ภาวนา ชนะจิต

ดาวดวงที่ 53

ชื่อในการแสดง ภาวนา ชนะจิต

ชื่อ-นามสกุลจริง อรัญญา เหล่าแสงทอง

วันเกิด 20 ธันวาคม พ.ศ. 2483 

พิมพ์มือลานดารา 13 มิถุนายน พ.ศ. 2552


ภาวนา มีชื่อเล่นว่า หยิน มีชื่อจีนเป็นภาษาแมนดารินว่า หลิวหลานอิง อ่านเป็นภาษาไหหลำว่า หลิวหลานหยิน มีเชื้อสายจีนไหหลำ เกิดที่กรุงเทพมหานคร ย่านฝั่งธนบุรี ปัจจุบันใช้ชื่อจริงว่า อรัญญาภรณ์ ภาวนาเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนกวางเจาซึ่งสอนภาษาจีนและภาษากวางตุ้ง เรียนจบชั้นมัธยม 6 ที่โรงเรียนทิพยศึกษา ขณะที่ทำงานเป็นเสมียนอำเภอยานนาวา ศรินทิพย์ ศิริวรรณ อดีตนางเอกภาพยนตร์และรังสรรค์ ตันติวงศ์กับประทีป โกมลภิส ผู้สร้างผู้กำกับภาพยนตร์ไปพบเข้าก็เลยชักชวนให้มาแสดงภาพยนตร์ 


ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ภาวนาแสดงสร้างโดย รังสรรค์ ตันติวงศ์ เรื่อง แสงสูรย์ มีมิตร-อมรา เป็นพระเอก-นางเอก โดยภาวนารับเด็กสาวที่ชื่อ โชติรส กำกับการแสดงโดยประทีป โกมลภิส ออกฉายวันที่ 22 กรกฎาคม 2503 ที่ศาลาเฉลิมกรุง-เฉลิมบุรี ชื่อของภาวนาเป็นที่รู้จักทันทีและก็ยังได้รับรางวัลตุ๊กตาทองในฐานะนักแสดงสบทบหญิงจากเรื่อง แสงสูรย์ อีกด้วย 

ภาวนาเริ่มรับบทนางเอกเต็มตัวครั้งแรกคู่กับมิตร ชัยบัญชา ในเรื่อง ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งเก้า ของประทีป โกมลภิส ออกฉายวันที่ 30 กันยายน 2503 ที่ศาลาเฉลิมกรุง-เฉลิมบุรี จากนั้นก็จับคู่กับพระเอกอีกหลายคน เช่น ไชยา-ทักษิณ-ชนะ-สมบัติ-ลือชัย-กรุง-นาท-ยอดชาย-อุเทน แต่ระยะแรกมักจะจับคู่กับสมบัติ เมทะนี ต่อมาปี 2515 ก็เริ่มเปลี่ยนมาจับคู่กับ ยอดชาย เมฆสุวรรณ นอกจากนี้ ภาวนายังเคยแสดงภาพยนตร์จีนกับพระเอกหลายคน เช่น เดวิดเจียง จนหนังสือพิมพ์ในเกาะฮ่องกงให้ฉายาว่าเป็น ไข่มุกแห่งเอเชีย 


ภาพยนตร์ที่ภาวนาแสดงไว้ช่วงแรก เช่นเรื่อง สุรีย์รัตน์ล่องหน (2504) เด็ดดอกฟ้า (2504) สิงโตหยก (2505) สายเลือดสายรัก (2505) สุริยาที่รัก (2505) พะเนียงรัก (2506) เลือดข้น (2507) ทับเทวา (2507) แว่วเสียงยูงทอง (2508) ปลาบู่ทอง (2508) สันดานดิบ (2508) บัวน้อย (2508) เสน่ห์บางกอก (2509) หมอชนินทร์ผู้วิเศษ (2509) อ้ายค่อม (2509) น้ำตาเทียน (2509) ซัมเซ็ง (2509) กู่การะเวก (2510) สิงห์สองแผ่นดิน (2510) บุหรงทอง (2510) เมขลา (2510) บ้าบิ่นบินเดี่ยว (2510) เหนือนักเลง (2510) ป่าลั่น (2511) ดอนเจดีย์ (2512) ยอดรักยูงทอง (2512) พญาโศก (2512) เทวีกายสิทธิ์ (2513) กำแพงแสน (2513) ฟ้าคะนอง (2513) เสน่ห์ลูกทุ่ง (2513) หนึ่งนุช (2514) เพลงสวรรค์นางไพร (2514) สิงห์สยามถล่มคาราเต้ (2515) หมัดสังหาร (2515) พรุ่งนี้ฉันจะรักคุณ (2515) นี่แหละรัก (2515) ไอ้หนุ่มอีสาว (2515) หนึ่งในดวงใจ (2516) แรงรัก (2516) จินตะหรา (2516) เขาสมิง (2516) ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ (2516) ทางสายใหม่ (2516) นี่หรือผู้หญิง (2517) กังหันชีวิต (2517) ใครจะร้องไห้เพื่อฉัน (2517) อาถรรพณ์สวาท (2517) รักครั้งแรก (2517) แม่ปูเค็ม (2517) สิงห์ดง (2517) 4 สีทีเด็ด (2517) เจ้าสาวแสนกล (2517) ความรัก (2517) คมเคียว (2517) พ่อจอมโวย (2517) ด้วยปีกของรัก (2517) ประทีปอธิษฐาน (2517) เทพบุตร (2518) คำมั่นสัญญา (2518) เศรษฐีรัก (2518) สมิหรา (2518) พ่อยอดมะกอก (2518) ตัดเหลี่ยมเพชร (2518) สันดานชาย (2519) ฯลฯ


ช่วงปี 2519 ภาพยนตร์ประกบดาราเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้น ภาวนาก็เช่นกันที่ถูกจับประกบพระเอก-นางเอกอื่นและหลังจากนั้นภาวนาก็เริ่มลดบทบาทการแสดงลงโดยหันไปเป็นผู้ดูแลการสร้างภาพยนตร์ของ พี.ดี.โปรโมชั่น ภาพยนตร์ในยุคหลังของภาวนาเช่นเรื่อง แบ๊งค์ (2519) ใครใหญ่ ใครอยู่ (2519) แม่นาคบุกโตเกียว (2519) ชาติอาชาไนย (2519) เมียรายเดือน (2520) ตามฆ่า 20,000 ไมล์ (2520) ตาปีอีปัน (2520) กูซิใหญ่ (2520) ลุยแหลก (2520) นักเลงกตัญญู (2521) ขุนดอน (2521) เขาใหญ่ (2521) รักพี่ต้องหนีพ่อ (2522) คุณพ่อขอโทษ (2522) อยุธยาที่ข้ารัก (2522) นรกสาว (2523) รักนี้บริสุทธิ์ (2524) ทหารเกณฑ์ (เจ้าเก่า) ผลัด 2 (2527) พยาบาลที่รัก (2528) ดวงยิหวา (2529) ฯลฯ