สุพรรษา เนื่องภิรมย์

ดาวดวงที่ 46

ชื่อในการแสดง สุพรรษา เนื่องภิรมย์

ชื่อ-นามสกุลจริง สุพรรษา เนื่องภิรมย์

วันเกิด 5 ธันวาคม พ.ศ. 2504

พิมพ์มือลานดารา 20 มีนาคม พ.ศ. 2552


สุพรรษา มีชื่อเล่นว่า ษา เกิดที่กรุงเทพมหานคร ขณะเรียนชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนสตรีนนทบุรี เพื่อนของคุณพ่อเห็นหน้าตาเข้าที น่าจะเป็นนางเอกภาพยนตร์ได้ จึงพาสุพรรษาไปฝากกับคุณนายแดง จิรวรรณ กัมปนาทแสนยากร เจ้าของค่ายจิรบันเทิงฟิล์ม จึงได้แสดงภาพยนตร์เรื่องแรกคือ รอยลิขิต ซึ่งเป็นการร่วมสร้างระหว่างไฟว์สตาร์โปรดักชั่นกับจิรบันเทิงฟิล์ม มี พอเจตน์-อำภา เป็นดารานำ ส่วนสุพรรษารับบทนักศึกษาสาวผู้มีใจกตัญญู แม้คนที่ตัวเองเรียกแม่มาตลอดเวลานั้นจะเป็นนางโจรก็ตาม ระหว่างกำลังสร้าง แสนยากร ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังได้กำกับสุพรรษาอีกเรื่องในบทบาทนางเอกเต็มตัวคู่กับ สรพงศ์ ชาตรี ในภาพยนตร์รักเศร้า ๆ เรื่อง ไผ่สีทอง แต่ปรากฏว่า ไผ่สีทอง เข้าฉายได้ก่อนในวันที่ 14 กรกฎาคม 2522 สุพรรษาจึงแจ้งเกิดทันทีจากเรื่องนี้ ขณะที่รอยลิขิตฉายถัดมาอีกเดือนในวันที่ 10 สิงหาคม 2522 ก็เป็นแรงเสริมที่ตอกย้ำภาพลักษณ์นางเอกสวยแสนดีให้กับสุพรรษามากยิ่งขึ้นและในปีเดียวกันสุพรรษายังมีผลงานอีกคือ เตือนใจ สาวใช้แม่เอ๊ย พะเนียงแตก


พอขึ้นปี 2523 สุพรรษาก็มีผลงานภาพยนตร์ตามมาอีกมาก เช่นเรื่อง เครือฟ้า (นิรุตติ์) ลูกทุ่งดิสโก้ (เอกรัฐ) พ่อหอยโข่ง (เด่น) เสียงซึงที่สันทราย (สมบัติ) ไอ้ย่ามแดง (สรพงศ์) โชคดีที่รัก (สรพงศ์) ไอ้หนังเหนียว (สมบัติ) หนุ่มบ้านนา สาวนาเกลือ (ปิยะ) ลูกแม่มูล (ปิยะ) ฝนใต้ (สมบัติ) เมียสั่งทางไปรษณีย์ (สรพงศ์) ไกรทอง (สมบัติ-สรพงศ์) หลวงตา (ล้อต๊อก-จตุพล) ดอกแก้ว (สรพงศ์) จับกัง กรรมกรเต็มขั้น (สรพงศ์) เป๋อจอมเปิ่น (เทพ) สิงห์จ้าวพยัคฆ์ (ไชยัณห์) ฉุยฉาย (สรพงศ์) สามใบเถา (เนาวรัตน์-อำภา) เจ้าพายุ (สมบัติ-สรพงศ์) เมียจำเป็น (ไกรสร) ดุ๊ยดุ่ย (เด่น) 7 ป่าช้า (พอเจตน์) ลูกกรอกคะนอง (พอเจตน์) ในจำนวนนี้ ดอกแก้ว เป็นเรื่องสุพรรษากลับมารับบทชีวิตได้ดี ส่วนสามใบเถา ก็ส่งให้ 3 นางเอกของคุณนายแดง เนาวรัตน์-อำภา-สุพรรษา โด่งดังยิ่งขึ้น


