ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับญี่ปุ่นมายาวนาน เริ่มต้นตั้งแต่ยุคหนังเงียบ เมื่อโรงภาพยนตร์ถาวรแห่งแรกในเมืองไทยก่อตั้งโดยชาวญี่ปุ่นชื่อ โทโมโยริ วาตานาเบะ ผู้เคยมากางกระโจมฉายหนังเร่ที่เวิ้งวัดตึกในปี 2447 ก่อนจะหวนกลับมาสร้างโรงหนังญี่ปุ่นบนพื้นที่เดิมในปี 2448 กลายเป็นตำนานที่เคยเข้าใจผิดกันว่า ญี่ปุ่นเป็นชาติแรกที่นำภาพยนตร์มาเผยแพร่ในสยาม
ต่อมาเมื่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์โลกค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านจากหนังเงียบไปสู่หนังเสียง และปี 2471 เริ่มมีภาพยนตร์เสียงต่างประเทศเข้ามาในสยาม บริษัทภาพยนตร์พัฒนากรซึ่งมีโรงหนังจำนวนมากในเครือ ได้จัดตั้งให้มี “เบนชิ” หรือผู้ทำหน้าที่คอยบรรยายสดระหว่างฉายหนังเงียบ ซึ่งนำมาจากธรรมเนียมการฉายหนังในญี่ปุ่น เพื่อสร้างสีสันแก่หนังเงียบที่ค้างอยู่ในคลังของบริษัทให้สามารถแข่งขันกับหนังเสียงได้ และวิธีการใช้เบนชิแบบญี่ปุ่นนี้ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการพากย์สดอันเป็นเอกลักษณ์ของวงการหนังไทยในยุคสมัยถัดมา
ปี 2475 พี่น้องตระกูลวสุวัตสร้าง หลงทาง ภาพยนตร์เสียงเรื่องแรกของไทยได้สำเร็จภายหลังญี่ปุ่นราว 1 ปี จากนั้นเมื่อพวกเขาเปิดดำเนินการโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง สตูดิโอหนังเสียงแห่งแรกของไทยในปี 2478 มีหลักฐานว่าเคยมีคณะจากญี่ปุ่นได้มาเยี่ยมชมโรงถ่ายแห่งนี้ และทีมงานศรีกรุงก็เคยไปดูงานด้านภาพยนตร์ที่ญี่ปุ่นเช่นกัน รวมถึง จำรัส สุวคนธ์ กับ มานี สุมนนัฏ ดาราคู่ขวัญของโรงถ่าย ยังได้รับเชิญไปแสดงภาพยนตร์ที่ญี่ปุ่นอีกด้วย ก่อนที่โรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงจะเลิกกิจการในปี 2485 ช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 ที่กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้ามาประจำการอยู่ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม แม้การสร้างภาพยนตร์เสียงของไทยจะเริ่มต้นไม่ห่างจากญี่ปุ่นมากนัก รวมทั้งมีหนังเสียงของไทยเกิดขึ้นจำนวนไม่น้อยก่อนการอุบัติขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย แต่ผลงานเหล่านี้กลับสูญหายไปเกือบหมดสิ้น แตกต่างจากหนังเสียงญี่ปุ่นในช่วงเวลาเดียวกันที่ยังคงมีฟิล์มตกทอดมาให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาอยู่มาก
วันที่ 6-8 มิถุนายน 2568 หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และเจแปนฟาวน์เดชั่น ได้จัดโปรแกรมพิเศษ Japanese & Thai Prewar Talkies นำภาพยนตร์เสียงของญี่ปุ่นในยุคดังกล่าว ทั้งหนังเสียงเต็มรูปแบบเรื่องแรก The Neighbor's Wife and Mine (2474) หนังมิวสิคัลเรื่องแรก Tipsy Life (2476) ผลงานของผู้กำกับคนสำคัญ มิกิโอะ นารุเสะ Wife! Be Like a Rose! (2478) และ ยาสุจิโร โอสุ The Only Son (2479) มาจัดฉายร่วมกับเศษหนังเสียงไทยยุคแรกที่เหลือรอดและหอภาพยนตร์อนุรักษ์ไว้ได้คือ เลือดชาวนา (2479) กับ ปิดทองหลังพระ (2482) เพื่อเชื่อมต่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของทั้งสองชาติ และให้ผู้ชมชาวไทยได้มีโอกาสจินตนาการถึงลักษณะของบรรดาหนังเสียงไทยที่สูญหายไป ผ่านหนังเสียงญี่ปุ่นในยุคเดียวกัน
นอกจากนี้ในโปรแกรมยังมีภาพยนตร์อีกเรื่องจากคลังอนุรักษ์ของหอภาพยนตร์คือ คล้องช้าง (2481) สารคดีญี่ปุ่นที่เข้ามาถ่ายทำการคล้องช้างที่ลพบุรี ซึ่งได้บันทึกการถ่ายหนังของโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงเอาไว้ และ Final Take (2529) ผลงานของ โยจิ ยามาดะ ที่กล่าวถึงวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นยุคเปลี่ยนผ่าจากหนังเงียบมาสู่หนังเสียง ซึ่งจะจัดฉายควบคู่ไปกับผลงานข้างต้น เพื่อเสริมต่อบริบทของหนังเสียงของทั้งสองประเทศยุคก่อนสงคราม ให้เห็นภาพครอบคลุมมากขึ้น
โปรแกรมพิเศษนี้เกิดขึ้นจากการอบรมเชิงปฏิบัติการ Professional Development and Networking Initiatives for ASEAN-Japan Film Programmers and Curator ของเจแปนฟาวน์เดชั่น โดยก่อนจัดฉายทุกรอบ จะมีการบรรยายแนะนำเกร็ดความสำคัญของภาพยนตร์โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู นักจัดรายการภาพยนตร์ของหอภาพยนตร์ และ มาซายูกิ อุเอดะ โปรแกรมเมอร์จาก Wasedashochiku โรงหนังอิสระเก่าแก่ในกรุงโตเกียว