ดวงดาว จารุจินดา

ดวงดาว จารุจินดา เกิดเมื่อวัน 2 ตุลาคม พ.ศ. 2494 เป็นลูกสาวของ สักกะ จารุจินดา ซึ่งเป็นผู้กำกับภาพยนตร์คนสำคัญคนหนึ่งของวงการภาพยนตร์ไทย ก่อน จะเข้าสู่วงการภาพยนตร์ สักกะ จารุจินดา ทำงานอยู่ที่สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม เริ่มจากฝ่ายศิลปกรรมออกแบบฉากละครและรายการ มาจนถึงการจัดทำละครและภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ในนาม “คณะ 67 การละครและภาพยนตร์” ความรอบรู้ในทุกกระบวนการการถ่ายทำของสักกะ ตั้งแต่ แสดง พากย์เสียง ออกแบบฉาก เขียนบท ถ่ายภาพ ลำดับภาพ และกำกับการแสดง ได้ถูกส่งทอดมายังลูก ๆ ของเขา ซึ่งต่างเข้ามาเรียนรู้และเติบโตในแวดวงบันเทิงตั้งแต่ยังเล็ก โดย สุพจน์ จารุจินดา ลูกชายคนโต ได้กลายเป็นช่างถ่ายภาพยนตร์และผู้ออกแบบฉากภาพยนตร์ระดับรางวัลตุ๊กตาทอง ณรงค์ จารุจินดา กลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ และเคยได้รับรางวัลตุ๊กตาทองสาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม ใน ขณะที่ลูกสาวเพียงคนเดียว คือ ดวงดาว จารุจินดา นั้น ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการเป็นทั้งนักแสดงและนักพากย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง 


ดวงดาวเริ่มแสดงละครของช่อง 4 บางขุนพรหม ซึ่งในยุคนั้นเป็นการออกอากาศสด ตั้งแต่อายุได้เพียง 7 ปี เรื่องแรกคือ อาชญากรผู้บริสุทธิ์ โดยมีคุณพ่อของเธอรับบทเป็นพระเอก เธอรับบทเป็นนักแสดงเด็กเรื่อยมาจนอายุ 13 ปี ก่อนจะหยุดพักไปเพื่อทุ่มเทกับการเรียน เมื่อกลับมาแสดงอีกครั้งในช่วงวัยรุ่น ดวงดาวก็ได้เป็นนางเอกเต็มตัว ความสามารถอันโดดเด่นของเธอ ทำให้เธอมีผลงานทั้งละครโทรทัศน์ ละครวิทยุ ภาพยนตร์โทรทัศน์ รวมไปถึงการเป็นผู้ประกาศประจำสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของไทยนี้


เมื่อ สักกะ จารุจินดา เริ่มเบนเข็มมาสร้างหนังใหญ่เรื่องแรกคือ วิมานสลัม เขาก็ได้นำดวงดาว จารุจินดา ในฐานะนางเอกจอเงินคนใหม่ มาประกบคู่กับพระเอกยอดนิยมอย่าง สมบัติ เมทะนี ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายใน ปี พ.ศ. 2514 ที่โรงภาพยนตร์สกาลา โรงหนังชั้นหนึ่งที่ปรกติแล้วจะฉายแต่หนังต่างประเทศเป็นหลัก ในปีเดียวกันนั้นเอง ดวงดาวยังมีผลงานภาพยนตร์อีกเรื่อง มนต์รักชาวไร่ กำกับโดย ประทีป โกลภิส นับจากนั้นเธอก็เริ่มมีผลงานภาพยนตร์ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องที่มีคุณพ่อของเธอเป็นผู้กำกับ คือ เข็ดจริง ๆ ให้ดิ้นตาย (2515) ตลาดพรหมจารีย์ (2516) พยัคฆ์ร้ายไทยถีบ (2517) ขุนศึก (2519) และเป็นการร่วมงานกับผู้กำกับคนอื่น ๆ เช่น ยอดมวยสยาม (2516) ความรัก (อุบัติเหตุ) (2517) ฝ้ายแกมแพร (2518) คู่หู (2518) บ่อเพลิงที่โพทะเล (2519) ฝนใต้ (2523) แม่แตงร่มใบ (2525) ฯลฯ


ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา เมื่อละครโทรทัศน์เริ่มเฟื่องฟู ดวงดาวก็เริ่มกลับไปมีผลงานทางจอแก้วเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ในด้านภาพยนตร์ แม้งานแสดงของเธอจะน้อยลง แต่เธอยังคงมีผลงานด้านอื่นออกมาอยู่เสมอ นั่นคือการพากย์เสียง ซึ่งเป็นเสมือนสัญลักษณ์ประจำตัวอีกอย่างหนึ่งของเธอ โดยเธอนับเป็นนักพากย์ที่ได้รับการยอมรับในความสามารถมากที่สุดคนหนึ่ง เคยได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี หรือตุ๊กตาทอง สาขาผู้พากย์เสียงฝ่ายหญิงยอดเยี่ยมสองปีติดต่อกัน จากเรื่อง แก้วกลางดง (2529) และ วิวาห์ไฟ (2530) 


ผลงานภาพยนตร์ในช่วงหลังของดวงดาว จารุจินดา คือ สมศรี 422R (2535) ม.6/2 ห้องครูวารี (2537) และ อำแดงเหมือนกับนายริด (2537) โดยสองเรื่องแรกนั้นเป็นงานกำกับของณรงค์ จารุจินดา พี่ชายของเธอ แม้จะห่างหายจากจอเงินไปนาน แต่เธอก็ยังคงมีงานแสดงและพากย์เสียงทางโทรทัศน์ออกมาอยู่เสมอ นับเป็นปูชนียบุคคลมากความสามารถที่ยืนหยัดอย่างสง่างามอยู่บนเส้นทางสายบันเทิงมายาวนานจวบจนปัจจุบัน


เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2558 ดวงดาว จารุจินดา ได้เดินทางมาประทับรอยมือ รอยเท้า เป็นดาวดวงที่ 156 ณ ลานดารา





ชมภาพบรรยากาศกิจกรรมลานดารา ดวงดาว จารุจินดา ได้ที่ <<คลิก>>