ภาพยนตร์สยาม นิตยสารภาพยนตร์เล่มแรกของไทย

ในยุคสมัยที่สิ่งพิมพ์และนิตยสารภาพยนตร์ไม่รุ่งเรืองเหมือนแต่ก่อนด้วยความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เราย้อนไปดู “ภาพยนตร์สยาม” นิตยสารภาพยนตร์ฉบับแรกที่มีการตีพิมพ์ในประเทศไทย ซึ่งออกวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2465 และสร้างความบันเทิงให้แก่แฟนภาพยนตร์ในเมืองไทยยุคแรก ๆ  ตลอดระยะเวลา 3 ปี 

-------------- 


โดย วิมลิน มีศิริ

*ปรับปรุงเนื้อหาจากฉบับที่เผยแพร่ลงในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 8 มีนาคม – เมษายน พ.ศ 2555



ทำความรู้จักทักทายกับภาพยนตร์สยาม



ภาพ : นิตยสารภาพยนตร์สยาม เล่มที่ 15 ปี 2 วันที่ 13 กรกฎาคม 2466

จากปีพุทธศักราช 2440 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 123 ปี ของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ในประเทศไทย และมีลำดับเหตุการณ์หนึ่งที่ต้องบันทึกไว้ คือ “ภาพยนตร์สยาม” นิตยสารด้านภาพยนตร์ฉบับแรกของไทยได้วางจำหน่ายฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อวันเสาร์แรกของเดือนเมษายน พุทธศักราช 2465  และออกจำหน่ายทุกวันเสาร์ ในราคาเล่มละ 30 สตางค์ เจ้าของ คือ นายเซียวซองอ๊วน สีบุญเรือง แห่งสยามภาพยนตร์บริษัท ซึ่งบริษัทนี้เป็นราชาธุรกิจโรงภาพยนตร์ของยุคนั้น มีโรงภาพยนตร์ในเครือมากมาย ครอบคลุมทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ อีกทั้งการสั่งซื้อภาพยนตร์เกือบทั้งประเทศแต่เพียงผู้เดียว เพื่อเข้าฉายโรงภาพยนตร์ในเครือของสยามภาพยนตร์บริษัท รวมถึงนิตยสารภาพยนตร์สยามมีการบอกรับสมาชิก อัตราค่ารับนิตยสาร 1 ปี 12 บาท /  6 เดือน 7 บาท / 3 เดือน 4 บาท สำหรับในยุคต้นของนิตยสารเล่มนี้ ผู้ที่เป็นบรรณาธิการคนแรกของภาพยนตร์สยาม คือ นายหอม นิลรัตน์ ณ อยุธยา ตั้งแต่เล่ม 1 ถึง เล่ม 40 หลังจากนั้น นายต่วน ยาวะประภาษ ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการ จนถึงเล่ม 35 ปีที่ 3 พุทธศักราช 2467 ซึ่งภาพยนตร์สยาม สร้างความบันเทิงให้วงการภาพยนตร์ โดยวางจำหน่ายเป็นระยะเวลา 3 ปี จนกระทั่งปิดฉากการพิมพ์และวางจำหน่ายชื่อนิตยสารเล่มนี้ แต่เรื่องราวของภาพยนตร์สยามยังไม่จบ เพราะเราจะเปิดนิตยสารภาพยนตร์เล่มนี้อ่านด้วยกัน


เปิดเล่ม “ภาพยนตร์สยาม”




