้ร่วมงานกับบริษัทต่างประเทศ ทำให้เขาได้บทเรียน 2 ประการสำคัญที่จะเป็นช่องทางให้สร้างหนัง 35 มม. ในอนาคตได้ ก็คือ 1. เขาได้เรียนรู้จากกองถ่ายหนังเยอรมันว่า แม้จะถ่ายด้วยฟิล์ม 35 มม. ก็มิได้จำเป็นต้องบันทึกเสียงขณะถ่ายทํา แต่ไปพากย์อัดเสียงทีหลังได้  และ 2. การถ่ายทำหนัง 35 มม. เรื่อง เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5 กับทางฮ่องกง ทำให้เขาทราบว่า ที่ฮ่องกงนั้นสามารถล้างและพิมพ์ฟิล์ม 35 มม.ได้แล้วทั้งหมด รวมทั้งมีห้องอัดเสียงให้เช่าด้วย ซึ่งสะดวกกว่าแต่ก่อนที่ผู้สร้างหนังไทยต้องส่งไปล้างและพิมพ์ไกลถึงญี่ปุ่นหรืออังกฤษ


เมื่อจบจากการทำเรื่อง เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5  แท้ได้ตั้งหลักด้วยการทำหนัง 16 มม. เรื่องสุดท้ายคือ เจ้าหญิง ออกฉายในปี 2512 จากนั้นจึงเตรียมการใหญ่ในการประเดิมสร้างหนัง 35 มม. เรื่องแรก โดยไปขอเรื่อง เมืองแม่หม้าย ที่บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ผู้บุกเบิกหนังไทยยุคก่อนสงครามโลก เคยสร้างและประสบความสำเร็จมาแล้วในอดีต โดยแท้ได้ดัดแปลงบทประพันธ์ใส่สีสันใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย และวางแผนเด็ด ด้วยการไปติดต่อโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งกำลังจะปิดปรับปรุง 3 เดือน ว่าให้รับหนัง 35 มม. เรื่องแรกของเขานี้ประเดิมฉายเป็นโปรแกรมแรกหลังจากเปิดโรงใหม่ 


เมื่อได้ออกฉายเป็นโปรแกรมต้อนรับปีใหม่ พ.ศ. 2513 เมืองแม่หม้าย  สามารถกวาดรายได้เกินกว่าหนึ่งล้านบาท จนโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงได้จัดทำโล่ให้เป็นเกียรติแก่ แท้ ประกาศวุฒิสาร แต่ในความเป็นจริงนั้นเขากลับขาดทุนย่อยยับ เพราะลงทุนสร้างมหาศาลถึง 2.5 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการทำหนัง 35 มม. ในเมืองไทย เนื่องจากในปีเดียวกันนั้น ได้มีหนัง 35 มม. ที่สำคัญออกตามมาอีก 2 เรื่อง คือ มนต์รักลูกทุ่ง ของรังสี ทัศนพยัคฆ์ และ โทน  ของ เปี๊ยก โปสเตอร์ ซึ่งได้รับความนิยมจนเป็นจุดเปลี่ยนให้หนัง 16 มม. สูญพันธุ์ไปในอีกไม่กี่ปีต่อมา รวมทั้งการค้นพบแล็บล้าง-พิมพ์ฟิล์ม 35 มม. ที่ฮ่องกงของแท้ ก็มีส่วนช่วยให้ผู้สร้างหนังไทยสามารถสร้างหนัง 35 มม. ได้สะดวกง่ายดายขึ้น และฮ่องกงจึงกลายเป็นแหล่งทำโพสต์โปรดักชั่นเกือบทุกเรื่องของวงการหนังไทยนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ภาพ แท้ ขณะดูงานที่ UNIVERSAL LABORATORY LIMITED ฮ่องกง


3. ผู้สนับสนุนหอภาพยนตร์

จุดเริ่มต้นของแท้ ประกาศวุฒิสาร และหอภาพยนตร์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2531 ระหว่างไปร่วมงานฌาปนกิจศพ ทวี ณ บางช้าง หรือ มารุต ผู้กำกับเรื่อง สาวเครือฟ้า แท้ผู้กำลังอยู่ในวัยเกษียณ ได้พบกับ ขจรศักดิ์ สงมูลนาค เจ้าหน้าที่หอภาพยนตร์ในขณะนั้น ซึ่งได้แนะนำเรื่องราวของหอภาพยนตร์ให้แท้ได้รู้จัก ต่อมาไม่นาน แท้ได้บังเอิญชมรายการโทรทัศน์ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับหอภาพยนตร์ซึ่งเพิ่งเริ่มก่อตั้งได้ประมาณ 4 ปี เขาจึงเกิดศรัทธาในการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เห็นคุณค่าของภาพยนตร์ และคิดใคร่ครวญถึงงานภาพยนตร์ที่ตนเองทำด้วยความรักมาทั้งชีวิต แต่ไม่เห็นแววว่าจะมีลูกหลานคนใดมาสานต่อ


