ส.อ.ว.ห้อง 2 รุ่น 44

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / ความยาว 117 นาที

วันออกฉาย 30 สิงหาคม 2533 

บริษัทสร้าง ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น

ผู้อำนวยการสร้าง เจริญ เอี่ยมพึ่งพร

ผู้กำกับ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล

ผู้เขียนบท บัณฑิต ฤทธิ์ถกล

ผู้กำกับภาพ พิพัฒน์ พยัคฆะ

ผู้ลำดับภาพ พูนศักดิ์ อุทัยพันธุ์

ผู้กำกับศิลป์ เจดีย์ ศุภกาญจน์

ผู้ทำดนตรีประกอบ จรัล มโนเพ็ชร, ดำรงค์ ธรรมพิทักษ์ 

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย บุษรา หรรษาจารุพันธ์, จิรารัตน์ กาญจนวัฒน์

ผู้แสดง สันติสุข พรหมศิริ, จินตหรา สุขพัฒน์, กฤษณ์ ศุกระมงคล, ปวีณา ชารีฟสกุล, รัญญา ศิยานนท์, สมรัชนี เกษร, ทิพย์ ธัมมศิริ, ศศิมาภรณ์ ไชยโกมล, นฤมล นิลวรรณ, เกรียงไกร อมาตยกุล, อัญชลี ชัยศิริ, สมเกียรติ คุณานิธิพงศ์, ชาลี อินทรวิจิตร, มาเรีย เกตุเลขา, ปัญญา นิรันดร์กุล, ตฤน เศรษฐโชค, เกียรติ กิจเจริญ, สมมาตร ไพรหิรัญ, ชัยวัฒน์ ทวีวงศ์แสงทอง, รัตนา นิลคำ, อุ่นเรือน แก้วทนง, ภัทรา ชิตยานันท์, ปัทมา มุขเสถียร, วีระศักดิ์ อยู่เย็น, บุญเกื้อ ควรหาเวช, รัตนา ควรหาเวช, อาทิตย์ พูลมา, วุฒิกร นฤนาทวานิช


ส.อ.ว.ห้อง 2 รุ่น 44 เป็นผลงานการกำกับของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล คนทำหนังผู้ผันตัวมาจากการเป็นนักข่าว และมีผลงานกำกับภาพยนตร์มาตั้งแต่ปี 2527 เขาเริ่มต้นด้วยหนังที่มีประเด็นทางสังคม แต่มักพบกับความผิดหวังด้านรายได้ กระทั่งมาประสบความสำเร็จอย่างมากจากการกำกับภาพยนตร์แนวตลกวัยรุ่นเรื่อง บุญชู ผู้น่ารัก ที่ออกฉายในปี 2531 ซึ่งทำรายได้ไปมากกว่า 10 ล้านบาท บัณฑิตจึงได้สานต่อความสำเร็จออกมาอีก 2 ภาค คือ บุญชู 2 น้องใหม่ (2532) และ บุญชู 5 เนื้อหอม (2533) อย่างไรก็ตาม แทนที่เขาจะเดินหน้าสร้างหนังชุดบุญชูต่อไป ท่ามกลางกระแสเฟื่องฟูของหนังวัยรุ่นและหนังตลกที่กำลังมาแรง บัณฑิตกลับหยุดพักการผลิตภาพยนตร์แนวนี้ แล้วย้อนกลับไปกำกับ ส.อ.ว.ห้อง 2 รุ่น 44 หนังแนวสะท้อนสังคมตามที่เขาตั้งใจไว้แต่แรก 


ประเด็นสำคัญของ ส.อ.ว.ห้อง 2 รุ่น 44 คือการเรียกร้องสิทธิสตรี ท่ามกลางความเจริญด้านวัตถุ รวมทั้งสภาพสังคมกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยความสุขอันฉาบฉวย และมอมเมาเยาวชน ในขณะเดียวกัน หนังไทยร่วมสมัยหลายเรื่อง ก็ต่างเน้นเอาเรือนร่างของผู้หญิงมาเป็นจุดขาย อย่างไรก็ตามแม้จะกล่าวถึงประเด็นที่เคร่งเครียด แต่จากประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้บัณฑิตรู้วิธีการที่จะทำให้ผู้ชมหันมาสนใจ เขาเห็นว่าคนหนุ่มสาวเป็นกลุ่มเป้าหมายใหญ่ของตลาดหนังไทยเวลานั้น จึงผูกเรื่องเกี่ยวกับกลุ่มเพื่อนผู้หญิงที่สนิทกันมาตั้งแต่มัธยม และสอดแทรกแง่คิดที่ต้องการนำเสนอ จากข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาของผู้หญิงไทยที่ได้ไปพูดคุยกับคนกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งมุมมองทางสังคมในฐานะที่เป็นอดีตนักข่าว