รูปเล่มภายนอกของภาพยนตร์สยาม หน้าปกพิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตพิมพ์สี เนื้อในเป็นกระดาษปอนด์ โดยหน้าปกมักเป็นดาราภาพยนตร์ดาวเด่นในช่วงเวลานั้น ยกตัวอย่าง  นางสาวสุวรรณ ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่แสดงโดยคนไทย ได้แก่ นางเอก แสดงโดย นางสาวเสงี่ยม นาวีเสถียร/ พระเอก แสดงโดย ขุนรามภรตศาสตร์ / ดาวร้าย แสดงโดย หลวงภรตกรรมโกศล บุคคลทั้ง 3 ท่านล้วนได้ขึ้นปกภาพยนตร์สยามมาแล้วทั้งสิ้น เช่น ขุนรามภรตศาสตร์ ขึ้นปกหน้าเมื่อ เล่ม 15 ปีที่ 2 วันที่ 13 กรกฎาคม พุทธศักราช 2466 เป็นต้น และเมื่อเปิดเข้าไปภายในเล่มของภาพยนตร์สยาม ประกอบไปด้วย การโฆษณาสินค้า บริษัท ห้างร้าน ซึ่งบางองค์กรยังเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงจนกระทั่งในปัจจุบันนี้ ส่วนข้อเขียนอื่น ๆ ได้แก่ โปรแกรมการฉายภาพยนตร์ จะแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการฉายภาพยนตร์ เช่น โรงหนังนางเลิ้ง ค่าดู 15 ส.ต.คืนวันเสาร์ที่ 1 ถึง อาทิตย์ที่ 2  ทแกล้วทหาร 3 เกลอ ตอน 11  4 ม้วน  ตลกปาเต๊ะ 1 ม้วน  ตำราไอพิษ ตอน 17-18  4 ม้วน ฯลฯ เป็นต้น นอกเหนือจากข้อเขียนที่กล่าวข้างต้น ยังมีเรื่องราว ประวัติดารา ข่าวความเคลื่อนไหวของดาราดัง เรื่องย่อภาพยนตร์ที่กำลังฉาย และหากเป็นภาพยนตร์ที่โด่งดัง จะตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ต่อเนื่องจนจบ





การตั้งคำถามเพื่อให้ผู้อ่านส่งคำตอบชิงรางวัล การตอบจดหมายจากผู้อ่าน บทความด้านภาพยนตร์ เช่น วิธีภาพยนตร์พลิกแพลง เขียนโดย มัลลิกา ตีพิมพ์เป็นบท ๆ ต่อเนื่องกันในแต่ละเล่ม เช่น บทที่ 3 : ภาพบุตรฝาแฝด เขียนลงในเล่ม 14 ปีที่ 1 วันที่ 3 กรกฎาคม พุทธศักราช 2465 บทความนี้กล่าวถึงเทคนิควิธีการถ่ายทำภาพยนตร์ที่นักแสดงต้องแสดงเป็นฝาแฝดนั้น มีวิธีการถ่ายทำภาพยนตร์อย่างไร ไม่เพียงแต่จะมีเรื่องราวเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่เขียนเป็นร้อยแก้วเท่านั้น ยังมีการเขียนคำประพันธ์จำพวก โคลง ฉันท์ กาพย์กลอน ดังตัวอย่างของบทประพันธ์ชื่อ ดาวแห่งสยาม เขียนโดย นายแคลง คงไผท เล่มที่ 1 ปี 3 พุทธศักราช 2467 หน้า 58 บทประพันธ์ทั้งหน้ากระดาษนั้นกล่าวถึงนางสาวเสงี่ยม นาวีเสถียร นางเอกภาพยนตร์คนแรกของไทยและมีรูปประกอบ ซึ่งข้อความบางส่วนของบทประพันธ์ กล่าวว่า 


อ้า! ดินแลฟ้าอากาส ประสาทสิ่งแรกแปลกหลาย ณ เบื้องบูรพาพราวพราย คือดาราฉายฉาดดวง ประเดิมเริ่มรังสรรค์สฤษดิ์ ร่วมแสงประสิทธิ์โชนช่วง มอบแด่สยามงามปวง ประเทศเขตห้วงแห่งบูรพ์ ห่อนมีดวงใดทันเท่า เกิดเก่าเกิดใหม่มอดสูญ แสงเรือเจือหมองมากมูล พูลแสงดวงเด่นโดยดาว เดียวแห่งแหล่งไทยประเทศ สุกใสในเขตหนหาว เปนเครื่องประดับวับวาว แห่งชาวชนไทยทั่วกัน ฯ 


