Media Dystopia

image

นิยามของคำว่า “สื่อ” หรือ “สื่อสารมวลชน” ถูกปรับเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นทุกขณะ จากสื่อในขนบเดิม เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ขยับขยายมาเป็น “สื่อใหม่” และ “สื่อสังคมออนไลน์” แต่ไม่ว่าจะมีวิวัฒนาการไปอย่างไร ด้านมืดของการใช้สื่อเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ยังคงเป็นประเด็นถกเถียง ควบคู่ไปกับความพยายามสร้าง Media Literacy หรือการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้รับสารไม่ตกหลุมพรางของข้อมูลและรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป 


ท่ามกลางปัญหาอันซับซ้อนและแหลมคมมากขึ้นทุกที  ในเดือนมีนาคมนี้ หอภาพยนตร์ได้จัดโปรแกรม Media Dystopia เพื่อพาไปสำรวจภาพยนตร์ที่สอดแทรกให้เห็นถึงอิทธิพลด้านลบของสื่อและข้อมูลข่าวสาร เริ่มต้นจากยุคสงครามเย็นซึ่งใช้สื่อเป็นอาวุธหลัก ทั้ง คำสั่งคำสาป (2497) งานโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ที่แสดงภาพการป้อนข้อมูลเพื่อยุยงปลุกปั่น ผ่านรูปปั้นของบุคคลผู้น่าเลื่อมใส และ ไผ่แดง (2522) หนังจากนิยายเกี่ยวกับชาวบ้านซึ่งถูกครอบงำความคิดทางการเมืองจนแตกแยกออกเป็นสองฝ่าย


จากเรื่องการเมืองไปสู่สังคมและปัจเจกบุคคล ในโปรแกรมนี้มี กาม (2521) ที่นำเสนอภาพของนักหนังสือพิมพ์ผู้จงใจใช้ข้อเขียนทำลายชื่อเสียงเพื่อนมนุษย์ วิดีโอคลิป (2550) ซึ่งพูดถึงปัญหาคลิปหลุดในยุคสมัยที่ภัยอินเทอร์เน็ตเริ่มปะทุ #อวสานโลกสวย (2559) หนังว่าด้วยพฤติกรรมในโซเชียลออนไลน์ของวัยรุ่นที่ย้อนมาทิ่มแทงตัวเองและนำไปสู่อาชญากรรม และ แอน Faces of Anne (2565) ผลงานร่วมสมัยที่เล่นกับประเด็นของสื่อยุคใหม่ซึ่งทั้งสร้างและพร่าเลือนตัวตนของผู้คนไปได้พร้อม ๆ กัน


นอกจากหนังไทยยังมีหนังสารคดีต่างประเทศเข้มข้นอีกสองเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Citizenfour (2557) เจ้าของรางวัลออสการ์ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ผู้เปิดโปงการสอดแนมประชาชนในโลกอินเทอร์เน็ตของรัฐบาลสหรัฐฯ และ The Social Dilemma (2563) สารคดีตีแผ่ด้านมืดของสื่อสังคมออนไลน์จาก Netflix ที่จะฉายพร้อมกิจกรรมภาพยนตร์สนทนาหลังชมในวันที่ 18 มีนาคมนี้



KinoFest 2023

ครอบครัวหนังไทย เสน่ห์-ปรียา-ยอดสร้อย โกมารชุน

Theater of Dreams

ลานดารา ยุรนันท์ ภมรมนตรี และ วรรณิศา ศรีวิเชียร

Metacinema หนังถ่ายหนัง

สมบัติ เมทะนี ReMASTER

ภาพยนตร์โลก WORLD CINEMA PROGRAMME