 

ภาพ : จดหมายที่แท้เขียนถึง ขจรศักดิ์ สรงมูลนาค เจ้าหน้าที่หอภาพยนตร์แห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2531


เมื่อเห็นสมควรที่จะมอบภาพยนตร์และสิ่งอันมีคุณค่าทางใจต่าง ๆ ที่สะสมและหวงแหนเอาไว้มานานให้แก่หอภาพยนตร์ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองสืบไป แท้จึงได้เขียนจดหมายถึงขจรศักดิ์ และรวบรวมสิ่งของบางส่วนเดินทางมาหอภาพยนตร์เป็นครั้งแรกในวันที่ 9 สิงหาคม 2531 เมื่อเขาได้มาเห็นสปิริตและความอุตสาหะของเจ้าหน้าที่หอภาพยนตร์ ซึ่งขณะนั้นยังคงเป็นเพียงหน่วยงานราชการเล็ก ๆ ตั้งอยู่บริเวณถนนเจ้าฟ้า แท้ก็เกิดความรู้สึกวางใจ และค่อย ๆ นำสิ่งของที่เคยถนอมรักษาเอาไว้มามอบให้อยู่เสมอจนหมด รวมทั้งยังช่วยเสาะแสวงหาสิ่งที่ตัวเองไม่มีจากเครือข่ายที่เคยรู้จักมาให้ด้วย 


นับตั้งแต่นั้น แท้ ประกาศวุฒิสาร ก็ได้กลายเป็นเสมือนญาติผู้ใหญ่คนสนิทของชาวหอภาพยนตร์ ที่คอยแวะมาเยี่ยมเยียนให้คำปรึกษา ถ่ายทอดความรู้ ตลอดจนส่งกำลังใจมาให้ด้วยความเมตตา แม้ต่อมาใน พ.ศ. 2541 หอภาพยนตร์จะได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ที่ศาลายาก็ตาม ความผูกพันนี้มีขึ้นมายาวนานตลอด 30 ปี ตราบจนปีสุดท้ายของชีวิต  สิ่งละอันพันละน้อยแต่มีคุณค่าอย่างใหญ่หลวงที่แท้มอบให้หอภาพยนตร์เก็บอนุรักษ์ไว้นั้น มีตั้งแต่ผลงานภาพยนตร์ของเขาที่ยังคงเหลืออยู่ รูปถ่ายเกี่ยวกับวงการหนังไทยกรุใหญ่ ใบปิดหนัง โชว์การ์ด บทพากย์ อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์ สมุดรายได้ภาพยนตร์ และเอกสารต่าง ๆ รวมแล้วกว่า 300 รายการ


ไม่เพียงแต่มอบให้ ความเป็นนักจดบันทึกหรืออาจจะได้ชื่อว่าเป็นนักจดหมายเหตุของแท้ ยังเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นบันทึกลายมือที่เขาจดไว้ตามรูปถ่ายหรือเอกสารต่าง ๆ จำนวนมาก เสียงบรรยายที่เขาทำประกอบภาพยนตร์บางเรื่อง และที่สุดคือ ความรู้และประสบการณ์ในวงการภาพยนตร์ที่สั่งสมมาเกือบครึ่งชีวิต ซึ่งเขาได้ถ่ายทอดออกมาอย่างละเอียดละออและมีชีวิตชีวา เป็นหนังสือเล่มหนาที่มีชื่อว่า “สุภาพบุรุษเสือแท้”  จึงอาจกล่าวได้ว่า องค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ทั้งหลายที่หอภาพยนตร์มีไว้ให้ผู้คนได้ศึกษานั้น ไม่อาจจะเติมเต็มสมบูรณ์ได้เลยถ้าไม่ได้รับการประสาทวิชาจาก แท้ ประกาศวุฒิสาร


