แนะนำหนังสือ : ภาพยนตร์กับกีฬา

สมัยเรียนมหาวิทยาลัยเจ้าหน้าที่ห้องสมุดเคยได้อ่านบทความเกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์อังกฤษ ซึ่ง Chariots of Fire (1981) เป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงในบทความนั้น วันนั้นเจ้าหน้าที่ห้องสมุดอยากดูหนังเรื่องนี้ เพียงเพราะอยากรู้ว่า British Heritage Films เป็นอย่างไร จึงไปร้านเช่าหนัง จากวันที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ เวลาผ่านมานานมากแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ห้องสมุดยังคงจดจำเกี่ยวกับ Chariots of Fire คือ การเล่าเรื่องความมุ่งมั่นของนักกรีฑาชาวอังกฤษที่แข่งวิ่งในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ค.ศ. 1924 ณ กรุงปารีส สำหรับจดหมายข่าวฉบับนี้ ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ต้อนรับกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 32 หรือโตเกียว 2020 ที่จะเริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ โดยชวนอ่านหนังสือเรื่องราวของ “ภาพยนตร์กับกีฬา

 

Sport and Film

เขียนโดย  Seán Crosson



ภาพยนตร์กีฬา หรือ Sports Films กลายเป็นภาพยนตร์เชิงพาณิชย์แนวหนึ่งที่ผู้ชมรู้จักกันมาก ตั้งแต่ภาพยนตร์คลาสสิกชีวประวัติของนักกีฬาชกมวยเรื่อง Raging Bull (1980) มาจนถึงภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ ซึ่งมีแก่นเรื่องของกีฬาฟุตบอลอย่าง Bend it Like Beckham (2002) หนังสือเล่มนี้เปิดเล่มด้วยเนื้อหาที่ทำให้ผู้อ่านรู้ว่า การศึกษาภาพยนตร์กีฬาของหนังสือเล่มนี้จะศึกษาสิ่งใดบ้าง เช่น การถ่ายภาพยนตร์ การเล่าเรื่อง เสียง การตัดต่อ รวมถึงทฤษฎีต่าง ๆ ที่นำมาใช้เป็นพื้นฐานการวิเคราะห์ทั้งทฤษฎีตระกูลภาพยนตร์ แนวคิดหลังโครงสร้างนิยม แนวคิดวัฒนธรรมศึกษา ในบทต่อมาหนังสือเล่มนี้ได้เขียนถึงประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์กีฬาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1890 (ค.ศ. 1890-1899) โดยตระกูลภาพยนตร์กีฬาจัดเป็นภาพยนตร์ประเภทบันเทิงคดี (Fiction) ซึ่งภาพยนตร์ประเภทนี้มีความโดดเด่นอย่างมากในแวดวงภาพยนตร์ฮอลลีวูดช่วงกลางทศวรรษ 1920 เช่น The Freshman (1925) เรื่อยไปจนถึงยุคร่วมสมัยอย่างภาพยนตร์รางวัลออสการ์ Million Dollar Baby (2004) และ The Fighter (2010) รวมถึงหนังสือเล่มนี้นำเสนอการวิเคราะห์เชื่อมโยงกีฬากับศาสตร์สาขาวิชาต่าง ๆ ทั้งภาพยนตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และบริบทต่าง ๆ ในสังคม อีกทั้งหนังสือเล่มนี้ได้แนะแนวทางสำหรับการพิจารณาภาพยนตร์ เพื่อช่วยให้ผู้สนใจในสาขาภาพยนตร์ศึกษา สาขาสื่อสารมวลชน สาขากีฬาศึกษา และสาขาวัฒนธรรมศึกษา สามารถศึกษาภาพยนตร์กีฬาได้อย่างเข้าใจ

 

Sportswomen in Cinema: Film and the Frailty Myth

เขียนโดย  Nicholas Chare

 


นักกีฬาหญิงในภาพยนตร์พบได้ทั้งในภาพยนตร์ประเภทสารคดีและบันเทิงคดี ในหลายยุคสมัยจากหลากหลายวัฒนธรรม และจากผลงานของผู้กำกับภาพยนตร์หลายท่าน เช่น แคทรีน บิเกโลว์ (Kathryn Bigelow) กูรินเดอร์ ชาดา (Gurinder Chadha) อิม ซุน-เร (Im Soon-rye) จอร์จ คูคอร์ (George Cukor) ไอดา ลูปิโน (Ida Lupino) และเลนี รีเฟนชตาล (Leni Riefenstahl) โดยหนังสือเล่มนี้นำเสนอการศึกษาภาพยนตร์บนพื้นฐานของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic Theory) และทฤษฎีปรากฏการณ์นิยม (Phenomenological Theory) โดยการวิเคราะห์แสดงถึงลักษณะเด่นของกิจกรรมกีฬาหลากหลายประเภท ได้แก่ เบสบอล บาสเกตบอล เพาะกาย ชกมวย ปีนผา ฟุตบอล โรลเลอร์สเกต กระดานโต้คลื่น เทนนิส ตลอดจนกีฬาประเภทลู่ ประเภทลาน และหนังสือเล่มนี้ได้วิเคราะห์การเล่าเรื่องของภาพยนตร์กีฬา รวมถึงการต่อยอดความรู้ทางวิชาการด้านกีฬาศึกษา เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่ากีฬาไม่ได้เป็นแค่การแข่งขัน อีกทั้งยังนำเสนอความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีภาพยนตร์ วาทกรรมสตรีนิยมแนวใหม่ของนักคิดหลายท่าน เช่น จูดิธ บัตเลอร์ (Judith Butler) บราชา เอตทิงเกอร์ (Bracha Ettinger) กริเซลดา พอลล็อก (Griselda Pollock) และมิเชล เซอร์เรส (Michel Serres) เพื่อนำมาพิสูจน์ว่าภาพยนตร์ที่มีนักกีฬาหญิงร่วมแสดงนั้นสะท้อนมุมมองเรื่องความเป็นเพศหญิงอย่างไร และส่งผลต่อความเข้าใจของผู้ชมในประเด็นนักกีฬาหญิงกับภาพยนตร์อย่างไร 

