Husband & Wife สามี ภรรยา และแรงปรารถนา

image

ชุดภาพยนตร์ไทยที่มุ่งสำรวจประเด็นความรักความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครสามี-ภรรยา อีกทั้งอิทธิพลของแรงปรารถนาที่ทั้งส่งผ่านพฤติกรรมและซุกซ่อนในจิตใต้สำนึก เริ่มต้นด้วย วิวาห์พาฝัน (2514) ผลงานสนุกสนานในแบบฉบับของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ว่าด้วยหนุ่มเจ้าชู้กับสาวนักธุรกิจที่ต้องปรับตัวไปใช้ชีวิตคู่หลังแต่งงาน ตามมาด้วยงานคลาสสิกอีกเรื่อง เมียหลวง (2521) หนังดรามาที่วิจิตร คุณาวุฒิ ดัดแปลงจากบทประพันธ์ยอดนิยมของกฤษณา อโศกสิน ซึ่งตีแผ่ให้เห็นถึงความทุกข์ของภรรยาผู้ต้องรับมือบรรดาหญิงสาวมากหน้าหลายตาของสามี นอกจากนี้ เรื่องราวการแก่งแย่งชิงดีของเมียหลวงและเมียน้อย ยังได้รับการขยายใหญ่โตไปเป็นหนังบู๊ล้างผลาญกึ่ง ๆ แฟนตาซี ใน เดอะเมีย (2548) ของกิตติกร เลียวศิริกุล ที่รวบรวมนักแสดงหญิงแนวหน้าเอาไว้คับคั่งที่สุดอีกด้วย



โปรแกรมนี้ยังมีภาพยนตร์ที่ว่าด้วยไฟราคะของฝ่ายชายที่นำไปสู่ความมืดหม่นของครอบครัว ที่โดดเด่นเป็นที่จดจำคือ จัน ดารา (2544) ฉบับนนทรีย์ นิมิบุตร ซึ่งแสดงให้เห็นภาพตัณหาและความหมกมุ่นของตัวละครได้อย่างชัดเจนที่สุด อีกทั้งยังมี น้องเมีย (2533) งานสำคัญของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล และ พลอย (2550) โดย เป็นเอก รัตนเรือง หนังสองเรื่องนี้ต่างมีเด็กสาววัยรุ่นเป็นตัวแปรในบททดสอบของความสัมพันธ์ของคู่สามีภรรยา


คืนไร้เงา (2546) ผลงานของพิมพกา โตวิระ ผู้กำกับหญิงเพียงหนึ่งเดียวของโปรแกรม ซึ่งจะฉายในฉบับ  Director’s Cut  เป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของภาพยนตร์ไทยยุคใหม่ ที่ตรวจสอบความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ผ่านชั้นเชิงจิตวิทยาและมุมมองของสตรีเพศได้อย่างมีรสชาติแตกต่างจากหนังไทยทั่วไป ปิดท้ายด้วยภาพยนตร์ที่ผลักคำนิยามของชีวิตคู่และ “สามี-ภรรยา” ได้กว้างขวางไปกว่าตามขนบประเพณี  A Moment in June ณ ขณะรัก (2552) เรื่องราวของคน 6 คน ที่ต้องพบกับความรักที่ยากต่อการตัดสินใจ ซึ่งมีทั้งความรักของเพศเดียวกัน ความรักที่รอคอย และความรักต้องห้าม  



True Man Show ชายทั้งแท่ง

Histories in the (film) Making ประวัติศาสตร์ที่ภาพยนตร์สร้าง

คุณาวุฒิ ๑๐๑ : A Retrospective

เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ประเทศไทย ครั้งที่ 19

ภาพยนตร์โลก WORLD CINEMA PROGRAMME