อีกคอลัมน์หนึ่งที่น่าสนใจ คือ “ภาพยนตร์สยามปาลิเมนต์” เป็นพื้นที่ให้ผู้อ่านได้เขียนจดหมายมาแสดงทรรศนะต่าง  ๆ ตัวอย่างเช่น ความคิดเห็นบางส่วนในคอลัมน์ดังกล่าวของ เล่ม 8 ปีที่ 2 วันที่ 25 พฤษภาคม พุทธศักราช 2466  โดยผู้เขียนจดหมายฉบับนี้ใช้นามแฝงว่า ราชวงศ์ บะหมี่แห้ง


ค้านความเห็น ม้วยเซ็ก (ในเล่ม 7 ปีที่ 2)


“ตั้งแต่เห็นพแนกปาลิเมนต์ได้อุบัติขึ้นมาในหนังสือภาพยนตร์สยาม ข้าพเจ้ายังไม่เคยเขียนจดหมายมาออกความเห็นอะไรกับเขาเลย แต่เมื่อข้าพเจ้าได้มาอ่านความเห็นของม้วยเซ็กในภาพยนตร์สยามเล่มที่ 7 ปีที่สองนี้ ทำให้ข้าพเจ้าออกคลื่นไส้ อย่างพิลึก หนแรกข้าพเจ้าก็หมายว่าจะปล่อยให้ไปเลยตามเลย แต่นี่ม้วยเซ็กยังแถมว่า ถ้าใครไม่เห็นพ้องด้วยก็เชิญตอบทันที เมื่อได้โอกาสเช่นนี้แล้วที่ไหนข้าพเจ้าจะปล่อยให้หลุดมือไปได้ 

ความเห็นของม้วยเซ็กมีความว่า “เขาได้ดูภาพยนตร์เรื่อง ชัยชนะของเปียร์ ซึ่งสแดงโดยแฟรงเมโยแลบาบาราเบดฟอร์ดที่โรงหนังพัฒนากร แลบาบาราเบดฟอร์ดนั้นสวยแลยั่วยวนมากจนเล่นเอาปอดลอย ผู้ดูบางคนถึงกับดูดปากเจียบๆ ก็มี แลคนแก่ก็ต้องร้องอึ้ม น้ำหมากหยด สิ่งเหล่านี้เปนไปไม่ได้เพราะคืนที่

ฉายเรื่องนี้ข้าพเจ้าก็ได้ไปดู แลไม่ได้ยินใครดูดปากเจียบ ๆ เลย เพราะพวกที่ดูกันนั้นไม่เซ่อพอที่จะกระทำอย่างนั้น...........................”




เมื่อผู้อ่านได้รู้จักกับภาพยนตร์สยามแล้ว ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการหนังสือเล่มนี้ได้อย่างไร....ไปรู้วิธีการให้บริการ


ภาพยนตร์สยาม : การให้บริการกรุนิตยสารหายาก


หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้จัดกรุนิตยสารหายากชุดนี้ ให้ผู้ใช้บริการทุกท่านอ่านได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ณ ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี โดยผู้ใช้บริการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ประจำห้องสมุดฯ ทราบถึงวัตถุประสงค์เท่านั้น แล้วผู้ใช้บริการจะได้อ่านนิตยสารชุดนี้ได้อย่างครบอรรถรส 


ในช่วงนี้ ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ยังคงปิดให้บริการเนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019  เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปรกติห้องสมุดฯ จะกลับมาเปิดให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00–17.00 น. เว้นวันหยุดราชการ เพื่อความสะดวกผู้ใช้บริการสามารถนัดหมายล่วงหน้าที่เบอร์โทรศัพท์ 02 482 2014 ต่อ 104 หรือ 121 เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบและจัดเตรียมข้อมูลให้กับท่านในวันที่ท่านมาใช้บริการ


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด