ลานดารา ยุรนันท์ ภมรมนตรี และ วรรณิศา ศรีวิเชียร

เสาร์ที่ 19 สิงหาคม 2566 เตรียมตัวพบกับ ยุรนันท์ ภมรมนตรี และ วรรณิศา ศรีวิเชียร ในกิจกรรมลานดารา ที่หอภาพยนตร์


ปลายทศวรรษ 2520 วงการภาพยนตร์ไทยได้ต้อนรับพระเอกและนางเอกหน้าใหม่ที่ต่างมีใบหน้าหวานคมอย่างลูกครึ่งตะวันตก นั่นคือ ยุรนันท์ ภมรมนตรี และ วรรณิศา ศรีวิเชียร ผู้มีผลงานการแสดงภาพยนตร์ร่วมกันเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นหนึ่งในคู่ขวัญที่อยู่ในความทรงจำของแฟน ๆ


เวลาผ่านไปกว่า 30 ปี  ยุรนันท์-วรรณิศา จะมาปรากฏตัวและพบปะแฟนหนังไทยพร้อมกันอีกครั้ง ในพิธีประทับรอยมือรอยเท้า เป็นดาวดวงที่ 197 และ 198 ณ ลานดารา ของหอภาพยนตร์ ในวันเสาร์ที่ 19 สิงหาคมนี้ พร้อมจัดฉายผลงานการแสดงภาพยนตร์คู่กันเรื่องแรก เรื่อง “นางเสือดาว” (2528) กิจกรรมเริ่มตั้งแต่เวลา 13.00 น. ที่หอภาพยนตร์ ไม่เสียค่าเข้าชม


สำรองที่นั่งได้ที่ <<คลิก>>


กำหนดการกิจกรรม

13.00 น. ชมภาพยนตร์เรื่อง นางเสือดาว (2528)

15.00 น. สนทนากับ ยุรนันท์ ภมรมนตรี และ วรรณิศา ศรีวิเชียร 

16.30 น. พิธีประทับรอยมือรอยเท้า ณ ลานดารา


ยุรนันท์ ภมรมนตรี

ดาวดวงที่ 196


ยุรนันท์ ภมรมนตรี เกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2506 เป็นบุตรของ พลโท ประยูร ภมรมนตรี นักการเมืองคนสำคัญ ผู้เป็นหนึ่งในคณะราษฎร และรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ หลายสมัย กับ เรณู ภมรมนตรี อดีตรองนางสาวไทย ด้วยรูปร่างหน้าตาที่หล่อเหลา ยุรนันท์จึงได้รับการทาบทามให้เข้าวงการบันเทิงมาตลอดตั้งแต่อายุราว 16 ปี จนกระทั่งเขาสนใจและลองไปปรึกษากับ พลโท ประยูร แต่ถูกคัดค้าน เพราะเห็นว่าเป็นอาชีพเต้นกินรำกินและกลัวจะเสียการเรียน ยุรนันท์จึงตัดสินใจออกจากบ้าน เพื่อพิสูจน์ให้พ่อเห็นว่าตนสามารถทำได้ 


ในระยะแรก ยุรนันท์มีผลงานถ่ายแบบ ถ่ายโฆษณา และนักแสดงสมทบในภาพยนตร์ เริ่มต้นด้วย กำแพงหัวใจ และ ค่าแห่งความรัก ที่ออกฉายในปี 2524 รวมถึงได้แสดงละครโทรทัศน์ ก่อนที่ในปี 2528 เขาจะก้าวขึ้นมาเป็นพระเอกภาพยนตร์เต็มตัว โดยมีผลงานทั้ง นางเสือดาว และ นางฟ้ากับซาตาน จากการกำกับของ พิศาล อัครเศรณี ผู้กำกับที่มีอิทธิพลต่ออาชีพนักแสดงของเขามากที่สุด นอกจากนี้ยังมี แก้วกลางดง งานกำกับของ สักกะ จารุจินดา


เพียงเวลาไม่นาน ยุรนันท์ก็กลายเป็นพระเอกขวัญใจแฟน ๆ และผู้สร้างภาพยนตร์ นอกจากความโดดเด่นในฐานะพระเอกมาดร้ายที่สืบทอดมาจาก พิศาล อัครเศรณี เขายังรับบทบาทอีกหลากหลายแนว รวมทั้งได้ประกบคู่กับนางเอกจำนวนมาก เช่น วรรณิศา ศรีวิเชียร, จินตหรา สุขพัฒน์, นาถยา แดงบุหงา, มาช่า วัฒนพานิช เป็นต้น


