นิยามของคำว่า “ภาพยนตร์สารคดี” (documentary หรือ nonfiction film) และ “ภาพยนตร์เล่าเรื่อง” (fiction film) ไม่ได้ถูกแช่แข็งตายตัว แต่ลื่นไหล เปลี่ยนแปลง ข้ามสายพันธุ์และท้าทายการขบคิดอยู่เสมอ ปัญหาทางปรัชญาและปริศนาแห่งภาพยนตร์ว่า สิ่งใดคือ “เรื่องจริง” และสิ่งใดคือ “เรื่องแต่ง” ไม่สามารถมีคำตอบตายตัวได้เสมอไป หนังจำนวนไม่น้อยที่ท้าทายภาวะสภาพที่แท้จริง (reality) โดยการผสมผสานเรื่องจริง เรื่องเล่า เรื่องแต่ง การสมมติ การจำลองเหตุการณ์ การทำใหม่ การใช้คนจริงร่วมกับนักแสดง หรือการเอาตัวคนทำหนังเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องจริงที่กำลังเล่า ในยุคแห่งการผสมผสาน คำว่า “สารคดี” ไม่ได้หมายถึงการถ่ายภาพเหตุการณ์ตรงหน้าเท่านั้น แต่หลายครั้งที่สารคดีใช้ภาษาและวิธีการของหนัง fiction หรือ หนังเล่าเรื่อง เพื่อพาคนดูไปสู่ความเข้าใจหรือประสบการณ์ใหม่
โปรแกรม Fiction/Nonfiction พยายามตรวจสอบพรมแดนของเรื่องจริง-เรื่องเล่าผ่านหนังในโปรแกรม สาเหตุหนึ่งของการจัดโปรแกรมนี้ คือการที่หอภาพยนตร์จะร่วมกับสถาบัน The Flaherty ของสหรัฐฯ จัดงาน The Flaherty Film Seminar งานสัมมนาประกอบกับกิจกรรมฉายภาพยนตร์และอภิปรายถกเถียงนานหกวันต่อกัน ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม โดยจะมีแต่เฉพาะหนัง nonfiction อันเป็นแนวทางที่บุกเบิกโดย Robert Flaherty นักทำหนังสารคดีคนสำคัญ (ผู้สร้าง Nanook of the North) และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบัน The Flaherty ในนครนิวยอร์ก งานนี้เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมเฉพาะกลุ่ม และมีรอบทั่วไปแบบไม่เปิดเผยรายละเอียดโปรแกรมในวันที่ 29 - 30 มิถุนายน 2567
.
โปรแกรม Fiction/Nonfiction นี้ จึงเป็นโปรแกรมเสริมจากหอภาพยนตร์เพื่อเรียกน้ำย่อยก่อนถึงงานดังกล่าว รวมถึงเพื่อเป็นการสำรวจภูมิทัศน์ของ “หนังสารคดี” และชี้ให้เห็นความลื่นไหล ลักลั่น เลือนรางในนิยามของเรื่องจริง-เรื่องเล่า ในรูปแบบต่าง ๆ กัน
หนังไทยที่เป็นต้นแบบของการผสมผสานสารคดีกับเหตุการณ์สมมุติ ได้แก่ ทองปาน (2520) ภาพยนตร์ที่มาก่อนกาลอย่างแท้จริงด้วยการสลับวิธีการเล่าเรื่องไปมาระหว่างสารคดีและเรื่องเล่า ซ้อนทับไปอีกเมื่อหนังใช้คนอีสานมา “แสดง” เป็นคนอีสาน พัวพันไปกับเหตุการณ์จริงในการเรียกร้องให้ยุติการสร้างเขื่อน
.
ภาพยนตร์ไทยร่วมสมัยอีกจำนวนหนึ่งพร่าเลือนเส้นแบ่งเรื่องเล่าและเรื่องจริง ดอกฟ้าในมือมาร (2543) เป็นหนังทดลองที่ใช้คนจริงเพื่อเล่าเรื่องแต่ง และทำลายกำแพงที่กั้นระหว่างคนดูกับคนทำหนังลงในที่สุด นคร-สวรรค์ (2562) เล่าประสบการณ์ชีวิตจริงของครอบครัวผู้กำกับสลับกับหนังที่ใช้นักแสดง ซึ่งเป็นเทคนิคการเล่าเรื่องที่คล้ายคลึงในบางมุมกับ อัตภาวกาล (2562) ส่วน ใจจำลอง (2564) ท้าทายการรับรู้คนดูด้วยการเล่าเรื่องกลุ่มเพื่อนวัยรุ่นผ่านการใช้นักแสดง แต่กลับหักมุมด้วยการสอดแทรกภาพที่คนดูไม่แน่ใจว่าเป็นงานสารคดีหรือภาพหลอนจากประวัติศาสตร์ หมอนรถไฟ (2559) ออกตัวเป็นหนังสารคดีแบบ observational หรือการสังเกตการณ์ภาพชีวิตคนบนรถไฟ ก่อนที่หนังจะก้าวข้ามเส้นแบ่งแห่งเวลาและนิยามไปอีกภพแห่งภาพยนตร์ สลับมาสู่อีกขั้วอารมณ์หนึ่ง สาระแนห้าวเป้ง (2552) เป็นหนังตลกประเภท candid camera (หรือจะบอกว่าเป็น mockumentary ก็ได้) ที่ถึงแม้จะเน้นมุกแกล้งคนในบรรยากาศไร้สาระและชวนหัว แต่เป็นหนังที่ทำให้คนดูถกเถียงได้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นเรื่องจริงที่กล้องถ่ายได้หรือเป็นการจัดฉาก เป็นเรื่องจริงหรือเพียงเรื่องเล่า
หนังในโปรแกรม Fiction/Nonfiction นี้ยังข้ามเส้นไปแตะงานกึ่งทดลองในตำนานอันหาดูยากอย่าง Birth of Seanema (2547) และ ลุงนิ่วไปเยี่ยมเพื่อนบ้าน (2554) ปิดท้ายด้วย Lumiere! (2559) สารคดีว่าด้วยกรุหนังของพี่น้องลูมิแอร์ ที่นับเป็นต้นธารของการบันทึกภาพเคลื่อนไหวทั้งแบบเหตุการณ์จริงและแบบจัดฉากแสดง ซึ่งจะฉายในฉบับพากย์เสียงไทยที่โดย โดม สุขวงศ์ และ A Trick of Light (2538) สารคดีที่มีการจำลองเหตุการณ์ถ่ายทำใหม่โดย วิม เวนเดอร์ส ซึ่งเล่าถึงสองพี่น้องสกลาดานอฟสกี ผู้มีส่วนในการกำเนิดภาพยนตร์โลกเช่นเดียวกัน