La Scala ลา สกาลา บทอำลาโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนแห่งสุดท้ายของกรุงเทพมหานคร

เรื่องราวของสกาลา โรงภาพยนตร์อันโอ่อ่าที่เคยเป็น “ราชาโรงหนังแห่งสยาม” จากสถานที่ที่เคยเปรียบเสมือนสโมสรอันหรูหราให้ผู้คนได้นัดกันแต่งตัวสวยงามเพื่อมาดูหนัง ได้แปรสภาพเป็นดั่งวิหารทางภาพยนตร์อันเก่าแก่ ที่แทบจะคงรูปแบบดั้งเดิมนับแต่วันแรกฉาย ก่อนที่จะต้องปิดฉากบทสุดท้ายในวันที่ 5 กรกฎาคมนี้
---------


โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู
*ตีพิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 58 กรกฎาคม-สิงหาคม 2563


ท่ามกลางวิบากกรรมที่ธุรกิจภาพยนตร์ทั่วประเทศต้องเผชิญจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หนึ่งในข่าวร้ายที่ทำให้แฟนหนังในเมืองไทยต่างพากันใจหายมากที่สุด คือข่าวการยุติการฉายภาพยนตร์ของโรงภาพยนตร์สกาลาที่แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน จนสร้างความแตกตื่นให้ผู้คนในโลกออนไลน์ราวกับเกิดโศกนาฏกรรมย่อย ๆ

โรงภาพยนตร์สกาลา เปิดทำการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2512 โดย คุณพิสิฐ ตันสัจจา “Showman” คนสำคัญของเมืองไทย ผู้ประสบความสำเร็จจากการบริหารโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย จนได้รับการชักชวนให้มาช่วยพัฒนาที่ดินบริเวณสี่แยกปทุมวันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นี่ คุณพิสิฐได้ลงทุนสร้างโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยขึ้นมาเริ่มจากสยาม ในปี 2509 และลิโด ปี 2511 ก่อนจะมาถึงสกาลา ซึ่งเป็นโรงสุดท้าย แต่เป็นโรงที่เขาตั้งใจจะเนรมิตให้สวยงามที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้สถาปัตยกรรมอันวิจิตรบรรจง จึงกลายเอกลักษณ์อันโดดเด่นของสกาลาเสมอมา ตัวโรงนั้นประกอบขึ้นจากการออกแบบในสไตล์อาร์ตเดโคของ พันเอก จิระ ศิลป์กนก สถาปนิกชื่อดัง มองไปด้านในจะเห็นบันไดขนาดใหญ่อันเป็นที่มาของชื่อ “Scala” ที่แปลว่า “บันได” ในภาษาอิตาลี ยืนสง่าต้อนรับคู่กับโคมไฟระย้าทรงหยดน้ำค้างแข็งขนาดยักษ์ และพาให้เดินขึ้นไปสู่โถงหน้าโรงภาพยนตร์ ที่ผสมผสานงานศิลปะระหว่างตะวันตกกับตะวันออกไว้ด้วยกัน ทั้งเพดานประดับแฉกลายสีทองอันกลมกลืนไปกับเสาคอนกรีตโค้งที่ตั้งอยู่เรียงราย โดยมีงานปูนปั้นที่แสดงถึงความบันเทิงของเอเชีย ทั้งบาหลี ญี่ปุ่น จีน อินเดีย และไทย รวมตัวกันอยู่บนผนัง งานตกแต่งภายในทั้งหมดของโรงภาพยนตร์นี้ เป็นผลงานของชาวฟิลิปปินส์ 2 คน คือ Mr. Ver Manipol และ Mr. Fred Pedring ซึ่งเชี่ยวชาญในด้านตกแต่งและปูนปั้น

หลังจากที่สกาลาและโรงหนังอีกสองโรงก่อนหน้าของคุณพิสิฐ หรือบริษัทเอเพกซ์ ได้ค่อย ๆ นำพาความคึกคักมาสู่พื้นที่ที่เคยเงียบเหงา จนเป็นส่วนสำคัญให้ที่แห่งนี้เติบโตเป็นทำเลทองทางธุรกิจที่เจริญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ยุคสมัยอันรุ่งเรืองของโรงหนังขนาดใหญ่แบบโรงเดี่ยวหรือสแตนด์อโลนกลับเริ่มเสื่อมลง แต่สามทหารเสือแห่งย่านสยามสแควร์ยังคงยืนหยัดอยู่รอดมาได้นานกว่าอีกหลายโรงภาพยนตร์ร่วมรุ่น ก่อนที่ในปี 2553 สยามจะถูกไฟผลาญไปในระหว่างวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ทางการเมือง ส่วนลิโดที่ปรับตัวเป็นโรงหนังมัลติเพล็กซ์มาตั้งแต่ปี 2537 ก็ได้เปิดโรงฉายรอบสุดท้ายภายใต้การบริหารของบริษัทเอเพกซ์ไปเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ทิ้งให้สกาลาได้ “สแตนด์อโลน” หรือยืนอยู่โดดเดี่ยวอย่างแท้จริง ท่ามกลางโรงหนังและรูปแบบการชมภาพยนตร์ใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง




