The King of the White Elephant and i พระเจ้าช้างเผือก สามัญภาพยนตร์เพื่อชาติไทยและมนุษยชาติ (4) : ปัจฉิมทัศน์

บทสรุปสถานะความเป็นมรดกภาพยนตร์ของ พระเจ้าช้างเผือก  ภาพยนตร์ไทย ปี พ.ศ. 2484 ของ ปรีดี พนมยงค์ และการพลิกฟื้นคืนชีพกลับมาเพื่อประกาศขันติธรรมและสันติภาพสำหรับมนุษยชาติและโลก

---------

โดย “ข้าพเจ้าเอง”

*ตีพิมพ์ครั้งแรกใน วารสารหนัง: ไทย ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2544 



เป็น “ช้างเผือก” แห่งภาพยนตร์ของชาติ


เมื่อนำฟิล์มภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก ที่ได้รับมอบจากญี่ปุ่นกลับมาประเทศไทย ข้าพเจ้าเกิดความปรารถนาให้มีการยกย่องชื่นชมภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยคิดเห็นว่าภาพยนตร์นี้เปรียบเสมือนเป็น “ช้างเผือก” ของวงการภาพยนตร์ไทย ควรได้รับการขึ้นระวางเป็นภาพยนตร์มรดกของชาติ และควรจะเผยแพร่ให้อนุชนได้ชมกันทั่วไป ข้าพเจ้าเคยเสนอความคิดทำนองนี้เข้าไปในคณะกรรมการตัดสินการประกวดภาพยนตร์แห่งชาติ แต่ดูเหมือนไม่มีใครเข้าใจนัก


จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2537 สภาสากลว่าด้วยภาพยนตร์ โทรทัศน์และการสื่อสารด้านโสตทัศน์ขององค์การยูเนสโก ได้ส่งแบบสอบถามไปยังสมาชิกประเทศทั่วโลก ในหัวข้อ “ศตวรรษแห่งภาพยนตร์” อันเป็นแบบสอบถามเพื่อเก็บข้อมูลสำหรับการจัดงานฉลองร้อยปีภาพยนตร์ ซึ่งกำลังจะมาถึงในปี พ.ศ. 2538 แบบสอบถามนั้นมุ่งถามว่า ในประเทศของท่าน ภาพยนตร์ซึ่งได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นงานชิ้นเลิศแห่งมรดกของชาติคือเรื่องอะไร สร้างโดยใคร ปีอะไร แบบสอบถามได้ส่งผ่านมาทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงศึกษาธิการ และสุดท้ายได้ส่งมาให้หอภาพยนตร์แห่งชาติ กรมศิลปากร เป็นผู้พิจารณา


ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายเป็นจุดสุดท้ายให้ตอบแบบสอบถาม คำตอบของประเทศไทยก็คือภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก สร้างโดย นายปรีดี พนมยงค์ เมื่อปี พ.ศ. 2483


ดูเหมือนว่า คำตอบนี้จะได้รับการตีพิมพ์อยู่ในเอกสารสิ่งพิมพ์ของยูเนสโกซึ่งพิมพ์ออกเผยแพร่ในวาระการฉลอง 100 ปีภาพยนตร์


นอกจากนี้ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2538 อันเป็นการเริ่มต้นฉลองครบรอบศักราชแห่งภาพยนตร์ องค์การยูเนสโกได้จัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่ได้รับการอนุรักษ์แล้วและเป็นภาพยนตร์ที่อยู่ในหัวข้อขันติธรรม ณ สำนักงานใหญ่ องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศไทยได้รับเชิญให้ส่งภาพยนตร์เข้าร่วมงาน ซึ่งหนังสือเชิญได้มาสิ้นสุดที่หอภาพยนตร์แห่งชาติอีกครั้ง และคำตอบก็คือ พระเจ้าช้างเผือก ซึ่งลงตัวอย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้


ภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก จึงได้เดินทางไปอวดธงชาติไทยที่ปารีส ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนชาติไทยไปอวดภูมิปัญญาด้านภาพยนตร์ของชาติ


ปี พ.ศ. 2538 ซึ่งเป็นวาระแห่งการฉลอง 100 ปี ภาพยนตร์ มูลนิธิหนังไทย ในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ได้ขออนุญาต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ จัดตั้ง “รางวัลช้างเผือก” ขึ้นเป็นที่ระลึกแห่งภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก เพื่อประกาศและมอบแก่ภาพยนตร์ที่ชนะเลิศในการประกวดภาพยนตร์นักศึกษาวิชาภาพยนตร์ในประเทศไทย ซึ่งมูลนิธิหนังไทยฯ กำหนดจะจัดเป็นประจำทุกปี โดยเริ่มจัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา นับเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เผยแพร่เกียรติคุณของภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก ไปสู่อนุชนไทย


