น้ำเงิน บุญหนัก

ดาวดวงที่ 63

ชื่อในการแสดง น้ำเงิน บุญหนัก

ชื่อ-นามสกุลจริง สวง จารุวิจิตร

วันเกิด 5 มกราคม พ.ศ. 2483

พิมพ์มือลานดารา 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2552


น้ำเงิน มีชื่อเล่นว่า เปี๊ยก เกิดที่จังหวัดนครนายก จบการศึกษาจากโรงเรียนขัตติยาณีผดุงศึกษา เริ่มมีแววเป็นคิลปินมาแต่เด็ก ๆ และเพราะความน่ารัก น่าเอ็นดู ช่างพูด จึงทำให้ ม.ล.ทรงสอางค์ ทิฆัมพร ชักนำเข้าสู่วงการภาพยนตร์ โดยได้แสดงภาพยนตร์เรื่องแรกขณะยังเป็นเด็กสาวรุ่น ๆ ในเรื่อง สาปสวรรค์ ซึ่งนำแสดงโดย ส.อาสนจินดา เชาว์ แคล่วคล่อง จุฑารัตน์ จินรัตน์ โดยขณะนั้นน้ำเงินได้รับบทเป็นนางเอกวัยเด็กที่ชื่อ รุ่งทิพย์ ซึ่งขณะนั้นผู้สร้างภาพยนตร์ได้เขียนแนะนำน้ำเงินในฐานะดาราหน้าใหม่แก่แฟนภาพยนตร์ว่าชื่อ “ดาวรุ่งฟ้า” สาปสวรรค์ สร้างโดยภาพยนตร์สถาพรของ ส.อาสนจินดาและมีครูเนรมิต เป็นผู้กำกับการแสดง เข้าฉายเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2500 ที่โรงภาพยนตร์แกรนด์ ซึ่งต่อมาครูเนรมิตและ ส.อาสนจินดา จึงตั้งชื่อใหม่ให้ ดาวรุ่งฟ้า ว่าเป็น น้ำเงิน บุญหนัก 


หลังจากนั้นน้ำเงินก็มีงานแสดงภาพยนตร์ติดต่อกันโดยได้รับบทเป็นนางเอกและดาราสมทบ เช่นเรื่อง ฆาตกรรมเปลือย (2500) ซึ่งน้ำเงินเป็นนางเอกคู่กับ เดชา ประการะนันทน์ สร้างและกำกับโดย ปริญญา ลีละศร ตามด้วยเรื่อง ชาติเสือ (2501) ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ มิตร ชัยบัญชา เป็นพระเอกโดยน้ำเงินแสดงเป็น 1 ใน 6 นางเอกของเรื่อง ปิดท้ายปีนี้ด้วยเรื่อง บุกแหลก (2501) ของกรรณสูต-เนรมิตภาพยนตร์


ภาพยนตร์ที่น้ำเงินแสดงไว้ในช่วงนี้ยังมีอีก เช่นเรื่อง จ้าวนักเลง (2502 มิตร-อมรา) งูเห่าไฟ (2502 ทม-แน่งน้อย) ไอ้เสือมือเปล่า (2502 สุรสิทธิ์-นพมาศ) วนาลี (2502 เกศริน-พันคำ) ซาเซียน (2502 ไชยา-เรวดี) ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งเก้า (2503 มิตร-ภาวนา) ยอดนักเลง (2504 มิตร-อภิญญา) ดอกแก้ว (2505 ไชยา-เพชรา) ยอดขวัญจิต (2505 มิตร-แก้วใจ) สิงห์เดี่ยว (2505 มิตร-ทักษิณ-นฤมล) ทับสมิงคลา (2505 มิตร-อมรา) 7 สมิง (2507 พันคำ-อรสา) อรทัยใจเพชร (2507 ปริม-อนุชา) นางสาวโพระดก (2508 มิตร-พิศมัย) ผู้ใหญ่ลี (เพชรา-มณทิชา-ล้อต๊อก) สาวเครือฟ้า (2508 มิตร-พิศมัย) หมอชนินทร์ผู้วิเศษ (2509 สมบัติ-ภาวนา) กาเหว่า (2509 มิตร-โสภา) น้อยใจยา (2509 ไชยา-เพชรา) พิมพิลาไล (2509 มิตร-พิศมัย) 

ต่อมาในการประกาศรางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 7 ประจำปี 2509 น้ำเงินได้รับรางวัลตัวประกอบหญิง จากเรื่อง กาเหว่า และในการประกาศรางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 8 ประจำปี 2510 น้ำเงินได้รับรางวัลตุ๊กตาเงินจากเรื่อง นางสาวโพระดก จากนั้นน้ำเงินก็มีผลงานภาพยนตร์เพิ่มมากขึ้นและยังรับงานแสดงภาพยนตร์โทรทัศน์ ละครโทรทัศน์อีกหลายเรื่องจนถึงปัจจุบันนี้เช่นเรื่อง ปลาบู่ทอง กระสือ เมื่อรักร้าว ฯลฯ 


ส่วนผลงานภาพยนตร์ก็ยังคงมีอยู่ตลอดมา เช่นเรื่อง ไทรโศก (2510 มิตร-โสภา-รักชนก) ลาวแพน (2511 สมบัติ-ภาวนา) คุณหนู (2511 สมบัติ-โสภา) ปลาไหลทอง (2512 มิตร-เพชรา) หนึ่งนุช (2514 สมบัติ-พิศมัย-ภาวนา) คีรีบูน (2514 ครรชิต-เพชรา) ลำดวน (2514 สมบัติ-เพชรา) วิมานสีทอง 2514 ไชยา-เพชรา) ธารรักไทรโยค (2514 สมบัติ-เพชรา) วิมานสลัม (2514 สมบัติ-ดวงดาว) พี่สาว (2514 ครรชิต-สุทิศา) ล่ามหากาฬ (2515 ครรชิต-เอก อัมรินทร์-สุทิศา) นี่แหละรัก (2515 ไชยา-พิศมัย) สะท้านกรุง (2515 กรุง-สุทิศา) แม่ปลาบู่ (2515 พัลลภ-เยาวเรศ) หัวใจหิน (2516 สมบัติ-เพชรา) ใครจะร้องไห้เพื่อฉัน (2517 ยอดชาย-ภาวนา) เมียเถื่อน (2518 สมบัติ-อรัญญา) ข้าวนอกนา (2518 อุเทน-สุริยา) เทวดาเดินดิน (2519 สรพงศ์-วิยะดา) แม่ดอกรักเร่ (2519 กรุง-อรัญญา) นางพญางูผี (2527 ทูน-เนาวรัตน์) สะพานรักสารสิน (2530 จินตหรา-รอน) มนต์รักลูกทุ่ง (2548 นันทวัฒน์-ลักขณา)