กิตติ ดัสกร

ดาวดวงที่ 87

ชื่อในการแสดง กิตติ ดัสกร

ชื่อ-นามสกุลจริง กิตติ นิติสาขาหรือกลิ่นเกลี้ยง

วันเกิด พ.ศ. 2494

พิมพ์มือลานดารา 24 กันยายน พ.ศ. 2552


กิตติ มีชื่อเล่นว่า ปื๊ด เกิดที่จังหวัดชุมพร เป็นน้องชาย ดามพ์ ดัสกร เรียนจบชั้น ป.7 ที่จังหวัดชุมพร ก็เข้ากรุงเทพฯ มาเรียนต่อที่โรงเรียนวิมุตยรามวิทยากรณ์ แล้วไปต่ออาชีวะศิลป์ เหตุที่ได้เข้าวงการภาพยนตร์ก็เพราะตามดามพ์ ดัสกร พี่ชายเข้าไปวังละโว้ ดามพ์จึงฝากกับ ม.จ.ชาตรีเฉลิมยุคล กิตติจึงได้ทำงานเป็นฝ่ายศิลป์ของละโว้ภาพยนตร์ บางครั้งก็ได้แสดงเป็นตัวประกอบภาพยนตร์โทรทัศน์ด้วยเช่นเรื่อง หมอผี ต่อมาถูกทหารเกณฑ์ 2 ปี พอพ้นเกณฑ์ทหาร ก็กลับมาทำงานเป็นฝ่ายศิลป์ให้กับ มจ.ชาตรีเฉลิมยุคล อีกโดยเริ่มจากเรื่อง มันมากับความมืด (2514) และเป็นตัวประกอบในเรื่อง เทพธิดาโรงแรม (2517 สรพงศ์-วิยะดา)


ต่อมา ม.จ.ชาตรีเฉลิมยุคล สร้างภาพยนตร์เรื่อง ผมไม่อยากเป็นพันโท (2518 สมภพ-นัยนา) เกิดขาดตัวแสดงเป็นนายเงี๊ยดลูกครึ่งญวน ม.จ.ชาตรีเฉลิมยุคล จึงให้กิตติรับบทบาทดังกล่าว กิตติเริ่มมีบทโดดเด่นมากขึ้นในเรื่อง เทวดาเดินดิน (2519 สรพงศ์-วิยะดา) จากนั้น เชิด ทรงศรี ก็นำกิตติไปแสดงเป็นน้องชายของอีเรียมในเรื่อง แผลเก่า (2520 สรพงศ์-นันทนา) กิตติจึงเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นอีก


กิตติ เคยแสดงในบทพระเอกภาพยนตร์อยู่ 2 เรื่องคือ ฝนแสนห่า ของ ยุทธนา มุกดาสนิท กับเรื่อง กู่แก้วนางคอย ของ อ้อยใจ วลัยพรรณ แต่เรื่อง ฝนแสนห่า ไม่ผ่านเซ็นเซอร์ ส่วนเรื่อง กู่แก้วนางคอย นั้น ผู้สร้างไม่ได้นำออกฉาย

