14 ตุลาสงครามประชาชน

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / 117 นาที 

วันออกฉาย    11 ตุลาคม 2544

สร้างและจัดจำหน่าย    ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น, บีอีซี เทโร เอนเตอร์เทนเมนท์

ผู้อำนวยการสร้าง    เจริญ เอี่ยมพึ่งพร

ผู้อำนวยการผลิต    ธนิตย์ จิตนุกูล

ผู้กำกับ    บัณฑิต ฤทธิ์ถกล

ผู้เขียนบท    เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, บัณฑิต ฤทธิ์ถกล

ผู้กำกับภาพ    ธีระวัฒน์ รุจินธรรม

ผู้ลำดับภาพ    สุนิตย์ อัศวินิกุล, ธานินทร์ เทียนแก้ว

ผู้กำกับศิลป์    ฑีฆายุ ธรรมนิตยกุล

ถ่ายภาพเหตุการณ์จริง    ชิน คล้ายปาน

ผู้ทำดนตรีประกอบ    ไอดีล

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย    นิรชรา วรรณาลัย, เขมจิต นิลพันธ์

ผู้แสดง ภาณุ สุวรรณโณ, พิมพรรณ จันทะ, เกรียงไกร ฟูเกษม, ศุภลักษณ์ เชาวยุทธ์, ภคชนก์ โวอ่อนศรี, สมคิด ประพันธ์, วัลลภ แสงจ้อย, เผด็จศึก สิงห์ทอง, นพพร กำธรเจริญ, สุนนท์ วชิรวราการ, ภาสชัย ฉิมจำเริญ, สุนธร มีศรี, นิมิตร พิพิธกุล, เสี้ยวจันทร์ แรมไพร, บุญลาภ ศิริทรัพย์, วัลลภ ไกรทอง, พล สรรปานะบุตร, นิวัต พิบูลศิริ, จำปา แสนพรม, สืบศักดิ์ ฉลองธรรม


ภาพยนตร์ชีวประวัติบุคคล หรือ biopic เป็นตระกูลหนังที่มีจำนวนน้อยมากในภาพยนตรานุกรมไทย และที่ยิ่งน้อยย่อยลงไปอีก คือหนังชีวประวัติคนสำคัญทางการเมือง การนำเรื่องราวในชีวิตจริง (ถึงจะผ่านการกรองหรือเสริมแต่ง) ของคนผู้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมาเล่า จำต้องก้าวข้ามอุปสรรคหลายอย่างทั้งการกฎหมาย การสะสางเงื่อนปมของ “ความจริง” และประวัติศาสตร์ รวมทั้งวัฒนธรรมความเกรงใจแบบไทย ๆ 

ดังนั้นภาพยนตร์เรื่อง 14 ตุลาสงครามประชาชน ของผู้กำกับ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล จากบทภาพยนตร์โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล จึงเป็นหนังที่มีคุณค่าพิเศษทั้งในเนื้อหาและบริบทการสร้าง ที่สามารถนำชีวประวัติของบุคคลสำคัญทางการเมืองในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์ไทย ได้แก่ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และหลังจากนั้น มาเล่าเป็นหนังฟีเจอร์ฟิล์ม (หรือหนังเล่าเรื่องที่ไม่ใช่สารคดี ซึ่งโดยผิวเผินอาจจะเหมาะกว่าสำหรับการบันทึกปรากฏการณ์สำคัญทางการเมือง) ถือเป็นหนังไทยเรื่องเดียวในประวัติศาสตร์ที่ใช้เหตุการณ์สำคัญครั้งนี้เป็นฉากหลัง เป็นปมในใจของตัวละคร และเป็นเงื่อนไขของดรามาทั้งหลายทั้งปวงที่ติดตามมา

