พิศมัย วิไลศักดิ์

ดาวดวงที่ 12

ชื่อในการแสดง พิศมัย วิไลศักดิ์

ชื่อ-นามสกุลจริง พิศมัย วิไลศักดิ์

วันเกิด 7 ธันวาคม พ.ศ. 2482

พิมพ์มือลานดารา 1 สิงหาคม พ.ศ. 2551


พิศมัย มีชื่อเล่นว่า มี้ เกิดที่กรุงเทพมหานคร จบจากโรงเรียนนาฏศิลปของกรมศิลปากร เป็นผู้มีความสามารถในการรำฉุยฉายพราหมณ์ได้อย่างงดงาม เดิมทีเกือบจะได้แสดงภาพยนตร์ของ กรรณสูตภาพยนตร์ โดย เฑียร์ กรรณสูต ติดต่อทาบทามให้มาแสดงเป็นนางเอก แต่เพราะมีเหตุขัดข้องเรื่องฟิล์มถ่ายภาพยนตร์ที่สั่งเข้ามาไม่ได้ ต่อมา ลมูล อติพยัคฆ์ แห่งหนังสือพิมพ์ไท-รายวัน ได้แนะนำพิศมัยไปยัง อิงอรหรือศักดิ์เกษม หุตาคม นักเขียนชื่อดังเจ้าของบทประพันธ์เรื่อง การะเกด เพื่อให้แสดงภาพยนตร์ ซึ่งก็เป็นเวลาเดียวกับที่ สุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ ผู้สร้างภาพยนตร์เจ้าของสหะนาวีไทยภาพยนตร์ ซึ่งขณะนั้นได้ปั้น ลือชัย นฤนาท พระเอกใหม่โด่งดังมาแล้วจากเรื่อง เล็บครุฑ (2500) อยากเปลี่ยนแนวมาสร้างภาพยนตร์ชีวิตรัก เศร้า สะเทือนใจและสนใจในเรื่อง การะเกด ของอิงอร ซึ่งเคยแสดงเป็นละครโทรทัศน์ ช่อง 4 บางขุนพรหมมาแล้วและกำลังเป็นที่นิยม อิงอรจึงแนะนำให้เลือกพิศมัยมาเป็นนางเอกของเรื่องซึ่งสุพรรณก็ตัดสินใจตามนั้น โดยให้ พิศมัย แสดงคู่กับ ลือชัย นฤนาท มีการใช้คำโฆษณาภาพยนตร์ว่า พิศมัยนางเอกนาฏศิลปสาวลูกกำพร้า เข้าฉายเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2501 ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง โดยแต่ละรอบจะมีพิศมัยแสดงการรำฉุยฉายพราหมณ์ให้ชมก่อนการฉายภาพยนตร์ ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างดีจากแฟนภาพยนตร์

จากนั้นพิศมัยก็แสดงเป็นนางเอกในสังกัดภาพยนตร์สหะนาวีไทยเรื่อยมา เช่นเรื่อง สองฝั่งฟ้า (2503 ชนะ) ดรรชนีนาง (2504 แสน) ยอดรัก (2505 ขวัญชัย) เสือเก่า (2506 ชนะ) ละอองดาว (2507 สมบัติ) เล็บอินทรีย์ (2507 สมบัติ) เกียรติศักดิ์ทหารเสือ (2508 ไชยา-สมบัติ) ครุฑเพชร (2508 มิตร) ศึกบางระจัน (2509 สมบัติ) ประกาศิตจางซูเหลียง (2511 สมบัติ) นางฟ้าชาตรี (2515 ไชยา) ส้มตำ (2516 สมบัติ) ตะบันไฟตะไลเพลิง (2518 เผ่าพันธ์) เก้ายอด (2520 เผ่าพันธ์) เล็บครุฑ 78 (2525 กรุง-เผ่าพันธุ์) ฯลฯ 


พิศมัย ผ่านการแสดงเป็นนางเอกคู่กับพระเอกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ลือชัย มิตร ไชยา สมบัติ ยอดชาย กรุง สรพงศ์ฯลฯ แต่ในจำนวนนี้ สมบัติ เมทะนี เป็นพระเอกที่แสดงคู่กันมากที่สุด ถึงแม้ว่า พิศมัยจะได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่พิถีพิถันในการเลือกบทเลือกเรื่องที่จะแสดง แต่ก็ยังมีผลงานภาพยนตร์ออกมาเป็นร้อย ๆ เรื่อง ที่สำคัญเช่น จำเลยรัก (2506 มิตร) ชายชาตรี (2507 มิตร) ลูกทาส (2507 ไชยา) ดวงตาสวรรค์ (2507 สมบัติ) นางสาวโพระดก (2508 มิตร) ชุมทางเขาชุมทอง (2508 มิตร) อินทรีมหากาฬ (2508 มิตร-ไชยา) ธนูทอง (2508 ไชยา) ดาวพระศุกร์ (2508 มิตร) สาวเครือฟ้า (2508 มิตร) โนห์รา (2509 สมบัติ) ในม่านเมฆ (2509 สมบัติ) ผู้ชนะสิบทิศ (2509 ไชยา) จ้าวอินทรี (2511 มิตร) แม่ย่านาง (2513 มิตร) ค่าของคน (2514 ไชยา) หนึ่งนุช (2514 สมบัติ) ราชินีบอด (2514 ไชยา) เจ้าพระยาที่รัก (2514 พนม-จังเอียง) นี่แหละรัก (2515 ไชยา) รักต้องห้าม (2515 สมบัติ) อเวจีสีชมพู (2515 ครรชิต) สวนสน (2515 ยอดชาย) กระสือสาว (2516 สมบัติ) แรงรัก (2516 ยอดชาย) ชูชกกัณหาชาลี (2516 สมบัติ) แม่สาย (2518 ยอดชาย) คุณครูคนใหม่ (2518 สมบัติ) ระห่ำลำหัก (2518 ไพโรจน์) ไร้เสน่หา (2522 สรพงศ์) ฯลฯ และเมื่อพ้นยุคการเป็นนางเอก พิศมัยก็ยังคงรับแสดงภาพยนตร์ในบทนักแสดงสมทบตลอดมาและปัจจุบันก็ยังมีผลงานแสดงละครโทรทัศน์ปรากฏอยู่ให้เห็น 


พิศมัย ได้รับพระราชทานรางวัลตุ๊กตาทอง ดารานำหญิงยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง ดวงตาสวรรค์ ในปี 2507 รางวัลดาราทองพระราชทาน ในปี 2510 รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ ดารานำหญิงยอดเยี่ยม จากเรื่อง ไร้เสน่หา ปี 2522รางวัลตุ๊กตาทอง ดาราประกอบหญิง จากเรื่อง เงิน เงิน เงิน ในปี 2526  และจากเรื่อง กำแพง ในปี 2542 ฯลฯ


ปี 2553 พิมัย ได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์-นักแสดง)