ไพโรจน์ ใจสิงห์

ดาวดวงที่ 35

ชื่อในการแสดง ไพโรจน์ ใจสิงห์

ชื่อ-นามสกุลจริง ไพโรจน์ ใจสิงห์ 

วันเกิด 15 กันยายน พ.ศ. 2486

พิมพ์มือลานดารา 31 มกราคม พ.ศ. 2552


ไพโรจน์ เกิดที่จังหวัดอุตรดิตถ์ หลังจากจบโรงเรียนฝึกหัดครูพลานามัย ก็มาสอนที่โรงเรียนสารวิทยาอยู่ 8 ปีแล้วไปสอนต่อที่โรงเรียนอำนวยศิลป์พระนครอีก 2 ปี ระหว่างเป็นครูก็ใช้เวลาว่างตอนกลางคืนออกไปเล่นดนตรี ต่อมาเปี๊ยกโปสเตอร์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง โทน (2513) ซึ่งขณะนั้นกำลังโด่งดังมาชวนให้ไปแสดงภาพยนตร์ ไพโรจน์จึงลาออกจากการเป็นครูเพื่อเสี่ยงดวงกับวงการบันเทิง ซึ่งในเรื่องต้องแสดงคู่กับ วนิดา อมาตยกุล นางเอกใหม่ด้วย แถมเปี๊ยกยังให้ชื่อภาพยนตร์ที่แสดงอีกว่า ดวง แต่เมื่อดวงเริ่มฉายวันที่ 29 ธันวาคม 2514 ไพโรจน์ก็หายใจได้ทั่วท้องเพราะสามารถก้าวเข้าสู่การเป็นพระเอกคนใหม่ได้สมใจ ทำให้ปี 2515 มีภาพยนตร์ที่ไพโรจน์แสดงเป็นพระเอกเข้ามาฉายหลายเรื่อง เช่น เพชรตาแมว (นัยนา) หัวใจมีตีน (สุคนธ์ทิพย์) สาวขบเผาะ (ผึ้ง) รอยบุญ (สุทิศา) ลูกชู้ (สุทิศา) แม่ยาย (สุคนธ์ทิพย์) คนสู้คน (อรัญญา) 


ปี 2516 ไพโรจน์ก็ยังคงความเป็นพระเอกตัวหลักให้กับภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง เช่น เสือหยิ่งสิงห์ผยอง (ปริศนา) มารรัก (มยุรฉัตร) สายชล (สุทิศา) ดรุณีผีสิง (สุทิศา) รสสวาท (ซีซาน) ไผ่ล้อมรัก (อรัญญา) เหลือแต่รัก (วันดี) ความรักมักเป็นอย่างนี้ (ภัสสร) รัญจวนจิต (วันดี) หมอกฟ้า (สุทิศา) ยอดสงสาร (วันดี) เจ้าดวงดอกไม้ (กันยา) และยืนระยะมาจนถึงกลางปี 2517 เช่นเรื่อง สามปอยหลวง (นัยนา) น้ำตานาง (วันดี) แม่ (ปริศนา) ผู้ดีเถื่อน (อรัญญา) เกาะรักนางงู (ปริศนา) บุษบาขายรัก (พิศมัย) แต่ช่วงปลายปี 2517 ไพโรจน์ก็ถูกจับประกบกับพระเอกอื่น เช่น คู่หู (อุเทน) หัวใจ 100 ห้อง (กรุง) โดยเฉพาะเรื่องหลังนี้เล่นเป็นผู้ชายหลายรัก สุดท้ายก็ถูกยิงตาย


จากปี 2518 เป็นต้นมา ไพโรจน์ก็ถูกจับประกบพระเอกอื่น ๆ ตามกระแส บางทีก็รับบทตัวรอง ผู้ร้าย ตัวพ่อ บทตลกบ้าง เช่นเรื่อง เสือพี่สิงห์น้อง (2518) ลูกผู้ชาย (2518) ระห่ำลำหัก (2518) พยัคฆ์ร้ายไทยถีบ (2518) 7 ดอกจิก (2518) สาวแรงสูง (2518) งิ้วราย (2518) ตัดเหลี่ยมเพชร (2518) สันดานชาย (2519) แสบ (2519) 8 เหลี่ยม 12 คม (2519) จระเข้ฟาดหาง (2519) เผาขน (2519) เดียมห์ (2519) มหาอุตม์ (2519) ป่าอันตราย (2519) รถไฟ เรือเมล์ ลิเก ตำรวจ (2519) เสาร์ 5 (2519) 3 นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ (2519) ดับสุริยา (2519) คมเฉือนคม (2519) ขยะ (2519) สู้ (2519) แมงดาปีกทอง (2519) ชุมเสือ (2519) ทองลูกบวบ (2519) นักเลงมหากาฬ (2519) ชาติสิงห์ทุ่งสง (2520) ปล้นอเมริกา (2520) ไฟเหนือลมใต้ (2520) 3 นัด (2520) ตาปีอีปัน (2520) 12 สิงห์สยาม (2520) ไอ้สากเหล็ก (2520) ดับเครื่องชน (2520) สู้สิบทิศ (2520) ลุยแหลก (2520) นางฟ้าท่าเรือ (2520) เขี้ยวเสือเล็บสิงห์ (2520) ราชสีห์ดง (2520) ยมบาลจ๋า (2521) ล้วงคองูเห่า (2521) ถล่มดงนักเลง (2521) พ่อเสือลูกสิงห์ (2521) เสือเผ่น (2521) อาณาจักรนักเลง (2521) ดงเย็น (2521) ด่านนรก (2521) ขุนกระทิง (2521) ถล่มวังข่า (2521) มหาหิน (2521) ลูกโดด (2521) ข้ามาจากเมืองนคร (2521) ไอ้นก (2521) ขุนดอน (2521) มันส์เขาละ (2521) หอหญิง (2521) ฆ่าอย่างเดียว (2521) นักล่าผาทอง (2521) อวนดำ (2522) ตลุมบอน (2522) โป่งกระทิง (2522) ไอ้ฟ้าผ่า (2522) ไอ้ปืนเดี่ยว (2522) ลาบเลือด (2522) นรกแตก (2522) ชายชาติเสือ (2523) บุญเพ็งหีบเหล็ก (2523) ยางโทน (2523) 5 คม (2524) พยัคฆ์ร้าย 6 แผ่นดิน (2525) จ้าวนักเลงปืน (2525) เพชรตัดหยก (2525) สั่งมัจจุราช (2526) แด่คุณครูด้วยดวงใจ (2529) ยิ้มม์ (2529) ขุมทรัพย์ทับทิมดำ  (2530) เรือมนุษย์ (2531) นางโจร (2534)


นอกจากนี้ ไพโรจน์ ยังเคยเป็นผู้สร้างผู้กำกับภาพยนตร์ เช่นเรื่อง นักฆ่าขนตางอน (2525 สรพงศ์-หมีเซียะ) ลูกหลง (2528 จักรี-ศิรดา) ราชสีห์หน้าเซ่อ (2531 อภิชาติ-พร้อมพงศ์) รอยไถ (2532 บิณฑ์-ชุติมา) เมื่อปี 2542 ไพโรจน์กลับมามีชื่อเสียงอีกครั้งจากการเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับภาพยนตร์โฆษณาเปิดตัวเบียร์ลีโอและปัจจุบันไพโรจน์ก็ยังคงมีงานแสดงทั้งละครโทรทัศน์และภาพยนตร์