ส.อ.ว.ห้อง 2 รุ่น 44 เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของนักเรียนสาวร่วมชั้นของห้อง 2 รุ่น 44 ของโรงเรียนสตรีอรุณรัชต์วิทยา หลังจากที่ต่างคนต่างแยกย้ายไปตามทางของตนเองเมื่อสำเร็จการศึกษา ผ่านตัวละครหลักคือ รำยง หญิงสาวผู้ไม่ยอมอ่อนข้อให้แก่ผู้ชาย และเลือกประกอบอาชีพเป็นนักข่าวโทรทัศน์ โดยในยุคสมัยที่ภาพยนตร์นี้ออกฉายนับว่าเป็นยุคที่เกิดการปฏิรูปการทำข่าวโทรทัศน์ จากแต่เดิมในอดีตข่าวโทรทัศน์จะถูกจำกัดอยู่ในจารีตแบบข่าวทางราชการ ผ่านการนั่งอ่านรายงานอย่างเคร่งขรึมของผู้อ่านข่าว ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผู้ประกาศชาย แต่หลังจากราวปี 2530 เป็นต้นมา จึงเกิดการปรากฏตัวของผู้สื่อข่าวทางโทรทัศน์รายงานข่าวโดยตรงจากสนามข่าวสู่ผู้ชม ตัวละครนักข่าวโทรทัศน์หญิงสาวจึงนับเป็นตัวละครที่ร่วมยุคสมัยในขณะนั้นมาก


บัณฑิตได้สะท้อนภาพการถูกเอารัดเอาเปรียบหรือค่านิยมผิด ๆ เกี่ยวกับผู้หญิงในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านชะตาชีวิตของเพื่อนแต่ละคนที่รำยงต้องพบพานและเกิดความคิดต่อต้าน จนกระทั่งเธอได้พบกับเด็กสาวคนหนึ่งที่มั่วสุมอยู่ในสถานบันเทิงและถูกหลอกให้ขายตัวจนป่วยหนัก ก่อนจะเสียชีวิตลงอย่างอนาถ เป็นเหตุให้รำยงลุกขึ้นมาทำข่าวเพื่อเรียกร้องสิทธิและศักดิ์ศรีของผู้หญิงอย่างเด็ดเดี่ยว แม้จะไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้างานก็ตาม 


ส.อ.ว.ห้อง 2 รุ่น 44 นำแสดงโดย สันติสุข พรหมศิริ และ จินตหรา สุขพัฒน์ ดาราคู่ขวัญจากชุด บุญชู รวมทั้งมีนักแสดงประกอบอีกหลายคนที่มาจาก บุญชู แต่ผู้กำกับไม่ได้นำสิ่งนี้มาเป็นจุดขาย รวมทั้งไม่ได้ให้พระเอกนางเอกลงเอยด้วยกันตามขนบหนังไทยเรื่องอื่น ๆ บัณฑิตเคยกล่าวว่า เขาตั้งใจกับผลงานเรื่องนี้มาก หากไม่ประสบความสำเร็จ เขาอาจจะเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่น ผลงานเรื่องนี้จึงเป็นงานที่บัณฑิตต้องการพิสูจน์ฝีมือว่า เขาสามารถทำหนังแนวซีเรียสอย่างที่ตั้งใจได้ ไม่ใช่ทำได้แค่หนังตลกทำเงินอย่างเดียว ซึ่งผลปรากฏว่า ส.อ.ว.ห้อง 2 รุ่น 44 สามารถครองใจคนดู โดยทำรายได้ถึงประมาณ 8 ล้านบาท และได้รับคำชมอย่างสูงจากนักวิจารณ์ จนกวาดรางวัลใหญ่ในเวทีประกวดรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง ทั้ง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม 


ส.อ.ว.ห้อง 2 รุ่น 44 จึงมีคุณค่าในฐานะภาพยนตร์เรื่องสำคัญที่ต้องการลุกขึ้นมาเป็นปากเสียงแทนผู้หญิง เพื่อต่อต้านความเหลื่อมล้ำทางเพศอันเป็นสิ่งที่สะสมมานมนานในสังคมไทย และกระตุ้นเตือนผู้คนไม่ว่าจะเพศชายหรือเพศหญิง ได้ปรับมุมมองที่มีต่อสตรีเสียใหม่ ไปจนถึงปลุกเร้าจิตวิญญาณของสื่อมวลชนให้กล้าถ่ายทอดประเด็นปัญหาที่แท้จริงของสังคม ในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ยังถือเป็นชัยชนะและกำลังใจสำคัญของคนทำหนังไทยและอดีตสื่อมวลชนคนหนึ่ง ผู้ทำหน้าที่บอกเล่าปัญหาดังกล่าวตัวจริง ซึ่งต้องพยายามประสานสิ่งที่ตนคิดให้สามารถไปด้วยกันได้กับแนวทางที่ตลาดต้องการ โดยไม่สูญเสียตัวตนและความตั้งใจ