จากยุคของโรงหนังสแตนด์อโลนสู่มัลติเพล็กซ์ ฟิล์มสู่ดิจิทัล วิดีโอสู่สตรีมมิง สกาลาได้ตั้งตระหง่านผ่านมรสุมความเปลี่ยนแปลงหลายลูกในหน้าประวัติศาสตร์ จนกระทั่งตัวโรงได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปเสียเอง ปัจจุบัน สถานที่ที่เคยเปรียบเสมือนสโมสรอันหรูหราให้ผู้คนได้นัดกันแต่งตัวสวยงามเพื่อมาดูหนัง ได้แปรสภาพเป็นดั่งวิหารทางภาพยนตร์อันเก่าแก่ ที่แทบจะคงรูปแบบดั้งเดิมนับแต่วันแรกฉาย ทั้งรูปลักษณ์ภายนอก ชุดสูทสีเหลืองโดดเด่นของพนักงาน ตั๋วกระดาษแบบเก่าและระบบขายตั๋วที่ไม่ใช้เทคโนโลยี รวมไปถึงการเปลี่ยนชื่อหนังที่ป้ายมาร์คีหน้าโรง

“ความปรกติเก่า” ที่กลายเป็นของแปลกตาสำหรับคนดูหนังรุ่นใหม่เหล่านี้ ได้ขับให้สกาลามีสถานะแตกต่างไปจากโรงหนังอื่น ๆ ในเมืองไทย นอกจากการเป็นสถานที่จัดเทศกาลหรือฉายภาพยนตร์รอบพิเศษอยู่เสมอ สกาลายังได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2555 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2562 หอภาพยนตร์ร่วมกับหน่วยงานจัดกิจกรรมวันมรดกโสตทัศน์โลก ครั้งที่ 14 ได้นำป้ายจารึกในฐานะสถานที่สำคัญทางมรดกโสตทัศน์ไปประดับไว้ที่โรงภาพยนตร์แห่งนี้ เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปีของโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนแห่งสุดท้ายในกรุงเทพมหานครที่ยังคงเปิดทำการ

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความโอ่อ่าที่เคยทำให้สกาลามีฐานะเป็น “ราชาโรงหนังแห่งสยาม” กลับเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่นำบริษัทเอเพกซ์ไปสู่ความสุ่มเสี่ยงทางธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อเลิกกิจการโรงภาพยนตร์ลิโด พวกเขาเหลือเพียงโรงหนังแห่งสุดท้าย ซึ่งมีขนาดกว่า 900 ที่นั่ง ให้จัดโปรแกรมได้เพียง 5-6 รอบต่อวัน สวนทางกับโรงหนังมัลติเพล็กซ์ขนาดเล็กมากมายที่สามารถจัดสรรพื้นที่ฉายได้หลายรอบ ในขณะเดียวกัน ยังมีระบบสตรีมมิงที่นับวันยิ่งดึงผู้คนให้ดูหนังอยู่บ้านอย่างสะดวกง่ายดาย และเมื่อโรคระบาดโควิด-19 ย่างกรายเข้ามาตั้งแต่ช่วงต้นปี ยอดผู้ชมก็ยิ่งลดน้อยลง ซ้ำยังต้องปิดทำการไปกว่า 2 เดือน ทั้งหมดนี้กลายเป็นตัวเร่งให้สกาลาที่ผ่านร้อนหนาวมายาวนาน ต้องถึงคราวเกษียณตัวเองออกจากการเป็นโรงภาพยนตร์ถาวร



