พิมหรือมาช่า วัฒนพานิช

ดาวดวงที่ 81

ชื่อในการแสดง พิมหรือมาช่า วัฒนพานิช

ชื่อ-นามสกุลจริง มาช่า วัฒนพานิช

วันเกิด 24 สิงหาคม พ.ศ. 2513

พิมพ์มือลานดารา 12 กันยายน พ.ศ. 2552


พิมหรือมาช่า มีชื่อเล่นว่า ช่า เกิดที่กรุงเทพมหานคร เข้าวงการภาพยนตร์เมื่ออายุเพียง 15 ปี โดยเป็นนางเอกใหม่ค่ายโคลีเซี่ยมโปรดักชั่น ของ คมน์ อรรฆเดช ในเรื่อง ตำรวจเหล็ก ซึ่งคอหนังในยุคนั้น จะจำเธอได้ดีเพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้คำโฆษณาว่า “ขอแนะนำนางเอกที่สวยที่สุด พิม วัฒนพานิช” ในเรื่องพิมจะได้รับบทเป็นนักข่าวสาวผู้มีอุดมการณ์ที่ทั้งสวย ทั้งเก่ง เข้าขากันดีกับผู้หมวดหนุ่ม บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ พระเอกของเรื่องโดยเฉพาะในฉากช่วยกันบู๊ต่อสู้กับมือปืนร่างใหญ่


ตำรวจเหล็ก กำกับการแสดงโดย คมน์ อรรฆเดช เข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2529 ที่โรงภาพยนตร์เพชรรามา-เพชรเอ็มไพร์-สามย่าน-เจ้าพระยา และเพียงเรื่องแรก ก็เหมือนจะหลักประกันคุณภาพดาราหน้าใหม่แล้วเพราะพิมสามารถคว้ารางวัลตุ๊กตาเงินหญิง จากการประกาศรางวัลตุ๊กตาทอง พระสุรัสวดี ประจำปี 2529 ไปครองได้อย่างไม่ยาก 


จากนั้นพิมก็แสดงภาพยนตร์ติดต่อกันอีกหลายเรื่อง เช่น วนาลี (2529 ไพโรจน์ สังวริบุตร) รักหน่อยน่า (2529 อธิป ทองจินดา) จีบ (2529 พีท ทองเจือ) กว่าจะรู้เดียงสา (2530 สุริยา เยาวสังข์) ฟ้าสีทอง (2530 ยุรนันท์-ลิขิต) ตะวันเพลิง (2530 บิณฑ์-ยุรนันท์-ฉัตรชัย) เพชรเสี้ยนทอง (2530 สรพงศ์-ฉัตรชัย) วัยเปรี้ยวปึ้ก ๆ (2530 วทัญญู มุ่งหมาย) วุ่นที่สุดสะดุดรัก (2530 ยุรนันท์ ภมรมนตรี) อ้อมกอดซาตาน (2530 เพ็ญพักตร์ ศิริกุล-วิไลลักษณ์ ดวงมีเดช) ปีศาจสีเงิน (2531 บิณฑ์-เพ็ญพักตร์) เพชฌฆาตสีชมพู (2531 สรพงศ์) วิวาห์จำแลง (2531 ยุรนันท์-สินจัย) จงรัก (2531 ท็อป บันลือฤทธิ์-มาช่า-บดินทร์ ดุ๊ก) อี-จู้-กู้-ปู่-ป้า (2531 บดินทร์ ดุ๊ก-ปิยะมาศ) มาห์ (2534 พงษ์พัฒน์ วชิระบรรจง)


ในจำนวนภาพยนตร์ที่พิมแสดงมานั้น กว่าจะรู้เดียงสา เป็นเรื่องที่ได้รับบทชีวิตหนักที่สุดและเมื่อก้าวเข้าสู่วงการละครโทรทัศน์ครั้งแรกเรื่อง กว่าจะรู้เดียงสา ก็ยังได้แสดงในบทเดียวกันนี้อีก ชื่อ “พิม” ถูกใช้มาจนกระทั่งถึงเรื่อง จงรัก จึงได้เปลี่ยนมาเป็น “มาช่า” และภาพยนตร์เรื่องนี้เองก็ทำให้มาช่าได้รับรางวัลตุ๊กตาทองพระสุรัสวดี ดารานำหญิงประจำปี 2530 ด้วย 


จากนั้นพิมหรือที่ใคร ๆ รู้จักในชื่อ “มาช่า” ก็หยุดแสดงภาพยนตร์และก้าวไปใช้ชีวิตนักร้องอีกกว่า 10 ปี ก่อนที่จะกลับมาปรากฏตัวบนแผ่นฟิล์มอีกครั้งเริ่มจากเรื่อง แฝด (2550) 5 แพร่ง (2552)