รัชนู บุญชูดวง

ดาวดวงที่ 58

ชื่อในการแสดง รัชนู บุญชูดวง

ชื่อ-นามสกุลจริง รัชนู บุญชูดวง

วันเกิด 21 ตุลาคม พ.ศ. 2494 

พิมพ์มือลานดารา 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2552


รัชนู มีชื่อเล่นว่า อี๊ด เกิดที่กรุงเทพมหานคร เรียนจบแผนกมัณฑนศิลป์ จากวิทยาลัยเพาะช่าง ก่อนเข้าวงการบันเทิงเคยทำงานที่บริษัทนำเที่ยวมาก่อน ต่อมาได้เป็นนางแบบแสดงแบบเสื้อและทรงผม เคยร่วมกับเพื่อน ๆ ทำหนังสือ “กรุง” โดยถ่ายรูปรัชนูขึ้นปกปฐมฤกษ์ ต่อมา สมชาย จันทวังโส แมวมองดาราจึงแนะนำรัชนูให้ไปแสดงภาพยนตร์โทรทัศน์กับดาราฟิล์มของ ไพรัช สังวริบุตร ซึ่งเริ่มจากภาพยนตร์โทรทัศน์ชุดเรื่อง ขุนแผนผจญภัย ซึ่งมี สมชาย ศรีภูมิ ผูกขาดเป็นพระเอกหลายสิบปี 


รัชนู เริ่มรับบทนางเอกภาพยนตร์โทรทัศน์แนวจักร ๆ วงศ์ๆ ในเรื่อง พระทิณวงศ์ จากนั้นก็มีผลงานภาพยนตร์โทรทัศน์และละครโทรทัศน์ติดต่อกันเรื่อยมา เช่นเรื่อง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผีกระสือ เดือนเสี้ยว ใครกำหนด พรหมที่ไม่ได้ลิขิต ริษยา สิ้นสวาท สามอนงค์ เปลวไฟในดวงดาว ไฟ พิษสวาส วังไวกูรย์ มายาลวง สาปอสูร ไฟรักไฟพยาบาท 


นอกจากนี้ รัชนู ยังเคยเป็นนักจัดรายการวิทยุ โดยจัดรายการ “เพื่อน” ทางสถานีวิทยุยานเกราะ เคยเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ เช่น รายการพลิกล๊อค รัชนูเป็นนางเอกโทรทัศน์ซึ่งประสบความสำเร็จในชีวิตการแสดงอย่างมากเพราะได้รับความนิยมจากประชาชนและยังได้รับรางวัลทางการแสดงต่าง ๆ เป็นเกียรติยศอีกด้วย เช่น รางวัลเมขลา รางวัลตุ๊กตาทองมหาชน 


สำหรับวงการภาพยนตร์นั้น เมื่อรัชนูเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังทางละครโทรทัศน์แล้ว อรุณศรี พินทิพย์ จึงดึงตัวรัชนูให้ไปแสดงภาพยนตร์เป็นครั้งแรกด้วยเรื่อง ดรรชนีไฉไล ซึ่งเป็นบทประพันธ์อันแสนหวานของ อิงอร แม้ว่าในเรื่องจะมี กรุง ศรีวิไล-อรัญญา นามวงศ์ ขึ้นชื่อเป็นพระเอก-นางเอก แต่ก็แสดงเป็นรุ่นพ่อ-แม่แล้ว โดยรัชนูได้รับบทลูกสาวของอรัญญาที่ชื่อ ดรรชนี เป็นนางเอกใหม่คู่กับ อาวุธ พิทักษ์พงษ์ พระเอกใหม่ เข้าฉายเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2519 ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง แม้จะมีเนื้อหาดีเศร้าสะเทือนใจอย่างมาก แต่ก็ไม่อาจฝ่ากระแสหนังบู๊ที่กำลังเป็นที่นิยมในยุคนั้นได้ รัชนูจึงกลับแสดงละครโทรทัศน์เช่นเดิม


อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัชนูจะกลับไปแสดงละครโทรทัศน์ แต่ก็ยังคงรับงานภาพยนตร์อีกบ้าง เช่นเรื่อง เท่งป๊ะต๊ะติ๊งโหน่ง (2521 เด่น-มยุรา) หนังภาคต่อจาก เทพบุตรต๊ะติ๊งโหน่ง ที่ถายรัชนูซ้อนกับการอัดรายการโทรทัศน์ของ ดำรง พุฒตาล เพียงฉากเดียว ต่อมาก็เรื่อง มือปืนนมสด (2521 สมบัติ-อรัญญา) ไอ้ฟ้าผ่า (2522 กรุง-ลลนา) นรกบนดิน (2522 สมเกียรติ-ลลนา) ชาติหินดินระเบิด (2522 กรุง-ยอดชาย) บัวแก้วบัวทอง (2523 จตุพล-รัชนู) พ่อจ๋า (2523 สรพงศ์-นันทิดา) เดือนเสี้ยว (2528 ฉัตรชัย-พิศมัย-รัชนู) หัวใจเดียวกัน (2529 อำพล-จินตหรา) รักใคร่ (2530 สันติสุข-จินตหรา) พี่เลี้ยง (2531 สันติสุข-จินตหรา) คืนบาปพรหมพิราม (2546 พิมพ์พรรณ-กมล) ฯลฯ ซึ่งในจำนวนนี้ เดือนเสี้ยว เป็นภาพยนตร์ที่รัชนูรับบทชีวิตที่เศร้าที่สุดและยังอยู่ในความทรงจำของแฟนภาพยนตร์ไทยตลอดมา


รัชนู เริ่มห่างหายไปจากวงการบันเทิงพักหนึ่งเพราะมีปัญหาด้านสุขภาพ โดยละครโทรทัศน์เรื่อง บุญรอด เป็นเรื่องท้ายสุดที่ได้เห็นรัชนูแสดง แต่หลังจากสุขภาพเริ่มดีขึ้นแล้ว รัชนูจึงก็กลับเข้าวงการตามเสียงเรียกร้องอีกครั้ง โดยยังคงรับงานแสดงทางโทรทัศน์และภาพยนตร์ เช่นเรื่อง แฝด (2550) เพื่อนกูรักมึงว่ะ (2550) นาคปรก (2553)