ภายหลังจากรัฐอนุญาตให้โรงภาพยนตร์ต่าง ๆ กลับมาเปิดทำการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พร้อมด้วยมาตรการหลักคือ ห้ามมีจำนวนผู้ชมเกิน 200 ที่นั่ง ซึ่งเป็นเพียงประมาณ 1 ใน 4 ของจำนวนที่นั่งในสกาลา หอภาพยนตร์ในฐานะหน่วยงานที่เช่าพื้นที่จัดกิจกรรมฉายหนังคลาสสิก ทึ่ง! หนังโลก ยาวต่อเนื่องไปจนสิ้นปี ก็ได้รับแจ้งจากผู้บริหารของโรงภาพยนตร์ว่า จำต้องตัดสินใจยุติบทบาทลง เพราะไม่สามารถแบกภาวะขาดทุนภายใต้เงื่อนไขและสถานการณ์ท่ามกลาง “ความปรกติใหม่” ที่เกิดจากพิษภัยของโรคระบาดครั้งนี้ได้ เดิมทีนั้น สกาลามีสัญญาเช่าพื้นที่จนถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งโรงภาพยนตร์ต้องไปเจรจาหาทางออกกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขณะที่หอภาพยนตร์ก็ต้องปรับเปลี่ยนโปรแกรม ทึ่ง! หนังโลก ที่วางแผนฉายที่นี่ไปจนถึงเดือนธันวาคม กลายเป็นโปรแกรม “La Scala ลา สกาลา” โปรแกรมอำลาสถานะความเป็นโรงภาพยนตร์ของสกาลาแทน

ภาพยนตร์ในโปรแกรมที่จัดขึ้นอย่างที่ผู้จัดและผู้ชมแทบไม่ทันตั้งตัวนี้ ประกอบไปด้วย Blow-Up ผลงานชนะเลิศเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประจำปี 2510 ของผู้กำกับชั้นครูชาวอิตาเลียน มิเคลันเจโล อันโตนิโอนี ที่เคยจัดอยู่ในโปรแกรมทึ่ง! หนังโลก เดือนพฤษภาคม ก่อนจะถูกงดฉายไป และ Cinema Paradiso  หนังแห่งการเฉลิมฉลองความเป็นโรงภาพยนตร์เรื่องดังจากอิตาลี ซึ่งเดิมวางแผนเป็นโปรแกรมปิดท้าย ทึ่ง! หนังโลก ในเดือนธันวาคม นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับโรงหนังสแตนด์อโลนในเมืองไทย 2 เรื่อง คือ นิรันดร์ราตรี Phantom of Illumination สารคดีเชิงทดลองปี 2560 ของผู้กำกับ วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ที่ถ่ายทอดชีวิตของพนักงานฉายประจำธนบุรีรามา หลังจากโรงหนังแห่งนี้ต้องปิดตัวลง และ The Scala สารคดีบอกเล่าเบื้องหลังคนทำงานในโรงภาพยนตร์สกาลา กำกับโดย อาทิตย์ อัสสรัตน์ เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เอเชีย โดยเทศกาลภาพยนตร์ปูซาน เมื่อปี 2559 

“La Scala ลา สกาลา” จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 4 และอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม โปรแกรมพิเศษนี้ถือเป็นภารกิจการฉายหนังครั้งสุดท้ายของโรงภาพยนตร์สกาลา ในนามของบริษัทเอเพกซ์ ผู้ก่อตั้ง เพื่อรูดม่านปิดฉากตำนานอันยืนยาวมากว่าครึ่งศตวรรษ เหลือไว้แต่เพียงภาพความสวยสง่าและบรรยากาศที่แสนมีเสน่ห์ ซึ่งยังคงสว่างไสวอยู่ในความทรงจำร่วมของผู้คนหลายต่อหลายรุ่น แม้แสงแห่งเครื่องฉายกำลังจะดับลาไปแล้วก็ตาม

- อ่านรายละเอียดโปรแกรม La Scala <<คลิก>>

ข่าวสารที่น่าสนใจ

อ่านข่าวทั้งหมด

ประกาศ รายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุแ...

ตามประกาศหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เรื่อง รับสมัครบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นผู้ปฏิบัติงานของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ตำแหน่งเจ้าหน้าที่พัสดุ จำนว...

อ่านรายละเอียด

Hommage à Chris Marker

23 ธ.ค. 64 - 23 ธ.ค. 64  กิจกรรม

Hommage à Chris Marker โปรแกรมพิเศษในเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 25 ในวาระ 100 ปี คริส มาร์กเกอร์ คนทำหนังผู้บุกเบิกหนังแนว essay filmคริส มาร์กเกอร์...

อ่านรายละเอียด

วันหนังบ้านครั้งที่ 13 (ฉบับออนไลน์)

16 ต.ค. 64 - 16 ต.ค. 64  กิจกรรม

พบกับความอบอุ่นประทับใจจากหนังบ้านในวันวานของหลากหลายครอบครัว ใน Home Movie Day Thailand 2021 หรือ วันหนังบ้าน (ฉบับออนไลน์) เสาร์ที่ 16 ตุลาคมนี้ เวล...

อ่านรายละเอียด