มนตราดาราหญิงฮอลลีวูด

เสน่ห์ตราตรึงของดาราหญิงฮอลลีวูดยุคคลาสสิก เป็นหนึ่งในนิยามความมหัศจรรย์ของภาพยนตร์ และเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ภาพยนตร์ (โดยเฉพาะภาพยนตร์อเมริกัน) กลายเป็นวัฒนธรรมป็อปที่เข้าถึงคนทั้งโลกในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ในโอกาสที่เดือนมกราคมนี้ หอภาพยนตร์ร่วมเฉลิมฉลองดาราอมตะของไทย เพชรา เชาวราษฎร์ ศิลปินแห่งชาติสาขาภาพยนตร์คนล่าสุด ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี จึงขอแนะนำหนังสือเกี่ยวกับดาราหญิงคนสำคัญของฮอลลีวูดห้าคน ได้แก่ อลิซาเบธ เทเลอร์, มาริลีน มอนโรว์, มาร์ลีน ดีทริช, แคเทอรีน เฮปเบิร์น และออเดรย์ เฮปเบิร์น เรื่องราวชีวิตและการแสดงของพวกเธอ เต็มไปด้วยสีสัน ความลึกลับและความน่าฉงนที่รอให้นักอ่านมาร่วมค้นหาที่ห้องสมุดของเรา


Elizabeth Taylor 

เขียนโดย Susan Smith



อลิซาเบธ เทเลอร์ เป็นดาราเจ้าบทบาทที่มีฝีไม้ลายมือในการแสดงไม่เป็นรองใครในยุคของเธอ แต่เพราะความสวยบาดใจ เสน่ห์เย้ายวน และเรื่องราวความรักและการหย่าร้างอันหวือหวาในชีวิตจริงของเธอ สิ่งเหล่านี้มักจะกลบสาระสำคัญจริง ๆ นั่นคือความสามารถและบทบาทตลอดช่วงการทำงานของเธอ 


หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในชุด Film Stars ของ British Film Institute ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การทบทวนและวิเคราะห์อาชีพนักแสดงของเทเลอร์ โดยไม่สนเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ นอกจอของเธอ ผู้เขียนคือซูซาน สมิท เปิดเรื่องด้วยการพูดถึงการแสดงในฐานะตัวเอกเรื่องแรกของเทเลอร์ ในบทสาวน้อยผู้รักม้าในหนัง National Velvet (ค.ศ. 1944) เมื่อเธออายุเพียง 12 ปีเท่านั้น หนังสือยกข้อเขียนของนักวิจารณ์สำคัญในยุคนั้น เป็นหลักฐานว่าเทเลอร์เป็นดารามีมนตร์เสน่ห์บนจอ และมีความสามารถในฐานะนักแสดงที่น่าจับตา ผู้เขียนยังวิเคราะห์ “การแสดงด้วยสายตา” ของเทเลอร์อย่างละเอียด โยงเข้ากับแนวโน้มของนักวิจารณ์และผู้ชมที่เริ่มเห็นพลังทางเพศของสาวน้อยคนนี้ 


ในบทต่อ ๆ มา หนังสือไล่เรียงบทบาทสำคัญของเทเลอร์และพิจารณาการเติบโตของเธอในฐานะนักแสดงเด็กไปสู่สาวสะพรั่งในหนังอย่าง Cynthia (๑๙๔๗) Giant (๑๙๕๖) Cat on a Hot Tin Roof (๑๙๕๘) และ Who’s Afraid of Virginia Woolf (๑๙๖๖) ในบทที่ชื่อว่า Acting on Instinct เป็นการวิเคราะห์ว่าจริง ๆ แล้ว เทเลอร์เป็นนักแสดงที่ “ใช้สัญชาตญาณล้วน ๆ” หรือใช้เทคนิคที่แยบยลทำให้เธอเข้าถึงบทบาท นี่เป็นหนังสือที่ทุ่มเทให้กับเทเลอร์ในฐานะนักแสดงจริง ๆ และไม่ใช่เพียงดาราในข่าวสังคมซุบซิบที่เรามักจะจำเธอได้เท่านั้น


บันทึกลับของมาริลีน มอนโรว์ (Marilyn Monroe Confidential)

