สมภพ เบญจาทิกุล

สมภพ เบญจาทิกุล เกิดเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา หลังจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ เขาได้เดินทางเข้ามาศึกษาต่อในแผนกวิชาช่างไฟฟ้าที่โรงเรียนช่างกลปทุมวัน และแผนกไฟฟ้ากำลัง ที่วิทยาลัยเทคนิค กรุงเทพฯ โดยมีชื่อเสียงและความสามารถในด้านการเป็นนักฟุตบอล และเคยร่วมสโมสรฟุตบอลธนาคารกรุงเทพ ในระดับอนุชน ต่อมา เมื่อรับราชการตำรวจเป็นพลฯ สำรองพิเศษอยู่ประมาณสองปี เขาก็ได้เข้าร่วมเป็นนักฟุตบอลสังกัดสโมสรตำรวจ และสโมสรราชประชานุเคราะห์ ตามลำดับ แต่โชคร้ายได้รับบาดเจ็บจนต้องเลิกเล่นก่อนที่สโมสรราชประชานุเคราะห์จะชนะเลิศถ้วยพระราชทาน ก. ในปีต่อมา


จากนักฟุตบอลและตำรวจ เส้นทางชีวิตของสมภพได้หันเหเข้าสู่วงการบันเทิง เมื่อพี่ชายคือ สมภาษณ์ เบญจาทิกุล ซึ่งทำงานเป็นช่างภาพอยู่ในพร้อมมิตรภาพยนตร์ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หรือ “ท่านมุ้ย”  ได้แนะนำเขาให้ท่านมุ้ยได้รู้จัก กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้สมภพได้เข้ามาคลุกคลีฝึกงานกับท่านในวังละโว้ และเริ่มการเป็นนักแสดงด้วยภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์เรื่อง เงือกน้อย (2515) และ หมอผี (2516) ที่ท่านมุ้ยทรงกำกับ


ปี พ.ศ. 2517 สมภพได้มีโอกาสประเดิมจอเงินเป็นครั้งแรก เมื่อท่านมุ้ยได้ทรงมอบบทบาทให้เขานำแสดงในภาพยนตร์เรื่อง เทพธิดาโรงแรม ร่วมกับ สรพงศ์ ชาตรี นักแสดงหนุ่มอีกคนที่ท่านมุ้ยปลุกปั้นจนเริ่มโด่งดัง และ วิยะดา อุมารินทร์ นางเอกสาวหน้าใหม่  จากนั้น สมภพจึงได้รับโอกาสเป็นพระเอกเดี่ยวอย่างเต็มตัวใน ผมไม่อยากเป็นพันโท ออกฉายใน พ.ศ. 2518 โดยในปีเดียวกันนี้ยังมีผลงานเรื่อง ความรักครั้งสุดท้าย ร่วมกับ สรพงศ์ ชาตรี และ ภัทราวดี มีชูธน ถัดมา ปี พ.ศ. 2519 นักแสดงทั้งสามคนก็มีผลงานร่วมกันอีกครั้งในเรื่อง นางแบบมหาภัย ซึ่งทั้งหมดเป็นผลงานการกำกับของท่านมุ้ย โดยใน นางแบบมหาภัย นั้น สมภพได้รับบทเป็นชายรักชายที่ถือว่าท้าทายตัวเขาและผู้ชมหนังไทยในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างมาก


นับจากนั้น สมภพ เบญจาทิกุล ก็เป็นที่รู้จักอย่างดีของบรรดาแฟนหนังไทย และมีผลงานภาพยนตร์ออกมาจำนวนมาก เช่น สันติ-วีณา (2519) อย่าลืมฉัน (2520) เกวียนหัก (2521) จำเลยรัก (2521) รอยไถ (2522)  ฉุยฉาย (2543) มนต์รักลูกทุ่ง (2525) แก้วขนเหล็ก (2526) มนต์รักนักเพลง (2527) ฯลฯ  นอกจากนี้ เขายังมีผลงานการแสดงละครโทรทัศน์ โดยบทบาทที่โดดเด่นได้แก่ การรับบทเป็นชายกลาง ในละครเรื่อง “บ้านทรายทอง” ฉบับ พ.ศ. 2521 ซึ่งแม้หลังปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา ภาพยนตร์ที่เขาแสดงจะเริ่มมีน้อยลง แต่ผลงานละครโทรทัศน์นั้นก็ยังคงมีออกมาเป็นประจำทุกปีไม่เคยขาด รวมทั้งยังเคยรับหน้าที่เป็นผู้กำกับกับละครโทรทัศน์ด้วย นับเป็นบุคคลที่มีผลงานในวงการบันเทิงต่อเนื่องยาวนานมากที่สุดคนหนึ่งในปัจจุบัน


ผลงานภาพยนตร์เรื่องสำคัญในช่วงหลังของ สมภพ เบญจาทิกุล ได้แก่ คืนบาป พรหมพิราม (2546) โหมโรง (2547) และ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ซึ่งเขาได้กลับมาร่วมงานกับท่านมุ้ย อีกครั้ง โดยสมภพได้รับบทเด่นเป็นพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์แห่งกรุงหงสาวดี ใน ภาค ๑ องค์ประกันหงสา (2550) และ ภาค ๒ ประกาศอิสรภาพ (2550)



ชมภาพบรรยากาศกิจกรรมลานดารา สมภพ เบญจาทิกุล ได้ที่ <<คลิก>>