บทบาทที่กิตติได้รับนั้น มักจะเป็นบทดาวร้ายเช่นเดียวกับพี่ชาย ภาพยนตร์ที่กิตติแสดงไว้ ปี 2520 เช่น 123 ด่วนมหาภัย (กรุง-สรพงศ์-นิรุตติ์-นัยนา) ล่า (สมบัติ-อรัญญา-ลลนา) 9 พยัคฆราช (กรุง-อุเทน-ยอดชาย) มันทะลุฟ้า (สมบัติ-สรพงศ์-นัยนา) คู่ทรหด (กรุง-สรพงศ์-ทัศนวรรณ-เนาวรัตน์) ปี 2521 เช่น ไอ้ 8 นิ้ว (สรพงศ์-มยุรา) 4 อันตราย (ไพโรจน์-เนาวรัตน์-เศรษฐา) ข้ามาจากเมืองนคร (กรุง-อุเทน-ไพโรจน์) กุญแจรัก (สรพงศ์-นันทนา) เกวียนหัก (สรพงศ์-นันทนา) ปี 2522 เช่น ขยะสงคราม (2522 ลลนา-ภิญโญ-นิภาพร) แผ่นเสียงตกร่อง (ไพโรจน์-เนาวรัตน์) กำนันโพธิ์ (สรพงศ์-อำภา-วิยะดา) คุณพ่อขอโทษ (ไพโรจน์-ลลนา) ครูทิม (สรพงศ์-ลลนา-ล้อต๊อก) ปี 2523 เช่น ผีหัวขาด (สรพงศ์-วาสนา) จากครูด้วยดวงใจ (สรพงศ์-ลลนา-ทัศนวรรณ) อุกาฟ้าเหลือง (ยมนา-อรวรรณ) ปี 2524 เช่น ชาติจงอาง (สมบัติ-สุพรรษา-อำภา) ปี 2524 เช่น เฮงสองร้อยปี (สรพงศ์-เนาวรัตน์) ดาวพระเสาร์ (สรพงศ์-ทูน-จารุณี) ปี 2526 เช่น อาถรรพณ์น้ำมันพราย (พยัคฆ์-ใจกานต์)  ปี 2527 ล็อตเตอรี่ (สรพงศ์-ปิยะมาศ) เสือล่าสิงห์ (ทูน-อภิรดี) ชี (สรพงศ์-พุ่มพวง-ศิริพร) อินทรี 4 แคว (ทูน-นิดา) ช่างร้ายเหลือ (ไพโรจน์-สินจัย) นักรบประจัญบาน (สรพงศ์-ระพีพรรณ) อภินิหารน้ำมันพราย (ธนิต-ใจกานต์) สาวน้อยร้อยรัก (ทูน-สินจัย-พรพรรณ) 1 นรกโลกันตร์ (สรพงศ์-ระพีพรรณ) อิทธิฤทธิ์น้ำมันพราย (ธนิต-แพรว) ปี 2528 เช่น ระฆังผี (ธนิต-พัชรี)  ขังหญิง (ธนิต-สายสุนีย์) แม่หมอน้ำมันพราย (ธนิตย์-แพรว) ปี 2530 เช่น วอนเพลงฝากรัก (สรพงศ์-พรศักดิ์-กุสุมา) พรานภูเขา (เจิดพันธ์-ดาว) ปี 2531 เช่น ภูผาทอง (สรพงศ์-จารุณี) ดงพญาเสือ (สรพงศ์-อรุโณทัย) นางแบบ (ราตรี-เล็ก) ปี 2532 เช่น เลือดแค้น เล็กนกใน (สรพงศ์-ไวพจน์-พุ่มพวง 88) บ้าดีเดือด (บิณฑ์-พันนา-สุนิสา) ปี 2533 เช่น ปีศาจสงคราม (บิณฑ์-เล็ก) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่สร้างและกำกับการแสดงเอง ปี 2534 เช่น เพชฌฆาตโหดสิงห์ป่าซุง (เอกพันธ์-พันนา) ผ่าโลกมาลุย (โซนิค-พันนา) ปี 2534 เช่น ผู้ใหญ่บ้านกระดูกเหล็ก (พันนา-โซนิค) ปี 2535 เช่น นักร้องคะนองปืน (พันนา-สมหมายน้อย) โหดแล้วเท่ห์ (อธิวัฒน์-โซนิค) เพลงรักโขงชีมูล 2 (2539 ดาร์กี้-ธรรดร) เพลงรักข้ามคลอง 2 (2539 เฉลิมพล-ชุติมา) ดิบปฏิบัติการเฉพาะกิจ (2540 ณิชนันท์-แคทรียา)