เขียนโดย Lena Pepitone, William Stadiem แปลโดย วิจักขณา



หนังสือแปลวินเทจเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ฉบับดั้งเดิมเขียนโดย ลีนา เปปปิโตนี สาวใช้ส่วนตัวของมาริลีน มอนโรว์ ในช่วงห้า-หกปีสุดท้ายก่อนเธอจะเสียชีวิต ว่ากันตามตรง นี่อาจจะไม่ใช่หนังสือที่ดีที่สุดหรือลึกซึ้งที่สุดเกี่ยวกับมอนโรว์ เพราะเป็นการเขียนจากการสังเกตการณ์และอาจจะถึงขั้น “เหมาเอาเอง” ของตัวคนเขียนอยู่ไม่น้อย อีกทั้งยังมีแนวโน้มจะเป็นดราม่ารันทดที่เน้นขายโศกนาฏกรรมของชีวิตดาราสาวผู้นี้


แต่ถึงกระนั้น หนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นถึงความสนใจของผู้อ่านไทยต่อดาราอเมริกันที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคนหนึ่ง ผู้เขียนเล่าถึงชีวิตส่วนตัวของมอนโรว์ด้วยรายละเอียดที่ต้องเป็นคนใกล้ชิดถึงจะทราบ เช่น เธอกินอาหารอะไร เธอพูดถึงแฟรงก์ ซินาตรา ว่าอย่างไร (“เป็นเพื่อนตายเท่านั้น”) เธอเสียใจกับการที่ต้องปล่อยให้ครอบครัวเอาลูกของเธอไปเลี้ยงมากแค่ไหน เธอรู้สึกอย่างไรกับแม่ของเธอ ความอ่อนไหวและความไม่มั่นใจในตัวเองของเธอ หรือชีวิตคู่ของเธอกับ

อาเธอร์ มิลเลอร์ เป็นอย่างไร 


พูดง่าย ๆ หนังสือเล่มนี้แทบไม่เกี่ยวกับภาพยนตร์ที่เธอแสดงหรืออุตสาหกรรมฮอลลีวูดในยุคนั้น แต่เป็นบันทึกของผู้เขียน บทสนทนาที่เธอมี และความรู้สึกของเธอที่มีต่อนายหญิงคนนี้ ถ้าชอบเรื่องราวเบื้องหลังของชีวิตดาราคนดัง ก็คงอ่านเพลินดีไม่น้อย


Marlene Dietrich: My Life

เขียนโดย Marlene Dietrich



ดาราสาวผู้มีเสน่ห์ลึกลับที่สุดคนหนึ่งตลอดกาล มาร์ลีน ดีทริช นักแสดงเยอรมัน-อเมริกันผู้โลดแล่นกว่าหกทศวรรษทั้งในละครเวที หนังเงียบ หนังเสียง ทั้งที่เบอร์ลินและฮอลลีวูด เขียนเล่าเรื่องชีวิตตัวเองในหนังสือเล่มนี้ 


ถ้าคุณเคยดูดีทริชในหนังและคุ้นเคยกับบุคลิกสาวแกร่ง เย้ายวนแต่ไม่ยอมคน มีฝีปากแต่น่าหลงใหล ข้อเขียนของเธอส่งความรู้สึกเข้มข้นแบบเดียวกันออกมาทุกหน้า เธอเริ่มต้นในสไตล์ขวานผ่าซาก ตรงไปตรงมาไม่ไว้หน้า “ฉันตัดสินใจเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่ออธิบายความเข้าใจผิดมากมายที่เกิดขึ้น มีคนเขียนหนังสือไร้สาระมากมายเกี่ยวกับตัวฉัน เพียงเพราะต้องการเงินหรือเพื่อแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงของฉัน... ฉันไม่อยากจะย้ำอีกครั้งว่า คนที่เรียกตัวเองว่า ผู้เขียนประวัติชีวิตของมาร์ลีน ดีทริช ไม่มีสักคนที่จะมีมารยาทพอที่จะมาปรึกษาฉัน ซึ่งนั่นก็บ่งบอกแล้วว่าพวกเขาเป็นคนแบบไหน คนพวกนั้นไม่มีทั้งเกียรติและศักดิ์ศรี”