เนื่องในวาระ 100 ปีของสุภาพบุรุษหนังไทยผู้ยิ่งใหญ่  หอภาพยนต์จึงขออุทิศหน้ากระดาษเหล่านี้ เพื่อประกาศเกียรติคุณและแสดงความเคารพแด่ แท้ ประกาศวุฒิสาร ผู้ที่ไม่เพียงแต่จะประกอบสร้างผลงานและคุณูปการด้านภาพยนตร์ขึ้นมาเป็นเกียรติยศส่วนตัว หากแต่ยังสละแล้วทุกสิ่ง เพื่อให้กลายเป็นมรดกแก่สาธารณชน และเป็นเกียรติภูมิของชาติโดยแท้

 

ภาพ : แท้ กับเจ้าหน้าที่หอภาพยนตร์แห่งชาติในอดีต


กาลานุกรม 100 ปีแห่งชีวิต แท้ ประกาศวุฒิสาร



2461 - เกิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี


2477 - เข้าศึกษาแผนกฝึกหัดครูวาดเขียน ที่โรงเรียนเพาะช่าง และย้ายมาเรียนวิชาช่างถ่ายรูปในเวลาต่อมา


2478 - เป็นช่างถ่ายภาพนิ่งให้กองถ่ายหนังเรื่อง กะเหรี่ยงไทรโยค (35 มม.) ได้ศึกษาเทคนิคทางภาพยนตร์กับ ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต (เปล่ง  ฟีลาเนีย) ผู้กำกับและผู้บุกเบิกวงการหนังไทย


2479 - ทำงานเป็นช่างถ่ายภาพและภาพยนตร์  16 มม. ที่กองถ่ายรูป กรมแผนที่ทหารบก 


2480 - เป็นช่างภาพและทำหนังสือ “ท่องเที่ยวสัปดาห์” แผนกส่งเสริมการท่องเที่ยว กระทรวงพาณิชย์ 


2483 - ทำงานถ่ายภาพและภาพยนตร์ ที่บริษัท สหศีนิมา จำกัด


2485 - ทำงานเป็นช่างถ่ายภาพยนตร์ของกองภาพยนตร์ทหารอากาศ ได้ไปบันทึกเหตุการณ์การรบของทหารไทยในกองทัพพายัพ 


2487 - เป็นผู้ช่วยถ่ายภาพยนตร์ (35 มม.) ของกองภาพยนตร์ทหารอากาศ เรื่อง สงครามเขตหลัง หรือ บินกลางคืน (ถ่ายไม่จบ)


2488 - เปิดร้านถ่ายรูปไทยไตรมิตร และเป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” 


2491 - ร่วมสร้าง สุภาพบุรุษเสือไทย (16 มม.) กับ ม.จ. ศุกรวรรณดิศ ดิศกุล


2495 -  สร้าง สาวเครือฟ้า เป็นเรื่องแรกในนามบริษัทภาพยนตร์ไทยไตรมิตร


2499 - สร้าง ปาหนัน (16 มม.)


2501 - สร้าง เห่าดง (16 มม.)


2502 - สร้าง สี่คิงส์ (16 มม.)


2503 - สร้าง เสือเฒ่า (16 มม.)


2504-2508 - เป็น Co-Producer ให้บริษัทสร้างภาพยนตร์จากเยอรมัน


2508 - สร้าง ชายชาตรี (16 มม.)  


2509 - ได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทำภาพยนตร์ “เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5” (35 มม.)


2512 - สร้าง เจ้าหญิง (16 มม.), เมืองแม่หม้าย (35 มม.) 


2514 - สร้าง แก้วสารพัดนึก  (35 มม.)


2515 - สร้าง เจ้าลอย (35 มม.)


2516 - ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ใช้เพลงและชื่อภาพยนตร์ ความฝันอันสูงสุด ภายหลังเปลี่ยนเป็น ชาติเหนือชีวิต  แต่ยังดำเนินงานสร้างไม่สำเร็จ จึงล้มเลิกและถอนตัวจากวงการภาพยนตร์


2536 - ได้รับรางวัล “เกียรติคุณแห่งความสำเร็จ” จากชมรมวิจารณ์บันเทิง


2542 - ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง


2561 - มีอายุครบ 100 ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 26 เมษายน และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม


คลิกเพื่อชม <Playlist ภาพยนตร์แท้ ประกาศวุฒิสาร>



หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด