ลือชัย นฤนาท

ดาวดวงที่ 67

ชื่อในการแสดง ลือชัย นฤนาท

ชื่อ-นามสกุลจริง พิชัย จิตตรีขันธ์

วันเกิด 30 มิถุนายน พ.ศ. 2475

พิมพ์มือลานดารา 6 สิงหาคม พ.ศ. 2552


ลือชัย มีชื่อเล่นว่า เล็ก เกิดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จบการศึกษาที่โรงเรียนมัธยมวัดบพิตรพิมุข เคยเป็นตำรวจยศสิบตำรวจโทอยู่ที่กองปราบสามยอด ปี 2499 ลือชัยเข้าเป็นตัวประกอบภาพยนตร์เรื่อง บ้านทรายทอง (ชนะ-เรวดี) ของโยคีสถานสี่พระยาภาพยนตร์ ต่อมา สุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ ผู้สร้างผู้กำกับของภาพยนตร์สหะนาวีไทยได้มอบบท ชีพ ชูชัย พระเอกของเรื่อง เล็บครุฑ ให้พร้อมกับตั้งชื่อให้ว่า ลือชัย นฤนาท


เล็บครุฑ อาชญนิยายสืบสวนยอดฮิต เขียนโดย พนมเทียน สร้างในระบบ 16 มม.พากย์สด ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ลือชัยเป็นพระเอก เข้าฉายเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2500 ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง-เฉลิมบุรี ก็ประสบความสำเร็จเกินคาด ขนาดหนุ่ม ๆ สมัยนั้นไว้ผมทรงลือชัย เดินคอเอียงกันเป็นแถว ๆ และในการประกาศรางวัลตุ๊กตาทองครั้งแรกของเมืองไทย ลือชัยก็ได้รับพระราชทานรางวัลตุ๊กตาทอง ดารานำฝ่ายชายคนแรกจากเรื่องนี้อีกด้วย


เริ่มปี 2501 ชื่อลือชัยถูกจัดวางอันดับให้เป็นพระเอกอันดับต้น ๆ แต่ทว่างานภาพยนตร์ก็ต้องชะงักไปเพราะติดปัญหาเรื่องส่วนตัว ทำให้ระยะเวลาที่ลือชัยเป็นพระเอกจนถึงปี 2514 มีภาพยนตร์ประมาณ 36 เรื่องเท่านั้น ภาพยนตร์ที่ลือชัยแสดงเป็นพระเอกเช่นเรื่อง ดอกฟ้าในมือโจร (2501 ลือชัย-ส.อาสนจินดา-ตรีงตา) นักรักนักสู้ (2501 ลือชัย-พรพิไล) มังกรแดง (2501 ลือชัย-อมรา) การะเกด (2501 ลือชัย-พิศมัย) แววมยุรา (2501 ลือชัย-อมรา) ฝ่ามรสุม (2502 ลือชัย-อมรา) รอยเสือ (2502 สุรสิทธิ์-ลือชัย-เจ้ากอแก้ว) มือเหล็ก (2502 ลือชัย-มิสคูมี่) ภูตเหลือง (2502 ลือชัย-วิไลวรรณ) มัจจุราชประกาศิต (2502 ส.อาสนจินดา) ไอ้แก่น (2502 ลือชัย-รัตนาภรณ์) กงกรรม (2503 ลือชัย-มิสคูมี่) เสือเฒ่า (2503 พันคำ-ลือชัย-อาคม) ทูตนรกหรือเล็บครุฑ ภาคจบ (2503 อมรา-ลือชัย) ยอดรักพยัคฆ์ร้าย (2507 ลือชัย-เอื้อมเดือน) พรายดำ (2507 ลือชัย-เพชรา) คมแสนคม (2507 ลือชัย-วัลย์ลดา) ค่ายบางระจัน (2508 ไชยา-ลือชัย-มิสอันฮวา) รอยร้าว (2508 ลือชัย-เอื้อมเดือน) อ้ายค่อม (2509 ลือชัย-ภาวนา) ชาติกระทิง (2509 สมบัติ-ลือชัย-เพชรา) สิงห์สันติภาพ (2509 ลือชัย-โสภา) น้ำค้าง (2509 มิตร-ลือชัย-เพชรา) เพชรตัดเพชร (2509 มิตร-ลือชัย-เพชรา) พรายพิฆาต (2510 อาภัสรา-ลือชัย) เจ้าแม่ปานทอง (2510 ลือชัย-โสภา) น้ำฝน (2510 ลือชัย-เนาวรัตน์) ชาตินักสู้ (2511 ลือชัย-เพชรา) คฤหาสน์รัก (2512 ลือชัย-เพชรา) แก้วสกุณา (ลือชัย) ขุนตาล (2512 ลือชัย-สมบัติ-อภิญญา) คมแฝก (2513 สมบัติ-เกชา-ลือชัย) ไอ้เบี้ยว (2513 มิตร-ลือชัย-เพชรา) นักร้องจ้าวนักเลง (2514 มิตร-ลือชัย-ปริศนา) อรุณรุ่งฟ้า (2514 ลือชัย-เพชรา) จอมดาบพิชัยยุทธ (2514 มิตร-ลือชัย-สุทิศา)


ในจำนวนนี้ กงกรรม เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ลือชัยลงทุนเป็นผู้สร้างเองในชื่อนฤาชาภาพยนตร์ มีครูเนรมิต เป็นผู้กำกับการแสดง ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ลือชัยประสบอุบัติเหตุหวิดจะเสียโฉม แต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไรนัก จึงหยุดงานสร้างไปพักหนึ่ง ครั้นปี 2508 ลือชัยและครอบครัวจึงเริ่มสร้างภาพยนตร์อีกครั้ง เช่นเรื่อง รอยร้าว (2508) สิงห์สันติภาพ (2509) ชาตินักสู้ (2511) คฤหาสน์รัก (2512) ไอ้เบี้ยว (2513) อรุณรุ่งฟ้า (2514) ไม้ป่า (2516 ยอดชาย-เพชรา) อาถรรพณ์สวาท (2517 ยอดชาย-ภาวนา) ครั้นพ้นวัยเป็นพระเอกแล้ว ลือชัยก็ยังรับแสดงในบทสมทบอีกหลายเรื่องเช่น ชุมทางผี (2518 ยอดชาย-อรัญญา) 5 แผ่นดินเพลิง (2519 กรุง-มิสเคียวจิน) นักเลงไม่มีอันดับ (2520 กรุง-ภาวนา) เขาใหญ่ (2521 กรุง-สรพงษ์) ไอ้หนุ่มหมัดพังพอน (2523 เฉินหลงไทย-บรู๊ซลีไทย-หลินเหมียวเก้อ) เป็นต้น