แรงได้อีกจริง ๆ สำหรับดาราค้างฟ้าคนนี้ ดีทริชเริ่มเล่าชีวิตของเธออย่างละเอียดตั้งแต่วัยเด็กในครอบครัวที่มีอันจะกิน จนมาเป็นวัยรุ่นในโรงเรียนประจำ ความทรงจำเกี่ยวกับแม่ของเธอ และการเข้าวงการในฐานะนักแสดงหนังเงียบ มาถึงหนังเสียงเรื่องสำคัญยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ทำให้เธอโด่งดัง The Blue Angel (1930) ที่กำกับโดยโจเซฟ วอน สเติร์นเบิร์ก ดีทริชเล่าให้ฟังถึงปัญหาและความท้าทายทางเทคนิคในการถ่ายหนังเสียงในยุคนั้น และการที่เธอรู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการสร้างภาพยนตร์ อีกตอนที่น่าสนใจคือเมื่อดีทริช เดินทางมานิวยอร์กเป็นครั้งแรกเพื่อแสดงหนังให้พาราเมาท์ และการถ่ายทำ The Garden of Allah ในทะเลทรายของแอริโซนา


นี่เป็นหนังสืออัตชีวประวัติเล่มสำคัญ มีประโยชน์ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์และในฐานะหนังสือที่อ่านสนุกทีเดียว


Audrey Hepburn, An Elegant Spirit

เขียนโดย Sean Hepburn Ferrer




หนังสือเล่มนี้มีหัวเรื่องตัวเล็กว่า “A son remembers” หมายถึงนี่เป็นข้อเขียนของฌอน เฮปเบิร์น เฟร์เรร์ ลูกชายของออเดรย์ เฮปเบิร์น แต่จริง ๆ แล้วหนังสือเล่มนี้เน้นภาพไม่เน้นตัวอักษร ดังนั้นทุกคนสามารถเพลิดเพลินกับการดูรูปสวย ๆ ของดาราเจ้าเสน่ห์คนนี้ได้โดยไม่ต้องสนใจข้อความมากเกินไปนัก 


ไม่น่าประหลาดใจที่ผู้เขียนรำลึกถึงแม่ของตนด้วยอารมณ์เชิดชูบูชา เป็นบันทึกจากคนวงในของครอบครัวที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่า เหตุการณ์เล็กน้อย ๆ เกร็ดชีวิต (เช่น เฮปเบิร์นไม่เดินทาง first class แค่ business class เสมอ) และความรู้สึกส่วนตัวที่น่าประทับใจ ส่วนภาพในหนังสือเป็นสิ่งดึงดูดหลัก เพราะมีภาพหายากที่เราไม่เคยเห็นในสื่ออื่น ๆ มาก่อน ทั้งภาพครอบครัว การเดินทางของเฮปเบิร์น และภาพส่วนตัวอื่น ๆ อีกมาก เปิดดูภาพอย่างเดียวก็เรียกได้ว่าคุ้มแล้ว


The Making of the African Queen, or How I went to Africa with Bogart, Bacall and Huston and Almost Lost My Mind

เขียนโดย Katharine Hepburn



ตามชื่อหนังสือเลย นี่คือบันทึกของดาราสาวคนสำคัญ แคเทอรีน เฮปเบิร์น เล่าเรื่องที่เธอเดินทางไปถ่ายหนัง The African Queen กับฮัมฟรีย์ โบการ์ต, ลอเรน เบคอลล์ และผู้กำกับจอห์น ฮุสตัน และ “เกือบจะเสียสติ” ระหว่างการถ่ายทำหนังคลาสสิกเรื่องนี้


ส่วนที่บอกว่า “เกือบจะเสียสติ” เป็นเพียงแค่คำโปรยเรียกความสนใจ เพราะจริง ๆ แล้วบันทึกการถ่ายทำเล่มนี้เล่าถึงความสนุกและความลำบากของการถ่ายหนังในป่าของแอฟริกาในปี ๑๙๕๐ (เฮปเบิร์นเขียนหนังสือเล่มนี้ ๓๐ ปีให้หลัง แต่ยืนยันว่า ประสบการณ์ครั้งนั้นน่าตื่นเต้นจนเธอจำรายละเอียดทุกอย่างได้ไม่มีวันลืม) และถึงแม้เธอจะเล่าเรื่องสนุก ๆ และวิบากกรรมต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญ ตั้งแต่การเข้าห้องน้ำ ไปถึงการถ่ายทำบนเรือพายในฉากสำคัญ แต่หนังสือเล่มนี้น่าสนใจตรงภาพประกอบ ที่เราได้เห็นอิริยาบถต่าง ๆ ของดาราอย่างโบการ์ต เบคอลล์ และเฮปเบิร์นเอง รวมทั้งผู้กำกับและทีมงานแฟน ๆ ของหนัง The African Queen และแคเทอรีน เฮปเบิร์น อย่างน้อยต้องมาพลิกดูสักหน่อย  


โดย ก้อง ฤทธิ์ดี


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด