ไพริน นิลเสน

ดาวดวงที่ 42

ชื่อในการแสดง ไพริน  นิลเสน

ชื่อ-นามสกุลจริง ไพริน นิลรังสี หรือ นิตยวรรธนะ

วันเกิด -

พิมพ์มือลานดารา 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552


ไพริน เป็นนางงามดาวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกเลือกจาก ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ให้มารับบทนางเอกภาพยนตร์ไทยที่สร้างขึ้นเพื่อสื่อสารกับต่างประเทศ นั่นคือเรื่อง พระเจ้าช้างเผือก (The King of the White Elephant) 


พระเจ้าช้างเผือก เป็น 1 ใน 3 ของภาพยนตร์ไทยที่ “ผู้นำใหม่” สร้างขึ้นภายหลังการปฏิวัติ 2475 ถึงสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา 2484-2488 เริ่มจากภาพยนตร์เรื่อง เลือดทหารไทย (2487) พระเจ้าช้างเผือก (2484) และบ้านไร่นาเรา (2485) 


พระเจ้าช้างเผือก สร้างขึ้นในสมัยที่ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 

ท่ามกลางบรรยากาศของสงครามและถูกนำออกฉายในช่วงหลังการเรียกร้องและได้มาซึ่งดินแดนเสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ นครจัมปาศักดิ์ ไซยะบุรี จากการที่ภาพยนตร์มีเสียงพูดเป็นภาษาอังกฤษและมีการส่งฟิล์มไปฉายยังต่างประเทศ ทำให้เชื่อได้ว่า ฯพณฯปรีดี พนมยงค์ ต้องการสื่อความหมายของสันติภาพกับชาวต่างประเทศ นอกเหนือจากการสื่อสารภายในประเทศไทยเอง โดยเห็นได้จากเนื้อหาสาระของพระเจ้าช้างเผือกและการเน้นย้ำด้วยคำนำที่เขียนไว้ในหนังสือเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2483 ว่า ในดินแดนแห่งนี้มีช้างดกดื่น ช้างเผือกสูงส่งเหนือช้างใด แลราษฎรก็แซ่ซ้องสรรเสริญ “พระเจ้าช้างเผือก” กษัตริย์ผู้กล้าหาญ พระองค์ทรงนาม “จักรา” พระองค์หาได้โปรดความฟุ้งเฟ้อแห่งราชสำนักไม่ กลับทรงอุทิศพระวรกายให้กับความผาสุกของประเทศชาติ พระองค์ทรงสู้ศึกอย่างอาจหาญ แต่พระองค์ก็ทรงรักสันติภาพและนิยายเรื่องนี้ก็ขออุทิศให้สันติภาพ เพราะสันติภาพมีชัยชนะไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสงคราม”   


พระเจ้าช้างเผือก ถ่ายทำในปี 2483 โดยมี สัณห์ วสุธาร กำกับการแสดง หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ และใจ สุวรรณทัต ร่วมกำกับการแสดง มี พระเจนดุริยางค์ กำกับดนตรี ชาญ บุนนาค อัดเสียงและแดง คุณะดิลก ทำบทและเจรจา ที่สำคัญคือ มีช่างถ่ายภาพฝีมือเยี่ยม ประสาท สุขุม ซึ่งถ่ายทำฉากช้างได้มโหฬารที่ป่าแดง จังหวัดแพร่ และวงศ์ แสนศิริพันธ์ อดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ เป็นผู้กำกับการโขลงช้าง  


สำหรับฉากภายในสถานที่นั้น ใช้โรงถ่ายของกองทัพอากาศ ที่ทุ่งมหาเมฆ ซึ่งแต่เดิมเป็นของบริษัทไทยฟิล์มที่ร่วมทุนกับพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล พจน์ สารสิน และหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ ตั้งอยู่ในเนื้อที่ 20 ไร่ ต่อมากองทัพอากาศได้ซื้อกิจการมา ดังนั้น ทีมเก่าของไทยฟิล์มและโรงถ่ายของกองทัพอากาศจึงได้เข้ามาเกี่ยวข้องร่วมงานกับปรีดีภาพยนตร์ 


พระเจ้าช้างเผือก เป็นภาพยนตร์ 35 มม. ขาวดำ พูดเสียงภาษาอังกฤษตลอดเรื่อง มี เรณู กฤตยากร (เรอเน โกด๊าท) แสดงเป็น พระเจ้าช้างเผือก ซึ่งผู้แสดงฝ่ายชายระดับนำ ส่วนใหญ่มาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ หลายคนเป็นครู (มาสเตอร์) มาก่อนและมีความสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ ผู้เก่งทางภาษาอังกฤษจะจัดให้แสดงฝ่ายพระเจ้าช้างเผือก (จักรา) ถ้าเป็นพวกภาษาฝรั่งเศสก็จะอยู่ทางฝ่ายข้าศึก (หงสา) ร่วมด้วยอดีตครูพลศึกษาโรงเรียนอำนวยศิลป์ฯ ที่นำนักเรียน 100 คนร่วมแสดงฉากการรบและฟันดาบ


พระเจ้าช้างเผือก ฉายรอบปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2484 ซึ่งในใบแจ้งความโฆษณาของปรีดีภาพยนตร์กล่าวว่า พระเจ้าช้างเผือกสิ้นเวลาสร้าง 2 ปีเศษ ท่ามกลางฉากธรรมชาติเมืองแพร่ ด้วยเงินทุนหลายแสนบาท กำหนดฉายรอบธรรมดา-ค่าดูธรรมดา วันที่ 10-16 เมษายน 2484 ที่ศาลาเฉลิมกรุง ส่วนที่ศาลาเฉลิมบุรี ฉายวันที่ 1-5 พฤษภาคม 2484