ปยุต เงากระจ่าง

ดาวดวงที่ 10

ชื่อในการแสดง ปยุต เงากระจ่าง

ชื่อ-นามสกุลจริง ปยุต เงากระจ่าง

วันเกิด 1 เมษายน พ.ศ. 2472

พิมพ์มือลานดารา 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2551


ปยุต เกิดที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หลังจบชั้นมัธยม 6 ที่โรงเรียนประจวบวิทยาลัย ก็เข้ากรุงเทพมหานคร มาเรียนต่อโรงเรียนเพาะช่าง เคยทำงานเป็นช่างเขียนประจำร้านทำบล็อกหลายแห่งย่านวงเวียน 22 กรกฎา เคยทำงานที่หนังสือพิมพ์หลักเมือง รับงานเขียนภาพตั้งแต่ซองยา ซองรูปสลากยา รูปสินค้า ขวดน้ำปลา ภาพเหมือน ลายไทยหน้าปกหนังสือ ภาพประกอบเรื่อง ในวัยเด็กปยุตมีความหลงไหลในตัวการ์ตูนเป็นพิเศษโดยเฉพาะกับบุคลิกของตัวตลกในหนังตลุงอย่าง ไอ้แก้ว ไอ้เปลือย ไอ้เท่งรวมถึงตัวการ์ตูนแมวเฟลิกซ์ จากหนังการ์ตูนอเมริกันเรื่อง Felix the Cat ของ Pat Sullivan ซึ่งเคยมาฉายที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ในปลายปี 2484 ปยุตได้รับแรงบันดาลใจที่จะสร้างภาพยนตร์การ์ตูน เมื่อได้พบกับ เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน จิตรกรชื่อดังโดยบังเอิญ โดยเสน่ห์ชักชวนไว้หากว่าปยุตได้เข้ามากรุงเทพมหานคร กระทั่งปยุตเรียนจบเพาะช่าง ก็ยังตามหาตัวเสน่ห์ไม่พบ แต่เมื่อพบกันอีกที ก็เป็นการไปงานเคารพศพของเสน่ห์ คล้ายเคลื่อนแล้วและปยุตได้ทราบว่า เสน่ห์เคยคิดจะสร้างภาพยนตร์การ์ตูนแล้ว แต่ขาดการสนับสนุน ปยุตจึงตั้งปณิธาณที่จะสานต่อความตั้งใจของเสน่ห์ในอันที่จะสร้างภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องแรกให้จงได้

 

การสร้างภาพยนตร์การ์ตูนของปยุตนั้น ใช้วิธีสังเกตอากัปกิริยาต่าง ๆ ของตัวการ์ตูน แล้วคิดคำนวณเอาเองเช่น เมื่อต้องการให้ตัวการ์ตูนพูดว่า ไปไหนมาครับ ปยุตก็จะพูดประโยคนี้เองและจับเวลาดูว่ากี่นาที จากนั้นก็เอามาคำนวณกับระยะเวลาความเร็วของช่องเฟรมที่จะใช้ในการถ่ายทำ เมื่อได้จำนวนช่องเฟรมและจำนวนวินาทีแล้ว จึงนำมาแยกเป็นภาพและเริ่มเขียนอิริยาบถต่าง ๆ ของตัวละคร 

ภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องแรกของปยุต จึงมีตัวละครเอกเป็นตัวของปยุตเองที่แสดงท่าทางนอกจอ แล้วก็วาดเป็นตัวการ์ตูนออกไป จึงเท่ากับว่า ปยุตนั่นเองเป็นผู้แสดงการ์ตูนเรื่อง เหตุมหัศจรรย์ ซึ่งถ่ายทำด้วยฟิล์มสีขนาด 16 มม. ความยาว 12 นาที เข้าฉายในรายการพิเศษสำหรับสื่อมวลชนและผู้ชมเฉพาะที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2498 ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวางตามหน้าหนังสือพิมพ์และมีการนำกลับมาฉายประกอบภาพยนตร์เรื่อง ทุรบุรุษทุย ของ ส.อาสนจินดา อีกเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2500 ที่โรงภาพยนตร์บรอดเวย์

ต่อมาสำนักข่าวสารอเมริกันได้เห็นถึงความสามารถของปยุต ซึ่งขณะนั้นปยุตได้ทำงานเป็นช่างเขียนของสำนักข่าวสารอยู่แล้ว จึงส่งปยุตไปดูงานการสร้างภาพยนตร์การ์ตูนที่ญี่ปุ่นและเมื่อกลับมาก็ได้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ เรื่อง หนุมานเผชิญภัย (ครั้งใหม่) ยาว 20 นาที ซึ่งตั้งใจจะนำเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ แต่เกิดปัญหาด้านการเมืองเสียก่อน 


นอกจากนี้ ปยุตก็ยังเคยแสดงภาพยนตร์เรื่อง เคหาสน์สีแดง (2499 รัชนี-ชาญชัย) ซึ่งสร้างโดยโยคีสถานสี่พระยาภาพยนตร์ ของ วิรัช พึ่งสุนทร และยังรับงานเขียนการ์ตูนโฆษณาสินค้าต่าง ๆ เขียนการ์ตูนประกอบการทำไตเติ้ลภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องเช่น ไตเติ้ลเรื่อง นกแก้ว (2509 มิตร) พ่อไก่แจ้ (2519 กรุง) ฯลฯ


ตั้งแต่ปี 2519 ปยุตทุ่มเทเวลาให้กับการสร้างภาพยนตร์การ์ตูนขนาดยาวเรื่องแรกของไทยคือ สุดสาคร โดยร่วมสร้างกับจิรบันเทิงฟิล์ม มีผู้ช่วยทำงานหลายคนเช่น นันทนา เงากระจ่าง บุตรสาว แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเงินทุน ทำให้การสร้างเป็นไปด้วยความยากลำบาก ซ้ำร้ายปยุตยังต้องเสียดวงตาข้างซ้ายจากการตรากตรำกว่าจะสำเร็จเป็นภาพยนตร์สีขนาด 35 มม. ก็เข้าไปเดือนพฤษภาคม 2521 และนำเข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2522 ที่โรงภาพยนตร์เอเธนส์และโรงในเครือ ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้อย่างมาก

หมายเหตุ ปยุต เงากระจ่าง เสียชีวิต เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553