Thailand

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / ความยาว 30 นาที

ปีสร้าง 2501

ผู้สร้าง กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม 

ผู้อำนวยการสร้าง ธนิต อยู่โพธิ์ 

ผู้เขียนบท กำกับและถ่ายภาพ รัตน์ เปสตันยี 

ผู้บรรยาย ภาษาอังกฤษ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช

ผู้กำกับดนตรีและเพลง มนตรี ตราโมท วงดนตรีกรมศิลปากร

ผู้กำกับศิลป์ สวัสดิ์ แก่สำราญ

ผู้บันทึกเสียง ปง อัศวินิกุล

ผู้แสดง ครูและนักเรียนโรงเรียนนาฏศิลป์ กรมศิลปากร


Thailand หรือ ไทยแลนด์ เป็นผลงานภาพยนตร์หนึ่งในสองเรื่องแรกที่สร้างโดย กรมศิลปากร คู่กับเรื่อง นิ้วเพชร จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์สองเรื่องนี้เกิดจากการที่คณะกรรมการจัดงานการแสดงสากลและระหว่างประเทศ ที่กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม ได้กำหนดให้วันที่ 10 กันยายน 2501 เป็นวันประเทศไทย โดยปรกติเมื่อถึงวันของประเทศใด ประเทศนั้น ๆ ต้องส่งคณะนาฏศิลป์ไปแสดง แต่กรมศิลปากรเห็นว่า การส่งคณะแสดงเดินทางไปต่างประเทศนั้นเป็นการสิ้นเปลืองมาก และฐานะการเงินของประเทศในขณะนั้น ทำให้ต้องช่วยกันประหยัด จึงตัดสินใจทำภาพยนตร์ 35 มม. สี 2 เรื่องนี้ขึ้น และพากย์เสียงภาษาอังกฤษ เพื่อส่งไปจัดฉายแทน 


ผู้เป็นเจ้าของความคิดนี้คือ ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตพระภิกษุเปรียญ 9 ประโยค ซึ่งเข้าเป็นข้าราชการลูกหม้อของกรมนี้มาตั้งแต่ปี 2483 ไต่เต้ามาในงานด้านวรรณคดี นาฏศิลป์ จนได้เป็นอธิบดีกรมศิลปากร ตั้งแต่ปี 2499 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกระทรวงวัฒนธรรมขึ้นในปี 2495 และให้กรมศิลปากรอยู่ในกระทรวงใหม่นี้ จอมพล ป. นับเป็นผู้นำประเทศที่สนใจการใช้สื่อภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เป็นผู้ให้กองทัพอากาศซื้อโรงถ่ายภาพยนตร์ไทยฟิล์ม ตั้งเป็นกองภาพยนตร์ทหารอากาศ ผลิตภาพยนตร์เพื่อการโฆษณาชวนเชื่อในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 และเมื่อกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังสงคราม ได้สั่งให้กรมศิลปากรหาทางจัดสร้างโรงถ่ายภาพยนตร์ขึ้นอีกในปี 2493 แต่ไม่สำเร็จ ประกอบกับ จอมพล ป. หันไปสนใจสื่อใหม่ของโลก คือ โทรทัศน์ และสามารถจัดตั้งบริษัทไทยโทรทัศน์ เป็นแห่งแรกในแผ่นดินใหญ่เอเซีย สำเร็จในปี 2498 แล้วกลับมาสนใจที่จะจัดตั้งโรงถ่ายภาพยนตร์ให้เป็นกิจการที่มั่นคงแข็งแรงของชาติอีก โดยจะตั้งขึ้นที่บางแสน ชลบุรี แต่ไม่ทันสำเร็จก็ถูกรัฐประหารโดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนโฉมหน้าไป เข้าสู่ยุคสงครามเย็นใต้อิทธิพลสหรัฐอเมริกา ในขณะที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ถูกยุบเลิกไปในวันที่ 29 สิงหาคม 2501 และโอนย้ายกรมศิลปากรให้ไปอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีจอมพลสฤษดิ์ ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางด้านวัฒนธรรมของจอมพล ป.


นอกจากจะนำไปจัดฉายที่ประเทศเบลเยียม ในวันที่ 10 กันยายน 2501 กรมศิลปากรยังได้นำผลงานทั้ง 2 เรื่องฉายให้ผู้ชมชาวไทยได้ชมในวันเดียวกัน ที่โรงภาพยนตร์กรุงเกษม โดยจัดรวมอยู่ในโปรแกรมเดียวกับภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง พยานสวาท หรือ Witness for the Prosecution และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรในรอบปฐมทัศน์ ซึ่งบรรดาหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ก็ได้รายงานข่าวเพื่อเชิญชวนให้ชาวไทยได้มาชมผลงานการสร้างภาพยนตร์ของกรมศิลปากร และ รัตน์ เปสตันยี ทั้ง 2 เรื่องอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีบทความที่กล่าวถึง “ไทยแลนด์ นิ้วเพชร” จากคอลัมนิสต์อีกจำนวนหนึ่ง


