อมรา อัศวนนท์

ดาวดวงที่ 50

ชื่อในการแสดง อมรา อัศวนนท์

ชื่อ-นามสกุลจริง อมรา อัศวนนท์

วันเกิด 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2480

พิมพ์มือลานดารา 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2552


อมรา เกิดที่กรุงเทพมหานคร ย่านฝั่งธนบุรี เป็นบุตรของหลวงประเจิดอักษรลักษณ์ กับ มาดามยอร์เฮท ชาวฝรั่งเศส อมราเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนเซ็นต์โยเซฟคอนแวนต์และจบชั้นมัธยม 6 ที่โรงเรียนมาแตร์เดอร์อีวิทยาลัย เข้าประกวดนางสาวไทยเมื่อปี 2496 ขณะอายุ 16 ปีได้ตำแหน่งรองนางสาวไทยอันดับ 1 (นางสาวไทยคือ อนงค์ อัชชวัฒนา) อมราได้เป็นตัวแทนหญิงไทยคนแรกที่เดินทางไปประกวดนางงามจักรวาลเมื่อปี 2497 ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา


อมรา แสดงภาพยนตร์ครั้งแรกเมื่อปี 2497 เรื่อง Beautiful Girl of the World ร่วมกับ โทนี่ เคอร์ติส โดยการชักชวนของบริษัทผู้จัดการประกวดนางงามจักรวาล จากนั้นอมรากลับมาเป็นนางเอกภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกคือ ปริศนา ฉายเมื่อปี 2499 สร้างชื่อเสียงให้ทันที ต่อมา สุพรรณ พราหมณ์พันธ์ ก็ให้อมรารับบทเป็น เจ้าหญิงปรีดะหนัม แห่งมาเลเซียในภาพยนตร์เรื่อง เล็บครุฑ คู่กับพระเอกใหม่ ลือชัย นฤนาท เข้าฉายเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2500 ที่ศาลาเฉลิมกรุง-เฉลิมบุรี ทำเงินได้มากมายเกินคาด สร้างชื่อเสียงให้ทั้งลือชัยและอมราไปพร้อม ๆ กัน ขณะเดียวกันกับ เฑียร์ กรรณสูต ก็ส่งภาพยนตร์เรื่อง รักริษยา ซึ่งอมรารับบทนางเอกตัวอิจฉา เข้าฉายเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2500 ที่ศาลาเฉลิมไทย ก็ยิ่งทำให้แฟนภาพยนตร์เห็นถึงความสามารถของอมรามากขึ้น ซึ่งต่อมาอมราก็ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองดารานำหญิงยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่องนี้


จากปี 2500 ชื่อของ อมรา อัศวนนท์ ก็เป็นจุดขายให้ภาพยนตร์ทั้งในระบบ 35 มม.และ 16 มม. โดยสังเกตได้จากการที่ผู้สร้างมักจะขึ้นชื่ออมราไว้ในใบปิดโฆษณาก่อนชื่อพระเอก ซึ่งในช่วงแรกอมราจะรับบทนางเอกคู่กับพระเอกอย่าง อดุลย์ ดุลยรัตน์ พันคำ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ พันคำ ชนะ ศรีอุบล มิตร ชัยบัญชา ทักษิณ แจ่มผล ไชยา สุริยัน ประจวบ ฤกษ์ยามดี ตลอดมา เช่นเรื่อง ทุ่งรวงทอง (2500) ปรารถนาแห่งหัวใจ (2500) ทหารเสือกรมหลวงชุมพร (2501) เทวรูปหยก (2501) มังกรแดง (2501) เกิดใหม่ (2501) แววมยุรา (2501) รมดี (2501) บุหงาสวรรค์ (2501) เห่าดง (2501) ยูงรำแพน (2501) บุกแหลก (2501) กุหลาบแสนสวย (2502) รักเธอเท่าฟ้า (2502) จ้าวนักเลง (2502) หนึ่งน้องนางเดียว (2502) เชลยศักดิ์ (2502) สิบทหารเสือ (2502) ชาติสมิง (2502) สี่คิงส์ (2502) ฝ่ามรสุม (2502) พล นิกร กิมหงวน ตอน ตลุยฮาเร็ม (2502) คนองปืน (2502) กล่อมกากี (2502) กระต่ายไพร (2503) ยอดเดี่ยว (2503) ตุ๊กตาผี (2503) น้ำตาทมิฬ (2503) ทูตนรก เล็บครุฑ ภาคจบ (2503) สายสวาทยังไม่สิ้น (2503) แสงสูรย์ (2503) ดวงชีวัน (2503) สาวดาวเทียม (2503) สุดชีวิต (2503) ลั่นทมสะอื้น (2504 ) ดอกฟ้าฝาแฝด (2504) พสุธาที่ข้ารัก (2504) สุดปรารถนา (2504) หงส์ฟ้า (2504) สกาวเดือน (2505) ทับสมิงคลา (2505) บ้านนอกเข้ากรุง (2506) สร้อยสวรรค์ (2506) จำเลยรัก (2506) เขี้ยวพิษ (2506) ในฝูงหงส์ (2506) พิชิตทรชน (2507) ลูกนก (2508) อาญารัก (2510) คนเหนือคน (2510) สาปสวาท (2511) ฯลฯ ในจำนวนนี้เรื่อง เห่าดง จ้าวนักเลง สี่คิงส์ แสงสูรย์ ทับสมิงคลา จำเลยรัก เป็นภาพยนตร์ที่แฟนภาพยนตร์กล่าวถึงมากที่สุด 


ปี 2509 อมราแต่งงานจึงรับงานภาพยนตร์น้อยลง ต่อมาได้กลับมาเป็นดาราสมทบตั้งแต่ปี 2516 เรื่อยมาจนปัจจุบัน เช่นเรื่อง จินตะหรา (2516) ดาร์บี้ (2516) น้ำผึ้งขม (2517) สวรรค์ยังมีชั้น (2519) ช่องว่างระหว่างหัวใจ (2519) จักรวาลยอดรัก (2522) เงิน เงิน เงิน (2526) รัศมีแข (2527) กัลปังหา (2528) รักข้างแรม (2532) หลังคาแดง (2530) นางอาย (2533) ม่อก 2 ต้องได้สาม (2534) คนผีปีศาจ (2547)


นอกจากนี้ อมรายังเคยแสดงละครโทรทัศน์โดยเรื่อง แรงริษยา แสดงเป็นเรื่องแรก ต่อมาก็มาเป็นหัวหน้าคณะอมรมานต์ ซึ่งจัดละครโทรทัศน์ทางช่อง 4 บางขุนพรหมและช่อง 7 สี มีนางเอกละครหลายคนที่มีชื่อเสียงเช่น ปริม ประภาพร กิ่งดาว ดารณี ศศิธร เพชรรุ่ง เป็นต้น