หนังข้ามชาติ Transnational cinema

image

ปี 2564 ที่ผ่านมา มีภาพยนตร์สำคัญของผู้กำกับไทยหลายเรื่อง ที่เกิดจากความร่วมมือกับต่างชาติ ปรากฏการณ์นี้ตอกย้ำถึงกระแส Transnational Cinema หรือ “ภาพยนตร์ข้ามชาติ” ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในแวดวงวิชาการมาตลอดในช่วงหลายปีหลัง เมื่อข้อจำกัดทางพรมแดนและเชื้อชาติถูกทำลายลง จนเกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในการสร้างภาพยนตร์จำนวนมาก ไม่ว่าจะในด้านการลงทุน แนวคิด หรือการผสมผสานทีมงานและดาราจากหลายประเทศ ทำให้การนิยามภาพยนตร์ด้วยสัญชาติในแบบเดิม ๆ เป็นไปได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ 


อย่างไรก็ตาม หากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย อาจกล่าวได้ว่า การข้ามชาตินั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ เฮนรี แมคเร ผู้สร้างหนังจากฮอลลีวูดเข้ามาถ่ายทำ นางสาวสุวรรณ (2466) ซึ่งใช้คนไทยแสดงและได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการสยาม จนทำให้เกิดความสับสนในกาลต่อมาว่านี่คือ “หนังไทยเรื่องแรก” และนับจากนั้น การเข้ามามีส่วนร่วมจากต่างชาติก็ได้มีขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลากหลายบริบท


ภาพยนตร์ในโปรแกรม “หนังข้ามชาติ” เป็นเพียงกลุ่มตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความหลากหลายดังกล่าว กลุ่มแรกเป็นผลงานในทศวรรษ 2510 ช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคทองของหนังไทย 16 มม. มาสู่หนัง 35 มม. มาตรฐานสากล เริ่มจากงานกับฮ่องกงหรือไต้หวัน สองชาติแรก ๆ ที่คนในวงการหนังไทยเข้าไปร่วมมือ เมื่อต้องการจะขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศ ทั้ง อัศวินดาบกายสิทธิ์ (2513) หนังกำลังภายในนำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา  2 สิงห์ 2 แผ่นดิน (2515) ผลงานร่วมมือระหว่าง ฉลอง ภักดีวิจิตร กับ ฉั่นถ่งหมั่น หรือ ชาญ ทองมั่น อดีตฝ่ายโฆษณาของบริษัท ชอว์บราเดอร์ ผู้เป็นพ่อของ ปีเตอร์ ชาน ผู้กำกับชื่อดัง และ คู่กรรม (2516) ที่มีทีมงานจากไต้หวัน รวมถึงนางเอกมารับบท อังศุมาลิน  ในขณะเดียวกัน ตัวอย่างของภาพยนตร์ในยุคนี้ ยังมี หนุมานพบ 7 ยอดมนุษย์ (2517) ผลงานสำคัญที่ สมโพธิ แสงเดือนฉาย ร่วมสร้าง กับสึบุรายะโปรดักชั่นของญี่ปุ่น และ แม่นาคอเมริกา (2518) ที่นำตำนานผีแม่นาคมาดัดแปลงให้เข้ากับยุควัฒนธรรมอเมริกันครองเมืองไทย โดยมีทีมงานต่างชาติอยู่เบื้องหลัง


กลุ่มที่สองเป็นผลงานในยุคหลัง 2540 ที่คนทำหนังจากงานโฆษณาได้ยกระดับหนังไทยไปสู่ระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นการดึงดูดให้ต่างชาติหันมาสนใจวงการหนังไทยมากขึ้น ผลงานของผู้กำกับกลุ่มนี้ในโปรแกรม ได้แก่ งานของ นนทรีย์ นิมิบุตร ใน อารมณ์ อาถรรพณ์ อาฆาต (2545) หนังผีร่วมสร้างระหว่างไทย เกาหลี และฮ่องกง และ คำพิพากษาของมหาสมุทร (2549) ผลงานกำกับของ เป็นเอก รัตนเรือง ที่รวมทีมงานและนักแสดงหลายสัญชาติ นอกจากนี้ ยังมี The Elephant King (2549) ซึ่งเป็นตัวแทนของหนังต่างชาติที่มาถ่ายทำและถ่ายทอดประสบการณ์การข้ามวัฒนธรรมในเมืองไทย ไปจนถึง สะบายดี หลวงพะบาง (2551) และ The Only Mom (2562) ที่คนทำหนังไทยได้ข้ามฝั่งไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนทั้งลาวและพม่า



โปรแกรมพิเศษ FIAF Congress 2024

โลกแห่งวัยเยาว์ Youth Films for Summer Break

True Man Show ชายทั้งแท่ง

Histories in the (film) Making ประวัติศาสตร์ที่ภาพยนตร์สร้าง

คุณาวุฒิ ๑๐๑ : A Retrospective

เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ประเทศไทย ครั้งที่ 19

ภาพยนตร์โลก WORLD CINEMA PROGRAMME