วาสนา ชลากร

ดาวดวงที่ 24

ชื่อในการแสดง วาสนา ชลากร

ชื่อ-นามสกุลจริง วาสนา บุตรเพชร

วันเกิด 18 กันยายน พ.ศ. 2490

พิมพ์มือลานดารา 19 ตุลาคม พ.ศ. 2551


วาสนา มีชื่อเล่นว่า แดง เกิดที่กรุงเทพมหานคร จบจากโรงเรียนวิมุตยรามพิทยากร ใกล้สะพานพระราม 6 ฝั่งธนบุรี เริ่มต้นในวงการบันเทิงด้วยการไปสมัครเป็นนักร้องกับวงดนตรีสุนทรภรณ์ของครูเอื้อ สุนทรสนาน ฝึกร้องเพลงจนได้ตำแหน่งนักร้องดาวรุ่งพรุ่งนี้ ต่อมาวาสนาจึงออกไปทำงานเป็นนักร้องแผนกดนตรีของโรงงานยาสูบและอยู่ในความดูแลของครูนารถ ถาวรบุตร และครูสมาน กาญจนผลิน ตามลำดับ วาสนาเคยเป็นนางแบบเดินแฟชั่น ใช้ชีวิตการเป็นนักร้องอาชีพครั้งแรกที่ฉุยฉายไนท์คลับและร้องประจำอีกหลายแห่ง เช่น ซูซี่วอง ลิโด้ นาทูริสต์ โดเรมี พุทธชาต ฯลฯ 


ในด้านการแสดงภาพยนตร์นั้น วาสนาปรากฏตัวครั้งแรกในฐานะดารารับเชิญจากภาพยนตร์ 16 มม. เรื่อง จอมประจัญบาน (2509 มิตร-เพชรา) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่สร้างยกย่องเกียรติวีรกรรมของทหาร ลูกเสือและตำรวจตระเวนชายแดน โดยมีพลอากาศเอกทวี จุลทรัพย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้อุปถัมภ์การสร้างและ ส.อาสนจินดา กำกับการแสดง เข้าฉายเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2509 ที่โรงภาพยนตร์บางกอก หลังนั้นวาสนาก็ยังคงกลับไปใช้ชีวิตนักร้องได้ฉายาว่าสาวไฟพะเนียง กระทั่ง ชรินทร์ นันทนาคร แห่งนันทนาครภาพยนตร์มาพบขณะกำลังร้องเพลง จึงชักชวนให้มาแสดงภาพยนตร์ ซึ่งกำลังจะสร้างเรื่อง แมวไทย (มิตร-เพชรา) โดยมอบให้วาสนารับบทเป็น อัปสรสุดา สาวเซ็กซี่ยั่วยวนใจชายแถมยังมีบทบู๊ให้สวมชุดสุดหวาบหวิวอีก เข้าฉายเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2511 ที่โรงภาพยนตร์คาเธ่ย์ ทำให้ชื่อของวาสนาเริ่มเป็นที่รู้จัก 


จากนั้นวาสนาก็มักจะได้รับบทตัวอิจฉาริษยาหรือที่เรียกว่า ตัวโกงฝ่ายหญิง ซึ่งแทบทุกเรื่องก็มักจะต้องมีบทเซ็กซี่ยั่วยวนใจชายด้วยเสมอ จึงทำให้ตั้งแต่ปี 2512 เป็นต้นมามีผลงานภาพยนตร์ที่วาสนาแสดงเข้ามาฉายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเรื่อง 4 สิงห์อิสาน (2512 สมบัติ-ชัชฎาภรณ์) ปีศาจแสนสวย (2512 สมบัติ-โสภา) ลูกปลา (2512 มิตร-เพชรา) ปลาไหลทอง (2512 มิตร-เพชรา) ไพรรัก (2512 มิตร-เพชรา) ทับสะแก (2512 สมบัติ-อรัญญา) ปราสาททราย (2512 มิตร-เพชรา) เจ้าแม่สาริกา (2512 มิตร-อรัญญา) ลอยกระทง (2512 มิตร-เพชรา) เทพบุตรลูกทุ่ง (2512 รุจน์-วาสนา) เทพฤทธิ์จอมเพชฌฆาต (2513 มิตร-โสภา) ฝนใต้ (2513 สมบัติ-เพชรา) ฝนเหนือ (2513 สมบัติ-เพชรา) จำปาทอง (2514 มิตร-อรัญญา) น้องนางบ้านนา (2514 ไชยา-อรัญญา) สื่อกามเทพ (2514 สมบัติ-เพชรา) ธารรักไทรโยค (2514 สมบัติ-เพชรา) น้ำใจพ่อค้า (2514 ยอดชาย-ดีเสวต) ลูกยอด (2514 กรุง-เพชรา) รักร้อน (2514 สมบัติ-เพชรา) กว่าจะรักกันได้ (2514 ไชยา-อรัญญา) ค่าของคน (2514 ไชยา-พิศมัย) เพลงรักลูกทุ่ง (2515 สมบัติ-อรัญญา) เข็ดจริงจริงให้ดิ้นตาย (2515 สายัณห์-ดวงดาว) หาดทรายแก้ว (2515 สมบัติ-เพชรา) คนกล้าตาย (2515 ยอดชาย-สุทิศา) วางฟูซาน (2516 ยอดชาย-มิสหลินจี้) แม่นาคพระโขนง (2516 สุภัค-ยอดชาย) ภูกระดึง (2516 สมบัติ-อรัญญา) พยัคฆ์พันลาย (2516 สมบัติ-เพชรา) รสสวาท (2516 ไพโรจน์-ซีซาน) ไผ่ล้อมรัก (2516 อรัญญา-ไพโรจน์) สวรรค์เวียงพิงค์ (2516 ไพโรจน์-กรุง-วันดี) แม่นาคอาละวาด (2516 ยอดชาย-สุภัค) เศรษฐีถังแตก (2516 ยอดชาย-ภาวนา) เจ้าปลิวสิงห์สุพรรณ (2516 ยอดชาย-เพชรา) หัวใจหิน (2516 สมบัติ-เพชรา) นี่หรือผู้หญิง (2517 ยอดชาย-ภาวนา) นางสิบสอง (2517 นรา-เยาวเรศ) น้ำตานาง (2517 ไพโรจน์-วันดี) สนหน่อยน่าทูนหัว (2517 ยอดชาย-สุภัค) ผู้ดีเถื่อน (2517 ไพโรจน์-อรัญญา) ตัณหา (2518 ยอดชาย-วันดี) ฉันไม่อยากเป็นคุณนาย (2519 สมบัติ-เพชรา) อีเสือ (2520 กรุง-รุ้งลาวัลย์) ลบลายเสือ (2521 สมบัติ-อรัญญา) ฯลฯ


นอกจากนี้ วาสนายังได้แสดงภาพยนตร์โทรทัศน์ให้กับดาราฟิล์มของ ไพรัช สังวริบุตร หลายเรื่อง เช่น พระลักษณวงศ์ พานทองรองเลือด นางสิบสอง ขุนแผนผจญภัย ฯลฯ และปัจจุบันก็ยังมีผลงานแสดงภาพยนตร์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์