มีข้อเขียนในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งระบุว่า ต้นคิดของการสร้าง “ไทยแลนด์” มาจากภาพยนตร์ของบริษัท วอลท์ ดิสนีย์ เรื่อง “Siam” ซึ่งเป็นสารคดียาว 30 นาที ตอนหนึ่งในชุด “ผู้คนและสถานที่” (People and Places) และออกฉายสู่ตลาดโลกเมื่อปลายปี 2498 ภาพยนตร์นี้เมื่อจอมพล ป. ได้ดูท่านไม่ชอบใจบางอย่างหรืออาจจะหลายอย่างที่หนังนำเสนอ ซึ่งสันนิษฐานว่าอย่างแรกคือชื่อ SIAM เพราะท่านอุตสาห์เปลี่ยนชื่อสยามเป็นประเทศไทยหรือ THAILAND มาสิบกว่าปีแล้ว อีกบางอย่างคือภาพวิถีชีวิตประจำวันจริง ๆ ของคนไทยชาวบ้าน โดยเฉพาะวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ทำมาหากินและอาศัยอยู่ในเรือในแม่น้ำ หนังแสดงให้เห็นการดำเนินชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นนอน อาบน้ำ แต่งตัว โดยเฉพาะการนุ่งโจง ทำงานการ พักผ่อน ติดตามจนถึงก้นครัว ให้เห็นการหุงข้าวต้มแกงจนถึงการคดข้าวและเปิบข้าวด้วยมือ ซึ่งเหล่านี้ท่านได้สร้างรัฐนิยมให้คนไทยเปลี่ยนวิถีชีวิตให้มีวัฒนธรรมอารยะมากขึ้นแล้ว นอกจากนี้หนังยังแสดงนาฏศิลป์ไทย มีทั้งการฟ้อนเล็บของชาวเหนือและรำอย่างละครไทย แต่เสียงดนตรีเป็นดนตรีฝรั่งซึ่งออกสำเนียงจีน ๆ หรือเอเซีย ซึ่งหนังฮอลลีวูดนิยมใช้กันเสมอ จอมพล ป. จึงแนะให้กรมศิลปากรสร้างหนังเพื่อแสดงวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมตามมาตรฐานไทยที่เราอยากอวดให้ชาวต่างชาติดูเป็นการแก้หนังสยามของฝรั่ง ในขณะที่ Siam เป็นวิถีไทยที่มองด้วยสายตาอยากรู้อยากเห็นของฝรั่ง แต่ Thailand เป็นหนังวิถีไทยแบบที่ผู้นำประเทศอยากให้ฝรั่งเห็น 


นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากการบอกเล่า ว่าที่มาอีกประการหนึ่งของ ไทยแลนด์ และ นิ้วเพชร เกิดจากหนังเพลงฮอลลีวู้ดเรื่อง The King and I ที่โด่งดังไปทั่วโลก แต่รัฐบาลไทยเห็นว่ารูปแบบของ Hollywood Musical จะทำให้คนต่างชาติ เข้าใจผิดเกี่ยวกับวิถีและนาฏศิลป์ไทย จึงให้กรมศิลปากรดำเนินการสร้างหนังขึ้นมาเพื่อให้กระทรวงการต่างประเทศนำไปประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ชาวต่างชาติรู้จักไทยได้ดีขึ้น


กล่าวเฉพาะ ไทยแลนด์ ภาพยนตร์ได้วางบทให้นำเสนอด้วยการอวดนาฏศิลป์ร่ายรำต่าง ๆ ซึ่งเป็นมาตรฐานกรมศิลป์ อวดสถาปัตยกรรมวัดวาอาราม เช่น พระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว โดยถ่ายจากเครื่องบิน ภูเขาทอง วัดอรุณ พระปฐมเจดีย์ อวดประติมากรรม พระพุทธรูปต่าง ๆ อวดกีฬาตะกร้อวง มวยไทย อวดประเพณีการไหว้พระ เวียนเทียน การแต่งงาน งานลอยกระทง และปิดท้ายด้วยการรำวง ซึ่งเหล่านี้นับว่าเป็นมาตรฐานการนำเสนอศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สายตาคนต่างชาติตลอดมาจนแม้ทุกวันนี้ แต่ระหว่างที่กรมศิลปากรสร้างยังไม่ทันเสร็จ รัฐบาลของจอมพล ป. ก็ถูกรัฐประหาร ท่านต้องหนีลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ ไม่ทันได้ดูผลงานที่ท่านแนะนำให้สร้าง


ภาพยนตร์สองเรื่องแรกของกรมศิลปากรนี้ ปรากฏว่าประสบผลสำเร็จสมประสงค์ คือ เมื่อมีการส่งไปร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศแล้ว ก็ได้รับความสนใจจากเทศกาลภาพยนตร์และหน่วยงานด้านศิลปวัฒนธรรมหลายประเทศ ติดต่อขอนำไปฉาย สถานทูตไทยในหลายประเทศก็ขอนำภาพยนตร์สองเรื่องนี้ไปใช้ในการเผยแพร่แนะนำประเทศไทยอยู่เสมอ 


ต่อมา กรมศิลปากรในยุคของอธิบดี ธนิต อยู่โพธิ์ ยังคงสร้างภาพยนตร์เพื่อบันทึกและเผยแพร่งานศิลปวัฒนธรรมของชาติอีกหลายเรื่อง จนกระทั่งท่านอธิบดีเกษียณเมื่อปี 2511