 

Contesting Identities: Sports in American Film

เขียนโดย  Aaron Baker

 


หนังสือเล่มนี้เจาะจงศึกษาประเด็น “กีฬา” ในภาพยนตร์อเมริกันเท่านั้น เช่น The Pinch Hitter (1917) Buster Keaton's College (1927) White Men Can't Jump (1992) Jerry Maguire (1996) Girlfight (2000) หนังสือเล่มนี้ได้วิเคราะห์ในแง่การเล่าเรื่องของภาพยนตร์กีฬาอเมริกันว่า ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นหนังเงียบ ผู้สร้างภาพยนตร์อเมริกันมักนำเสนอลักษณะการเล่าเรื่องในแง่การแข่งขัน การต่อสู้เพื่อชัยชนะ และนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จเป็นรายบุคคล นอกจากนั้นในประเด็นการวิเคราะห์วิธีการสร้างอัตลักษณ์ของกีฬาประเภททีมและประเภทบุคคลของสังคมอเมริกันตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 หนังสือเล่มนี้เล่าว่ากีฬาในภาพยนตร์อเมริกันมักจะนำเสนออัตลักษณ์ทางชนชั้น เชื้อชาติ ลักษณะของชาติพันธุ์ เพศวิถี แต่อย่างไรก็ตามกีฬาในภาพยนตร์อเมริกันยังคงให้ความสำคัญในการนำเสนอประเด็น “การพึ่งพาตนเอง” และเมื่อพิจารณากีฬาประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพยนตร์เกี่ยวกับกีฬาชกมวย เบสบอล และฟุตบอล หนังสือเล่มนี้อธิบายถึงความเชื่อมโยงระหว่างกีฬากับกลุ่มคนชายขอบในภาพยนตร์ว่า หากกลุ่มคนชายขอบซึ่งเป็นคนกลุ่มเล็ก ๆ ของสังคมได้รับชัยชนะในการแข่งขันกีฬา พวกเขาจะได้การยอมรับจากกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนหมู่มากของสังคม อีกทั้งหนังสือเล่มนี้ได้อธิบายภาพสะท้อนของกีฬาที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในภาพยนตร์อเมริกัน เช่น นักชกมวยอาชีพ นักกีฬาหญิงที่เข้มแข็งดังลูกผู้ชาย รวมถึงการวิเคราะห์ในแง่ผลกระทบเชิงสังคมกับภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องราวของนักกีฬาอาชีพตัวจริงในวงการกีฬา เช่น แจ็กกี้ โรบินสัน (Jackie Robinson) เบบ ดิดริกสัน ซาฮาเรียส (Babe Didrikson Zaharias) โมฮัมหมัด อาลี (Muhammad Ali) และไมเคิล จอร์แดน (Michael Jordan) 


เรื่องโดย วิมลิน มีศิริ



 

ข่าวสารที่น่าสนใจ

อ่านข่าวทั้งหมด

ทึ่ง! หนังโลก: Beau Travail

30 มี.ค. 67 - 30 มี.ค. 67  กิจกรรม

กิจกรรม “ทึ่ง! หนังโลก” ประจำเดือนมีนาคมนี้ พบกับ Beau Travail ภาพยนตร์ฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1999 ผลงานชิ้นเอกที่ แคลร์ เดอนีส์ (Claire Denis) ผู้กำกั...

อ่านรายละเอียด

Hommage à Chris Marker

23 ธ.ค. 64 - 23 ธ.ค. 64  กิจกรรม

Hommage à Chris Marker โปรแกรมพิเศษในเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 25 ในวาระ 100 ปี คริส มาร์กเกอร์ คนทำหนังผู้บุกเบิกหนังแนว essay filmคริส มาร์กเกอร์...

อ่านรายละเอียด

วันหนังบ้านครั้งที่ 13 (ฉบับออนไลน์)

16 ต.ค. 64 - 16 ต.ค. 64  กิจกรรม

พบกับความอบอุ่นประทับใจจากหนังบ้านในวันวานของหลากหลายครอบครัว ใน Home Movie Day Thailand 2021 หรือ วันหนังบ้าน (ฉบับออนไลน์) เสาร์ที่ 16 ตุลาคมนี้ เวล...

อ่านรายละเอียด