ยุรนันท์มีผลงานภาพยนตร์ออกมาอย่างต่อเนื่อง มากกว่า 50 เรื่อง เช่น เมียแต่ง (2529) ไปรษณีย์สื่อรัก (2529) ไม่สิ้นไร้...ไฟสวาท (2529) วิวาห์จำแลง (2530) ไฟเสน่หา (2530) ปีกมาร (2530) ซอสามสาย (2531) ภุมรีสีทอง (2531) เพชรตาแมว (2532) แรงฤทธิ์พิษสวาท (2533) ฯลฯ ก่อนจะห่างหายจากวงการภาพยนตร์ไปตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 2530 แต่ยังคงมีผลงานด้านอื่น ๆ ทั้งงานเพลง พิธีกร และละครโทรทัศน์ที่เขายังคงแสดงอยู่จนถึงปัจจุบัน


วรรณิศา ศรีวิเชียร

ดาวดวงที่ 197


วรรณิศา ศรีวิเชียร เกิดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2511 ที่จังหวัดหนองคาย ด้วยความรักในการแสดงมาตั้งแต่เด็ก เมื่ออายุได้ราว 13 ปี เธอเห็นประกาศรับสมัครดาราหน้าใหม่ทั้ง อัครเศรณีโปรดักชั่นของ พิศาล อัครเศรณี และสีบุญเรืองฟิล์มของ พร้อมสิน สีบุญเรือง จึงเขียนจดหมายไปสมัคร จนกระทั่งทั้งสองบริษัทเรียกตัวเข้ามาพบ เธอเริ่มต้นไปที่อัครเศรณีโปรดักชั่นก่อน แต่ได้รับคำตอบว่ายังไม่มีโครงการจะสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับเด็ก ต่อมาจึงได้ไปที่สีบุญเรืองฟิล์ม และได้โอกาสแสดงบทสมทบเป็นนักเรียนในเรื่อง สวัสดีไม้เรียว (2525)


สามปีต่อมา ขณะที่กำลังเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ วรรณิศาได้ไปสมัครที่อัครเศรณีโปรดักชั่นอีกครั้ง ซึ่งในตอนนั้นกำลังประกาศรับนางเอก เพื่อจะมาแสดงเรื่อง นางเสือดาว เมื่อพิศาลพบเธอก็จำได้ทันทีว่าเป็นเด็กสาวที่เคยมาสมัครในคราวก่อน และตกลงรับเธอเข้ามาปลุกปั้นเป็นนางเอกหน้าใหม่ของค่าย


นางเสือดาว ออกฉายในปี 2528 โดยเธอได้รับการโปรโมตให้เป็นคู่ขวัญกับ ยุรนันท์ ภมรมนตรี พระเอกใหม่ที่เริ่มมีชื่อเสียงจากละครโทรทัศน์ และต่อมาได้มีผลงานแสดงร่วมกันอีกหลายเรื่อง ทั้งของค่ายอัครเศรณีโปรดักชั่นเอง ได้แก่ นางฟ้ากับซาตาน (2528) น.ส.กาเหว่า (2529) ปรารถนาแห่งหัวใจ (2529)  และของค่ายอื่น ๆ เช่น โกยมหาสนุก (2529) วุ่นที่สุด...สะดุดรัก (2530) คาวน้ำผึ้ง (2530) ตัณหาเถื่อน (2531) 


ผลงานภาพยนตร์นอกจากนี้ของ วรรณิศา ศรีวิเชียร ยังมีทั้ง เพลงสุดท้าย (2528) ไปไม่ถึงดวงดาว (2529) 1+1 ฉึ่งแหลก (2530)  ซิ่งวิ่งลุย (2530) รักทรมาน (2530) ฯลฯ ก่อนที่เธอจะหันไปมีผลงานละครโทรทัศน์เป็นหลัก นับตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา


ข่าวสารที่น่าสนใจ

อ่านข่าวทั้งหมด

Hommage à Chris Marker

23 ธ.ค. 64 - 23 ธ.ค. 64  กิจกรรม

Hommage à Chris Marker โปรแกรมพิเศษในเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 25 ในวาระ 100 ปี คริส มาร์กเกอร์ คนทำหนังผู้บุกเบิกหนังแนว essay filmคริส มาร์กเกอร์...

อ่านรายละเอียด

วันหนังบ้านครั้งที่ 13 (ฉบับออนไลน์)

16 ต.ค. 64 - 16 ต.ค. 64  กิจกรรม

พบกับความอบอุ่นประทับใจจากหนังบ้านในวันวานของหลากหลายครอบครัว ใน Home Movie Day Thailand 2021 หรือ วันหนังบ้าน (ฉบับออนไลน์) เสาร์ที่ 16 ตุลาคมนี้ เวล...

อ่านรายละเอียด

การแสดงโคมเชิดหนังในวันสรรพสาตร

17 ต.ค. 64 - 17 ต.ค. 64  กิจกรรม

ชมการแสดงโคมเชิดหนัง อุปกรณ์ก่อนภาพยนตร์กาลที่จะกลับมาฉายแสงอีกครั้งในวันสรรพสาตร เนื่องในวันครบรอบวันประสูติของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทอง...

อ่านรายละเอียด