ปี 2524 ชื่อสุพรรษาขายได้ดี ทำให้มีภาพยนตร์ออกมาอีกมากเช่นเรื่อง สิงห์หนุ่ม (สรพงศ์) ยางโทน (สมบัติ-สรพงศ์) พ่อหม้ายลูกติด (สมบัติ) จู้ฮุกกรู (สรพงศ์) ไปรษณีย์สุดหล่อ (เทพ) รักนี้บริสุทธิ์ (พอเจตน์) อุ๊ย..?เขิน (สรพงศ์) ยิ้มหน่อยจ้า (เด่น) พระรถเมรี (ทูน) ชาติจงอาง (สมบัติ) สามเสือสุพรรณ (สรพงศ์-พิศาล) ป่าช้าแตก (พอเจตน์) เจ้าแม่สาริกา (จตุพล) ไอ้เสี่ยวหมัดสั่ง (สมบัติ) ทุ่งกุลาร้องไห้ (ปิยะ) ชายสามโบสถ์ (โกวิท) สุรีย์รัตน์ล่องหน (พอเจตน์) แม่ค้าตาหวาน (ทูน) หมามุ่ย (สรพงศ์) เจ๊จ๋าเจ๊ (เด่น) แม่ศรีเรือน (สรพงศ์) ฟ้าเพียงดิน (ภาณุมาศ) มือปืนกระดูกเหล็ก (สรพงศ์) ปีศาจเมียน้อย (พอเจตน์) ซึ่งปีนี้เองที่สุพรรษาได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ ในฐานะนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเรื่อง ชายสามโบสถ์ แต่ในปี 2525 งานแสดงภาพยนตร์กลับมีเพียงเรื่อง ดาวเคียงเดือน (ทูน) เซ่อเจอซ่า (เทพ) บุญยัง จับกังกำลัง 2 (สรพงศ์) สมิงจ้าวท่า (ทูน) ตามรักตามฆ่า (สรพงศ์) กำนันฮาร์ด (ล้อต๊อก-เด่น) นักบุญทรงกลด (ทูน-สมบัติ) ใจเดียว (ทูน)


พอปี 2526-2527 พิศาล อัครเศรณี จับสุพรรษาเปลี่ยนลุ๊ก จึงได้เห็นความสามารถทางการแสดงอีกด้านหนึ่งของสุพรรษา เช่นเรื่อง ไฟรักอสูร (พิศาล) หัวใจทมิฬ (สรพงศ์) ไฟชีวิต (พิศาล) ครูเสือ (พิศาล) ลวดหนาม (พิศาล) นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์ของผู้สร้างอื่นอีก เช่นเรื่อง ตีแสกหน้า (พิศาล) ถล่มเจ้าพ่อ (ทูน-พอเจตน์) ฟ้าบันดาล (สายัณห์) พรหมสี่หน้า (สรพงศ์) ส่วนปี 2528 ก็มีเรื่อง ไกรทอง 2 (สมบัติ-สรพงศ์) หลวงตาน้อยธุดงค์ชายแดน (ล้อต๊อก-เด๋อ) นางฟ้ากับซาตาน (ยุรนันท์) เสียงเพลงแห่งเสรีภาพ (วงคาราบาว) เลือดตี๋ก็สีแดง (ฉัตรชัย) แต่ที่สุพรรษาทิ้งทวนได้อย่างถึงพริกถึงขิงจริง ๆ ก็ต้องเรื่อง พรหมจารีสีดำ (2530 บิณฑ์) นางกลางไฟ (2531 บิณฑ์) ของพรพจน์ฟิล์ม จากนั้นสุพรรษาก็หันไปทำธุรกิจสถาบันเสริมความงามและไร่องุ่นซิลเวอร์เลคซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วไป