นิทรรศการ 100 ปี ส. อาสนจินดา ราชสีห์แห่งวงการบันเทิงไทย

ในชั่วเวลาไม่กี่ปี อาจจะมีนักเขียนที่โดดเด่นเกิดขึ้นมาสักคนหนึ่ง เช่นเดียวกับนักแสดงเจ้าบทบาท หรือนักสร้างภาพยนตร์ผู้มีศักยภาพ แต่หากจะให้สถานะทั้งหมดนี้มีอยู่ในคนเพียงคนเดียว และมีผลงานอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ยอมรับนั้น คงต้องใช้เวลานานนับศตวรรษ


“ส. อาสนจินดา” คือหนึ่งในบุคคลพิเศษประเภทดังกล่าว เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ เขาได้รับสมญานามอย่างหลากหลาย เช่น “พระเอกนักประพันธ์” “ราชาแห่งละครเวทีไทย” “ศิลปินผู้มีความสามารถรอบตัว” “ศิลปินกระดูกเหล็ก” “ศิลปินชั้นครู” ฯลฯ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงฝีมืออันรอบด้าน และการผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน จนเป็นที่ยอมรับนับถือและเคารพยำเกรงของประชาชนและผู้คนร่วมวงการ ดังที่ เชิด ทรงศรี ผู้กำกับภาพยนตร์ซึ่งเคยร่วมงานกันบ่อยครั้ง ได้เคยเปรียบเปรย ส. อาสนจินดา ว่าเป็น “ราชสีห์แห่งวงการบันเทิงไทย” 


เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีแห่งชาตกาลของบุรุษผู้ที่ร้อยปีจะมีสักคนท่านนี้  หอภาพยนตร์ขอเชิญชม นิทรรศการ “100 ปี ส. อาสนจินดา ราชสีห์แห่งวงการบันเทิงไทย”  ที่จะพาไปพบกับเรื่องราวในแต่ละบทบาทของศิลปินแห่งชาติท่านนี้ ทั้งการเป็น “นักประพันธ์ผู้จองหอง” “นักแสดงกระดูกเหล็ก” และ “คนทำหนังผู้ทระนง” รวมทั้งชมสิ่งละอันพันละน้อยเกี่ยวกับ ส. อาสนจินดา เช่น ข้าวของเครื่องใช้ชิ้นสำคัญ งานเขียน งานศิลปะ ภาพถ่ายหายาก ฯลฯ ที่หอภาพยนตร์อนุรักษ์ และที่ได้รับมอบจากครอบครัวอาสนจินดา เพื่อนำมาจัดแสดงในครั้งนี้โดยเฉพาะ 


นิทรรศการ  “100 ปี ส. อาสนจินดา ราชสีห์แห่งวงการบันเทิงไทย”  จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 – 16 มกราคม 2565 ที่โถงชั้น 5 อาคารสรรพศาสตร์ศุภกิจ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) นอกจากนี้ตลอดช่วงนิทรรศการยังมีโปรแกรมฉายภาพยนตร์ผลงาน ส. อาสนจินดา อีกจำนวนมาก ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ <<คลิก>>



ประวัติ ส. อาสนจินดา 




ส. อาสนจินดา มีชื่อจริงว่า สมชาย อาสนจินดา เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2464 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของ หลวงสหการสันทัด หรือ แฉ่ง อาสนจินดา ข้าราชการกรมสหกรณ์ และ สมาน อาสนจินดา เขาเริ่มเรียนหนังสือครั้งแรกที่โรงเรียนอนุบาลราชินี ก่อนจะย้ายมาเรียนที่โรงเรียนดรุณศิริวิทย์ และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยตามลำดับ 


ขณะศึกษาอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ บิดาได้ถึงแก่กรรมลง ทำให้มารดาต้องเลี้ยงลูกด้วยความยากลำบาก เมื่อจบชั้น ม.๗   ลุงของเขาคือ พระยาอนุพาลพายัพกิจ ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในสมัยนั้น จึงได้รับอุปการะให้เขามาเรียนหนังสือที่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ที่เชียงใหม่จนจบ ชั้น ม. 8 เมื่อ พ.ศ. 2481


เมื่อศึกษาจบ  ส. ได้สมัครเป็นครูที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ใน พ.ศ. 2482 และออกมารับราชการกรมสหกรณ์ในปีถัดมา ซึ่งทำให้ต้องตระเวนไปหลายจังหวัด จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลก ครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2488 เขาได้ผันตัวมาเป็นนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ ก่อนจะก้าวไปสู่การเป็นนักแสดง และผู้สร้างศิลปะการแสดงทั้งละครเวทีและภาพยนตร์รวมทั้งคลุกคลีอยู่ในวงการบันเทิงมาจนตลอดชีวิต โดยมีผลงานการแสดง เขียนบท ลำดับภาพ กำกับ และสร้างภาพยนตร์ รวมกันแล้วมากมากหลายร้อยเรื่อง 


ส. อาสนจินดา สมรสกับ สมใจ เศวตศิลา เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2482 มีบุตรธิดารวม 7 คน  เขาได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครเวที ภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์) ประจำปี พ.ศ. 2533 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2536 รวมอายุได้ 71 ปี 


ข่าวสารที่น่าสนใจ

อ่านข่าวทั้งหมด

ประกาศ รายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบข้อเขียนและสัมภา...

ตามประกาศหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เรื่อง รับสมัครบุคคลเพื่อสรรหาเป็นผู้ปฏิบัติงาน ของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่พัสดุ บัดนี้หอภาพย...

อ่านรายละเอียด

ประกาศ รับสมัครบุคคลเพื่อสรรหาเป็นผู้ปฏิบัติง...

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) มีความประสงค์จะรับสมัครบุคคลเพื่อสรรหาและคัดเลือกเป็นผู้ปฏิบัติงานของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ในตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้ตำแหน่ง...

อ่านรายละเอียด

Hommage à Chris Marker

23 ธ.ค. 64 - 23 ธ.ค. 64  กิจกรรม

Hommage à Chris Marker โปรแกรมพิเศษในเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 25 ในวาระ 100 ปี คริส มาร์กเกอร์ คนทำหนังผู้บุกเบิกหนังแนว essay filmคริส มาร์กเกอร์...

อ่านรายละเอียด