หัวใจทรนง The Adventure of Iron Pussy

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / 90 นาที 

วันออกฉาย    30 กันยายน 2546

บริษัทสร้าง    Kick the Machine & G-Gate Production

ผู้อำนวยการสร้าง    ปิยนันท์ จันทรกลม, พีรยา พรมชาติ

ผู้กำกับ    อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, ไมเคิล เชาวนาศัย

ผู้เขียนบท    อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, ไมเคิล เชาวนาศัย

ผู้กำกับภาพ    สุรเชษฐ์ ทองมี

ผู้ลำดับภาพ    ภาณุทัต วิเศษวงศ์

ผู้กำกับศิลป์    เอกรัฐ หอมลออ

ผู้ทำดนตรีประกอบ    Animal Farm

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย    แพร พักตรใส

ผู้แสดง ไมเคิล เชาวนาศัย, กฤษดา สุโกศล แคลปป์, ดารุณี กฤตบุญญาลัย, จุฑารัตน์ อัตถากร, วารินทร์ สัจเดว, ธีรวัฒน์ ทองจิตติ, เจนจิรา พงพัศ, วจลา เก่าเนตรสุวรรณ, ดลยา ปอยงาม, สมจิตร ปอยงาม, จิรพร แถวหมอ, สุวิจักษณ์ อังกุรวาณิชย์, สามารถ แสงเสงี่ยม, ชาติชาย พันธุ์เจริญ, วาสนา ชื่นศรีวิโรจน์, นิคม แก้วระกา, ชาญยุทธิ์ นะซอ, สมบัติ สันเบ็ญหมัด, สิริยากร พุกกะเวช, กรุง ศรีวิไล


ภาพยนตร์ถึงกาลอวสานและเกิดใหม่เสมอ ทั้งในทางสุนทรียศาสตร์และทางความคิด หัวใจทรนง หรือ The Adventure Iron Pussy เป็นภาพยนตร์ที่นำเอารูปแบบ ขนบ น้ำเสียง เทคนิค และความล้าสมัยของหนังไทยยุค 16 มม. ที่เชื่อกันว่าล้มตายและหมดยุคไปแล้ว กลับมาโลดแล่นบนจอได้อย่างไม่เขินอาย เป็นการเฉลิมฉลองเอกลักษณ์ของหนังไทยโบราณ และเป็นการล้อเล่นชวนหัวไปพร้อมกัน เป็นทั้งการระลึกถึงหนังเก่า และเป็นการสร้างอารมณ์ขันใหม่ให้ผู้ชมจากอีกยุคสมัยได้เข้าถึง ในขณะเดียวกันก็สะท้อนภาพสังคมและการเมืองของไทยในยุคหนึ่ง

หัวใจทรนง เป็นหนังเพลงที่สร้างโดยผู้กำกับสองคน อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และ ไมเคิล เชาวนาศัย ตัวละคร ไออ้อน พุซซี่ เป็นตัวละครที่ไมเคิลสร้างขึ้นมาก่อนหน้านี้สำหรับงานศิลปะและหนังสั้นของเขา เป็นสายลับข้ามเพศที่คอยช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ (อาจเรียกได้ว่าเป็นภาพกลับของเจมส์ บอนด์) ในฉบับหนังยาว หัวใจทรนง ไออ้อน พุซซี่ ได้รับภารกิจสำคัญให้ตามสืบพฤติกรรมอันน่าสงสัยของมิสเตอร์เฮนรี่ หรือ อ๊อด (กฤษดา สุโกศล แคลปป์) นักธุรกิจต่างชาติที่เป็นคู่หมั้นของ มาดามปอมปาดอย (ดารุณี กฤตบุญญาลัย)  ไออ้อน พุซซี่ ปลอมตัวเป็นสาวใช้ในคฤหาสน์เพื่อล้วงความลับเกี่ยวกับยาสะกดจิตที่อ๊อดกำลังพัฒนาเพื่อแผนการร้าย ภารกิจนี้ทำให้เธอได้ใกล้ชิดและมีใจให้ แทง (ธีรวัฒน์ ทองจิตติ) ลูกชายของมาดามปอมปาดอย ต่อมาครอบครัวของมาดามและอ๊อด ชวนไออ้อน พุซซี่ ให้ร่วมเดินทางไปกับคณะล่าสัตว์ของเหล่าคนชั้นสูง หลังจากที่ไออ้อน พุซซี่ ต้องผจญภัยกับเสือร้ายกลางป่า เกิดการเผชิญหน้าครั้งสำคัญที่ริมหน้าผาระหว่างแทง อ๊อด มาดามปอมปาดอย และไออ้อน พุซซี่ เมื่อความจริงเกี่ยวกับตัวตนของสายลับเจ้าเสน่ห์ผู้นี้ถูกเปิดเผย และความดีต้องเอาชนะความชั่วร้ายได้อีกครั้ง