ในระยะสองสามปีที่ผ่านมานี้ ภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก ของไทย เริ่มเป็นที่รู้จักในนานาชาติ เรียกได้ว่าปรากฏชื่ออยู่ในแผนที่โลกภาพยนตร์แล้ว


ปัจฉิมทัศน์ : ปุนภพ


ปี พ.ศ. 2542 มูลนิธิหนังไทยฯ พยายามเสนอโครงการอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก โดยการทำสำเนาต้นฉบับขึ้นใหม่จากหอสมุดรัฐสภา สหรัฐอเมริกา และพิมพ์ขยายจาก 16 มิลลิเมตร กลับมาเป็น 35 มิลลิเมตร ตามที่สร้างไว้แต่เดิม เพื่อของบประมาณสนับสนุนแบบฉุกละหุกจากคณะกรรมการจัดงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล ฯพณฯ ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นการจัดงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ


พอดีกับเมื่อปลายปี พ.ศ. 2542 เทศกาลภาพยนตร์เอเชียแห่งเมืองโดวิลล์ ประเทศฝรั่งเศส กำลังแสวงหาภาพยนตร์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ไปร่วมฉายในงานเทศกาล ซึ่งกำหนดจัดในเดือนเมษายน พ.ศ. 2543 ข้าพเจ้าได้รับการติดต่อจาก อาจารย์เจราร์ด ฟูเกต์ ชาวฝรั่งเศสซึ่งสนใจศึกษาภาพยนตร์ไทยมานาน ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้แทนของงานเทศกาล ปรึกษาถึงภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ของไทยที่สมควรส่งไปร่วมงาน ที่สุด พระเจ้าช้างเผือก ก็ได้รับเลือกไปฉาย


ข้าพเจ้าเห็นเป็นโอกาสดี จึงลองเสนอให้ทางผู้จัดเทศกาลช่วยสนับสนุนการอนุรักษ์ภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก และฟื้นฟูเป็น 35 มิลลิเมตร เพื่อจัดฉายฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ ที่เทศกาลภาพยนตร์แห่งเมืองโดวิลล์ ซึ่งปรากฏว่าเขาเห็นดีด้วย และตกลงสนับสนุน โดยแสวงหาผู้อุปการะค่าใช้จ่ายในการสั่งพิมพ์สำเนาฟิล์มจากหอสมุดรัฐสภา สหรัฐอเมริกา


แต่การประสานงานและติดต่อกับหอสมุดรัฐสภา ต้องใช้เวลามาก และค่อนข้างซับซ้อน ไม่สามารถทำได้ทันฉายในเทศกาลที่โดวิลล์ ทางผู้จัดต้องขอยืมสำเนา 16 มิลลิเมตรจากหอสมุดรัฐสภาไปฉายก่อน


ข้าพเจ้าคิดว่า ความหวังในการอนุรักษ์และฟื้นฟูฟิล์ม พระเจ้าช้างเผือก เป็น 35 มิลลิเมตรอีกครั้งคงจะสลายไปแล้ว เพราะเวลาผ่านเลยไปหนึ่งปีเต็มอย่างเงียบ ๆ


ระหว่างนี้เอง หอภาพยนตร์แห่งชาติ กรมศิลปากร ได้รับการติดต่อจาก หอภาพยนตร์แห่งชาติ ฮ่องกง ซึ่งเพิ่งมีโครงการจัดตั้งขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ และกำลังจะจัดงานฉลองการขึ้นตึกใหม่และพิธีการเปิดอย่างเป็นทางการ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 เพื่อขอให้หอภาพยนตร์แห่งชาติของไทย ส่งภาพยนตร์ล้ำค่าที่เราอนุรักษ์ไว้ไปร่วมรายการฉายภาพยนตร์เพื่อฉลองการเปิดหอภาพยนตร์ฮ่องกง ข้าพเจ้าส่งชื่อภาพยนตร์สารคดีเรื่อง พระราชพิธีฉลองพระนคร 150 ปี ของบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงไปร่วมงาน เพราะคิดว่าเป็นตัวอย่างผลงานที่น่าภูมิใจได้ของหอภาพยนตร์ไทย เพราะเราสามารถอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์นั้นไว้ได้ด้วยศักยภาพของเราเอง และภาพยนตร์นั้นก็เป็นผลงานของคณะผู้บุกเบิกการสร้างภาพยนตร์ไทย แต่ทางฮ่องกงได้ตอบกลับมาว่า เขาอยากได้ พระเจ้าช้างเผือก เพราะได้ยินกิตติศัพท์ชื่อเสียง ข้าพเจ้าจำใจปฏิเสธและแนะนำให้เขาติดต่อขอยืมฟิล์มภาพยนตร์จากหอสมุดรัฐสภา สหรัฐอเมริกา ซึ่งก็ได้รับความอนุเคราะห์สมความต้องการ