14 ตุลาสงครามประชาชน เปิดฉากในปี 2517 หรือหนึ่งปีหลังจากเหตุการณ์ลุกฮือของนักศึกษาในเดือนตุลาคมปี 2516 หนังเล่าเรื่องของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล (ภาณุ สุวรรณโณ) อดีตผู้นำนักศึกษา และจิระนันท์ พิตรปรีชา (พิมพรรณ จันทะ) ในบรรยากาศของประชาธิปไตยผลิบานหลัง 14 ตุลาจบลง นักศึกษา ประชาชน แรงงานร่วมกันเรียกร้องความเป็นธรรม เริ่มมีบรรยากาศขัดแย้งคุกคาม เพื่อนพ้องคนรู้จักโดนลอบสังหาร เสกสรรค์ตัดสินใจชวนจิระนันท์ หนีเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พร้อมร่วมใฝ่ฝันกับคนหนุ่มสาวผู้มีอุดมการณ์ว่าสักวันจะกลับสู่เมืองพร้อมกับชัยชนะ แต่แล้วพวกเขาพบว่า สังคมของกลุ่มต่อต้านในป่าก็ยังมีความขัดแย้งทางความคิด การขาดความเป็นประชาธิปไตย ความเห็นแก่ตัวและพวกพ้อง ไม่ต่างกันกับการเมืองระดับชาติ เมื่อเสกสรรค์พยายามเสนอแนะแนวทางแก้ไข เขากลับได้รับการจับตามองและถูกวิจารณ์ว่าเป็นพวกค้านพรรค ในที่สุดเสกสรรค์ก็ตัดสินใจร่วมกับภรรยาและเพื่อน ๆ เดินทางออกจากป่า หนีจากมือสังหารที่ถูกส่งมาไล่ล่า

บทหนังที่เขียนโดยเสกสรรค์เอง และปรับแต่งโดยผู้กำกับ บัณฑิต เข้มข้นในเนื้อหาและสถานการณ์ เป็นบทที่ทั้งสมจริงในคำพูด การกระทำ และมีองค์ประกอบของความขัดแย้งทั้งในระดับส่วนตัวและระดับอุดมการณ์ แทบจะจินตนาการไม่ได้ว่าจะมีหนังไทยเรื่องไหน โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่จะสามารถมีบทเจรจาของตัวละครที่ “หนีเข้าป่า” ร่วมถกเถียงแนวคิดมาร์กซิสต์ โดยใช้คำศัพท์การทางเมืองอย่าง “ลัทธิแก้โซเวียต” หรือ “บทเรียนจากจีน” “ฝักใฝ่แนวทางแบบเวียดนาม” ฯลฯ รวมทั้งเอ่ยอ้างถึงการปฏิวัติโดยพรรคคอมมิวนิสต์ไทยอย่างเปิดเผยและไม่ดูเคอะเขิน เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญของหนังที่จะใช้แรงโน้มถ่วงของข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ผนวกเข้ากับศิลปะภาพยนตร์ในการเล่าเรื่อง เทคนิคทางภาพ เสียง การแสดง การสร้างเหตุการณ์รายล้อม และการจับจ้องใบหน้าของตัวละครที่ครั้งหนึ่งเป็นเพียงแค่ชื่อที่เราอ่านในข่าวหรือหนังสือ ประกอบสร้างเป็นงานที่พาคนดูเข้าไปปะทะกับช่วงเวลาอันแหลมคม และชวนให้สัมผัสและเข้าอกเข้าใจความสับสนของตัวละครหลักทุกคน 

เดิมทีผู้กำกับและคนเขียนบทเลือกตั้งชื่อหนังว่า คนล่าจันทร์ แต่ภายหลังมีการเปลี่ยนชื่อเรื่องตอนออกฉายเป็น 14 ตุลาสงครามประชาชน ซึ่งตรงกว่า ชัดกว่า ท้าทายกว่า และในแง่หนึ่งสามารถปลุกการรับรู้เรื่องเหตุการณ์ 14 ตุลาให้แก่สังคมไทยในขณะนั้นอีกครั้ง แต่ขณะเดียวกันชื่อหนังก็ก่อให้เกิดความคาดหวังว่าภาพยนตร์จะถ่ายทอดเรื่องราวของเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างเข้มข้น มากกว่าเรื่องเชิงอัตชีวประวัติบุคคลอย่างที่นำเสนอ และเรื่องราวในหนังส่วนใหญ่ยังเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา จนเกิดเสียงวิพากษ์ในเชิงลบอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ในแง่ศิลปะภาพยนตร์ และได้รับรางวัลใหญ่ ๆ ทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเวทีตุ๊กตาทองและชมรมวิจารณ์บันเทิง 

ในปี 2566 เป็นวาระครบรอบ 50 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 วงล้อแห่งประวัติศาสตร์ทำให้หนังเรื่องนี้เพิ่มพูนความหมายยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเชิญชวนให้ผู้ชมร่วมสมัยมองภาพสะท้อนการเมืองในปัจจุบันควบคู่ไปพร้อม ๆ กัน เนื่องจากนี่เป็นภาพยนตร์ “เล่าเรื่อง” หรือ feature film เรื่องเดียวที่ใช้เหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นปฐมบทของพล็อต หนังจึงอยู่ในสถานะโดดเด่นในบรรดาหนังการเมือง และหนังชีวประวัติของไทย