ในปีที่ หัวใจทรนง ออกฉายในไทย ผู้กำกับอภิชาติพงศ์ กำลังมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติในฐานะศิลปินภาพยนตร์จากหนังชวนฉงนอย่าง ดอกฟ้าในมือมาร และ สุดเสน่หา ในแง่หนึ่ง หัวใจทรนง เป็นหนังของอภิชาติพงศ์ (ร่วมกับไมเคิล เชาวนาศัย) ที่เข้าถึงง่าย สนุก เต็มไปด้วยมุกตลกเพี้ยน ๆ และฉากร้องเพลง แต่ในขณะเดียวกัน หนังกลับเต็มไปด้วยความแยบยลในการขุดคุ้ยอารยธรรมหนังไทยที่ยังมีชีวิต โดยการเลือกใช้สุนทรียศาสตร์แบบหนัง 16 มม. ทั้งภาษาภาพ การตัดต่อ การแสดงที่จงใจให้ประดักประเดิด และการใช้เทคนิคพากย์เสียงแบบหนังบู๊โบราณ ความเชยและความตรงไปตรงมาของหนังเกิดจากความตั้งใจสร้างองค์ประกอบดั้งเดิมขึ้นมาใหม่ให้เป็นทั้งการบูชาครูและการยั่วล้อไปพร้อม ๆ กัน นักวิจารณ์ต่างชาติมักอธิบายหนังเรื่องนี้ว่าเป็น spoof หรือหนังล้อเลียน ซึ่งถูกเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น หรือไม่ก็อธิบายว่าเป็นหนัง camp (หนังที่สถาปนาความเชยและรสนิยมแบบ“ตลาด”) หรือหนัง post-modern เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงมิติทางภาพยนตร์อันหลากหลายที่ หัวใจทรนง ทำให้คนดูและนักวิจารณ์ได้ครุ่นคิดระหว่างที่หัวเราะไปกับเนื้อเรื่อง

นอกจากนี้ สภาวะข้ามเพศของไออ้อน พุซซี่ ยังทำให้หนังมาก่อนกาลในหลาย ๆ แง่มุม ตัวละครนี้เป็นทั้งการใช้อารมณ์ขันเพื่อต่อต้านคติความเชื่อและกฎเกณฑ์เรื่องเพศสภาพ และเป็นการย้อนเกล็ดขนบหนังซุเปอร์ฮีโร่ หรือหนังสปาย หรือหนังนักสืบ ที่มักยึดถือแกนกลางทางอารมณ์และศีลธรรมจากฝั่งเพศชาย และผลักตัวละครอื่น ๆ ไปเป็นเพียงไม้ประดับ

หัวใจทรนง  มักถูกนิยามว่าเป็นหนัง cult ของอภิชาติพงศ์ แรกเริ่มนั้นภาพยนตร์ถ่ายทำด้วยระบบดิจิทัล เพื่อเป็นภาพยนตร์ที่ลงขายแผ่นแบบ telemovie และไม่ได้วางแผนจะออกฉายในโรงภาพยนตร์ แต่ด้วยชื่อเสียงของอภิชาติพงศ์และคุณสมบัติเฉพาะของหนังเรื่องนี้ ทำให้ได้รับเชิญไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ทั้งเทศกาลภาพยนตร์โตเกียว เทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน และเทศกาลภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศมากมาย รวมทั้งได้ลงโรงฉายในประเทศแบบจำกัดโรง จึงมีการพิมพ์เป็นฟิล์ม 35 มม. ขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อนำไปจัดฉาย ก่อนที่จะผลิตแผ่นขาย โดยฟิล์มต้นฉบับนั้นได้รับการเก็บรักษาไว้ที่หอภาพยนตร์ และแม้ว่า หัวใจทรนง อาจจะไม่ใช่ผลงานที่ได้รับรางวัลหรือถูกจัดอันดับขึ้นหิ้ง แต่หนังก็เป็นบทพิสูจน์ความสามารถของอภิชาติพงศ์และไมเคิลในการขยายขอบเขตภาพยนตร์ไทยอย่างเป็นเอกลักษณ์