ถัดจากนั้นมาเมื่อขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2544 ข้าพเจ้าก็ได้รับแจ้งจากเมืองโดวิลล์ว่า เขาหาผู้สนับสนุนได้พอเพียงแล้ว สรุปว่าเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแห่งเมืองโดวิลล์จะรับภาระในการสั่งทำสำเนา มาสเตอร์โพสิตีฟ 16 มิลลิเมตร และเส้นเสียงออพติก 16 มิลลิเมตร จากหอสมุดรัฐสภา สหรัฐอเมริกา ส่งมาให้หอภาพยนตร์แห่งชาติ กรมศิลปากร เพื่อที่จะพิมพ์ขยายขึ้นเป็น 35 มิลลิเมตรในประเทศไทย โดยห้องแล็บพิมพ์-ล้างภาพยนตร์ สยามพัฒนาฟิล์ม เป็นผู้ดำเนินการ


วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2544 นี้ จะเป็นวันครบ 60 ปี ภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก ตามธรรมเนียมการเริ่มนับอายุจากวันออกฉายสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก เป็นวาระที่ควรเฉลิมฉลอง โดยเฉพาะในโอกาสที่เราสามารถบูรณะฟิล์มให้กลับคืนเป็นภาพยนตร์ขนาด 35 มิลลิเมตรอีกครั้งหนึ่ง จึงกำหนดจะจัดงานฉาย พระเจ้าช้างเผือก ฉบับฟื้นฟูบูรณะใหม่นี้ ในค่ำวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2544


วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2544 ข้าพเจ้าไปประชุมที่มูลนิธิ ปรีดี พนมยงค์ ซอยสวนพลู ถนนสาธรใต้ เพื่อปรึกษาหารือเรื่องการจัดฉลองนี้ โดยไม่คาดฝันเมื่อข้าพเจ้าพูดถึงฟิล์มภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือกอีกฉบับหนึ่งที่ นายปรีดี พนมยงค์ ตัดต่อขึ้นใหม่ วาณี สายประดิษฐ์ บุตรี นายปรีดี พนมยงค์ ได้ขึ้นไปหยิบฟิล์มภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก ขนาด 16 มม. สำรับหนึ่งมาให้ข้าพเจ้า เพื่อนำไปตรวจ ขณะที่ ดุษฎี พนมยงค์ บุตรีนายปรีดีอีกคนหนึ่งเอ่ยว่า คงเป็นก๊อปปี้ที่คุณพ่อ (นายปรีดี พนมยงค์) เคยบ่นว่าพวกอเมริกันที่นำไป ตัดต่อใหม่ได้เปลี่ยนเพลง ใส่เพลงอื่นเข้าไปแทน


ข้าพเจ้าได้ตรวจฟิล์มแล้วพบว่า เป็นฉบับที่พิมพ์ย่อเป็น 16 มม. และมีการตัดต่อย่นย่อเรื่องลงไปจากฉบับที่ได้จากหอสมุดรัฐสภา สหรัฐอเมริกา ซึ่งฉบับนั้นมีความยาวรวม 100 นาที ในขณะที่ฉบับที่ได้มาหลังสุดนี้มีความยาวเหลือเพียง 53 นาที ซึ่งหมายถึงว่าถูกตัดออกไปถึงราวครึ่งเรื่อง และเมื่อเทียบดูพบว่าส่วนที่ถูกตัดออกไปนั้นเป็นการตัดตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อยและบางส่วนก็ตัดยกทั้งฉาก และน่าสังเกตว่าไตเติ้ลก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ดนตรีก็ถูกเปลี่ยนเกือบจะทั้งเรื่อง คงไว้เพียงเพลงศรีอยุธยาตอนเปิดเรื่องและจบเรื่อง กับเพลงเฉพาะบางฉาก นอกนั้นมีการเปลี่ยนดนตรีระหว่างดำเนินเรื่องใหม่หมด ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นส่วนที่ทำลายคุณค่าของภาพยนตร์ลงอย่างสิ้นดี เพลงที่เอามาใส่ให้ใหม่นั้น เป็นเพลงดาด ๆ ท่วงทำนองคล้ายตะวันออกแปร่ง ๆ ฟังไม่ชัดว่าเป็นจีนหรือแขก เคยเห็นว่าฝรั่งชอบเอามาใส่ชุ่ย ๆ เสมอ ในหนังที่เกี่ยวกับตะวันออก

