ประจวบ ฤกษ์ยามดี

วันเกิด 15 มิถุนายน พ.ศ. 2476

พิมพ์มือลานดารา 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ประจวบ มีชื่อเล่นว่า น้อย เกิดที่กรุงเทพมหานคร เป็นน้องชายของ ยุวนุช ฤกษ์ยามดี ดาราละครเวทีชื่อดังในอดีตและประจวบยังเป็นน้องภรรยาของ ทวี ณ บางช้างหรือครูมารุต ผู้กำกับภาพยนตร์ ประจวบเริ่มเข้าสู่วงการภาพยนตร์ด้วยการทำงานอยู่ในโรงถ่ายหนุมานภาพยนตร์ ของ รัตน์ เปสตันยี ต่อมาเมื่อรัตน์จะสร้างภาพยนตร์ 35 ม.ม.เรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย มี ชนะ ศรีอุบล-งามตา ศุภพงษ์ เป็นพระเอก-นางเอก ประจวบก็ถูกเลือกให้รับบท “ทิพย์” ผู้จัดการปางไม้ของนายห้างพะโป้ ซึ่งแม้จะเป็นตัวรอง แต่ก็มีบทบาทสำคัญเป็นครั้งแรก เข้าฉายเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2498 ที่โรงภาพยนตร์นิวโอเดียน-ศาลาเฉลิมกรุง ชื่อประจวบจึงเริ่มเป็นที่รู้จัก จากนั้นก็แสดงภาพยนตร์เรื่อง หนีเมีย (2499 สมควร-มนัส) ปีถัดมาประจวบจึงมีชื่อขึ้นแท่นเป็นพระเอกภาพยนตร์ไทยอีกหลาย ๆ เรื่อง เช่น เปียดื้อ (2500 รัตนาภรณ์-ประจวบ) ลบลายเสือ (2501 ประจวบ-พงษ์ลดา) บาปสวาท (2503 สมจิตร-ประจวบ) พระเจ้าอชาตศัตรูกับพิมพิสารมหาราช (2504 รัตนาภรณ์-ประจวบ) พสุธาที่ข้ารัก (2504 ประจวบ-อมรา) พิชิตทรชน (2507 อมรา-ประจวบ) ฯลฯ 


ในขณะเดียวกัน ประจวบก็ยังรับบทเป็นพระรองและตัวประกอบที่มีบทบาทสำคัญอีกหลายเรื่อง เช่น โรงแรมนรก (2500 ชนะ-ศรินทิพย์) รักริษยา (2500 อมรา-ชนะ) บุกแหลก (2501 อมรา-สุรสิทธิ์) สี่คิงส์ (2502 อมรา-ไชยา) ปาหนัน (2502 จรัสศรี-อดุลย์) เลือดทาแผ่นดิน (2502 สุรสิทธิ์-ชนะ) สามเสือ (2504 ชนะ-ประจวบ) อีก้อย (2504 พันคำ-ประจวบ) สร้อยสวรรค์ (2506 ชนะ-ภาวนา) 7 สมิง (2507 พันคำ-อรสา) ยอดรักพยัคฆ์ร้าย (2507 ลือชัย-เอื้อมเดือน) ฯลฯ




ประจวบได้รับพระราชทานรางวัลตุ๊กตาทองในฐานะดาราประกอบชายยอดเยี่ยม 2 ครั้งจากเรื่อง รักริษยา (2500) และ มือโจร (2504) ด้วยความสามารถเฉพาะตัวและบุคลิกที่สนุกสนาน ร่าเริง ทำให้ประจวบแสดงภาพยนตร์ได้หลากหลายบท ไม่ว่าจะเป็นผู้ดี ผู้ร้ายหรือแม้แต่บทตลก ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นยุคของพระเอกภาพยนตร์คนใด ภาพยนตร์แต่ละเรื่องจึงมักจะมีชื่อของประจวบร่วมแสดงด้วยอยู่เสมอ อย่างในยุคไชยา สุริยัน เช่นเรื่อง ยอดเดี่ยว (2503 ไชยา-อมรา) เดนชีวิต (2506 ไชยา-วรรณา) เย้ยฟ้าท้าดิน (2507 ไชยา-ประจวบ-วรรณา) เลือดข้น (2507 ไชยา-ภาวนา) ผู้ชนะสิบทิศ (2509 ไชยา-พิศมัย) รุ้งทอง (2514 ไชยา-พิศมัย) สะใภ้หัวนอก (2514 ไชยา-พิศมัย) วิวาห์ลูกทุ่ง (2515 ไชยา-เพชรา) ฯลฯ 


แต่ช่วงที่ประจวบแสดงภาพยนตร์ไว้มากที่สุดก็คือ ยุคพระเอก มิตร ชัยบัญชา สมบัติ เมทะนี เช่นเรื่อง ร้ายก็รัก (2503 มิตร-อุษา) อวสานอินทรีแดง (2506 มิตร-เพชรา) จ้าวหญิงนกกระจาบ (2509 มิตร-กรุณา) เดือนร้าว (2508 มิตร-เนาวรัตน์) นางสาวโพระดก (2508 มิตร-พิศมัย) 7 พระกาฬ (2510 มิตร-เพชรา) จุฬาตรีคูณ (2510 มิตร-สมบัติ) ไอ้หนึ่ง (2511 มิตร-เพชรา) จอมโจรมเหศวร (2513 มิตร-เพชรา) มนต์รักลูกทุ่ง (2513 มิตร-เพชรา) อินทรีทอง (2513 มิตร-เพชรา) งามงอน (2506 สมบัติ-รัตนาภรณ์) อาชญากร 999 (2507 สมบัติ-ขวัญใจ) ดวงตาสวรรค์ (2507 สมบัติ-พิศมัย) ลูกผู้ชายชื่อไอ้แผน (2508 สมบัติ-เพชรา) บ้าบิ่นบินเดี่ยว (2510 สมบัติ-ภาวนา) ไอ้ทุย (2514 สมบัติ-เพชรา) จงอางผยอง (2514 สมบัติ-สุทิศา) แว่วเสียงซึง (2514 สมบัติ-อรัญญา) แคนลำโขง (2515 สมบัติ-อรัญญา) มนต์รักดอกคำใต้ (2515 สมบัติ-เพชรา) พ่อตาปืนโต (2520 สมบัติ-อรัญญา) ฯลฯ


แม้ประจวบจะเป็นดาราภาพยนตร์มาตั้งแต่ปี 2498 แต่ระยะเวลาก็หาทำให้ชื่อของประจวบห่างหายไปจากวงการไม่ เพราะไม่ว่าจะเป็นพระเอกรุ่นต่อ ๆ มาอย่าง ครรชิต ยอดชาย มานพ กรุง สรพงศ์ ไพโรจน์ อุเทน ทูน โกวิทย์ ปิยะ พอเจตน์ บิณฑ์หรือแม้กระทั่งรุ่น สันติสุข พรหมศิริ ต่างก็ได้เคยร่วมงานกับประจวบมาแล้วทั้งสิ้น แต่ถ้าถามว่า ประจวบชอบที่จะแสดงบทบาทไหนมากที่สุด คนดูหนังอย่างเราๆ ก็คงจะต้องเดาว่าเป็นบทตลก.. แต่เจ้าตัวกลับมีคำตอบว่า ชอบ “บทผู้ร้าย” มากกว่า