ภาพ : สูจิบัตรงาน 60 ปี พระเจ้าช้างเผือก เมื่อ พ.ศ. 2544 และดีวีดี พระเจ้าช้างเผือก วาระฉลองครบ 70 ปี เมื่อ พ.ศ. 2554


อย่างไรก็ดี วิธีการที่สามารถเปลี่ยนเสียงดนตรีใหม่ซึ่งซ้อนอยู่กับเสียงบทเจรจา ทำให้ข้าพเจ้าสงสัยว่า บางทีฟิล์ม พระเจ้าช้างเผือก ที่ได้มาหลังสุดนี้ อาจจะไม่ใช่ฉบับที่ นายปรีดี ตัดต่อใหม่ เพราะเทคนิคการตัดต่อใหม่จากฟิล์มก็อปปี้ที่ทำเสร็จแล้วสำหรับฉาย ไม่อาจจะแก้ไขเฉพาะเสียงดนตรีที่ซ้อนอยู่กับเสียงเจรจาได้ ดังนั้นข้าพเจ้าคิดว่าอาจจะเป็นฉบับที่ทำขึ้นเพื่อส่งไปฉายในต่างประเทศตั้งแต่เริ่มต้น คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484 เพราะความยาวใกล้เคียงกันกับความยาวของ พระเจ้าช้างเผือก ฉบับที่ฉายที่นิวยอร์ก เมื่อ 4 เมษายน พ.ศ. 2484 ซึ่งมีหลักฐานระบุไว้ในบทรายงานในนิตยสารวาไรตี้ว่ามีความยาว 66 นาที ถ้าเป็นเช่นนี้จริง ก็นับว่าน่าเสียดายที่ พระเจ้าช้างเผือก ฉบับต้นฉบับและสมบูรณ์มิได้รับการนำเสนอฉายในต่างประเทศ และบางทีนี้อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้มีเสียงดูแคลน พระเจ้าช้างเผือก จากพวกนักแนะนำภาพยนตร์ในหน้าหนังสือพิมพ์


แต่ในเมื่อบัดนี้ เราได้อนุรักษ์และฟื้นฟูฟิล์มภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก ให้กลับเป็น 35 มิลลิเมตร และในสภาพความยาวสมบูรณ์เต็มเรื่อง เพื่อนำมาฉายสู่สาธารณชนอีกครั้งในโอกาส เฉลิมฉลอง 60 ปี พระเจ้าช้างเผือก รวมทั้งคณะผู้จัดงานฉลองครั้งนี้ยังมีโครงการที่จะจัดทำดิจิตอลวีดิโอดิสก์เพื่อเผยแพร่ พระเจ้าช้างเผือก ไปทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่า นี้เป็นการเกิดใหม่ หรือ ปุนภพ ของ พระเจ้าช้างเผือก อย่างแท้จริง และหวังว่าครั้งนี้ การประกาศขันติธรรมและสันติภาพสำหรับมนุษยชาติและโลกของพระเจ้าจักรา หรือ พระเจ้าช้างเผือก และของ นายปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม จะขจรขจายไปทั่วโลกอย่างแท้จริง


ในนามของผู้รักและศรัทธาในภาพยนตร์ ข้าพเจ้าขอคำนับและสดุดี พระเจ้าช้างเผือก ด้วยการเปล่งวจีสามลาอย่างไพร่พลอโยธยาว่า “ไช ....โย ไช...โย  ไช ....โย” และอย่างไพร่พลหงสาว่า “โห่....ฮิ้ว  โห่...ฮิ้ว  โห่...ฮิ้ว” 

และขอขันติธรรมและสันติสุขจงบังเกิดแก่มวลมนุษย์ 


*ปัจจุบัน ภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนจากหอภาพยนตร์ให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ เมื่อ พ.ศ. 2554


อ่านตอนอื่น ๆ ได้ที่


The King of the White Elephant and i พระเจ้าช้างเผือก สามัญภาพยนตร์เพื่อชาติไทยและมนุษยชาติ (1): ปฐมทัศน์

The King of the White Elephant and i พระเจ้าช้างเผือก สามัญภาพยนตร์เพื่อชาติไทยและมนุษยชาติ (2): มัชฌิมทัศน์

The King of the White Elephant and i พระเจ้าช้างเผือก สามัญภาพยนตร์เพื่อชาติไทยและมนุษยชาติ (3): งานสร้าง

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด